Kind National

“สเปน” ประเทศแห่งการหลงลืม สู่การหายไปของร่องรอยระบอบเผด็จการ


“ขณะที่เลือก ‘จำ’ บางอย่าง บางอย่างกลับต้องถูก ‘ลืม’ ในเวลาเดียวกัน” 

“การจำ” และ “การลืม” แม้จะเป็นคำที่มีความหมายคู่ตรงข้าม ทว่ากลับเป็นมโนทัศน์ที่ควบคู่แนบแน่นกันมาตลอดในประวัติศาสตร์ของสังคมการเมือง เพราะเรื่องราวเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มีความยิบย่อย การจดจำเรื่องราวทั้งหมดจึงเป็นไปได้ยาก

ดังนั้นสังคมการเมืองจึงอาศัย “การเลือกจดจำ” ในเรื่องราวที่เห็นว่าจำเป็นและได้ประโยชน์ ในแง่นี้จึงมีเพียงบางเรื่องราวเท่านั้นที่ถูกยกให้เป็นประวัติศาสตร์ เพื่อมิให้เรื่องราวใด ๆ กลับมาคุกคามความเป็นปกติ และความเป็นระบบระเบียบของสังคมการเมือง


“สเปน” เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ในช่วงปี ค.ศ. 1936-1975 สเปนมีการปกครองแบบระบอบเผด็จการที่เรียกว่า “ระบอบฟรังโก” โดยมีผู้นำการปกครองคือ “นายพลฟรังโก” (Francisco Franco) แต่ปัจจุบันปกครองโดยพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและรัฐสภา ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี ค.ศ. 1978 

ย้อนกลับไปในยุคสมัยการปกครองระบอบเผด็จการ

สงครามกลางเมืองในประเทศสเปนเกิดขึ้นช่วงปี ค.ศ. 1936-1939 ระหว่างกลุ่มชาตินิยมฟาสซิสต์ นำโดยนายพลฟรังโก (ซึ่งทำการรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ. 1936) ซึ่งพวกเขาเชื่อว่ากำลังทำสงครามครูเสด กับกลุ่มนิยมสาธารณรัฐหรือกลุ่มฝ่ายซ้าย อันเป็นกลุ่มที่ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ตามแคว้นต่าง ๆ ส่งผลให้กลุ่มฝ่ายซ้ายจำนวนกว่า 580,000 คนถูกฆ่าในระหว่างสงครามกลางเมือง และกว่าอีก 200,000 ราย เสียชีวิตเพราะถูกประหาร จากโรคภัยไข้เจ็บ และความหิวโหยในคุก หรือในค่ายกักกัน รวมถึงการบังคับให้พวกเขาไปเป็นทหารออกรบ โดยในจำนวนนี้มี 130,000 คนถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งภายในช่วงเวลา 15 ปี มีผู้ถูกบังคับให้สูญหายจำนวน 114,226 คน จำนวนตัวเลขทั้งหมดถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับความรุนแรงในประเทศอื่น ๆ 

ไม่เพียงเท่านั้นหลังสงครามกลางเมืองในระบอบฟรังโก ยังได้เน้นการปราบปรามกดขี่ต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง และเกิด “การละเมิดสิทธิมนุษยชน” จำนวนมาก โดยเฉพาะการสร้างความทรมาน การจับขังตามอำเภอใจ และการประหารชีวิต นอกจากนี้ยังได้ผลิตซ้ำโฆษณาชวนเชื่อผ่านระบบการศึกษา เพื่อสื่อว่ากลุ่มฝ่ายซ้ายเป็นผู้ทรยศและกระหายเลือดในสเปน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การควบคุมความหมายของความทรงจำร่วมทางสังคมได้ประสบผลสำเร็จ ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการครองอำนาจทางการเมือง กรณีการสร้างประชาธิปไตยและสร้างความปรองดองของประเทศสเปนเป็นหนึ่งในกรณีที่น่าสนใจ เนื่องจากมีการต่อสู้ทางการเมือง ว่าด้วยความทรงจำระหว่างการลืมและการจดจำ ทั้งนี้ประเทศได้เริ่มต้นภายหลังการเสียชีวิตของนายพลฟรังโกในปี ค.ศ. 1975 ด้วยการทิ้งอดีตไว้ข้างหลังเพื่อสร้างประชาธิปไตย และพยายามสร้างความปรองดองโดยการไม่แตะต้อง และไม่จัดการกับมรดกความรุนแรงในอดีต

