Think Tank ชี้ช่องว่างความมั่งคั่งทางการเงินระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในสหราชอาณาจักรส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสามารถของครัวเรือนในการรับมือทางการเงินในช่วงวิกฤตไวรัสโคโรนา และความแตกต่างนี้มีแนวโน้มที่จะยังคงมีอยู่ เว้นแต่รัฐบาลจะดำเนินการแก้ไข
คนอังกฤษผิวขาวมีความมั่งคั่งทางการเงิน
มากกว่าคนแอฟริกันผิวดำ
⇌
ผลการวิจัยจากสถาบันคลังสมอง หรือ Think Tank พบว่า คนเชื้อชาติแอฟริกันผิวดำมักมีทรัพย์สินน้อยที่สุดเพียง 24,000 ปอนด์ต่อคน (ประมาณ 981,000 บาท) ซึ่งน้อยกว่า 1 ใน 8 ของครอบครัวชาวอังกฤษผิวขาว
ในทางตรงกันข้าม คนเชื้อชาติอังกฤษผิวขาวมีมูลค่าทรัพย์สินของครัวเรือนเฉลี่ย 197,000 ปอนด์ต่อคน (ประมาณ 8,050,000 บาท) นั่นหมายความว่าช่องว่างระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความมั่งคั่งทางการเงินสูงสุดและต่ำสุดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 173,000 ปอนด์ (ประมาณ 7,070,000 บาท)
โดยทั่วไปแล้วผู้ที่มีเชื้อชาติบังกลาเทศจะมีมูลค่าทรัพย์สินของครัวเรือนเพียง 31,000 ปอนด์ต่อคน (ประมาณ 1,260,000 บาท) ในขณะที่ผู้ที่มีเชื้อชาติแคริบเบียนผิวขาวและดำมักมีเงินอยู่ที่ 41,800 ปอนด์ (ประมาณ 1,709,000 บาท)
คำนิยามของความมั่งคั่งทางการเงินของครอบครัว ครอบคลุมถึงความมั่งคั่งของเงินบำนาญ ความมั่งคั่งของทรัพย์สินสุทธิ ความมั่งคั่งทางการเงินสุทธิ ความมั่งคั่งทางกายภาพและทรัพย์สินทางธุรกิจสุทธิ
ในขณะที่การวิเคราะห์ในช่วง 10 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006-2008 ถึง 2016-2018 พบว่า ช่องว่างความมั่งคั่งทางการเงินลดลงเล็กน้อย ความแตกต่างระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความมั่งคั่งต่ำสุดและสูงสุด คือชาวแอฟริกันผิวดำและชาวอังกฤษผิวขาวยังคงมีนัยสำคัญลดลงจาก 81% เป็น 76%
นอกจากนี้การวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า ในช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของครัวเรือนที่มีเชื้อสายแอฟริกันผิวดำ บังกลาเทศ และชาวแคริบเบียนผิวดำในสหราชอาณาจักร มีเงินออมของครอบครัวน้อยกว่า 1,000 ปอนด์ (ประมาณ 40,800 บาท) เพื่อไว้ใช้จ่ายในกรณีที่รายได้ลดลง
หนทางลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางชาติพันธุ์
⇌
Resolution Foundation หนึ่งในสถาบันคลังสมอง เรียกร้องให้รัฐบาลแนะนำการเปลี่ยนแปลงที่มุ่งปิดช่องว่างนี้ รวมถึงการปฏิรูปภาษีความมั่งคั่ง และความช่วยเหลือที่ตรงเป้าหมายยิ่งขึ้นสำหรับผู้ซื้อบ้านครั้งแรก โดยกล่าวว่าโครงการ Help to Buy มีแนวโน้มที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สามารถเข้าถึงความมั่งคั่งทางการเงินของครอบครัวได้ และจำเป็นต้องมีการลดหย่อนภาษีบำนาญสำหรับผู้มีรายได้น้อย
Photo Credit: Jiarong Deng/ pexels
จอร์จ แบงแฮม นักเศรษฐศาสตร์จาก Resolution Foundation กล่าวว่า
“ความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินยังมีอยู่มากในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความยืดหยุ่นของครัวเรือนในการเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนของรายได้ในช่วงวิกฤต COVID-19 และทางเลือกในชีวิตของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต”
แม้จะมีความคืบหน้าอย่างมากในการพยายามลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการจ้างงานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ แต่ช่องว่างด้านความมั่งคั่งทางการเงินเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ แม้แต่ผู้มีรายได้สูงก็ต้องดิ้นรนเพื่อรักษาหนทางสู่ความมั่งคั่ง ในขณะที่คนอังกฤษผิวขาวมีแนวโน้มที่จะได้รับมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ
ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องตระหนักว่าช่องว่างความมั่งคั่งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์อาจปิดได้ยากกว่าความแตกต่างอื่น ๆ เพราะขณะนี้ยังไม่มี “กระสุนเงิน” หรือวิธีการแก้ปัญหาอันยอดเยี่ยมในการจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันของความมั่งคั่งที่มีอยู่ แต่อาจเป็นไปได้ว่าการปฏิรูปภาษีความมั่งคั่ง และการกำหนดเป้าหมายในการสนับสนุนให้ผู้คนเข้าถึงการเป็นเจ้าของบ้านหรือเก็บเงินเพื่อรับเงินบำนาญจะช่วยปิดช่องว่างนี้ได้
ที่มา
- Ethnic wealth gap had ‘serious impact’ during pandemic, report finds. https://news.sky.com/story/covid-19-ethnic-wealth-gap-had-serious-impact-during-pandemic-report-finds-12170633