Kind Icon

จาก “เด็กข้างถนน” แห่งดินแดนภารตะ สู่ “เชฟ” ผู้เลื่องชื่อในโตรอนโต


โตรอนโต, แคนาดา – เย็นวันศุกร์กลางเดือนที่ใครหลายคนคงเหนื่อยล้าจากการทำงานมาทั้งสัปดาห์ การจะหาร้านอาหารถูกใจในเมืองใหญ่แห่งนี้คงเป็นเรื่องยาก แต่ชื่อเสียงของ “ซาช ซิมป์สัน” เชฟผู้มาจากดินแดนภารตะ ดินแดนอันไกลโพ้น ที่แม้แต่เขาเองก็ไม่เคยวาดฝันมาก่อนว่า จะกลายเป็นหนึ่งในลิสต์เชฟที่ชาวแคนาดาหลายคนวางไว้เป็นอันดับต้น ๆ ว่าจะต้องลิ้มลองฝีมือเขาสักครั้งหนึ่งในชีวิตให้ได้!

สำหรับเมนูที่ขึ้นชื่อของ ซาช ซิมป์สัน คือ กุ้งล็อบสเตอร์ลวกด้วยชาร์ดอนเนย์ และเบอร์เกอร์ฟัวกราส์ ในราคาเพียงแค่ 27 ดอลลาร์สหรัฐฯ (815 บาท) เท่านั้น

เด็กข้างถนน

เมื่อประมาณสี่สิบปีก่อน ซาช ซิมป์สัน เคยเป็นเด็กเร่ร่อนอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย ส่วนอาหารที่ใช้ประทังชีวิตก็มาจากถังขยะหลังร้านอาหาร ในเมืองโคอิมบะทอร์ รัฐทมิฬนาฑูของอินเดีย


เขาเป็นเพียงเด็กชายรูปร่างผอมแห้ง เนื้อตัวมอมแมม ที่ไม่ว่าจะพินิจพิเคราะห์อีกกี่ครั้ง เด็กที่ถูกทอดทิ้งเหล่านี้ต่างก็มีลักษณะบางอย่างที่เหมือนกันอย่างแยกไม่ออก

แต่ชีวิตของซาช เด็กชายวัยแปดขวบคนนี้ กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เมื่อเจ้าหน้าที่จากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า บังเอิญเห็นเขานั่งขอทานอยู่ที่สถานีขนส่ง เด็กชายตัวน้อยที่คนเดินผ่านไปผ่านมาอย่างไม่แยแส แต่กลับมีอะไรบางอย่างสะกิดให้พวกเขาต้องวกตัวกลับมาหาเขาอีกครั้ง

ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเจอซาช เขาเล่าให้เราฟังว่า ชีวิตของเขาเมื่อก่อนก็ไม่ได้แตกต่างจากเด็กเร่ร่อนคนอื่นเท่าไหร่นัก ตื่นมาเก็บของให้เข้าที่ แล้วก็ออกไปนั่งขอทานอยู่ตรงสถานีขนส่ง ตกเย็นก็มาคุ้ยหาอาหารจากถังขยะ ก่อนนอนก็จัดแจงที่นอน ปัดกวาดสิ่งสกปรกตามพื้นออกแล้วก็ล้มตัวนอน ตื่นมาก็ทำเหมือนเดิม ทุกอย่างหมุนวนกันอยู่แบบนี้ในทุก ๆ วัน


“มันเป็นช่วงจังหวะหนึ่งของชีวิตจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งวินาทีก่อนหน้านั้น หรือหนึ่งวินาทีต่อมา พวกเขาอาจจะแค่คิดถึงผมเพียงชั่วขณะหนึ่ง แล้วพวกเขาก็กลับมาหาผมอีกครั้ง” คุณซิมป์สันกล่าว ซึ่งเขาเพิ่งฉลองวันเกิดครบรอบอายุ 50 ปี ไปเมื่อไม่นาน แม้ว่าเขาจะไม่แน่ใจว่าจริง ๆ แล้วเขาอายุเท่าไหร่กันแน่ “ผมเชื่อในปาฏิหาริย์ เพราะมันเคยเกิดขึ้นกับผมมาแล้ว”

