ช่องว่างระหว่างวัยหรือที่เรียกกันติดปากว่า Generation Gap เป็นสิ่งที่สังคมคุ้นเคยกันดีโดยเฉพาะด้านความคิด สังคม วัฒนธรรม Pop Culture ของแต่ละรุ่นที่แตกต่างกันไป บางรุ่นเป็นแฟนคลับ The Impossible มีนักร้องนำอย่างเศรษฐา ศิระฉายา เป็นไอดอลในดวงใจ ในขณะที่บางรุ่นอาจจะรู้จัก “อาต้อย” ในฐานะดาราเจ้าบทบาทบนจอโทรทัศน์เท่านั้น ความแตกต่างและช่องว่างเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนเคยสัมผัสและหลายคนเข้าใจมันอย่างถ่องแท้เลยทีเดียว
นอกเหนือจากช่องว่างระหว่างวัยที่เราคุ้นชิน อีกประเด็นที่เราต้องกลับมาเรียนรู้ด้วยกันคือ “ช่องว่างทางการเงินระหว่างวัย” เพื่อความเข้าใจกันระหว่างเจเนอเรชันที่มากขึ้น
เมื่อเด็กวัยเรียนเติบโตเป็นผู้ใหญ่และก้าวสู่วัยทำงาน เรื่องทรัพย์สินจะมีบทบาทสำคัญในชีวิตขึ้นมาทันที ค่าแรงที่ได้รับต้องจัดสรรปันส่วนสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มาคู่กับคำสอนจากรุ่นสู่รุ่นเรื่องการออมเงิน ไหนจะมรดกตกทอดของวงศ์ตระกูล เรียกได้ว่าประเด็นมูลค่าทรัพย์สินภายในครัวเรือนเป็นเรื่องที่มาพร้อมกับการเป็นผู้ใหญ่นั่นเอง
เรื่องการเงินอันเป็นปกติสามัญของสังคมนี้ ไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนทิศทางแต่อย่างใด สิ่งเดียวที่เปลี่ยนคือ “มูลค่าทรัพย์สินของแต่ละช่วงวัย” ต่างหาก
ในสหรัฐอเมริกา มูลค่าทรัพย์สินในครัวเรือนมักมีค่าเฉลี่ยที่ไม่ต่างกันมากนักของผู้คนแต่ละเจเนอเรชัน แต่ช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาเผยว่า ช่องว่างทางการเงินระหว่างวัยนั้นแตกต่างกันอย่างน่าตกใจ กลุ่มผู้สูงวัยกำลังร่ำรวยขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนกลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องเริ่มต้นจากเส้นทางที่วิบากกว่าคนรุ่นก่อนเสียอีก
โชคดีของเบบี้บูมเมอร์ VS โชคไม่เข้าข้างมิลเลนเนียล
เพื่อความชัดเจนของกลุ่มวัยต่าง ๆ ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาได้แบ่งกลุ่มดังนี้
Generation
รุ่น | ปีเกิด | อายุ (2020) |
Silent Generation และก่อนหน้า | เกิดก่อน ค.ศ.1945 | 75+ |
Baby Boomers | ค.ศ. 1946–1964 | 56–74 |
Generation X | ค.ศ. 1965–1980 | 40–55 |
Millennials | ค.ศ. 1981–1996 | 24–39 |
เมื่อเทียบกับคนรุ่นใหม่ที่กลุ่ม Silent Generation และช่วงวัยก่อนหน้า มีสัดส่วนของมูลค่าทรัพย์สินในครัวเรือนลดลงตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามตัวเลขเหล่านี้ค่อนข้างคงที่ มูลค่าทรัพย์สินในครัวเรือนของคนรุ่นนี้เพิ่มขึ้นจาก 16 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1989 สู่ 19 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2019
ส่วนแบ่งมูลค่าทรัพย์สินในครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นของเบบี้บูมเมอร์ ผู้คนในกลุ่มช่วงวัยนี้ที่โตขึ้นพร้อมกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ครอบครองทรัพย์สินกว่าครึ่งหนึ่งในปี ค.ศ. 2020 ที่ 59 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ มากกว่ามิลเลนเนียลถึง 10 เท่า
ส่วนแบ่งมูลค่าทรัพย์สินในครัวเรือน
รุ่น | มูลค่าทรัพย์สิน (2019) | ประชากร (2019) | มูลค่าทรัพย์สิน/คน |
