สตรีชาวอิหร่านถูกขัดขวางไม่ให้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมานานกว่า 40 ปี แต่ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2020 สภาผู้พิทักษ์ (The Guardian Council) ได้ออกมากล่าวถึงกฎหมายดังกล่าวว่า จะทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมอบสิทธิ์ให้ผู้หญิงสามารถลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ภายในปี ค.ศ. 2021
Abbas Ali Kadkhodaei โฆษกของสภาผู้พิทักษ์อิหร่านกล่าวว่า จะไม่มีข้อห้ามใด ๆ แก่สตรีที่ต้องการสมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2021 แม้ว่าก่อนหน้านี้ไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายข้อใดที่ระบุถึงการปิดกั้นสตรีในการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ตาม
แต่หากตีความตามตัวอักษรของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 ตามมาตรา 115 กำหนดไว้ว่า ควรเลือกประธานาธิบดีจากกลุ่มการเมืองของประเทศ และต้องเป็น “Rijal” ในภาษาอาหรับแปลว่า “เพศชาย” อีกคุณสมบัติสำคัญของประธานาธิบดีแห่งอิหร่านจะต้องเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อหลักการสาธารณรัฐอิสลาม มีความประพฤติที่ดีอยู่ในกรอบของศีลธรรม และต้องนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์
ด้านนักวิจารณ์ของสภากล่าวว่า ในบริบทของรัฐธรรมนูญคำว่า Rijal มีขึ้นเพื่อแสดงถึงบุคคลทางการเมืองและศาสนา โดยทั่วไปแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชายหรือผู้ที่มีบุคลิกเป็นชาย เพราะในภาษาเปอร์เซียคำนี้รวมถึงเพศหญิงด้วยเช่นกัน
จากความคลุมเครือของกฎหมายทำให้สมาชิกสภาที่ปรึกษา (รัฐสภา) พยายามยุติความขัดแย้งในประเด็นนี้ลงไป และได้เสนอญัตติเพื่อให้มีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 115 แต่กลับถูกตีตกไปทุกครั้งเมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา เนื่องจากความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายมาตรานี้อยู่ภายใต้สภาพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเครื่องมือกีดกันไม่ให้สตรีชาวอิหร่านลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี
แม้จะมีข้อกำหนดสำหรับคุณสมบัติของผู้ลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดี และข้อกำหนดดังกล่าวก็ระบุอย่างชัดเจนว่าต้องเป็นเพศชาย ทำให้สตรีไม่มีคุณสมบัติในการลงสมัครตำแหน่งดังกล่าว แต่หากสตรีประสงค์จะลงสมัครในตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ เช่น รองประธานาธิบดี รัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ทูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมการประจำจังหวัด สตรีอิหร่านสามารถลงสมัครตำแหน่งเหล่านี้ได้ โดยไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมายมากีดกัน
Photo Credit: EPA/ Abedin Taherkenareh
“ในอดีตสตรีชาวอิหร่านพยายามลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ถูกรัฐบาลตัดสิทธิ์ทุกครั้งโดยไม่มีเหตุผลรองรับอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่นในปี ค.ศ. 2001 มีสตรีพยายามลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีทั้งสิ้น 47 ราย ซึ่งทุกรายล้วนถูกตัดสิทธิ์” Shahla Haeri ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบอสตันกล่าว
จากการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งประเทศเพียงแค่ 43% ในขณะที่เตหะรานซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศกลับมีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเพียงแค่ 22% เท่านั้น ถือเป็นการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่น้อยที่สุดในประวัติกาล นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอิหร่านปี ค.ศ. 1979 ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐกังวลว่า ผลการเลือกตั้งดังกล่าวจะทำให้ประชาชนโกรธแค้นรัฐบาลและอาจนำสู่การปฏิวัติดั่งเช่นในอดีต
ส่วนทางด้านผู้นำคณะรัฐบาลมองว่า หากผลักดันให้สตรีสามารถขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของประเทศได้ อาจทำให้ประชาชนชาวอิหร่านจำนวนมากออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งถัดไปเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีความชอบธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญที่ผ่านการแก้ไขข้อกฎหมายจำกัดสิทธิสตรีในการสมัครลงเลือกตั้งประธานาธิบดี
Photo Credit: AFP
“การประกาศของสภาผู้พิทักษ์เรื่องการอนุญาตให้สตรีอิหร่านสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีได้นั้น ถือเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองมากพอ ๆ กับการแก้ไขความอยุติธรรมในอดีต ซึ่งสตรีควรมีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งอิหร่าน และควรมีสิทธิ์เท่าเทียมกับบุรุษ” Roja Fazaeli ผู้เชี่ยวชาญด้านสตรีศึกษาและอาจารย์ที่วิทยาลัยทรินิตี้ในไอร์แลนด์ (Trinity College) กล่าว
