Kind Beginning

Ocean Hugger บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกัน ผู้แปลงอาหารทะเลให้กลายเป็นอาหารกู้โลก!


หลังจาก Ocean Hugger ได้บุกตลาดอาหารทะเล โดยมี “ทูน่าดิบและปลาไหลทะเลที่ทำจากพืช” เป็นสินค้าชูโรงเมื่อกลางปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา ในวันนี้ Ocean Hugger จะกลับมาเขย่าวงการอาหารอีกครั้ง พร้อมเตรียมเปิดตัวเมนูอาหารทะเลจากพืชที่มีความหลากหลายและยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าเดิม

แค่เลือกกินก็ช่วยโลกได้ 

ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์รักสุขภาพกำลังมาแรงจนฉุดไม่อยู่ ทำให้อุตสาหกรรมอาหารต้องปรับตัวตามกันไป “เนื้อสัตว์จากพืช” จึงได้กลายมาเป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยเองก็เช่นกัน ซึ่งในประเทศไทยได้มีบริษัทสตาร์ทอัพที่ลุกขึ้นมาจับธุรกิจ Plant-based Food หรือผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืชเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น More Meat, Meat Avatar และ Let’s Plant Meat เป็นต้น 

เนื้อสัตว์จากพืชไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลดีต่อสุขภาพโลกอีกด้วย เพราะปัจจัยที่ทำให้โลกร้อนในทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการผลิตอาหารที่ปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากถึง 30% ในจำนวนนี้พบว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจก 16% ที่ส่งถึงชั้นบรรยากาศโลกมาจากการอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์

ข้อมูลจาก UN Food and Agriculture Organization 2018 พบว่า ในเอเชียมีอัตราการผลิตเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นถึง 15 เท่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1961 เป็นต้นมา ขณะที่ในยุโรปกลับมีอัตราการผลิตเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นเพียงสองเท่าในช่วงเวลาเดียวกัน 


จากความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี่เอง พื้นที่ป่าไม้ทั่วโลกจึงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการถางป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ทำฟาร์มปศุสัตว์ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ป่าไม้ซึ่งเป็นเสมือนปราการด่านแรกในการรักษาสมดุลโลกต้องถูกทำลายลง ดังนั้นคงไม่กล่าวเกินจริงไปนัก หากจะบอกว่าแค่เลือกกินก็สามารถช่วยโลกได้

มะเขือเทศ มะเขือม่วง พืชที่กลายร่างเป็นเนื้อปลา

KiNd ขอเล่าย้อนไปเมื่อครั้งที่เปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ ในงาน Hyper Japan Festival ในปี ค.ศ. 2019 จัดขึ้นที่ลอนดอน ทาง Ocean Hugger ได้นำมะเขือเทศและมะเขือม่วงมาเสกสรรค์ปรุงแต่งจนได้ออกมาเป็น “ทูน่าดิบ” และ “ปลาไหลทะเล” ที่ใครต่อใครต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รสชาติไม่ต่างกับเนื้อปลาแท้ ๆ ตามธรรมชาติ

โดยปลาที่ไม่ใช่ปลานี้ทำมาจากมะเขือเทศ ซอสถั่วเหลืองไร้กลูเตน น้ำตาล ผงบุก และน้ำมันงา นำมาปรุงรสด้วยเทคนิคพิเศษจนได้ออกมาเป็น Ahimi ทูน่าดิบจากมะเขือเทศ ที่ให้เนื้อและสัมผัสไม่ต่างจากทูน่าแท้ ๆ จากท้องทะเล และอีกหนึ่งเมนูขึ้นชื่อของแบรนด์คือ Unami เนื้อปลาไหลทะเลจากมะเขือม่วง ทำมาจากมิริน (เหล้าหวาน) น้ำมันรำข้าว น้ำตาล น้ำมันสาหร่าย และผงบุก ที่ใช้วิธีการที่ใกล้เคียงกันจนได้ออกมาเป็นปลาไหลทะเลที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยซอสโชยุเนื้อมันเงา ซึ่งทางแบรนด์มั่นใจว่า นี่คือปลาไหลทะเลจากพืชที่เหมาะสำหรับการทำซูชิและข้าวหน้าปลาไหลเป็นที่สุด

Ocean Hugger การกลับมารูปแบบใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม

จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และบริษัทสตาร์ทอัพ Ocean Hugger ก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน ทำให้สำนักงานใหญ่ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องปิดตัวลงอย่างน่าเสียดาย แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ดูเหมือนว่า Ocean Hugger พร้อมกลับมาปฏิวัติวงการอาหารทะเลจากพืชอีกครั้ง จากประกาศบนเว็บไซต์บริษัท เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 2020 ระบุว่า “ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เราจะกลับมาเปิดตัวสินค้าใหม่ที่ดีขึ้น และยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าเดิม”

แม้ว่าจะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะเป็นการเปิดตัวและวางขายผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใดก็ตาม ทางเว็บไซต์ Food Navigator ก็ได้ออกมาคาดการณ์ว่า บริษัทน่าจะกลับมาเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ภายในปีหน้า ด้าน David Benzaquen ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Ocean Hugger และผู้บริหารของ Plant Based Solutions ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า Ocean Hugger กำลังวางแผนที่จะกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง พร้อมทั้งได้บอกใบ้เล็ก ๆ ถึงข้อมูลของสินค้าตัวใหม่ แต่ไม่ได้เผยรายละเอียดออกมามากนัก

จากมูลค่าการลงทุนในธุรกิจอาหารจากพืชที่สูงถึงกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2020 ทำให้การเริ่มต้นธุรกิจอาหารทะเลจากพืชและเนื้อสัตว์สังเคราะห์ของ Ocean Hugger กลายมาเป็นประเด็นที่น่าจับตามองไม่น้อย และยิ่งเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา General Mills บริษัทธุรกิจอาหารยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษที่มีอายุกว่าร้อยปี ได้ทุ่มงบลงทุนกว่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐในแบรนด์ Good Catch แบรนด์อาหารทะเลจากพืช ซึ่งการเปลี่ยนมาจับกระแสอาหารทะเลจากพืชของบริษัทที่คุมอาณาจักรอาหารทั่วโลก ย่อมส่งผลต่อทิศทางวงการอาหารในอนาคตไม่น้อยเลยทีเดียว

อีกบริษัทที่น่าจับตามองไม่แพ้กัน นั่นคือ BlueNalu บริษัทสตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญด้านการเพาะอาหารจากห้องทดลอง ได้รับเงินลงทุนราว 20 ล้านดอลลาร์ ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป้าหมายของบริษัทคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่สังเคราะห์ขึ้นมาจากห้องแล็บเพื่อลดปริมาณการบริโภคอาหารทะเลจากธรรมชาติ ขณะที่กองทุนอาหารและการเกษตร S2G ventures ก็ได้ทำการทุ่มเงินสนับสนุนกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในธุรกิจอาหารทะเลจากพืชด้วยเช่นกัน 


ที่มา


เรื่องโดย