ในปีที่ผ่านมา ซาช ซิมป์สัน ในฐานะเชฟอันดับต้น ๆ ของโตรอนโต ได้เปิดร้านอาหารของตัวเองเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งร้านอาหารของเขาแตกต่างจากร้านอาหารแหล่งอื่นอย่างสิ้นเชิง ด้วยบริการรับจอดรถ และเสิร์ฟคาเวียร์ที่ต่างกันถึงสี่ชนิด พร้อมเสิร์ฟวอดก้าพร้อมน้ำแข็งเคลือบทองคำ


“ผมต้องยอมรับเลยว่า ช่วงเวลานั้นมันแย่มาก ร้านอาหารในโตรอนโตหลาย ๆ ร้านได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในอเมริกาเหนือ ยอดการจองทานอาหารลดฮวบลงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2019 ตามข้อมูลที่รวบรวมโดย OpenTable (บริการจองร้านอาหารออนไลน์) นอกจากยอดขายจะลดลงแล้ว ผมต้องปิดร้านอาหารลงตามนโยบายของรัฐอีกเป็นเวลาห้าเดือน ซึ่งอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อไวรัสโควิด-19 และถูกสั่งให้ปิดอีกครั้งในวันที่ 10 ตุลาคม”

ขณะที่เรากำลังนึกชื่นชมร้านอาหารของเขาอยู่ในใจ คุณซิมป์สันก็กล่าวขึ้นมาเรียบ ๆ ขณะนั่งอยู่บนเก้าอี้หุ้มผ้าทวีดที่สั่งทำพิเศษราคา 600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือตีเป็นเงินไทยก็ตกตัวละประมาณ 18,000 บาท ว่า “ทุกอย่างที่ผมมี รวมอยู่ในนี้หมดแล้ว”

แม้ว่าความตั้งใจในการทำร้านอาหารแห่งนี้จะเต็มเปี่ยมแค่ไหน แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทุกอย่างในร้านก็ดูว่างเปล่าไปหมด มีเพียงเราและคุณซิมป์สัน ยืนอยู่ท่ามกลางความเงียบเหงาแห่งนี้

Photo Credit: nytimes.com

ความทรงจำ

แม้ว่าทุกอย่างจะดูสิ้นหวัง แต่คุณซิมป์สัน ก็ได้เผยความทรงจำวัยเด็กของเขาให้เราทราบอีกว่า “ผมจำช่วงชีวิตวัยเด็กไม่ค่อยได้มากนัก ทุกอย่างมันดูพร่าเลือนไปหมด แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจำได้ดีคือ เราอาศัยอยู่ในบ้านเพิงเล็ก ๆ ในสลัมแห่งหนึ่งริมรางรถไฟ คุณพ่อของผมเป็นใบ้ เราสื่อสารกันด้วยภาษามือ แต่ท่านก็พยายามดูแลเราอย่างดี แม้ว่าจะต้องทำงานในโรงงานยาสูบก็ตาม อ้อ! ผมมีพี่อีกสองคนด้วยนะ ช่วงกลางคืนเราก็มักจะกระโดดเข้า ๆ ออก ๆ อยู่ตรงรถไฟนี่แหละ รถไฟที่จอดทิ้งไว้ก็กลายเป็นสนามเด็กเล่นของเราไปโดยปริยาย” เขายิ้มออกมาน้อย ๆ

“ผมจำได้ลาง ๆ ว่า หลังจากนั้นไม่นาน ผมได้รับหนังสือรับรองความเป็นผู้อุปการะที่มิใช่บิดา/ มารดา พร้อมระบุเหตุผลว่า ‘แม่ของผมทิ้งผมไปหาเพื่อนชายของเธอ’ และพี่ชายของผมก็ทิ้งผมไว้ที่สถานีขนส่งแห่งหนึ่ง แต่ผมก็จำไม่ได้หรอกนะ ว่าผมถูกพี่ชายทิ้งไว้ที่นั่น”

“ผมไม่รู้ว่า ผมเกิดจากที่ไหน หรือผมอยู่ที่ไหนกันแน่ในอินเดีย” เขากล่าวเสริม “ผมขอเรียก ‘บ้าน’ ว่าเป็นสถานที่ที่พวกเขาเจอผมก็แล้วกัน”