ส่วนศาสตราจารย์ Haeri เชื่อว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าว ดูเหมือนจะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้วัยรุ่นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ออกมาใช้สิทธิออกเสียงกันมากขึ้น ในช่วงเวลาที่ชาวอิหร่านจำนวนมากกำลังหมดศรัทธาในกระบวนการเลือกตั้งภายในประเทศ
Photo Credit: Reuters/ thenationalnews.com
หลายปีที่ผ่านมา สตรีชาวอิหร่านนับไม่ถ้วนพยายามลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แน่นอนว่าถูกตัดสิทธิ์ทุกครั้งตั้งแต่กรรมการเห็นว่าเป็นสตรี แต่สำหรับ Azam Taleghani อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เป็นลูกสาวของนักศาสนศาสตร์และนักปฏิรูปผู้มีชื่อเสียง Ayatollah Mahmoud Taleghani ซึ่งเธอได้ลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีถึง 5 สมัยติดต่อกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997-2017 แต่ถูกสภาผู้พิทักษ์ตัดสิทธิทุกครั้ง แม้ว่าขณะนี้ทางสภาจะออกประกาศอนุญาตให้สตรีสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ในปี ค.ศ. 2021 แล้วก็ตาม แต่น่าเสียดายที่เธอไม่มีโอกาสได้ลงเลือกตั้งอีกต่อไป เพราะเธอได้จากโลกนี้ไปตลอดกาลในปี ค.ศ. 2019 ด้วยโรคเกี่ยวกับสมอง
Samaneh Savadi นักเคลื่อนไหวเพื่อความเสมอภาคทางเพศชาวอิหร่าน ซึ่งอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรชี้ให้ Asia Times เห็นว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ ๆ สาเหตุมาจากข้อกำหนดทางกฎหมายทางศาสนาที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยสภาผู้พิทักษ์กำหนดให้สตรีต้องสวมฮิญาบอยู่เสมอหากต้องการได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
อย่างในบางกรณี สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิในการปกครองเลี้ยงดูบุตร สิทธิในการหย่าร้าง การเดินทางออกนอกประเทศ และการทำงาน เพราะตามธรรมเนียมแล้วหากสตรีคนใดแต่งงานแล้วก็จะไม่มีสิทธิที่จะออกไปทำงานนอกบ้านได้
Photo Credit: AFP/ Morteza Nikoubazl
“ผู้หญิงยังต้องตกอยู่ภายใต้เงาของระบอบปิตาธิปไตยหรือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ สตรีไม่อาจมีสิทธิออกเสียง หากแต่งงานแล้วพวกเธอก็ต้องอยู่แต่ในบ้าน และต้องถูกกดทับด้วยอำนาจที่ชายมองว่าเพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ และต้องได้รับการปกป้องดูแลอยู่เสมอ ทำให้พวกเขาเข้ามาควบคุมสิทธิเหนือร่างกายสตรี เช่น การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติยศ (Honor Killing) เป็นการฆ่าสตรีในครอบครัวที่นำพาความเสื่อมเสียมาสู่ตระกูล และการทำสุหนัตหญิงหรือการขริบอวัยวะเพศหญิง เป็นต้น” เธอกล่าวเสริม
จากรายงานดัชนีช่องว่างระหว่างหญิงชาย (Global Gender Gap) ประจำปี 2020 ของเวทีเศรษฐกิจโลก ((World Economic Forum – WEF) เพื่อติดตามสถานการณ์ความเท่าเทียมทางเพศทั่วโลก ได้ทำการสำรวจทั้งหมด 153 ประเทศ โดยมีเกณฑ์การสำรวจความเสมอภาคใน 4 หมวดหลัก ๆ ประกอบด้วย การเข้าถึงระบบสาธารณสุข การสำเร็จการศึกษาในระดับสูง การมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ รวมถึงการมีอำนาจทางการเมือง ซึ่งอิหร่านอยู่ในลำดับที่ 148 นับเป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างหญิงชายมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
Photo Credit: AFP/ Fatemeh Bahrami
ซึ่งหากพิจารณาสัดส่วนแรงงานผู้หญิงพบว่า มีจำนวนมากถึง 17% ของผู้ใช้แรงงานทั้งประเทศ และมีผู้หญิงสำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยสูงถึง 50% ตามรายงานของ Human Rights Watch (HRW) องค์การนอกภาครัฐระหว่างประเทศซึ่งทำวิจัยและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ซึ่งทั้งสองรายงานชี้ให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างชายหญิงที่มีอัตราสูงเป็นอับดับต้น ๆ ของโลก และหากย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์การกดขี่เพศหญิงพบว่า นับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในปี ค.ศ. 1978 ก็ทำให้สตรีชาวมุสลิมถูกกดขี่มานับแต่นั้นเป็นต้นมา
ด้าน Human Rights Watch ได้ออกมาเรียกร้องให้อิหร่านผ่านร่างกฎหมายด้านการเลือกปฏิบัติ เพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติทางเพศในสถานที่ทำงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ที่มา
- Leah Rodriguez. Iran Allows Women to Run for President in 2021 After 40-Year Policy Reversal. www.globalcitizen.org
- Kourosh Ziabari. Iran clears path for women to run for president. https://asiatimes.com/2020
- ชูชาติ พุฒเพ็ง. สตรีอิหร่านลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้หรือไม่. www.parliament.go.th