Kindvironment

Akshar School โรงเรียนที่เปลี่ยน “ขยะพลาสติก” มาเป็นค่าเทอมให้เด็กยากจนนานนับสี่ปี


หมู่บ้าน Pamohi รัฐอัสสัม, ประเทศอินเดีย – บรรยากาศการเปิดเทอมของโรงเรียน Akshar ในหมู่บ้านแห่งนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อ Mazin Mukhtar และ Parmita Sarma สองสามีภรรยา ตัดสินใจเปิดโรงเรียนทางเลือกให้เด็กยากจนในหมู่บ้าน เข้ามาเรียนได้ฟรี ๆ เพียงแค่ต้องมีคุณสมบัติพิเศษขึ้นอีกหน่อย นั่นคือ ก่อนก้าวออกจากบ้าน ให้เก็บขยะพลาสติกในบ้านของตัวเอง ติดไม้ติดมือมาเป็นค่าผ่านทางก่อนเข้าเรียน เพียงเท่านี้ก็มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ได้โดยฟรี ๆ!

Mazin Mukhtar และ Parmita Sarma เผยแนวคิดสุดเรียบง่ายถึงการก่อตั้งโรงเรียน Akshar ขึ้นมาว่า พวกเขาอยากให้คนในพื้นที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เพราะปัจจุบันเด็ก ๆ ในหมู่บ้านเริ่มเจ็บป่วยจากอากาศเป็นพิษ พวกเขาเริ่มไอ จาม คัดจมูก อากาศนอกห้องเรียนก็ไม่สามารถหายใจได้อย่างทั่วปอด สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากคนในพื้นที่เผาขยะกันอยู่ทุกซอกทุกมุม ซึ่งเขาและภรรยาอยากจะให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรุ่นเยาว์ที่จะเข้ามาช่วยปกป้องหมู่บ้าน ให้รอดพ้นจากมวลอากาศเป็นพิษจากการเผาขยะพลาสติก

Mukhtar เผยว่า เด็ก ๆ ในหมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะครอบครัวของพวกเขามีฐานะยากจน ดังนั้นเด็กส่วนใหญ่จึงต้องทำงานที่เหมืองหิน ซึ่งจะได้รับค่าจ้างประมาณ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 90 บาทต่อวันเท่านั้น แต่มีบางครอบครัวที่พยายามทำงานอย่างหนัก เพื่อส่งลูกตัวเองเข้าเรียน แม้จะส่งเสียลูก ๆ ไม่ได้ทุกคนก็ตาม

“ตอนที่เราขอให้ผู้ปกครองฝากขยะพลาสติกมากับเด็ก ๆ ผมก็พบว่า บนรถโรงเรียนแทบจะไม่มีเด็กคนไหนถือถุงขยะพลาสติกมากับตัวเลย ไม่มีใครทำตามที่ผมขอร้องเลยสักคน ผมเข้าใจพวกเขานะ ว่าการเผาขยะพลาสติกที่ลานบ้าน มันสะดวกกว่า มันง่ายกว่า เพราะพอทุกอย่างถูกโยนเข้ากองไฟ มันก็ถูกทำลายจนไม่เหลือซาก แต่สิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่มันกลับร้ายแรงกว่านั้น ควันไฟที่ลอยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ กำลังทำให้สุขภาพของคนในพื้นที่ย่ำแย่ รวมถึงลูก ๆ ของพวกเขาเองด้วย” Mukhtar กล่าว

Photo Credit: Surajit Sharma


“แต่หลังจากที่ภรรยาของผม บอกกับพวกเขาว่า เราจะเก็บค่าธรรมเนียมพวกเขานะ ถ้ายังเผาขยะกันอยู่ ซึ่งค่าธรรมเนียมที่เราจะเรียกเก็บ เราก็ได้เสนอทางเลือกให้พวกเขาว่า พวกเขาสามารถจ่ายเป็นเงินสด หรือจะจ่ายเป็นขยะพลาสติกแทนก็ได้”

แม้ว่านโยบายนี้จะไม่ใช่การบีบบังคับ แต่กลายเป็นว่าเมื่อประกาศออกไป ชาวบ้านทุกคนต่างร่วมใจกันทำตามคำขอของเขาและภรรยาอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่าทุกคนปฏิบัติตาม 100% เลยก็ว่าได้ และเพื่อไม่ให้นโยบายนี้เป็นอะไรที่ฉาบฉวย ชาวบ้านจึงได้ให้คำมั่นสัญญาว่า ชุมชนแห่งนี้จะไม่เผาขยะพลาสติกอีกต่อไป

เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างโรงเรียนและชุมชน Mukhtar อธิบายเพิ่มเติมว่า โรงเรียน Akshar จะเป็นแหล่งสอนหลักสูตรวิชาชีพ เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต เช่น วิชาการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ วิชาช่างไม้ และวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์

