Kind Tastes

เมื่อชาวเยอรมันมองว่า “วัฒนธรรมเปลือยกาย” ในที่สาธารณะ เป็นเรื่องสามัญที่ใคร ๆ ก็ทำได้


“Free-body Culture” หรือ “วัฒนธรรมเปลือยกาย” เป็นแนวคิดการส่งเสริมความกลมกลืนกับธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันชาวเยอรมันบางคนก็เปลื้องผ้าอาบแดดเพื่อเล่นกีฬา หรือแม้แต่เดินป่าก็ทำมาแล้ว

ว่าด้วยเรื่องการเปลือยกายของชาวเยอรมัน
ผ่านมุมมองของนักเขียนที่เติบโตในอเมริกา


หลังจากใช้ชีวิตในเบอร์ลิน 4 ปี คริสติน แอร์นิสัน นักเขียนสาวผู้มีผลงานผ่านสายตานักอ่านทั่วโลก ทั้งจาก Condé Nast Traveller, National Geographic, Culture Trip และ BBC ก็ยอมรับว่าเธอได้เรียนรู้เรื่องราวในเยอรมนี รวมถึงเข้าใจวัฒนธรรมเปลือยกายของพวกเขาได้มากกว่าที่เธอเติบโตในแถบตะวันตกตอนกลางของสหรัฐอเมริกาเสียอีก

แม้ว่า “การเปลือยกาย” ในวัฒนธรรมกระแสหลักของอเมริกันจะเจาะจงไปที่เรื่อง “เพศ” แต่ที่เยอรมนี “การนุ่งลมห่มฟ้า” ไม่ใช่เรื่องแปลกในชีวิตประจำวันเลย แม้แต่ตัวเธอเองก็เคยชินกับการแก้ผ้าในห้องซาวน่าและลงสระว่ายน้ำด้วยชุดวันเกิดมาแล้ว “นั่นทำให้หมอนวดประหลาดใจเมื่อฉันแก้ผ้าออกเสร็จสรรพก่อนเริ่มนวดผ่อนคลาย ทำให้เขาตั้งข้อสังเกตว่าโดยปกติแล้วคนอเมริกันจะต้องถูกขอให้ถอดเสื้อผ้าก่อนไม่ใช่หรือ” แอร์นิสัน กล่าว

ถึงอย่างนั้นก็ตาม เธอเชื่อว่าทุกคนจะไม่มีวันลืมครั้งแรกที่ต้องเผชิญกับ “คนเปลือยกายในที่สาธารณะ” โดยจุดเริ่มต้นของเธอเกิดขึ้นระหว่างที่กำลังวิ่งจ็อกกิ้งในฮาเซ่นไฮเด (Hasenheide) สวนสาธารณะในเขตน็อยเคิลน์ (Neukölln) ทางตอนใต้ของเบอร์ลิน เธอเห็นกับตาว่ามีผู้คนเปลือยกายนอนรับแสงแดดยามบ่ายอย่างไม่เกรงสายตาใคร แล้วหลังจากนั้นเธอก็ได้พูดคุยกับเพื่อน ๆ และสืบค้นข้อมูลจาก Google ก็พบว่า การบังเอิญเจอ “สิ่งที่ไม่คาดคิด” ตามสวนสาธารณะหรือชายหาด ถือเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งในเบอร์ลิน


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แอร์นิสันเห็นนั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อทางศาสนาของเบอร์ลิน แต่เป็นตัวอย่างของ “ฟรายเคาร์เพอร์เคิลทู (Freikörperkultur – FKK)” หรือในภาษาอังกฤษคือ “Free-body Culture” หรือ “วัฒนธรรมเปลือยกาย” ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับชีวิตของคนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน หรือเยอรมนีตะวันออก แต่กระนั้นการเปลือยกายในที่สาธารณะของเยอรมนีก็มีมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 แล้ว ซึ่งต่างจากการแก้ผ้าบนชายหาดของสเปนโดยสิ้นเชิง เพราะ FKK (เอฟคาคา) ครอบคลุมถึงการเคลื่อนไหวของชาวเยอรมันในวงกว้างด้วยจิตวิญญาณที่แตกต่างออกไป

เอฟคาคา (FKK) วัฒนธรรมเปลือยกายที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19


“การเปลือยกาย เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานในเยอรมนี” ดร. อานด์ บาวาแคมเพอร์ รองศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์สมัยใหม่จากมหาวิทยาลัย Freie ในเบอร์ลินกล่าว โดยในช่วงเปลี่ยนศตวรรษที่ 20 Lebensreform หรือการปฏิรูปชีวิต ยังคงเป็นปรัชญาที่สนับสนุนเรื่องอาหารออร์แกนิก การปลดปล่อยทางเพศ การแพทย์ทางเลือก และการใช้ชีวิตเรียบง่าย

“ภาพเปลือยเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว ซึ่งมุ่งต่อต้านความทันสมัยทางอุตสาหกรรม ต่อต้านสังคมใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19” ดร. บาวาแคมเพอร์ กล่าว


จากข้อมูลของ ดร. ฮานโน ฮอคมุธ นักประวัติศาสตร์ของ Leibniz Center for Contemporary History Potsdam ระบุว่า การเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปนี้เกิดขึ้นเป็นพิเศษในเมืองใหญ่ ๆ รวมถึงเบอร์ลิน ในยุค Weimar Republic (ค.ศ. 1918 – 1933) ชายหาด FKK ที่มีประชากรน้อยอยู่แล้วได้มีกลุ่มชนชั้นกระฎุมพีผุดขึ้นมา ซึ่งที่นั่นมีการเข้าใจถึงเสรีภาพใหม่ ๆ หลังจากเกิดสังคมเผด็จการและค่านิยมอนุรักษ์นิยมของจักรวรรดิเยอรมนี (ค.ศ. 1871 – 1918)


ในปี ค.ศ. 1926 อัลเฟร็ด ค็อก ได้ก่อตั้ง Berlin School of Nudism ขึ้นเพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายแบบเปลือยกายในลักษณะผสมผสาน โดยยังคงความเชื่อที่ว่า การเปลือยกายกลางแจ้งส่งเสริมความกลมกลืนกับธรรมชาติและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ในขณะที่อุดมการณ์สมัยนาซีห้ามให้มี FKK ซึ่งในตอนแรกนั้นมองว่าผิดศีลธรรม ต่อมาในปี ค.ศ. 1942 ยุคไรช์ที่สาม (Third Reich) ได้ลดข้อจำกัดในการเปลือยกายในที่สาธารณะลง ซึ่งแน่นอนว่าความอ่อนข้อนี้ไม่ได้ขยายไปถึงกลุ่มที่พวกนาซีข่มเหง เช่น ชาวยิวและคอมมิวนิสต์

ยุคเฟื่องฟูของ FKK ในเยอรมันตะวันออก


อย่างไรก็ตาม ไม่ถึงทศวรรษหลังจากที่เยอรมนีแบ่งออกเป็นตะวันออกและตะวันตก FKK ก็เข้าสู่ยุคเบ่งบานอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งตะวันออก ที่การเปลือยกายไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะชนชั้นกระฎุมพีอีกต่อไป สำหรับชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ในฝั่งตะวันออกภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ การเดินทาง เสรีภาพส่วนบุคคล และการขายสินค้าอุปโภคบริโภคได้ถูกลดทอนลง แต่ FKK ได้ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในฐานะ “เครื่องสูบฉีด” ทำหน้าที่คลายความตึงเครียดในสภาวะที่มีข้อจำกัดด้วยการให้ “อิสระในการเคลื่อนไหว”


ดร. ฮอคมุธ ผู้ซึ่งเติบโตในเบอร์ลินตะวันออก และเคยไปเที่ยวชายหาดเปลือยกายกับพ่อแม่เมื่อยังเป็นเด็ก เขาเห็นด้วยว่า “ผมรู้สึกได้ถึงการหลบหนี ชาวเยอรมันตะวันออกมักจะเปิดรับข้อเรียกร้องทั้งหมดของพรรคคอมมิวนิสต์และสิ่งที่พวกเขาต้องทำ เช่น การไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ หรือถูกขอให้ทำงานชุมชนในวันหยุดสุดสัปดาห์โดยไม่ต้องจ่ายเงิน”

จนกระทั่งหลังจากที่ อิริค โฮเนคเกอร์ เข้าครองอำนาจในปี ค.ศ. 1971 FKK ก็ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งภายใต้อำนาจของโฮเนคเกอร์ เยอรมันตะวันออกได้เริ่มกระบวนการเปิดนโยบายทั้งในและต่างประเทศ กลยุทธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้เยอรมันดูดีต่อสายตาชาวโลกมากขึ้น

การเปลือยกายในที่สาธารณะส่งผลดีต่อสุขภาพ


นับตั้งแต่เยอรมนีตะวันออกรวมเข้ากับตะวันตกในปี ค.ศ. 1990 และมีการยกเลิกข้อจำกัดในวัฒนธรรมคอมมิวนิสต์เดิม บทบาทของ FKK ก็ลดลง โดยในช่วงทศวรรษที่ 1970 – 1980 นักเปลือยกายหลายแสนคนได้รวมตัวกันตั้งแคมป์ตามชายหาดและสวนสาธารณะ

