ผลสำรวจความสำเร็จของผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้หญิงใน 58 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศอิสราเอล มีสภาพเกื้อหนุนและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงประสบความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการมากที่สุด
อิสราเอล ดินแดนแห่งสตาร์ทอัพ
✤✤
อิสราเอล ดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างตะวันออกและตะวันตก อันหมายถึงอดีตมาบรรจบกับปัจจุบัน อุดมการณ์ผสมผสานเข้ากับวิถีการดำเนินชีวิต ปัจเจกชนผสานกับสังคม หลอมรวมจารีตประเพณีดั้งเดิมเข้ากับนวัตกรรมสมัยใหม่ และพยายามที่จะนำประเทศไปสู่ความเป็นนานาชาติแต่ก็คงไว้ซึ่งลักษณะเฉพาะของประเทศ
แม้อิสราเอลจะเป็นประเทศเกิดใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1948 หรือ 73 ปีที่แล้ว มีประชากรเพียง 8.8 ล้านคน แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูงถึง 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 3.3% และรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีที่ 39,822.5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.19 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศไทยพบว่า รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของชาวไทยอยู่ที่ 2.3 แสนบาท เท่ากับว่าชาวอิสราเอลมีรายได้สูงกว่าชาวไทยเกือบ 6 เท่า
แต่ที่น่าสนใจคือ อิสราเอลเป็นประเทศที่มีการเติบโตของสตาร์ทอัพอันดับต้น ๆ ของโลก เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเงินลงทุนด้านงานวิจัยนี้ทำให้อิสราเอลมีบุคลากรมารองรับการพัฒนาด้านต่าง ๆ อย่างเพียงพอ และรัฐบาลอิสราเอลก็เชื่อมั่นในตัวบุคลากรของประเทศ อีกทั้งชาวอิสราเอลยังมีความกล้าที่จะเริ่มต้นธุรกิจ สร้างสินค้าออกไปขายทั้งในและต่างประเทศ จึงมีคำกล่าวว่า ชาวอิสราเอลมี “Chutzpah (ฮุซ-พาร์)” ซึ่งเป็นภาษาฮิบรู แปลว่า “ความด้านได้อายอด”
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้การสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการในประเทศมากขึ้น โดยรายงานดัชนีผู้ประกอบการสตรีจากมาสเตอร์การ์ด หรือ Mastercard Index of Women Entrepreneurs 2020 ระบุว่า
ประเทศอิสราเอล มีสภาพเกื้อหนุนและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงประสบความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการมากที่สุด โดยได้คะแนนความเกื้อหนุนต่อผู้ประกอบการสตรีอยู่ที่ 74.7 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 และขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในปี ค.ศ. 2020 จากที่เคยอยู่อันดับ 4 เมื่อปี ค.ศ. 2019
อิสราเอลยังประสบความสำเร็จอย่างมากในการผลักดันตัวเองให้ขยับขึ้นจากอันดับที่ 42 มาเป็นอันดับ 1 ของเกณฑ์การสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีของรัฐบาล (Support for SMEs) ซึ่งเป็นผลมาจากที่รัฐบาลอิสราเอลมีความตั้งใจที่จะเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการหญิงเป็น 2 เท่าภายใน 2 ปี
Photo Credit: clay-banks/Unplash
ความก้าวหน้าของสตรีทั่วโลก
✤✤
จากผลสำรวจดัชนีของมาสเตอร์การ์ดพบว่า 3 ประเทศแรกที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงประสบความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการมากที่สุด ได้แก่ อิสราเอล สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการดำเนินงานที่เฉพาะเจาะจงสำหรับเพศหญิง มีการเน้นสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมและปรับเปลี่ยนทัศนคติด้านวัฒนธรรมที่เกื้อหนุนและเปิดโอกาสให้เพศหญิงในภาคธุรกิจได้แสดงศักยภาพ ตลอดจนการสร้างแรงบันดาลใจโดยนำเอาผู้นำหญิงที่ประสบความสำเร็จมาเป็นต้นแบบ
สำหรับประเทศไทย ภาพรวมอยู่ในอันดับที่ 11 ตกลงมา 1 อันดับเมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2019 ซึ่งหากมองภาพรวมแล้วนับว่าไทยทำได้ดีในการสนับสนุนผู้หญิงให้มีความก้าวหน้าทางด้านอาชีพการงานและการมีบทบาทต่อความเจริญของเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อมองประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศที่มีการไต่อันดับขึ้นมากที่สุดคือ จีนแผ่นดินใหญ่ (+6) และอินโดนีเซีย (+5) ขณะเดียวกัน ประเทศที่อันดับลดลงมากที่สุดคือ สิงคโปร์ (-12) ฟิลิปปินส์ (-10) ฮ่องกง (-8) และเวียดนาม (-7)
