Kind People

จูเลียส ซีซาร์: จุดเริ่มและจุดจบของรัฐบุรุษแห่งกรุงโรม


ตามบันทึกประวัติศาสตร์ กาอิอุส ยูลิอุส ไกซาร์ (Caivs/ Gaivs Ivlivs Caesar) หรือ จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) เกิดเดือนกรกฎาคม ราว 100 ปีก่อนคริสตกาล เป็นแม่ทัพและรัฐบุรุษที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดคนหนึ่งของอาณาจักรโรมัน ความยิ่งใหญ่ของเขาเป็นที่กล่าวขานมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล จวบจนกระทั่งปัจจุบัน

แต่ความยิ่งใหญ่ที่เขาได้รับ กลับค่อย ๆ ย้อนกลับมาทำร้ายประชาชนอย่างช้า ๆ KiNd People จะพาคุณไปทำความรู้จักกับชายผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษผู้กอบกู้ ผู้นำพาจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ให้ยิ่งใหญ่ ขณะเดียวกันก็ทำลายเสรีภาพของประชาชนไปพร้อมกัน ด้วยการปกครองประเทศที่ยาวนานถึง 10 ปี…


รัฐบุรุษหัวขบถ

จูเลียส ซีซาร์ ชายผู้ไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์ที่ตายตัว อีกทั้งยังมองชนชั้นปกครองเป็นปรปักษ์ เขาไม่สนใจ “วุฒิสภา” ที่เต็มไปด้วยกลุ่มคนที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว เขาเป็นนักการเมืองที่ชาญฉลาด คอยทำหน้าที่สนับสนุนแมริอัส ในสมัยการปกครองของซัลล่า แม้ว่าจะต้องเนรเทศตนเองออกจากโรมไปพักพิงที่เกาะโรดส์ เพราะพฤติกรรมทางการเมืองที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับผู้ปกครองคนปัจจุบันก็ตาม

จากนายทหารหนุ่มค่อย ๆ ไต่เต้าตำแหน่งมาเรื่อย ๆ จนขยับยศขึ้นมาเป็นแม่ทัพใหญ่แห่งโรมัน เขาได้พิสูจน์ตัวเองด้วยการพิชิตศึกสงครามกอลที่ยืดเยื้อยาวนาน ตั้งแต่ปีที่ 58 จนถึงปีที่ 50 ก่อนคริสตกาล ชัยชนะที่เด็ดขาดในปีที่ 52 ก่อนคริสตกาล ส่งผลให้อาณาจักรโรมันมีอิทธิพลเหนือแคว้นกอล (ปัจจุบันคือ ฝรั่งเศสและเบลเยียม)


สงครามที่ผลัดกันรุกผลัดกันรับมาเป็นเวลานานขนาดนี้ เป็นเพราะเผ่ากอลเองก็มีความเข้มแข็งทางทหารไม่น้อยหน้าไปกว่าโรมัน ซึ่งการเอาชนะศึกในครั้งนี้ ส่งผลให้จูเลียส ซีซาร์ สามารถผนึกชาวกอลให้เป็นหนึ่งเดียวกับสาธารณรัฐโรมันแต่เพียงผู้เดียว สิ้นสุดการรุกรานจากชนเผ่าพื้นเมืองทั้งที่อาศัยอยู่ในกอลและชนเผ่ารอบข้างจนหมดสิ้น อีกทั้งยังทำให้โรมันสามารถควบคุมแม่น้ำไรน์ ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติได้อีกด้วย

หลังจากมีชัยชนะเหนือกอล และสามารถยึดเมืองต่าง ๆ มาเป็นเมืองขึ้นแก่กรุงโรมมากถึง 800 เมือง ตั้งแต่ยุโรปเหนือจรคใต้ไปจนถึงอียิปต์ ความยิ่งใหญ่ของเขาแผ่ขยายไปไม่มีที่สิ้นสุด นี่จึงเป็นที่มาของประโยคอมตะ

“Veni vidi vici, ข้าไปถึง ข้าได้เห็น และข้าได้ชัยชนะ” ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ก็ยังคงแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของรัฐบุรุษผู้นี้ได้อย่างชัดเจน