เริ่มก่อนจะสาย

ในปี ค.ศ. 2013 Mazin Muhktar ชาวแอฟริกัน–อเมริกัน เขาได้เดินทางออกจากนิวยอร์กมายังอินเดีย เพื่อทำงานโครงการของโรงเรียนในรัฐอัสสัมโดยเฉพาะ และได้พบรักกับ Parmita Sarma ภรรยาของเขา ซึ่งขณะนั้นเธอกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยกูวาฮาติ

ในปี ค.ศ. 2016 พวกเขาตัดสินใจก่อตั้งโรงเรียน Akshar ขึ้นมา ผ่านการระดมทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ และกลุ่มผู้บริจาคทั่วไป โดยในช่วงแรกของการเปิดเรียนมีนักเรียนเพียงแค่ 20 คนเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีนักเรียนเพิ่มขึ้นถึง 110 คน ตั้งแต่ช่วงอายุ 4-15 ปี และมีคุณครูทำหน้าที่ดูแลเด็ก ๆ อีก 7 คน

“เราพยายามสอนให้นักเรียนของเรา มีความรับผิดชอบต่อสิ่งรอบตัว และพยายามปลูกฝังพวกเขาให้กลายเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม” Sarma กล่าว “หลังจากเราประกาศนโยบายออกไป ในทุก ๆ สัปดาห์เด็กแต่ละคนก็มักจะมาพร้อมกับถุงพลาสติกที่อัดแน่นไปด้วยขยะจนเต็มถุง ทำให้เราสามารถรวบรวมขยะพลาสติกได้อย่างน้อย 25 ชิ้นต่อคน ซึ่งในแต่ละเดือนทำให้เราก็มีขยะพลาสติกมากถึง 10,000 ชิ้น”


“เมื่อมีขยะมากเพียงพอ เราจะนำขยะพลาสติกพวกนี้มาอัดให้เป็นก้อน และนำไปทำเป็นอิฐเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ Bio Brick เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงเรียน เพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ เราก็พบว่า อากาศที่เป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ มีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด” เธอกล่าวเสริม

Photo Credit: AKSHAR FOUNDATION


อีกหนึ่งปัญหาที่ Sarma คิดไม่ตกก็คือ จะทำยังไงให้เด็กในหมู่บ้าน ไม่ต้องไปทำงานในเหมืองหิน “ฉันคิดมาตลอดว่า อยากจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้เด็ก ๆ มีช่วงเวลาวัยเด็กอย่างที่พวกเขาควรจะเป็น แม้ว่าโรงเรียนของเราจะไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนให้เด็ก ๆ เหมือนกับที่เหมืองหินทำ” เธอกล่าว

“แล้วฉันก็คิดขึ้นได้ว่า ในเมื่อเราเป็นโรงเรียน ทำไมเราไม่ลองให้รุ่นพี่ช่วยสอนรุ่นน้องล่ะ พอพวกเขาสอนเสร็จ เราก็จะมอบค่าตอบแทนเป็นธนบัตรของเล่น ให้พวกเขานำเงินตรงนี้ไปซื้อขนม เสื้อผ้า ของเล่น และรองเท้า ในร้านค้าท้องถิ่นที่เข้าร่วมกับเรา”

Photo Credit: AKSHAR FOUNDATION


“เมื่อนักเรียนของเรามีความรู้ความสามารถมากพอ พวกเขาก็จะได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นตามไปด้วย” Mukhtar กล่าว “เพราะคำขวัญของโรงเรียนเราคือ ‘เรียนรู้ให้มาก เพื่อเงินเดือนที่สูงขึ้น’ ผมรู้ว่ามันเป็นคำขวัญประจำโรงเรียนที่ค่อนข้างแปลก แต่หลังจากที่ผมและภรรยาได้ทดลองแล้ว ก็พบว่า ‘เงิน’ คือสิ่งที่พวกเขาต้องการจริง ๆ”

“ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา โรงเรียนของเราไม่มีเด็กนักเรียนคนไหนลาออกจากโรงเรียนเลยแม้แต่คนเดียว ในขณะที่เด็กโตสามารถทำรายได้ประมาณ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (1,800-2,000 บาท) ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับงานที่พวกเขาทำด้วย ขณะเดียวกันเด็กหลายคนก็สามารถซื้อโทรศัพท์มือถือของตัวเอง โดยที่พ่อแม่ของพวกเขาไม่สามารถมอบสิ่งเหล่านี้ให้ลูก ๆ ได้”

ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โรงเรียน Akshar ได้เปลี่ยนสวนหลังโรงเรียนเป็นห้องเรียนกลางแจ้ง เด็ก ๆ ทุกคน รวมถึงคุณครูต้องสวมชุด PPE เพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งในสถานที่ยากลำบากเช่นนี้ Mukhtar และ Sarma ได้ตระหนักดีว่า โรงเรียนของพวกเขา จะต้องให้การช่วยเหลือผู้คนในชุมชนมากกว่านี้ เขาจึงได้เปลี่ยนโรงเรียนให้กลายเป็นศูนย์อาหารชุมชน โดยมีนักสังคมสงเคราะห์คอยทำหน้าที่ช่วยเหลือชาวบ้านกว่า 15,000 ราย ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดของเมืองกูวาฮาติ

นักอนุรักษ์รุ่นเยาว์

“นักเรียนของเราเริ่มตระหนักถึงความอันตรายของขยะพลาสติกกันมากขึ้น พวกเขารู้ดีว่าพลาสติกไม่ดีต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม พอหลังเลิกเรียน พวกเขาก็จะกลับบ้านไปบอกพ่อและแม่ถึงผลกระทบที่เกิดจากขยะพลาสติกเหล่านี้ ซึ่งมันทำให้ผู้ปกครองของเด็ก ๆ เกิดความตระหนักถึงปัญหานี้เช่นกัน” คุณครู Akansha Duarah กล่าว

ด้าน Sompa Boro คุณแม่ของเด็กชาย Jyoti วัย 10 ขวบ และ Junali วัย 15 ปี กล่าวว่า เมื่อก่อนเธอเคยส่งลูก ๆ ให้เรียนที่โรงเรียนเอกชน แต่หลังจากประสบปัญหาทางครอบครัวอย่างหนัก ทำให้เธอไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายค่าเทอมให้ลูกชายทั้งสอง เหมือนทุกอย่างพังครืนลงมาตรงหน้า เธอเสียใจมากที่ไม่สามารถมอบการศึกษาดี ๆ ให้ลูกของเธอได้อีกต่อไป “เราต้องดิ้นรนทำทุกวิถีทาง เพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเทอมให้ลูก ๆ ซึ่งเราก็ไม่สามารถต้านทานมันได้อีกต่อไป ฉันต้องจำใจยื่นใบลาออกจากโรงเรียนให้ลูก เพราะเราไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายค่าเทอม”

“โชคดีที่โรงเรียน Akshar ยอมรับลูก ๆ ของฉันให้เข้าเรียนที่นี่ มันเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดในชีวิตฉัน เหมือนความโชคร้ายต่าง ๆ มันสลายหายไปหมด และฉันก็ภูมิใจมากที่ลูก ๆ ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนสุดแสนพิเศษแห่งนี้ เพราะ Akshar ช่วยให้พวกเขาคิดต่างจากเด็กคนอื่น ๆ และมุมมองของพวกเขาก็เปลี่ยนไปในทางที่ดี”


“เด็ก ๆ ในโรงเรียนของเรา ส่วนใหญ่ถูกสังคมรังเกียจ และไม่ได้รับความเคารพจากคนในสังคมเท่าไหร่ ฉันยังจำช่วงแรก ๆ ที่พวกเขาเข้ามาเรียนได้อยู่เลย พวกเขาทุกคนล้วนเต็มไปด้วยความโกรธ ก้าวร้าว และไม่พอใจต่อทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ แต่หลังจากได้รับการศึกษาและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ จากชั้นเรียน พวกเขาเริ่มรู้จักความเห็นอกเห็นใจ รู้จักการให้ การเสียสละต่อเพื่อนมนุษย์ เริ่มมองโลกในแง่ดีมากขึ้น และมีความมั่นใจในการใช้ชีวิต” Sarma กล่าว

Photo Credit: AKSHAR FOUNDATION


“ฉันจำได้ว่า เมื่อสามปีก่อน โรงเรียนของเรามีเด็กอายุ 13 ปี เธอเป็นเด็กเงียบ ๆ ไม่ค่อยพูดไม่ค่อยจา แต่เธอฉลาดและหัวไว โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ เธอบอกกับฉันว่า เวลาว่างเธอก็มักจะไปเป็นติวเตอร์วิชาภาษาอังกฤษให้เด็กอีก 2 คนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนรัฐ ซึ่งทำให้ฉันทึ่งไม่น้อย เพราะเด็กเงียบ ๆ คนนั้น กำลังก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง และฉันก็เห็นได้ทันทีเลยว่า เธอมีความมั่นใจขึ้นแล้วจริง ๆ” Sarma กล่าว

ปัจจุบัน Mukhtar และ Sarma ได้ลงนามกับหน่วยงานของเมืองกูวาฮาติ เพื่อนำโรงเรียน Akshar เป็นโรงเรียนต้นแบบแก่โรงเรียนรัฐบาลอีก 5 แห่ง ซึ่งพวกเขาได้เผยว่า ในอนาคตจะบรรจุวิชาเกษตรกรรมยั่งยืนลงในหลักสูตรด้วย พร้อมกล่าวปิดท้ายว่า “เด็ก ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทุกวัน พวกเขาชอบมาโรงเรียนกันมาก มากเสียจนลืมวันหยุดไปเลย”



ที่มา


เรื่องโดย