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการทั่วโลก โดยเฉพาะธุรกิจในภาคท่องเที่ยว ค้าปลีก และอาหาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเร่งเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือ
Photo Credit: derick-daily/Unplash
อุปสรรคและโอกาสท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด
✤✤
ผลวิเคราะห์ของดัชนีประจำปี ค.ศ. 2020 ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อผู้ประกอบการหญิงอย่างชัดเจน โดย 87% ของผู้ประกอบการหญิงระบุว่า ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งยังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศที่มีแต่จะหนักขึ้นอันเป็นผลจากการก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลที่รวดเร็วขึ้น และยังต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูบุตรในช่วงที่โรงเรียนต้องปิดชั่วคราว ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้ผู้หญิงมีความเปราะบางต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
จูเลียน โลห์ รองประธานกรรมการบริหารความร่วมมือระหว่างองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด กล่าวว่า “ความเหลื่อมล้ำทางเพศเป็นปัญหาเรื้อรังที่หลายประเทศล้วนประสบ เมื่อมีโควิดปัญหานี้จึงหนักขึ้น ด้วยข้อจำกัดของผู้หญิงทางด้านสายอาชีพและลักษณะงาน ความรับผิดชอบต่อครอบครัวและบุตร และความไม่เท่าเทียมทางเพศในการทำธุรกิจ ทำให้การดำรงชีวิตของผู้หญิงได้รับผลกระทบมากกว่าของผู้ชาย”
“ในเวลานี้ รัฐบาล ผู้ให้บริการทางการเงิน และองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องร่วมมือกันทำ 3 สิ่ง นั่นคือ หนึ่ง ให้การสนับสนุนและจัดตั้งมาตรการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบเพื่อให้ผู้หญิงสามารถเอาตัวรอดและดำเนินชีวิตต่อไปได้ในยุคนิวนอร์มอล สอง เสริมทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในโลกดิจิทัล และสาม ช่วยให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจและการทำงานได้อย่างง่ายดายและเท่าเทียม แม้ว่าสามสิ่งนี้ยากที่จะทำให้สำเร็จได้ชั่วข้ามคืน แต่การลงทุนเช่นนี้จะทำให้เกิดผลประโยชน์อย่างมหาศาลต่อสังคม”
Photo Credit:daria-mamont/Unplash
แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะดิ่งลงอย่างหนัก แต่ผลวิเคราะห์ของดัชนียังชี้ให้เห็นถึงอนาคตของผู้ประกอบการหญิงว่าจะเป็นไปในเชิงบวก โควิดได้กลายเป็นตัวเร่งให้ผู้หญิงเติบโตอย่างก้าวกระโดดในภาคธุรกิจ และสร้างโอกาสในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อผู้หญิง เนื่องจากโควิดได้สร้างสถานการณ์ที่ผู้หญิงสามารถแสดงออกถึงความเป็นผู้นำในการทำธุรกิจ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงด้วยกันเองที่อาจกำลังกลัวหรือประสบกับอุปสรรคทางสังคม
โดย 47.8% ของผู้ประกอบการหญิงระบุว่า ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นเป็นแรงผลักดันในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ ผู้หญิงในภาคธุรกิจได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับโลกใหม่ของการทำงานอย่างโดดเด่น โดย 42% ได้เปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปเป็นรูปแบบดิจิทัลแล้ว และ 34% มองเห็นโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจหลังจากเกิดโควิด-19
Photo Credit:joao-paulo-de-souza-oliveira/Unplash
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์แต่ละประเทศจะแตกต่างกัน แต่แนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการบรรเทาทุกข์ที่ครอบคลุมสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ตั้งแต่การสมทบเงินจ้างตลอดจนโครงการพักงานชั่วคราวและการช่วยเหลือทางการเงิน รวมถึงการช่วยเหลือด้านการดูแลบุตร
จากผลสำรวจดังกล่าวชี้ชัดว่า รัฐบาลอิสราเอลเปิดไฟเขียวให้ประชาชนทำธุรกิจได้เท่าเทียมกันทั้งเพศชายและเพศหญิง เมื่อรัฐตระหนักถึงศักยภาพของประชาชน และตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนกับความคิดของประชาชน จึงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายหากประเทศอิสราเอลจะกลายเป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพโดยไม่มีข้อจำกัดทางเพศสภาพ
ที่มา
- โควิด-19 ฉุดความก้าวหน้าของผู้หญิงในภาคธุรกิจ. ข่าวประชาสัมพันธ์จากมาสเตอร์การ์ด
- อิสราเอล : STARTUP NATION ชาติแห่งสหรัฐ. https://www.nia.or.th/ISRAEL
- รัฐอิสราเอล. http://almanac.nia.go.th/page/43