แต่ชัยชนะเหนือกอลเพียงอย่างเดียว ไม่อาจดับความกระหายในสงครามลงไปได้ จูเลียส ซีซาร์ เริ่มออกเดินทางอีกครั้ง โดยมีจุดหมายที่เกาะบริเตนใหญ่ ดินแดนอันไกลโพ้นที่ยังไม่มีผู้ใดเคยย่างกรายเข้าไปมาก่อน แต่ความมั่นใจในกองกำลังทหารของเขาต้องพังทลายลง เมื่อลมพายุก่อตัวเป็นศัตรูทางธรรมชาติ ทำให้ จูเลียส ซีซาร์ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรโรมัน ต้องพ่ายแพ้ธรรมชาติถึงสองครั้งสองครา


ความพยายามในการพิชิตเกาะบริเตนใหญ่ของจูเลียส ซีซาร์ก็ต้องล้มเลิกไป ประจวบกับในปีที่ 53 ก่อนคริสตกาล คราสซุส นายพลผู้ทรงอิทธิพลของสาธารณรัฐโรมัน ได้ยกทัพไปรุกรานจักรวรรดิพาร์เทีย และเสียชีวิตลงระหว่างการรบ ซึ่งคราสซุสนับว่าเป็นหนึ่งในคู่แข่งทางการเมืองของจูเลียส ซีซาร์ การจากไปของคราสซุส ย่อมส่งผลดีต่อเขาไม่น้อย แต่คู่แข่งอีกหนึ่งคนที่ต้องเป็นกังวลคือ ปอมเปย์ กงศุลแห่งกรุงโรม

เงาตามตัว

ยิ่งนานวันเข้าอำนาจของจูเลียส ซีซาร์ ก็ยิ่งขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีอำนาจเด็ดขาดทางทหารอยู่ในครอบครอง ด้วยเหตุนี้บรรดาวุฒิสภาและกลุ่มการเมืองเก่าเริ่มเกรงกลัวว่า อำนาจที่ซีซาร์ควบคุมอยู่ จะส่งผลกระทบต่อตำแหน่งที่นั่งในสภาของบรรดานักการเมืองที่ยังคงหวงแหนอำนาจและความยิ่งใหญ่ของตนอยู่ จึงได้ออกคำสั่งให้ซีซาร์ลงจากตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการทหาร และมุ่งหน้ากลับกรุงโรมโดยเร็วที่สุด แต่แน่นอนว่าจิตวิญญาณความเป็นขบถในตัวของเขา ย่อมไม่ขึ้นตรงต่อชนชั้นปกครองแต่อย่างใด เขาปฏิเสธคำสั่งเรียกตัวกลับอย่างไม่ใยดี

ปอมเปย์และพวกจึงหยิบยกสารพัดวิธีในการปลดจูเลียส ซีซาร์ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหาร แต่ก็ไม่อาจทำได้สำเร็จ และซีซาร์เองก็หมดความอดทนเต็มที เขาไม่อาจทนนิ่งเฉยได้อีกต่อไป ในไม่ช้าเขาจึงเดินทัพมายังกรุงโรม และสามารถยึดเมืองได้สำเร็จ ปอมเปย์และกลุ่มผู้หวงแหนอำนาจต้องหลบหนีออกจากเมืองไปยังกรีซ แต่มหากาพย์ไล่ล่าปอมเปย์เป็นเงาตามตัวเช่นนี้จะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากยังหลงเหลือกองกำลังทหารของปอมเปย์ในสเปน


จูเลียส ซีซาร์ จึงยกทัพไปทำลายกองทัพปอมเปย์ในสเปนจนราบ จากนั้นจึงเดินทางมายังกรีซ แต่ปอมเปย์ได้หลบหนีไปยังอียิปต์ก่อนแล้ว ซีซาร์จึงต้องไล่ล่าปอมเปย์จนถึงอียิปต์ ท้ายที่สุดแล้วก็สามารถกำจัดคู่แข่งทางการเมืองคนสุดท้ายไปได้ แม้ว่าคู่แข่งทางการเมืองจะถูกกำจัดไปจนหมด แต่เขาก็ไม่ได้เดินทางกลับกรุงโรมแต่อย่างใด ซีซาร์อยู่ที่อียิปต์ต่ออีกเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และยังช่วยให้พระนางคลีโอพัตราภรรยาอย่างไม่เป็นทางการได้ปกครองอียิปต์อีกด้วย