Silent Generation & Older | $18.8 ล้านล้าน | 23.0 ล้านคน | $817,391 |
Baby Boomers | $59.4 ล้านล้าน | 71.2 ล้านคน | $834,270 |
Generation X | $28.6 ล้านล้าน | 65.0 ล้านคน | $440,000 |
Millennials | $5.0 ล้านล้าน | 72.6 ล้านคน | $68,871 |
คนเจนเอกซ์ใช้เวลาถึง 9 ปี จากสัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินในครัวเรือน 0.4 % ในปี ค.ศ. 1989 เป็นมากกว่า 5 % ในปัจจุบัน ในขณะที่มิลเลนเนียลยังไม่พ้นเกณฑ์ 9 ปีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของมิลเลนเนียลไม่ได้น่าเศร้าขนาดนั้น เพราะอัตราการเติบโตมูลค่าทรัพย์สินในครัวเรือนของคนรุ่นนี้เพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2016 เป็น 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2019
เมื่อเจาะลึกรายละเอียดของมูลค่าทรัพย์สินในครัวเรือนก็จะเข้าใจภาพรวมมากยิ่งขึ้น กลุ่มช่วงวัยอายุ 39 ปีและน้อยกว่านั้น (มิลเลนเนียล) ถือครองทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์มากถึง 37.9 % ถือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดจากทุกกลุ่มช่วงวัย ในขณะที่กลุ่มช่วงวัยที่อายุมากกว่านั้น มูลค่าทรัพย์สินในครัวเรือนจะประกอบทั้งอสังหาริมทรัพย์ หุ้น และเงินบำนาญต่าง ๆ
มูลค่าทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ
มูลค่าทรัพย์สินตามช่วงวัย (2020) | 70+ | 55–69 | 40–54 | ≤ 39 |
อสังหาริมทรัพย์ | 21.6% | 20.5% | 27.6% | 37.9% |
กลุ่มสินค้าประเภทคงทน | 3.8% | 3.6% | 5.2% | 9.4% |
หุ้นและกองทุนรวม | 24.6% | 23.1% | 18.6% | 8.1% |
เงินบำนาญ | 16.3% | 25.0% | 21.9% | 21.0% |
ธุรกิจส่วนตัว | 7.9% | 9.7% | 12.1% | 8.1% |
ทรัพย์สินอื่น ๆ | 25.8% | 18.1% | 14.7% | 15.5% |
นอกเหนือจากการเป็นเจเนอเรชั่นที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด มิลเลนเนียลยังมีแนวโน้มจะได้รับมรดกจากผู้ปกครองรุ่นเบบี้บูมเมอร์ เป็นมูลค่าสูงถึง 68 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2030
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่มิลเลนเนียลทุกคนจะยิ้มออก เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ถือครองโดยคนบางกลุ่มเท่านั้น มูลค่าทรัพย์สินในครัวเรือนจะเป็นมรดกตกทอดของครอบครัวที่ร่ำรวยอยู่แล้ว มิลเลนเนียลบางคนอาจจะได้รับมรดกเป็นหนี้สินแทน
ความท้าทายที่มากกว่าเก่าจะอยู่ในมือของคน Gen Z เพราะเส้นทางการเริ่มต้นของคนเจเนอเรชันนี้มีแนวโน้มจะวิบากยิ่งกว่าเดิม จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องวางแผนรับมือและช่วยเหลือคนรุ่นใหม่ เช่น การปรับแผนการจัดเก็บภาษี กฎหมายการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ และการจัดการมรดกหนี้สินต่าง ๆ เพราะเราไม่อาจปฏิเสธความจริงได้ว่า พวกเขาเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกต่อไป
ที่มา
- Omri Wallach. Charting The Growing Generational Wealth Gap. www.visualcapitalist.com/charting-the-growing-generational-wealth-gap
- Generation Segmentation. www.twochicago.com/blog/generation-segmentation