ชีวิตใหม่

สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ก่อตั้งโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของแคนาดา แม้จะเป็นองค์กรขนาดเล็ก แต่ที่นี่กลับเป็นสถานที่ที่มอบความหวังและความฝันให้เด็ก ๆ หลายคนมานับไม่ถ้วน โดยมีโครงการ Families for Children จัดตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนและดูแลเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ส่วนใหญ่เด็ก ๆ ในบ้านหลังนี้ถูกทางองค์กรรับอุปการะมาตั้งแต่พวกเขายังเด็ก


ทางองค์กรจะดูแลเด็ก ๆ ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มองดูพวกเขาเติบโต ส่งพวกเขาเข้าเรียน เมื่อพวกเขาโตพอจะเลี้ยงดูตัวเองได้แล้ว ก็ย้ายออกจากบ้านหลังนี้ แต่คุณซิมป์สัน ในวัยเด็กทำให้เป้าหมายที่ทางองค์กรตั้งไว้เปลี่ยนไป เพราะทุกครั้งที่ผู้ก่อตั้งองค์กร หรือ คุณแซนดร้า ซิมป์สัน กลับมาเยี่ยมบ้านหลังนี้ คุณซิมป์สันในวัยเด็กก็มักจะเข้าไปหาเธอตลอดเวลา พร้อมกระตุกกระโปรงของเธอ พลางเรียกแต่ “แม่ฮะ ๆ” อย่างไม่หยุดหย่อน และอีกคำที่ตามมาด้วยเสมอคือ “แคนาดา” คำง่าย ๆ เพียงแค่สองคำ ที่ทำให้ชีวิตของคุณซิมป์สันเปลี่ยนไปตลอดกาล

“เขามักจะเข้ามากวนฉันอยู่เรื่อย เพื่อจะมาแคนาดาให้ได้” แซนดร้า ซิมป์สัน ในวัย 83 ปี เขียนผ่านอีเมลจากมอนทรีออล ปัจจุบันเธอยังคงทำหน้าที่ดูแลเด็ก ๆ ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าอยู่ “ฉันบอกเขาว่า ฉันจะหาครอบครัวให้เขาให้ได้ ไม่ต้องห่วง แต่ลึก ๆ ในใจ ฉันก็รู้ดีว่า เขาโตเกินกว่าจะถูกรับอุปการะแล้วก็ตาม ฉันเลยตัดสินใจว่า ‘ถ้าไม่มีใครอุปการะเขา ฉันก็จะดูแลเขาเอง’ นับตั้งแต่วันนั้น ซาชิ ก็เป็นครอบครัวของเราอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” เธอเล่าโดยเรียกคุณซิมป์สันว่า “ซาชิ” ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกต้องตามกฎหมายของเขา

มุ่งสู่แคนาดา

ในปี ค.ศ. 1979 คุณซิมป์สัน และครอบครัวใหม่ได้ออกเดินทางมายังโตรอนโต แต่กว่าจะถึงจุดหมายก็ใช้เวลาไปถึงห้าวันด้วยกัน ภาพความทรงจำแรกของเขา หลังจากมาเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกคือ พายุหิมะที่กำลังโหมกระหน่ำ ทุกอย่างขาวโพลนไปหมด อากาศที่หนาวเหน็บกำลังทำให้เขาตื่นเต้น พอ ๆ กับหวาดกลัว

หลังจากเขาเดินทางมาถึงบ้านหลังใหม่ อีกหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่ทำให้เขายืนตะลึงงันอยู่ตรงประตูทางเข้าคือ กล่องสี่เหลี่ยมที่กำลังกะพริบถี่ ๆ พร้อมฉายภาพหญิงสาวสวมรองเท้าบูทสีแดง “ผมไม่เคยเห็นโทรทัศน์มาก่อน” เขากล่าว พลางนึกย้อนไปถึงช่วงที่ต้องนั่งล้อมวงกินข้าวกับพี่ ๆ น้อง ๆ อีก “นับล้านคน” เขาเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

ต่อมาครอบครัวซิมป์สันได้ปรากฏตัวในโฆษณายาแก้ปวดหัว Anacin ทางโทรทัศน์ ในฐานะ “ครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดของแคนาดา”


จากเอกสารการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมของครอบครัวซิมป์สัน ที่ได้รับการเผยแพร่อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1984 ระบุว่า ครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดาครอบครัวนี้ มีลูกทั้งสิ้น 26 คน โดยแบ่งเป็นบุตรบุญธรรม 20 คน บุตรแท้ ๆ 4 คน ส่วนอีก 2 คนถูกรับอุปการะจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า

พี่น้องของซาช ล้วนเป็นเด็กที่มาจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมือง ภัยธรรมชาติ หรือความยากจน เช่น เอกวาดอร์ และโซมาเลีย ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขามีความพิการอย่างรุนแรง  


ครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ในคฤหาสถ์ขนาด 22 ห้อง ในย่านฟอเรสต์ ฮิลล์ ซึ่งเป็นย่านที่ร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งของโตรอนโต โดยคุณแซนดร้าต้องกู้ยืมเงินจากวาณิชธนกิจ และได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใจบุญในการอุปถัมภ์เลี้ยงดูลูก ๆ ของเธอทั้ง 26 คน

เมื่อซาชอายุ 12 ปี เขาสมัครเป็นพนักงานส่งหนังสือพิมพ์ ซึ่งเงินก้อนแรกจากการทำงาน ซาชบอกกับเราพลางหัวเราะว่า เขาเอาเงินไปซื้อเสื้อผ้าจนหมด เพราะอยากจะแตกต่างจากพี่น้องของเขา

ตอนอายุ 14 ปี เขาเริ่มทำงานอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เขาสมัครเป็นพนักงานล้างจานที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งเมลานี พี่สาวของเขาทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอยู่

Photo Credit: sash.ca


“จู่ ๆ ผมก็มีความคิดว่า ‘ผมจะไม่ยอมเป็นแบบนั้น (เด็กเร่ร่อน) อีกแล้ว ก่อนที่ผมจะถูกรับเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม’” เขากล่าว พลางทอดสายตาออกไปนอกร้าน และเขาก็เล่าเสริมว่า หลังจากนั้น เขาเริ่มใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในครัวของคฤหาสถ์บ่อยขึ้น ซึ่งช่วงแรกนั้น มันไม่ง่ายเลย เพราะพี่น้องของเขาก็ชอบอยู่ในครัวเช่นกัน เพราะในบ้านหลังนี้ เด็ก ๆ มีหน้าที่ผลัดเวรกันทำอาหารแบบง่าย ๆ อย่างแพนเค้ก เป็นอาหารเช้า ส่วนอาหารเย็นก็เป็นไก่ย่าง ทำให้ห้องครัว กลายเป็นสถานที่ที่ครอบครัวซิมป์สันคุ้นเคยมากที่สุดห้องหนึ่งของบ้าน

“ถ้ามีอะไรที่ทำให้การเปิดร้านอาหารมันเป็นเรื่องง่ายก็คงจะดี” เมลานี ซิมป์สัน เปิดร้านอาหารในโตรอนโตเป็นของตัวเอง ชื่อ Mel’s Montreal Delicatessen กล่าว “มันยากมาก ยากมาก ๆ สำหรับเรา ที่จะลดปริมาณอาหารลงให้เป็นขนาดปกติ”

คืนวันพุธ ซึ่งเป็นเวรทำอาหารของซาช โดยปกติแล้วเมื่อซาชเข้าครัว ทุกคนจะเข้าใจได้ในทันทีว่า มื้อเย็นวันนี้ของพวกเขาจะต้องเป็น ขนมปังกระเทียมและสปาเก็ตตี้โบโลเนส

“ผมคิดอยู่เสมอว่า ‘ผมอยากทำอาหารให้ทุกคนทาน’” ซาชกล่าว และชายผู้นี้ไม่ได้กล่าวขึ้นมาลอย ๆ เพราะเขามักอาสาทำอาหารให้กับสถานสงเคราะห์คนไร้บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ตรงใจกลางเมืองเป็นประจำ “มันเหมือนเป็นอีกวิธีหนึ่งในการดูแลพวกเขา”