จุดจบของผู้นำเผด็จการ

จูเลียส ซีซาร์ ไม่สนใจจารีตแบบเก่า ไม่แม้แต่จะเหลียวมองกลุ่มขั้วอำนาจการเมืองที่ยังคงอยากจะรักษาสถานะทางสังคมของพวกเขาเอาไว้ ในยามที่กรุงโรมกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ความวุ่นวาย เขากลับเป็น “อำนาจ” ที่ไม่อาจโค่นล้มได้

ในไม่ช้า จูเลียส ซีซาร์ จึงได้ประกาศสถาปนาตนเองเป็นผู้เผด็จการตลอดกาล (Dictator perpetuo) ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการของสาธารณรัฐที่ไม่อาจยินยอมให้ผู้เผด็จอำนาจมีอำนาจผูกขาดตลอดการปกครอง ผู้นำจะต้องอยู่ในตำแหน่งตามระยะเวลาเท่าที่กำหนดเท่านั้น


ด้วยเหตุนี้ มาร์คุส ยูนุส บรูตุส (Marcus Junius Brutus) นักการเมืองโรมัน ผู้มีอุดมการณ์ต่างจากซีซาร์คนละขั้ว แต่ยังคงได้รับความเมตตาจากซีซาร์มาโดยตลอด เพราะมารดาของบรูตุส เซอร์วิเลีย (Servilia) เป็นที่โปรดปรานของซีซาร์ ดังนั้นสายตาที่ซีซาร์มองไปยังบรูตุสจึงไม่ต่างจากบิดาที่มองลูกของตน บรูตุสและพวกจึงเริ่มวางแผนสังหารซีซาร์ เพื่อไม่ให้ระบอบสาธารณรัฐต้องพังทลายลงไป


เมื่อทุกอย่างเตรียมพร้อม แผนการสังหารซีซาร์จึงเปิดฉากขึ้น ในวันที่ 15 มีนาคม ปีที่ 44 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นวันที่จูเลียส ซีซาร์จะต้องเข้าร่วมประชุมวุฒิสภา แต่เขาก็ยืดเวลาตัวเองด้วยการเข้าร่วมประชุมสาย เนื่องจากรู้อยู่แก่ใจว่า จะมีผู้ลอบสังหารตนตามจดหมายที่ผู้หวังดีส่งมาให้ เมื่อซีซาร์เดินทางถึงที่ประชุม คาสคา (Servilius Casca) นักการเมืองชาวโรมัน ผู้ไม่อยากให้ระบอบสาธารณรัฐต้องล่มสลาย จึงรีบคว้ามีดสั้นเล็งไปที่ลำคอของซีซาร์อย่างไม่ลังเล แต่ก็ทำได้แค่สร้างบาดแผลบริเวณหัวไหล่ของซีซาร์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ขณะที่ทุกอย่างกำลังวุ่นวาย คาสคาได้ตะโกนให้กลุ่มผู้โกรธแค้นซีซาร์ร่วมมือกันปลิดชีพผู้นำเผด็จการ หนึ่งในคนที่เข้าร่วมการสังหารคือ บรูตุส ชายหนุ่มที่ซีซาร์รักและเมตตามาโดยตลอด เมื่อเห็นเช่นนั้น ซีซาร์จึงปล่อยมือออกจากคาสคา และคว้าผ้ามาคลุมปิดศรีษะเอาไว้ ปล่อยให้ทุกคนรุมแทงจนสิ้นใจ

สิ้นสุดตำนาน จูเลียส ซีซาร์ รัฐบุรุษผู้กอบกู้และนำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่กรุงโรม ชายผู้สถาปนาตนเองเป็น “เผด็จการ” เพื่อยุติสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังวุ่นวาย แต่ในความเป็นเผด็จการของซีซาร์ เขาได้ทำให้ปัญหาความยากจนของประชาชนในประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พัฒนาระบบการปกครองให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน และมอบสิทธิพลเมืองให้กับเมืองขึ้นต่าง ๆ ให้มีสิทธิเสรีภาพทัดเทียมชาวโรมทุกประการ


อ้างอิง


เรื่องโดย