Kind Global

เมื่อโลกร้อนส่งผลให้เจ้าแห่งการผลิตถั่วอย่าง “เนปาล” ต้องเผชิญศึกหนัก


ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตร (FAO) ปี ค.ศ. 2018 ระบุว่า เนปาลติดอันดับการส่งออกถั่วเป็นอันดับ 7 ของโลก ด้วยกำลังการผลิตที่สูงถึง 250,000 ตันต่อปี แต่ด้วยฤดูกาลที่แปรปรวนไปในทุกปี ทำให้พืชผลทางเกษตรเสียหายอย่างหนัก เกษตรกรในพื้นที่จึงละทิ้งผืนดินของตน ไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ด้วยเหตุนี้เองเจ้าแห่งการผลิตถั่วส่งออกเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก จึงค่อย ๆ ละทิ้งตำแหน่งของตนไปอย่างช้า ๆ โดยหวังเพียงแค่รัฐบาลจะหันมาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ เนปาล ประเทศที่งดงามแห่งนี้ต้องสูญเสียพืชพันธุ์ของตนไปตลอดกาล



“เนปาล” ประเทศที่รุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรม แหล่งรวบรวมผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งนักท่องเที่ยวผู้อยากสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด และชนพื้นเมืองผู้ยังคงรักษาขนบประเพณีเอาไว้อย่างแข็งขัน ประเทศที่มีภาษาพูดและภาษาถิ่น แตกต่างกันกว่า 70 ภาษา


นอกจากความงดงามของวัฒนธรรมแล้ว ดินแดนแห่งนี้ยังถูกห้อมล้อมไปด้วยแนวเทือกเขา ซึ่งเป็นพรมแดนตามธรรมชาติที่ยังคงตั้งตระหง่านมานับพันปี อีกทั้งยังมีป่าไม้เมืองร้อนที่อุดมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด แต่บัดนี้ภาพความงดงามทั้งหมด กลับค่อย ๆ ถูกทำลายลง เมื่อศัตรูทางธรรมชาติของคนทั่วโลกกำลังเข้ามารุกรานดินแดนแห่งนี้ และค่อย ๆ ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของพืชผักนานาชนิดไปจนหมด จากประเทศที่ขึ้นชื่อว่าสามารถส่งออกถั่วเลนทิลได้มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ตอนนี้สถานะดังกล่าวกลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงความทุกข์ใจของเกษตรกรในเนปาลเริ่มสะท้อนออกมาชัดมากขึ้น เมื่อสิ้นสุดเทศกาลทัศอิน (Dashain) ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญของชาวฮินดูในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

พวกเขาพบว่า พื้นที่สำหรับเพาะปลูกถั่วเลนทิล แหล่งโปรตีนชั้นยอดของประชากรทุกคนในประเทศ และได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนจน ถึงขนาดได้ชื่อว่าเป็น “โปรตีนของคนจน” กันเลยทีเดียว ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกกำลังค่อย ๆ หายไปอย่างช้า ๆ


เนื่องจากเกษตรกรไม่เห็นประโยชน์ที่จะปลูกถั่วเลนทิลอีกต่อไป เพราะฤดูกาลที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้พวกเขาหันไปปลูกพืชชนิดอื่น เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าโดยปกติแล้วหลังจากจบเทศกาลทัศอิน เกษตรกรจะเข้ามาเก็บเกี่ยวผลผลิตในพื้นที่ของตน ซึ่งพืชพันธุ์ทางเกษตรที่เพาะปลูกกันส่วนใหญ่คือ ถั่วเลนทิล แต่เมื่อสภาพภูมิอากาศภายนอกสูงขึ้น พื้นที่เพาะปลูกของพวกเขาก็ค่อย ๆ เหือดแห้ง จากผืนดินชุ่มน้ำ ตอนนี้เหลืออยู่เพียงผืนดินที่แห้งกรัง ถั่วที่เคยเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศแห้งและเย็น และทำหน้าที่ตรึงไนโตรเจนในดินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเพาะปลูกรอบถัดไป บัดนี้ต้นกล้าเหล่านี้ไม่อาจทนต่อสภาพอากาศที่ร้อนระอุขึ้นในทุกวันได้อีกต่อไป เกษตรกรจึงต้องก้มหน้าก้มตายอมรับผลกระทบ ที่โลกส่งสัญญาณเตือนออกมาอย่างเลี่ยงไม่ได้