แม้ว่าชีวิตตอนนี้ของซาชจะราบรื่นไปได้ด้วยดี ทั้งครอบครัวที่อบอุ่น พี่น้องที่น่ารัก สภาพแวดล้อมก็เป็นใจให้เขาเริ่มต้นชีวิตในต่างแดน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ซาชต้องคิดหนักทุกครั้งคือ “การเรียนหนังสือ” เขาบอกกับเราว่า “โรงเรียนไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะกับผมเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะว่า ผมเคยเป็นเด็กเร่ร่อนมาก่อนก็ได้” ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี ที่ซาชรู้ตัวว่าในอนาคต เขาอยากจะทำอะไรกันแน่ หลังจากนั้นซาชจึงตัดสินใจหยุดเรียนหลังจากจบม. 6 และหันมาทำงานประจำในร้านอาหารอย่างเต็มตัว

ในปี ค.ศ. 1993 ขณะกำลังเดินเล่นอยู่ริมถนน ซาชก็บังเอิญเห็นประกาศรับสมัครงานของร้าน North 44 ซึ่งเป็นร้านอาหารระดับไฮเอนด์ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของเมือง เพียงแวบแรกที่เห็นก็ทำให้ซาชตาเป็นประกาย เพราะเขาไม่เคยทานอาหารระดับนี้มาก่อน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการทำอาหารเลย เขาแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการทำอาหารหรู ๆ แบบนี้เลยสักอย่าง

ชายผู้เริ่มจากศูนย์

กว่าจะรู้ตัวอีกที ขาทั้งสองข้างของเขาก็พาเขามาหยุดอยู่หน้าร้าน North 44 เสียแล้ว เขาเปิดประตูเข้าไป พร้อมแนะนำตัวเองว่า จะเข้ามาทำงานที่นี่ ภาพตรงหน้ามันช่างพร่าเลือนไปหมด ทุกอย่างดูเหมือนความฝัน แต่เขาก็ภูมิใจในตัวเองไม่น้อย ที่ได้เข้ามาทำงานที่ร้านอาหารชื่อดังแห่งนี้

แต่ซาชยังคงขาดคุณสมบัติของการเป็นเชฟที่ดี เขาไม่เคยทำอาหารสไตล์นี้มาก่อน มีเพียงสิ่งเดียวที่เพื่อนร่วมงานจดจำเขาได้คือ รูปร่างและทรงผมของเขา อย่างกับร่างก๊อปปี้ของ ไมเคิล แจ็กสัน ออกมาอย่างกับแกะ ตั้งแต่จะงอยผมหยิก ๆ ที่ปล่อยออกมาเหนือคิ้ว ไปจนถุงมือที่เหลืออยู่เพียงข้างเดียว


แม้ว่าซาชจะทำงานที่นี่ได้ไม่นานก็โดนไล่ออกมา แต่เขาก็ไม่ละความพยายาม เขาใช้วิธีเดียวกับที่ขอร้อง “คุณแม่” ให้พาเขามายังแคนาดา ซึ่งวิธีนี้ก็ทำให้เจ้าของร้านใจอ่อน และรับเขาเข้ามาทำงานอีกเป็นเวลาสามเดือน แต่มีข้อแม้ว่าร้านจะไม่จ่ายค่าจ้าง เพียงแค่ได้ยินว่าเขาจะได้ทำงานที่นี่ต่อ ก็ทำให้เขาหัวใจพองโตแล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะมีเงื่อนไขอะไรเข้ามา เขาได้หันมากล่าวย้ำกับเราว่า “ผมพร้อมจะทำทุกอย่าง”

ซาชเริ่มเรียนรู้วิธีการทำสลัดหลากสี โดยจุดสำคัญของการทำสลัดคือ ผักต้องไม่ช้ำ และต้องสดอยู่เสมอ

“ผมได้เห็นส่วนผสมที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต” เขากล่าว “เมื่อผมเริ่มทำงานที่นี่ ผมได้ลองทานอาหารหลายอย่าง ตั้งแต่สเต๊กทาร์ทาร์ ฟัวกราส์ ไปจนถึงเห็ด ที่ผมไม่เคยเห็นและไม่เคยได้ยินชื่อมันมาก่อน” ซึ่งซาชก็บอกกับเราภายหลังว่า เห็ดที่เขาทานตอนนั้นคือ เห็ดพอร์ชินี เห็ดชองเทอเรลล์ และเห็ดเมอเรล