นอกจากนี้ ประเทศสเปนยังสร้างความปรองดองที่ตรงกันข้ามกับประเทศอื่น ๆ เช่น อาร์เจนตินา ชิลี อุรุกวัย โปรตุเกส ตุรกี เป็นต้น กล่าวคือ สเปนไม่มีการไต่สวนบทบาทการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหาร ไม่มีกระบวนการหาความจริงและจัดตั้งคณะกรรมการปรองดองเพื่อศึกษาความรุนแรงในอดีต และจัดทำรายงานวิเคราะห์สาเหตุความรุนแรงและหนทางป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ตลอดจนไม่มีกระบวนการรื้อกำจัดข้าราชการระบบเก่าออกไป และไม่มีการปฏิรูปสถาบันกองทัพ เพื่อลดศักยภาพในการก่อความรุนแรง คำถามคือ แล้วสเปนจัดการกับอดีตอย่างไร? 


การจดจำภายใต้การลืม

สำหรับชาวสเปน พวกเขาเชื่อว่า วิธีที่ดีที่สุดในการทิ้งอดีตคือ “การลืม” ภายหลังการเสียชีวิตของนายพลฟรังโก สเปนได้มีการทำ “ข้อตกลงว่าด้วยการลืม” หรือเรียกว่า “Pacto del Olvido” (Pact of Forgetting or Pact of Oblivion) ซึ่งเป็นข้อตกลงเพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองระหว่างพรรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขวาผู้ศรัทธาในระบอบฟรังโก และฝ่ายซ้ายผู้ต่อต้านระบอบฟรังโก

ข้อตกลงดังกล่าวมีเนื้อหาหลักเป็นไปเพื่อพยายามสร้างให้การลืมกลายเป็นสถาบัน โดยเฉพาะลืมต่อการสังหารหมู่ชาวสเปนในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างปี ค.ศ. 1936-1939 และการกดขี่ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามภายใต้การปกครองของนายพลฟรังโกระหว่างปี ค.ศ. 1939-1975 เป้าหมายของข้อตกลงนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองในช่วงที่การเมืองในประเทศยังคงเปราะบาง

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐสภาสเปนยังได้ตรากฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมืองในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1977 (The 1977 Law of Political Amnesty) เพื่อยืนยันว่าการใช้ความรุนแรงของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในอดีตถือว่าไม่เป็นความผิด หรือกล่าวได้ว่า เพื่อป้องกันการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ในระบอบฟรังโก ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในบทอารัมภบทของกฎหมายระบุว่า การลืมต้องเป็นเงื่อนไขแรกเริ่มของการเดินต่อไปข้างหน้า โดยมีข้อความว่า

“เพราะประเทศสเปนกำลังมุ่งหน้าไปสู่รัฐที่มีประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ การจะทำให้กระบวนการนี้สมบูรณ์ได้ต้องมีการลืมที่มีต่อมรดกการกีดกันและเลือกปฏิบัติในอดีต เพื่อแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันของชาวสเปนทุกคน” (Encarnación, 2014, p. 53 อ้างอิงจากบทความของ ศิวัช ศรีโภคางกุล)



แต่บทบาทการต่อสู้ของภาคประชาสังคมในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 นักประวัติศาสตร์และนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งได้เริ่มสนใจศึกษาประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในอดีตของประเทศตนอย่างจริงจัง หนังสือและบทความทางวิชาการวิพากษ์ระบอบฟรังโกเริ่มมีการแพร่วงกว้าง ขณะเดียวกันก็เกิดองค์กรเพื่อฟื้นฟูความทรงจำทางประวัติศาสตร์ขึ้นในปี 2000