เมื่อย้อนกลับไปในช่วงฤดูกาลที่ยังไม่ผันผวนขนาดนี้ เกษตรกรในพื้นที่ได้เผยว่า เมื่อฤดูหนาวมาเยือน พวกเขาก็เตรียมยิ้มแก้มปริกันแล้ว เพราะถั่วเลนทิลที่เขาปลูกจะเจริญเติบโตได้ดีเป็นพิเศษในฤดูนี้ โดยเฉพาะในเขตเตไร ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเนปาล (ตอนเหนือของอินเดีย) และเป็นเขตพื้นที่ราบต่ำและมีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 17% ของประเทศ โดยพื้นที่ 250,000 เฮกตาร์ หรือ 1,562,500 ไร่ ล้วนเป็นแหล่งปลูกเลนทิลส่งออกชั้นดีของเนปาล

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เกษตรกรทุกคนพร้อมยอมรับเงินเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการปลูกถั่วเลนทิล เมื่อพวกเขาพบหนทางทำเงินที่ดีกว่า สินค้าส่งออกชิ้นสำคัญตัวนี้ก็ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างไม่ต้องสงสัย พวกเขาต้องดิ้นรนทุกวิธีทางเพื่อมีชีวิตที่ดีกว่า หลังจากต้องตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 เมื่อเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่พระราชวงศ์แห่งเนปาลขึ้นภายในพระราชวังในกรุงกาฐมาณฑุ เป็นผลให้กษัตริย์พิเรนทรพีรพิกรมศาหเทวะ และสมเด็จพระราชินีไอศวรรยาราชยลักษมีเทวีศาหะเสด็จสวรรคต พร้อมด้วยสมาชิกพระราชวงศ์อีก 7 พระองค์

ปัจจุบันยังไม่สามารถสืบสวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ มีเพียงเจ้าชายยาเนนทรา พระอนุชาของกษัตริย์พิเรนทราเท่านั้นที่รอดจากเหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้ เนื่องจากในวันเกิดเหตุพระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ในพระราชวัง ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์คยาเนนทราท่ามกลางเหตุการณ์ไม่สงบและปัญหาการเมือง


แม้สำนักพระราชวังได้ประกาศสาเหตุของโศกนาฏกรรมว่า เกิดจากอุบัติเหตุพระแสงปืนลั่นโดยมกุฎราชกุมารดิเพนทราเป็นผู้ทำพระแสงปืนลั่น ในขณะที่สมาชิกพระราชวงศ์กำลังร่วมเสวยพระกระยาหารค่ำ แต่ไม่ได้เปิดเผยผลการสืบสวนให้ประชาชนรับทราบแต่อย่างใด ทำให้ประชาชนผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ลุกฮือขึ้นมาประท้วงกันอย่างไม่หยุดหย่อน และในปี ค.ศ. 2001 และ ค.ศ. 2005 มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาถึงสองครั้ง กษัตริย์ต้องพลิกบทบาท จากเจ้าเหนือหัวลงมาเล่นการเมือง โดยมีกองทัพคอยทำหน้าที่สนับสนุน

แต่ก็ไม่อาจต้านทานกองกำลังของประชาชนได้อีกต่อไป เมื่อเกิดการลุกฮือของกลุ่มก่อความไม่สงบเหมาอิสม์ และประชาชนเริ่มหมดความศรัทธาในระบบกษัตริย์ พร้อมกับเกิดคำถามขึ้นในใจว่า เหตุใดกษัตริย์ที่พวกเขารักยิ่งชีพ กลับนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอยู่ในขณะนี้ ทำไมพระองค์ไม่ทรงทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว “เพราะกษัตริย์คือความหวังของประชาชน”