แต่ในความคิดของพี่สาวซาช เธอบอกกับเราว่า ซาชมักจะทำงานหนักอยู่เสมอ แต่สำหรับซาชเอง เขาคิดว่านี่คือสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งใหญ่กว่านี้ได้ เขาเล่าว่า เขามักจะมาก่อนเวลางานเสมอ และกลับคนสุดท้าย เขาพยายามเรียนรู้ทุกอย่างภายในระยะเวลาสามเดือนที่เขามีโอกาสทำงานในร้านอาหารแห่งนี้

“จนถึงทุกวันนี้ เขาก็เรียกห้องครัวว่าเป็นที่ทำงานของเขาไปแล้ว” อแมนด้า แลมเบิร์ต ผู้ช่วยเชฟ เธอทำงานกับซาชมาเป็นเวลาห้าปีแล้วกล่าว “เขาจะทำงานทุกอย่างที่สำคัญ ๆ เช่น การเอาขยะออกไปทิ้ง”

ในปี ค.ศ. 2003 ซาชได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพ่อครัว ทำหน้าที่ดูแลครัวและจัดงานเลี้ยงโดยเฉพาะ ซึ่งเขาก็ได้รับการยอมรับจากผู้ดีของเมืองโตรอนโตอย่างรวดเร็ว จากความใส่ใจที่ซาชมอบให้แขกทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เช่น การจดจำว่าพวกเขาชอบดื่มสก็อตใส่น้ำแข็งกี่ก้อน และซุปที่พวกเขาชอบทาน จะต้องเสิร์ฟพร้อมสลัดประเภทไหน เป็นต้น

ในงานเลี้ยงสังสรรค์ปี ค.ศ. 2008 เขาได้พบกับโรบิน พิชเชอร์ นักวางแผนจัดการอีเวนท์ เธออายุน้อยกว่าเขา 11 ปี แต่อายุของเธอก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับทั้งคู่แต่อย่างใด เพราะปัจจุบันพวกเขาแต่งงานกันมาเป็นเวลา 9 ปีแล้ว และยังมีลูก ๆ ที่น่ารักด้วยกันอีกสองคน


“ช่วงแปดเดือนที่ผ่านมา มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมากที่สุดในชีวิตของผม ผมต้องกู้เงินเพื่อนำมาจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานในร้าน แม้ว่าจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมาก็ตาม แต่มันก็ยังลำบากอยู่ดี” ซาชกล่าวพลางถอนหายใจ “ผมใช้เวลาทั้งวันในร้านที่ว่างเปล่า… แต่ผมก็ยังไม่ล้มเลิกความพยายามหรอกนะ ผมพยายามติดต่อลูกค้าว่า พวกเขาต้องการสั่งอาหารกลับไปทานที่บ้านมั้ย หรืออยากจะจัดปาร์ตี้เล็ก ๆ ในครอบครัวดูบ้างมั้ย”

ในช่วงเวลาประมาณสี่สิบปีที่ผ่านมาของซาช เขาต้องกินอาหารจากถังขยะมานับไม่ถ้วน เขาคิดอยู่ตลอดว่า มันช่างเป็นเรื่องน่าขำ ที่คนจนก็จนแล้วจนอีก แม้แต่อาหารดี ๆ สักมื้อยังเป็นเรื่องยากที่จะหามาประทังชีวิต ส่วนคนรวยก็รวยจนเหมือนอยู่คนละโลกกับเขา แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม ซาชในวัย 50 ปี ก็ต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อเอาชีวิตรอด


“ไม่มีทางที่ผมจะปิดร้านนี้ลงโดยเด็ดขาด” เขากล่าว และเสริมว่า “ผมเป็นเด็กริมถนนมาก่อน ซึ่งการที่ผมใช้ชีวิตแบบนี้มา ผมต้องดิ้นรนทำทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอด คุณจะต้องสู้ ต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มันมา” ซาชกล่าวปิดท้าย


ที่มา

  • Catherine Porter. From ‘Street Kid’ in India to Top Toronto Chef. www.nytimes.com

เรื่องโดย