Kind Global

คาซัคสถาน ในวันที่ไร้เงา “นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ” ประธานาธิบดีคนแรก


หลังจาก นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ (Nursultan Nazarbayev) อดีตประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคสถาน ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อปี ค.ศ. 2019 ประชาชนทั้งประเทศต่างประหลาดใจกันถ้วนหน้า เนื่องจาก นาซาร์บาเยฟ ได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 ซึ่งเป็นเวลาเกือบสามสิบปีแล้วที่คาซัคสถานมีนาซาร์บาเยฟเป็นผู้นำทางการเมือง

แต่ในวันนี้เมื่อวันเฉลิมฉลองประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคสถานหมุนเวียนมาอีกครั้ง เทศกาลที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่มาตลอดแปดปี ในวันที่ไร้เงาของ นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ จะเป็นอย่างไร?



นูร์-ซุลตัน, เมืองหลวงคาซัคสถาน – นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 เป็นต้นมา ในวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี คาซัคสถานจะจัดงานเฉลิมฉลองวันประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคสถานขึ้น ซึ่งนับเป็นวันสำคัญของประเทศอย่างมาก เนื่องจากงานเทศกาลครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงวันที่ประชาธิปไตยเบ่งบานในคาซัคสถาน หลังจากตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตมาอย่างยาวนาน และเพื่อเป็นเกียรติแก่ นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ อดีตประธานาธิบดีที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ทางการเมืองของดินแดนไร้ทางออกสู่ทะเลแห่งนี้


ในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1991 นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ (Nursultan Nazarbayev) ได้รับการโหวตให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคสถาน ซึ่งหลังจากขึ้นดำรงตำแหน่งเพียงแค่สองสัปดาห์ ประเทศหลังม่านเหล็กได้ล่มสลายลงไปต่อหน้าต่อตา ส่งผลให้คาซัคสถาน อดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต และอดีตประเทศในเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) สามารถปกครองตนเองได้อย่างภาคภูมิใจ

นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ นั่งอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดียาวนานถึง 35 ปี นับเป็นผู้นำทางการเมืองที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก


รองจากผู้นำของแคเมอรูน, อิเควทอเรียลกินี และอิหร่าน ซึ่งการประกาศลาออกของนาซาร์บาเยฟ ในวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2019 สร้างความงงงวยแก่ประชาชนอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาต่างยกย่องและเทิดทูนนาซาร์บาเยฟ ว่าเป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองของประเทศ โดยรูปแบบความรักที่ประชาชนมอบให้เขานั้นมีอยู่ทุกหนแห่งของเมือง ไม่ว่าจะเป็นถนน จตุรัส สนามบิน สถาบันการศึกษา พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ สายพันธุ์ทิวลิป ยอดเขา และสถานที่อื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน ล้วนได้รับการตั้งชื่อตามประธานาธิบดีคนแรกของพวกเขาทั้งสิ้น


หลังจากนาซาร์บาเยฟประกาศลาออกจากตำแหน่ง คาสซิม โจมาร์ท โตกาเยฟ ได้ขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของคาซัคสถาน โดยเขาได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงจากกรุงอัสตานา มาเป็น “นูร์ซุลตาน” เพื่อเป็นเกียรติ และแสดงความนับถือประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคอย่างสุดหัวใจ ถึงความพยายามในการพลิกโฉมประเทศ ให้สามารถยืนหยัดในเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิใจ นอกจากเปลี่ยนชื่อเมืองแล้ว โตกาเยฟ ได้ประกาศสร้างอนุสาวรีย์ของนาซาร์บาเยฟ ไว้ทั่วประเทศ รวมถึงมีการเขียนหนังสือยกย่องคุณงามความดีของนาซาร์บาเยฟ และถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเพื่อยกย่องเขาอีกด้วย

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 จนถึงปัจจุบัน คาซัคสถานได้เฉลิมฉลองวันประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคสถานติดต่อกัน เป็นเวลาแปดปีแล้ว แต่ในปีนี้ (ค.ศ. 2020) บรรยากาศในเมืองหลวงกลับเงียบเหงา สองข้างถนนไม่มีการประดับธงแสดงความยินดี ไม่มีเสียงดนตรีให้ประชาชนรู้สึกภาคภูมิใจ ไม่มีแม้กระทั่งดอกไม้ไฟ ที่แทบทุกเทศกาลของคาซัคสถานจะต้องมีการจุดพลุเฉลิมฉลอง มีเพียงป้ายประกาศขนาดใหญ่ที่ติดอย่างเด่นหราใกล้กับจัตุรัสแห่งอิสรภาพ (Independence Square) เท่านั้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องประกาศงดจัดงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ประชาชนมารวมตัวกันในพื้นที่สาธารณะ


ขณะเดียวกันประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง กลับมีมุมมองที่แตกต่างกันต่อเทศกาลนี้อย่างเห็นได้ชัด มีบางคนให้ความเห็นว่า ประธานาธิบดีคนแรก (นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ) สมควรได้รับวันหยุดเป็นของตัวเอง ขณะที่บางคนไม่เห็นด้วยกับการมอบวันหยุดให้ประธานาธิบดี

“นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ พลิกโฉมประเทศของเราให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เขาทำเพื่อชาติ บ้านเมือง และเพื่อประชาชนทุกคนของประเทศ ความพยายามของเขาทั้งหมด ควรมีสิ่งตอบแทน และวันหยุดก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เลวเลยทีเดียว”

ด้านประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับวันหยุดก็ได้ให้ความเห็นว่า “วันประธานาธิบดีคนแรกเหรอ? จะพูดยังไงดีล่ะ เอาเป็นว่า คุณดูคนจนในประเทศของเราสิ ดูว่าพวกเขาใช้ชีวิตกันยังไง เมื่อเทียบกับความเป็นอยู่ของคนร่ำคนรวยในประเทศ


ทั้งการทุจริต คอรัปชั่น ความอยุติธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชั้นศาล มันช่างน่าเศร้า และน่ากลัวพอ ๆ กัน แต่สุดท้ายแล้ว วันหยุดก็คือวันหยุดอยู่วันยันค่ำ”

“วันหยุดในปีนี้ทำให้ฉันรู้สึกถึง ‘ความเท่าเทียม’ ของคนในประเทศ ต้องขอบคุณเมืองที่นูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟเป็นคนสร้างให้มีความเป็นปึกแผ่น แต่ฉันว่า เราไม่ควรยกย่องเทิดทูนเขามากเกินไปนัก อย่างการเปลี่ยนชื่อเมือง เปลี่ยนชื่อถนน ทำไมเราต้องบูชาเขาขนาดนี้ด้วย?”

อันที่จริงแล้ว งานเฉลิมฉลองวันประธานาธิบดีคนแรกยังคงจัดอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบอื่น ประชาชนสามารถเข้าชมงานผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้ เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19


นอกจากนาซาร์บาเยฟ จะเป็นที่เคารพรักของประชาชนในประเทศแล้ว โทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้เขียนบทกวีเพื่อสรรเสริญนาซาร์บาเยฟโดยเฉพาะ เพราะครั้งหนึ่งแบลร์เคยเป็นที่ปรึกษาของอดีตประธานาธิบดีคนนี้เช่นกัน

“ประการแรก ผมยกย่องเขาอย่างสุดหัวใจในความพยายามเข้าร่วมข้อตกลงละทิ้งอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งทำให้คาซัคสถานเป็นประเทศเดียวที่สามารถกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ภายในประเทศได้หมด ประการที่สอง คาซัคสถานเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงขันติธรรมระหว่างศาสนา ประการที่สาม คาซัคสถานเป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจทั้งจีนและรัสเซีย แต่พวกเขาก็ยังคงเป็นพันธมิตรที่ดี และซื่อสัตย์ต่อกัน ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าว ได้พิสูจน์ให้โลกตะวันตกเห็นแล้วว่า คาซัคสถานเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าเชื่อถือ”

เช้าตรู่ของวันที่ 1 ธันวาคม บนถนนในเมืองอัลมาตี้ซึ่งตั้งชื่อตามอดีตประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ ปรากฏแผ่นป้ายประท้วงขนาดใหญ่ นำโดยกลุ่ม Rukh2k19 (Rukh หมายถึงจิตวิญญาณในคาซัค) ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มที่ลุกขึ้นมาต่อต้านความไม่ชอบธรรมระหว่างนาซาร์บาเยฟดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี


แม้ว่านาซาร์บาเยฟจะประกาศลาออกไปเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2019 แต่กลุ่มผู้ประท้วงยังคงแสดงความไม่พอใจต่อท่าทีทางการเมืองของเขา เนื่องจากนาซาร์บาเยฟยังคงดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ ๆ อย่างการควบคุมนโยบายทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งนาซาร์บาเยฟได้ใช้สิทธิ์การเป็นประธานาธิบดีตลอดชีพของคณะมนตรีความมั่นคง และหัวหน้าพรรคประชาชนประชาธิปไตยแห่งคาซัคสถานในการเข้ามาควบคุมประเทศ แม้จะประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้วก็ตาม


โดยแผ่นป้ายประท้วงขนาด 10 เมตร ปรากฏข้อความต่อต้านอดีตประธานาธิบดีคนแรก พร้อมติดแฮชแท็ก #qazaqkoktemi (Kazakh spring) ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงได้โพสต์ลงอินสตาแกรมระบุว่า “จากการประมาณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อถนน ชื่อเมืองหลวง และชื่อสถานที่ต่าง ๆ อีกนับไม่ถ้วน เราพบว่า รัฐบาลใช้เงินจำนวนมากถึง 47.3 พันล้านเท็งเก้น (3.3 พันล้านบาท) เพื่อพยายามทำให้ชื่อของนาซาร์บาเยฟเป็นอมตะ ซึ่งหลังจากที่เราโพสต์ข้อความดังกล่าว ทำให้ประชาชนเริ่มหันมาให้ความสนใจมากขึ้น โดยในวันฉลองประธานาธิบดีคนแรก เราและประชาชนในประเทศจะร่วมกันหยุดยั้งความพยายามของรัฐ ในการนำ ‘ลัทธิบูชาตัวบุคคล’ มาใช้กับอดีตประธานาธิบดีคนแรกนี้” โดยกลุ่ม Rukh2k19 ได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า หากหยิบยกหลักประชาธิบไตยมาใช้ แหล่งอำนาจเดียวในประเทศคือ

“ประชาชน” และ “พลเมืองชาวคาซัคสถานทุกคน ย่อมมีสิทธิ์มีเสียงในการปกครองประเทศ ซึ่งการมีเสรีภาพในการเลือกตั้ง และการแสดงความคิดเห็นนั้นนับเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิบไตย และรัฐบาลต้องให้ความเคารพต่อความคิดเห็นของเรา”   


“หากว่าตามตัวบทกฎหมายแล้ว เราทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ดังนั้นกฎหมายว่าด้วยผู้นำประเทศจะต้องถูกยกเลิก” กลุ่มผู้ประท้วงกล่าว

ปฏิกิริยาดังกล่าวไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมายของ Dimash Alzhanov นักรัฐศาสตร์ชาวคาซัคสถาน และหนึ่งในสมาชิกกลุ่มการเคลื่อนไหวของพลเมือง Oyan, Qazaqstan (ตื่นเถิดคาซัคสถาน) เขากล่าวว่า วันหยุดที่ทางการกำหนดให้ไม่ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนอีกต่อไป แต่กลับสร้างคำถามขึ้นในใจของพวกเขามากกว่า “ข้อแรก รัฐบาลประกาศเปลี่ยนชื่อสถานที่สำคัญ ๆ ของประเทศเป็นชื่อของนูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ โดยไม่ถามความเห็นของประชาชน ทำให้พวกเขารู้สึกว่า วันหยุดที่ทางการประกาศไม่ได้เป็นวันสำคัญที่ควรระลึกถึงแต่อย่างใด ข้อที่สอง คาซัคสถานไม่ได้หลุดพ้นจากกรอบอำนาจนิยมที่เคยถูกครอบงำมาตั้งแต่สมัยโซเวียตแต่อย่างใด

เราไม่สามารถสร้างรัฐสมัยใหม่ด้วยสถาบันทางการเมืองแบบเก่า


ซึ่งคาซัคในฐานะประเทศที่มีประชาธิปไตยของตนเอง ควรจะมีการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนให้มากกว่านี้ แต่ตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา นาซาร์บาเยฟได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ประชาชนไม่ใช่ส่วนสำคัญในการบริหารประเทศของเขา”

เกร็ดความรู้: จากรายงานการจัดอันดับ World Press Freedom Index 2020 โดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders: RSF) ที่เก็บรวบรวมข้อมูลในวงการสื่อทั่วโลก ระบุว่า คาซัคสถานมีเสรีภาพสื่อมวลชนอยู่ในอันดับที่ 157 จาก 180 ประเทศทั่วโลก


ที่มา


เรื่องโดย