ในปี ค.ศ. 2019 สมาคมเยอรมันเพื่อวัฒนธรรมเปลือยกาย (German Association for Free Body Culture) มีสมาชิกลงทะเบียนประมาณ 30,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 50 – 60 ปี ถึงกระนั้นวันนี้ FKK ยังคงสร้างความประทับใจให้กับวัฒนธรรมเยอรมันโดยเฉพาะเยอรมันฝั่งตะวันออก

ในความเป็นจริง วัฒนธรรมการเปลือยกายของเยอรมันนั้น มีการยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ และชาวเยอรมันเองก็มองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการดูแลสุขภาพ


Photo Credit: nytimes.com


โดยในเว็บไซต์ Nacktbaden.de ได้รวบรวมรายชื่อชายหาดและสวนสาธารณะทั่วประเทศเยอรมนีที่สามารถอาบแดดแบบเปลื้องผ้าได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ห้องซาวน่า สปา หรือจะนุ่งลมห่มฟ้าไปเดินป่ายังเทือกเขาฮาร์ซ (Harz), เทือกเขาแอลป์บาวาเรียน (Bavarian Alps) หรือป่าในรัฐซัคเซิน-อันฮัลท์ (Saxony-Anhalt) ก็ได้ หรือถ้าชอบทำกิจกรรมอย่างเป็นทางการ สโมสรกีฬา FSV Adolf Koch ก็มีโยคะ วอลเลย์บอล แบดมินตัน และปิงปอง ที่ให้คุณเปลือยกายทำกิจกรรมได้เช่นกัน

แนวคิดเปลือยกาย เปิดใจกว้างต่อผู้คน


ในหลาย ๆ ด้าน ความเป็นมาของ FKK ทำให้นักเดินทางเข้าใจถึงคุณค่าที่ยังคงรวมเอาชาวเยอรมันตะวันออกจำนวนมากเข้าด้วยกัน สำหรับ ซิลวา สเติร์นคอฟ หญิงสาวผู้เติบโตขึ้นที่ชายหาด FKK ในเยอรมนีตะวันออก ซึ่งวัฒนธรรมเปลือยกายของประเทศนี้ได้สะท้อนให้เห็นคุณค่าบางประการที่เธอส่งต่อไปยังลูก ๆ ของเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดใจกว้างต่อร่างกายของตนเอง

“ฉันคิดว่าสิ่งนี้ยังคงฝังรากลึกอยู่ในคนรุ่นของฉันตั้งแต่ยังเป็นเยอรมนีตะวันออก” เธอกล่าว “ฉันพยายามให้สิ่งนี้กับลูก ๆ ด้วยเช่นกัน คือเลี้ยงดูพวกเขาด้วยแนวคิดเปิดใจกว้างต่อร่างกาย ไม่ละอายที่จะเป็นตัวของตัวเอง สามารถเปลื้องผ้าอวดโฉมได้อย่างไม่เกรงกลัวใคร”

สเติร์นคอฟมองว่า การเห็นร่างเปลือยในลักษณะที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ช่วยให้ผู้คนเรียนรู้ที่จะมองเห็นผู้อื่นนอกเหนือจากรูปลักษณ์ภายนอกด้วย ซึ่งนั่นจะทำให้มองเห็นถึงตัวตนของผู้คนจริง ๆ


“ถ้าคุณคุ้นเคยกับการเห็นคนแก้ผ้าล่อนจ้อน คุณก็อย่าคิดมากเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอก” เธอกล่าว “ฉันคิดว่านี่เป็นสิ่งที่แพร่หลายมากขึ้นในเยอรมนีตะวันออก เราพยายามที่จะไม่ตัดสินผู้คนจากรูปลักษณ์ แต่เราพยายามจะมองเข้าไปถึงตัวตนที่แท้จริงของพวกเขาเสมอ” สเติร์นคอฟ กล่าวทิ้งท้าย


เกร็ดความรู้

  • Lebensreform หรือในภาษาอังกฤษคือ Life Reform (การปฏิรูปชีวิต) เป็นขบวนการทางสังคมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเผยแพร่วิถีชีวิตที่กลับสู่ธรรมชาติ โดยเน้นอาหารเพื่อสุขภาพ, อาหารดิบ, อาหารออร์แกนิก, การงดแอลกอฮอล์ ยาสูบยาเสพติด และวัคซีน, การเปลือยกาย, การปลดปล่อยทางเพศ, การแพทย์ทางเลือก และการปฏิรูปศาสนา
  • ไรช์ที่สาม (Third Reich) เป็นชื่อเรียกยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์เยอรมัน ระหว่างปี ค.ศ. 1933 – 1945 เมื่อประเทศเยอรมนีอยู่ภายใต้การควบคุมระบอบเผด็จการของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์และพรรคนาซี

ที่มา


เรื่องโดย