ท้ายที่สุดแล้ว การปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเนปาลต้องปิดฉากลงอย่างเป็นทางการ หลังจากมีการเลือกสมาชิกรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ต่อมาจึงได้มีการเลือกตั้งในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 2008 นับเป็นการเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อสถาบันกษัตริย์และกองทัพพ่ายแพ้แก่ประชาชน และพรรคการเมืองก็ไม่ขึ้นตรงต่อสถาบันกษัตริย์อีกต่อไป

กระนั้นสิ่งที่ประชาชนต้องการจริง ๆ คือ การมีชีวิตรอดท่ามกลางความผันผวนทางการเมือง และถั่วเลนทิลเอง ก็เปรียบเสมือนสัญลักษณ์การต่อสู้ของประชาชนที่มีต่อชนชั้นนำ

พวกเขาจะต้องแบกรับความเอาแน่เอานอนของชีวิต มีเพียงอาหารเท่านั้นที่พอประทังชีวิตไปได้วัน ๆ แต่ดูเหมือนว่า การเอาตัวรอดเพียงฝ่ายเดียวอาจไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหา ดังนั้นพวกเขาจึงต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง นั่นก็คือการต่อสู้กับสภาพอากาศ


จากผู้ส่งออกรายใหญ่… สู่ผู้นำเข้า

ถั่วเลนทิลเป็นส่วนประกอบสำหรับการทานอาหารประจำชาติอย่าง ดาลบัต (Dal Bhat) โดย Dal แปลว่า ซุปถั่ว ส่วน Bhat แปลว่า ข้าว เมื่อสองคำนี้มารวมกัน จึงได้เป็นชื่อเรียกอาหารประจำชาติ ดาลบัต หรือ ซุปถั่วนั่นเอง อาหารจานนี้ เป็นอาหารที่ชาวเนปาลส่วนใหญ่นิยมทานกันในชีวิตประจำวัน ซึ่งจริง ๆ แล้ว แทบทุกบ้านทานดาลบัตกันทุกวันเลยก็ว่าได้

แม้ว่าอาหารจานนี้จะไม่มีเนื้อสัตว์ประกอบ แต่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ถั่วเลนทิล เป็นส่วนประกอบสำคัญของดาลบัต และเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีที่ชาวบ้านนิยมรับประทาน เนื่องจากในสมัยก่อนประชาชนชาวเนปาลส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ทำให้พวกเขาไม่สามารถซื้อเนื้อหรือไข่มาทานได้ในชีวิตประจำวัน


นอกจากเป็นอาหารจานหลักของชาวเนปาลแล้ว ถั่วเลนทิลยังเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศอีกด้วย โดยในปี ค.ศ. 2018 องค์การอาหารและการเกษตร (FAO) ได้ระบุว่า เนปาลสามารถผลิตถั่วเลนทิลได้มากถึง 250,000 ตัน นับเป็นผู้ผลิตถั่วเลนทิลรายใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก แม้ว่าผลผลิตที่ได้จะตกต่ำลงก็ตาม แต่เนปาลก็ยังสามารถครองแชมป์ 1 ใน 10 ผู้ผลิตถั่วเลนทิลของโลกอยู่ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผลผลิตของเนปาลตกต่ำลงมาจากการใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพต่ำ (ที่เหลือมาจากปีก่อน ๆ) การใช้สารเคมี และการดูแลจัดการพืชที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

อย่างไรก็ตามเนปาลยังสามารถส่งออกถั่วเลนทิลไปยังประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างบังกลาเทศได้ แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา หลังจากปี ค.ศ. 2014 เป็นต้นมา การส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ กลับถูกควบคุมจากรัฐบาลอินเดีย ประเทศหน้าบ้านของเนปาล ที่ต้องคอยดูแลหลังบ้านของอินเดียให้เรียบร้อยอยู่เสมอ