สมาชิกส่วนใหญ่คือ ผู้ที่เห็นใจในชะตากรรมของเหยื่อฝ่ายซ้าย อาจเป็นเพราะช่องว่างระหว่างรุ่นที่ห่างไกลกัน จนทำให้การคิดถึงความทรงจำในอดีตมิได้เป็นเรื่องน่ากังวลอีกต่อไป และบทบาทของผู้นำประเทศยุคใหม่นั้นทำให้ประเทศสเปนหวนกลับมาให้ความสำคัญกับความทรงจำจากอดีตมากยิ่งขึ้น ต่อมาในปี ค.ศ. 2007 รัฐสภาสเปนได้ผ่านกฎหมายความทรงจำทางประวัติศาสตร์ (The Historical Memory Law) กฎหมายดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเข้าไปจัดการกับภาระมรดกความเจ็บปวดจากประวัติศาสตร์ของประเทศนั่นเอง

ในประวัติศาสตร์ระบอบฟรังโกมีอายุยืนยาวกว่า 40 ปี ซึ่งถือว่านานมาก หากเทียบกับเผด็จการของประเทศอาร์เจนตินาที่มีอายุ 7 ปี (ค.ศ. 1976-1983) หรือชิลีที่มีอายุ 17 ปี (ค.ศ. 1973-1990) แม้ 70 ปีให้หลังสงครามกลางเมือง รัฐสภาสเปนได้ผ่านกฎหมายความทรงจำทางประวัติศาสตร์ แต่กลุ่มอนุรักษ์นิยมภายในสเปนต่างโจมตีกฎหมายนี้ว่า จะเป็นการไปกระตุกความเคียดแค้น และสร้างภาระใหม่ให้กับความทรงจำของประเทศ เนื่องจากชาวสเปนจำนวนมากได้ข้ามผ่านความทรงจำภายใต้ระบอบฟรังโกไปแล้ว

เดิมประเทศสเปนอาศัยการลืมและความเงียบมาเป็นเวลากว่าสามทศวรรษ ผ่านข้อตกลงว่าด้วยการลืมในปี ค.ศ. 1975 จนกระทั่งปลาย ทศวรรษที่ 1990 ประเทศสเปนจึงกลับมาให้ความสำคัญกับการรื้อฟื้นความทรงจำ อย่างไรก็ตามด้วยท่าทีอนุรักษ์นิยมทั้งจากพรรคการเมืองฝ่ายขวาและคณะตุลาการที่ยังคงศรัทธาในระบอบฟรังโก จึงทำให้การจดจำดังกล่าวทะยานไปไม่ถึงการสร้างความยุติธรรมให้แก่ประเทศได้

สเปนจึงเป็นประเทศประชาธิปไตยตั้งมั่นประเทศเดียว ที่ปฏิเสธจะเอาผิดกับผู้ก่อความรุนแรงในประเทศก่อนหน้านี้ เสียงของเหยื่อภายใต้ระบอบฟรังโกจึงถูกทำให้เงียบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในแง่นี้จึงทำให้ Alicia Gil Gil (อ้างถึงใน Aguilar, 2013) ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยซาราโกซ่า (University of Zaragoza) ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศสเปนกลายเป็นตัวอย่างของการหลงลืมอย่างถึงที่สุด (Model of Absolute Oblivion)


ที่มา

  • บทความเรื่อง “การจดจำภายใต้การลืม: การต่อสู้ของความทรงจำที่มีต่อโศกนาฏกรรมระบอบฟรังโกในสเปน” ของศิวัช ศรีโภคางกุล, วารสารการเมือง การบริหาร และกฎหมาย ปีที่ 10 ฉบับที่ 3, คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  • นายพลฟรังโก : ทำไมสเปนต้องย้ายที่ฝังศพจอมเผด็จการหลังตายไปแล้ว 44 ปี. www.bbc.com/thai/international-50123933 

เรื่องโดย