Kind National

ขยายโอกาสเศรษฐกิจไทย “สินค้าเกษตรและอาหาร” กับ 3 อันดับสินค้าส่งออกดาวรุ่ง

  • ข้อมูลสถิติการส่งออกจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม) ของปี พ.ศ. 2563 พบว่า สินค้าเกษตรและอาหารที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ “ผัก ผลไม้สด แช่แข็งกระป๋องและแปรรูป” ขยายตัวร้อยละ 11.5 ลำดับถัดมาคือ “ทูน่ากระป๋อง” ขยายตัวร้อยละ 10.2 และ “ไก่สดแช่แข็ง และแปรรูป” ขยายตัวร้อยละ 2.6 


นักวิชาการคาดว่า เศรษฐกิจการส่งออกของไทยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ภาพรวมการส่งออกจะยังคงหดตัวจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 แต่เมื่อพิจารณาการส่งออกไปยังตลาดสำคัญพบว่า สินค้าไทยหลายรายการมีศักยภาพที่จะสามารถผลักดันการส่งออกของไทยให้กลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะ “สินค้าเกษตรและอาหาร” ซึ่งไทยมีความสามารถในการผลิต รวมทั้งมีความได้เปรียบในด้านความปลอดภัยของอาหารสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทำให้สินค้าอาหารของไทยมีโอกาสขยายการส่งออกได้อีกมาก ซึ่งต้องควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือนี้ไว้

นอกจากนี้สินค้ากลุ่มวิถีชีวิตใหม่มีแนวโน้มขยายตัวที่ดี เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารเลี้ยงสัตว์ เครื่องมือแพทย์ ถุงมือยางเพื่อการแพทย์ เฟอร์นิเจอร์และสินค้าอื่น ๆ ที่ใช้สำหรับการพักอาศัย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ยังมีปัญหาการกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกในระยะต่อไป

การจัดอันดับการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร

ข้อมูลสถิติการส่งออกจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม) ของปี พ.ศ. 2563 พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรภาพรวม หดตัวร้อยละ 3.4 (YoY) สินค้าเกษตรและอาหารที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ “ผัก ผลไม้สด แช่แข็งกระป๋องและแปรรูป” ขยายตัวร้อยละ 11.5 (ขยายตัวในเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ไต้หวัน และกัมพูชา) ลำดับถัดมาคือ “ทูน่ากระป๋อง” ขยายตัวร้อยละ 10.2 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อียิปต์ และแคนาดา) และ “ไก่สดแช่แข็ง และแปรรูป” ขยายตัวร้อยละ 2.6 (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์)
         
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า สินค้าส่งออก 3 อันดับดาวรุ่งยังขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก เพราะประเทศไทยนั้นส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่สำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และอียิปต์ ซึ่งเป็นประเทศที่ยังคงเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนยังคงต้องหาสินค้าอุปโภคบริโภคกักตุนเพื่อยังชีพ ไม่ว่าจะเป็น “ผัก ผลไม้สด แช่แข็งกระป๋องและแปรรูป “ทูน่ากระป๋อง” และ “ไก่สดแช่แข็ง และแปรรูป” นับเป็นสินค้าที่สามารถเก็บไว้ได้นาน จึงเป็นสินค้าที่ได้รับความต้องการสูงมาก

ส่วนสินค้าที่มีการส่งออกหดตัว ได้แก่ “ยางพารา” หดตัวร้อยละ 27.3 (หดตัวเกือบทุกตลาด อาทิ จีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และอินเดีย) รองลงมาคือ “น้ำตาลทราย” หดตัวร้อยละ 19.7 (หดตัวเกือบทุกตลาด อาทิ อินโดนีเซีย กัมพูชา ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา) และ “ข้าว” หดตัวที่ร้อยละ 14.4 (หดตัวในตลาดแอฟริกาใต้ จีน และแคเมอรูน แต่ยังขยายตัวได้ดีในสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา)

จากข้อมูลข้างต้นของสินค้าส่งออก 3 อันดับที่มีการส่งออกหดตัวแสดงให้เห็นว่า ไทยมีผลผลิต “ยางพารา” ลดลงเนื่องจากมีฝนตกชุกในภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกยางพารา และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศผู้นำเข้ายางพาราหลัก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา นำเข้าไปเป็นส่วนประกอบของชิ้นส่วนยานยนต์ลดลง ตามอุปสงค์ยานยนต์ทั่วโลกที่ลดลง

ส่วนการส่งออก “น้ำตาลทราย” หดตัวนั้น เป็นผลมาจากบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตน้ำตาลแทนการผลิตเอทานอล และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลโลกลดลง นอกจากนี้สถานการณ์ภัยแล้งยังทำให้การผลิตน้ำตาลลดลงอีกด้วย


และการส่งออก “ข้าว” หดตัวลง เนื่องจากประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทย อาทิ อินเดียและเวียดนาม กลับส่งออกข้าวได้ตามปกติ ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าข้าวจากไทยลดลง ประกอบกับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง รวมถึงกำลังซื้อของประเทศผู้นำเข้าข้าวปรับตัวลดลง จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

มูลค่าการส่งออกเกือบทุกตลาดเกิดการหดตัวในอัตราที่น้อยลง สะท้อนว่าการส่งออกมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากประเทศคู่ค้าหลายประเทศ สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ และมีการผ่อนมาตรการล็อกดาวน์ประกอบกับใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

  “สิ่งที่ไทยเองควรมุ่งเน้นคือ ภาคการผลิตและส่งออกสินค้าที่เป็นดาวรุ่งทั้งในสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ จะช่วยให้สามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ให้มองวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เหมาะสม” 

นายสมประวิณ มันประเสริฐ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) – กล่าว


ที่มา

  • ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนกรกฎาคม 2563. www.tpso.moc.go.th
  • การส่งออกสินค้าสำคัญของไทยในช่วง7 เดือนแรกของปี 2563. www.tpso.moc.go.th/sites
  • หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,607 ประจำวันที่ 6-9 กันยายน พ.ศ. 25563

เรื่องโดย