ก่อนปี ค.ศ. 2008 ความสัมพันธ์ของเนปาล-อินเดีย นับเป็นความสัมพันธ์ที่แนบชิดกันอย่างมาก โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ที่เนปาลเองก็ย้ำนักย้ำหนาแก่ประชาคมโลกว่า “เป็นกลาง” เพราะเนปาลเป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ ที่ถูกขนาบข้างไปด้วยประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งจีนและอินเดีย ดังนั้นการคงสถานะความเป็นกลางในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ จึงเป็นตัวเลือกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า บนโลกนี้ ความเป็นกลาง เป็นสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ มีเพียงการกระทำเท่านั้นที่ทำให้ผู้อยู่นอกเกมการเมืองเห็นภาพความเป็นกลางที่พวกเขายึดถือ

ซึ่งเนปาลก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขามีการดำเนินนโยบายที่เอนเอียงไปทางอินเดียเสียมากกว่า ถึงขนาดได้ชื่อว่าเป็น “รัฐหลังบ้านของอินเดีย” แต่หลังจากเนปาลเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์เนปาลเป็นผู้นำ ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศก็เริ่มสั่นคลอน จนกระทั่งจีนเข้ามามีบทบาทในดินแดนแห่งนี้ และเนปาลเองก็อยากจะออกจากเงาของอินเดียมาโดยตลอด เนปาลจึงไม่ลังเลที่จะตกลงร่วมลงนามในโปรเจกต์การพัฒนาเส้นทางสายไหมใหม่ในศตวรรษที่ 21 ของจีนอย่างเต็มอกเต็มใจ

ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่า เนปาลและอินเดียมีความสัมพันธ์กันอย่างยาวนาน ทำให้อินเดียยังคงสามารถเข้าแทรกแซงกิจการทางการเมืองของเนปาลได้ (อย่างลับ ๆ) ทำให้การส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะ ถั่วเลนทิล ค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากรัฐบาลอินเดียหันไปให้ความสำคัญกับถั่วพัลส์มากกว่า อีกทั้งรัฐบาลอินเดียได้มอบเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรผู้ผลิตถั่วพัลส์ร่วมด้วย ส่วนบังกลาเทศเอง ก็หันไปผลิตถั่วเลนทิลกันมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลเนปาลไม่ได้มอบเงินอุดหนุนแก่สินค้าเกษตรประเภทนี้แต่อย่างใด ราคาถั่วเลนทิลในเนปาลจึงมีราคาสูงกว่าท้องตลาด ส่งผลให้เกษตรกรจำนวนมากต้องยอมเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกของตน เป็นแหล่งปลูกข้าวสาลีและพืชผักชนิดอื่น

ด้วยเหตุนี้เองเนปาลจึงต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ผลิตถั่วเลนทิลอันดับต้น ๆ ของโลก มาเป็นผู้นำเข้าถั่วเลนทิลแทนอย่างเลี่ยงไม่ได้

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของเนปาลเป็นภูเขาสูง ทำให้สภาพภูมิอากาศจะมีความหนาวเย็นกว่าแถบพื้นที่อื่น ๆ โดยเนปาลจะแบ่งออกเป็น 3 เขตภูมิภาค คือ เขตเทือกเขาหิมาลัย เขตภูเขา และเขตเตไร ซึ่งเป็นเขตที่มีพื้นที่ราบต่ำมากที่สุดของประเทศ และเป็นเขตที่มีสภาพอากาศเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกมากที่สุดอีกด้วย ด้วยสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ จากฤดูหนาวที่เคยมีอากาศพอเหมาะพอเจาะสำหรับเริ่มฤดูกาลเพาะปลูก แต่ตอนนี้อุณหภูมิโลกกลับเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกถั่วอย่างหนัก

สัญญาณความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่งในประเทศแถบเอเชียใต้คือ “ความแปรปรวน” ของลมตะวันตก ที่มักจะเอาแน่เอานอนไม่ได้ โดยความแปรปรวนที่ว่า มักจะเข้ามาช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลที่สำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกถั่ว

โดยลมตะวันตกที่พัดจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนส่งผลให้เกิดฝนตกชุกทั่วประเทศ และได้เข้ามาก่อกวนฤดูกาลที่เคยมีหิมะตก ตอนนี้มีเพียงสายฝนโปรยปรายลงมาเท่านั้น จากพื้นดินที่เคยชุ่มฉ่ำด้วยน้ำปริมาณพอเหมาะ เมื่อฝนโหมกระหน่ำลงมา พื้นที่แห่งนี้ก็ได้เปลี่ยนสภาพเป็นแอ่งน้ำขนาดย่อม ส่งผลให้รากของถั่วเลนทิลเน่าจนกู่ไม่กลับ นอกจากนี้ยังมีโรคพืชมารุมเร้าอีกนั่นคือ โรคใบไหม้ (Stemphylium Leaf Blight Disease) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พืชตาย พืชผลที่เกษตรกรหวังว่าจะนำมาใช้เลี้ยงดูครอบครัว กำลังถูกสายน้ำพรากไปจนหมด

นอกจากผลลิตที่มีจำนวนลดลงแล้ว สิ่งที่ส่งผลกระทบตามมาคือ ความมั่นคงทางอาหารของเกษตรกรในพื้นที่ โดยสามารถแบ่งเป็น 2 ประการ ได้แก่

ประการแรก เกษตรกรผู้ผลิตถั่วเลนทิลมีรายได้ลดลง ทำให้พวกเขาจากที่มีฐานะยากจนอยู่แล้ว ยิ่งยากจนเข้าไปอีก ซึ่งถั่วเลนทิลไม่ใช่เพียงแหล่งรายได้ของพวกเขาเท่านั้น หากยังเป็นแหล่งอาหารของพวกเขาด้วย

ประการที่สอง เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเลนทิล ไม่มีสินค้าหลงเหลืออยู่ในคลัง ส่งผลให้การส่งออกมีปัญหา ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลจึงต้องประกาศนำเข้าสินค้า เพื่อไม่ให้วิถีชีวิตของชาวเนปาลต้องไขว้เขวไปมากกว่านี้ เนื่องจากถั่วเลนทิล ถือเป็นสินค้าชิ้นสำคัญที่ชาวเนปาลทุกบ้านต้องมีติดไว้และต้องทานทุกวัน ดังนั้นหากขาดถั่วชนิดนี้ไป ย่อมส่งผลกระทบอย่างหนักต่อวิถีชีวิตของชาวเนปาล

ความพยายามในการต่อสู้ต่อกับภาวะโลกร้อนของนักวิจัย

แม้ภาวะโลกร้อนจะเข้ามาทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย แต่นักวิทยาศาสตร์ก็พร้อมกระโดดเข้ามาช่วยแก้ไขสถานการณ์อันเลวร้ายให้กลับสู่ภาวะปกติที่สุด ซึ่งวิกฤตการณ์ขาดแคลนถั่วเลนทิลในเนปาลก็เช่นกัน นักวิจัยได้คิดวิธีป้องกันความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรเป็นที่เรียบร้อยโดยพวกเขาได้

เสนอทางเลือกว่า ควรปลูกถั่วเลนทิลสายพันธุ์ที่ทนต่อน้ำท่วมขัง เช่น สายพันธุ์ Black Musuro แต่การจะเปลี่ยนใจเกษตรกรในพื้นที่ให้หันมาปลูกสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่สายพันธุ์ท้องถิ่น ก็ถือเป็นงานยากอีกชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว


นักวิจัยจึงได้เสนออีกทางเลือกคือ การทำให้เกษตรกรตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดจากฤดูกาลที่แปรปรวน หากเกษตรกรไม่ต้องการปลูกถั่วเลนทิลสายพันธุ์อื่น ก็ต้องยอมเปลี่ยนมาปลูกในฤดูกาลอื่นแทน เพื่อป้องกันผลผลิตเสียหาย แต่การจะเปลี่ยนไปปลูกในฤดูกาลอื่นที่ไม่มีฝนตกลงมานั้น จะต้องมีระบบพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถรับข้อมูลปริมาณน้ำฝนก่อนการโปรยเมล็ดถั่วลงในพื้นที่เพาะปลูกของตน

จากงานวิจัยเรื่อง Climate and landscape mediate patterns of low lentil productivity in Nepal ได้ให้คำแนะนำการปลูกถั่วเลนทิลไว้ว่า ควรปลูกถั่วเลนทิลไว้ในกระบะปลูกผัก (Raised  Bed) เพราะจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำขังบนผืนดินได้ ซึ่งการปลูกถั่วเลนทิลด้วยวิธีนี้ จะทำให้เกษตรกรสามารถควบคุมอุณหภูมิของดินได้ โดยไม่ต้องกังวลถึงปัญหาภาวะโลกร้อน ที่เข้ามาทำลายความสมดุลของฤดูกาลอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้การปลูกในกระบะปลูกผักจะช่วยให้เกษตรกรสามารถดูแลพืชพันธุ์ของตนได้อย่างทั่วถึง ลดปัญหาวัชพืชในแปลงผัก เพราะพืชที่ปลูกจะช่วยบังแสงแดดทำให้หญ้าหรือวัชพืชไม่มีโอกาสเติบโต

แม้ว่าพื้นที่เพาะปลูกในเขตเตไรจะประสบปัญหามากกว่าเขตภูมิภาคอื่น แต่จากการศึกษาพบว่า การมีปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก จะส่งผลดีต่อต้นถั่วเลนทิลมากกว่าปกติ โดยเฉพาะการปลูกถั่วเลนทิลแบบขั้นบันไดตามเชิงเขา เพราะจะทำให้น้ำมีการระบายได้ดีขึ้น ปัญหาน้ำท่วมขังในแปลงผักจึงหมดไป

ท้ายที่สุดแล้ว วิธีการที่นักวิจัยได้เสนอมาทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีผู้นำไปปฏิบัติ ซึ่งทุกข้อเสนอแนะที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนส่งผลดีต่อประเทศและเกษตรกรท้องถิ่น หากรัฐบาลหันมาใส่ใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ส่วนหนทางการแก้ไขปัญหานี้จะเป็นอย่างไร เนปาลจะกลับมาเป็นเจ้าแห่งตลาดถั่วเลนทิลได้หรือไม่ คงต้องรอติดตามกันต่อไป



เกร็ดความรู้: เทศกาลทัศอิน (Dashain) เป็นเทศกาลของชาวฮินดู ซึ่งชาวเนปาลประมาณ 81.3% นับถือศาสนาฮินดู ทำให้ชาวเนปาลทุกคนร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลนี้ แม้จะไม่ได้นับถือศาสนาฮินดูก็ตาม โดยเทศกาลทัศอินเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะของฝ่ายธรรมะ หลังจากสามารถเอาชนะฝ่ายมารได้ โดยผู้คนจะสักการะพระแม่ดุรกา (Goddess Durga) ผู้เป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายธรรมะ ซึ่งตามตำนานเล่าว่า การสู้รบของทั้งสองฝ่ายยืดเยื้อยาวนานถึง 9 วัน จนกระทั่งพระแม่ดุรกาสามารถปลิดชีพมหิษาอสูร (Mahisarura) หรืออสูรควาย ได้ในวันที่ 10


การเฉลิมฉลองเทศกาลทัศอินจะเริ่มขึ้นในฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน – พฤศจิกายน) ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศดีที่สุดของปี โดยครอบครัวชาวฮินดูจะบูชาพระแม่ดุรกาด้วยการถวายแพะ เป็ด ไก่ และไข่ นอกจากเป็นงานเทศกาลครั้งใหญ่ที่สุดของชาวเนปาลแล้ว ยังเป็นวันรวมญาติของชาวเนปาลอีกวันหนึ่งก็ว่าได้ เพราะลูกหลานที่อยู่ต่างบ้านต่างเมืองจะกลับมาหาครอบครัวในเทศกาลนี้ โดยรัฐบาลเองก็มองเห็นความสำคัญของประเพณีที่สืบทอดกันมานับร้อยปี ดังนั้นในทุก ๆ ปี จะมอบวันหยุดให้ประชาชนร่วมเฉลิมฉลองเป็นเวลา 10-15 วัน


ที่มา


เรื่องโดย