Kind Circular

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) กับการแปลง “เศษอาหาร” ให้เป็น “ฟาร์มผัก” บนดาดฟ้าห้างกลางกรุง



KiNd ชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับฟาร์มบนดาดฟ้าที่มีชื่อว่า “Wastegetable” ของบางกอก รูฟท็อป ฟาร์มมิ่ง* (Bangkok Rooftop Farming) ฟาร์มผักเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร บนชั้นดาดฟ้าของห้างสรรพสินค้า Center One ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฟาร์มผักสดปลอดสารพิษที่เรียกว่าใกล้ชิดคนเมืองแค่เอื้อม


ฟาร์มบนดาดฟ้าแห่งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านการจัดการเศษอาหารแบบครบวงจร โดยนำเอาเศษอาหารจากการกินเหลือของบุคคลที่อยู่ในห้างฯ และศูนย์อาหาร (Food Court) มาเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นวัสดุปรุงดิน เพื่อใช้ในการผลิตพืชผักปลอดสารพิษ และเป็นอาหารปลอดภัยกลับคืนสู่สังคม โดยใช้แนวคิดเรื่อง “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) มาเป็นแนวคิดหลักในการจัดการ นอกจากจะช่วยเรื่องการจัดการขยะเปียกแล้ว ยังถือเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวในพื้นที่จำกัดสำหรับคนเมืองได้อีกด้วย


“ขยะอาหาร” ปัญหาที่ถูกมองข้าม สู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

“ขยะอาหาร” หนึ่งในปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะการเน่าเสียของอาหารส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน (CH4) ที่มีศักยภาพเป็นก๊าซเรือนกระจก หรือทำให้โลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ถึง 25 เท่า ในแต่ละปีจะมีขยะอาหารที่ต้องฝังกลบ ประมาณ 1,300 ล้านตัน ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษคิดเป็น 8% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ (ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย: TDRI)

ปัจจุบันคนไทยสร้างขยะประมาณ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งสัดส่วนของขยะร้อยละ 64 นั้นเป็นขยะอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมาก และควรได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายตั้งแต่ระดับครัวเรือน ระดับภาคธุรกิจไปจนถึงระดับนโยบายในการแก้ไขปัญหา

โดยทางบางกอก รูฟท็อป ฟาร์มมิ่งมองเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และเพื่อเป็นการปิดวงจรของการเพิ่มขยะในกรุงเทพมหานครที่จะส่งปัญหาถึงสิ่งแวดล้อมในมุมกว้าง จึงเริ่มจัดทำฟาร์มบนดาดฟ้านี้ขึ้น โดยยึดหลักแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งเป็นแนวคิดหมายถึง การหมุนเวียนเอาทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจนครบเป็นวงจร ตั้งแต่ภาคการผลิต การบริโภค ไปจนถึงการจัดการของเสีย ด้วยกระบวนการใช้ซ้ำ (Reuse) หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการผลิตใหม่ (Re-material) ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนของเศรษฐกิจทั้งระบบ



ทั้งนี้กระบวนการทั้งหมดเป็นการจัดการขยะอินทรีย์ (ขยะเปียกหรือขยะเศษอาหาร) โดยจะเริ่มตั้งแต่การแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น เพื่อนำมาหมักหรือจัดการเปลี่ยนขยะให้เป็นทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบของปุ๋ยและดิน โดยขั้นตอนของการทำวัสดุปรุงดิน “คุณโจ๊ก-ธนกร เจียรกมลชื่น” หนึ่งในผู้ดูแลฟาร์มบนดาดฟ้า ได้สาธิตวิธีการจัดการขยะอินทรีย์เบื้องต้นให้เราดูคือ 

หนึ่ง-จำแนกถังออกเป็น 3 ถัง โดยถังแรกใส่เศษขยะอาหารที่ได้จากห้าง Center One ส่วนถังที่สองใส่มูลสัตว์จากม้าและวัว และถังที่สามใส่ใบไม้แห้งหรือพืชผักแห้ง 

สอง-นำแต่ละถังมาใส่ลงในเครื่องหมักขยะอินทรีย์ โดยใส่เรียงตามลำดับคือ ใบไม้แห้ง-มูลสัตว์-เศษอาหาร จากนั้นให้เครื่องทำงานเพื่อบดผสมรวมกัน พอละเอียดได้ที่แล้วจึงตักออกมาใส่ถัง และต้องวางหมักทิ้งไว้ประมาณ 15-20 วัน จากนั้นจึงนำไปใช้เป็นส่วนผสมของดินสำหรับปลูกพืชผักต่อไป 

กระบวนการจัดการนี้นอกจากจะเป็นการช่วยจัดการขยะอินทรีย์แล้ว ยังช่วยในการจัดสรรพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้งาน เช่น ดาดฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งสร้างรายได้ นอกจากนี้การปลูกผักบนตึกสูงยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพื้นที่สีเขียว สร้างความร่มรื่น จวบจนเป็นแหล่งผลิตผักปลอดสารพิษให้คนเมืองสามารถเข้าถึงได้ง่ายในราคาที่ไม่แพงอีกด้วย


ฟาร์มผักดาดฟ้าปลอดสารพิษ ให้คนเมืองได้ชิดใกล้

ใครจะไปคิด…ว่าบนดาดฟ้าของห้างสรรพสินค้าย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ อย่าง Center One จะกลายเป็นพื้นที่ปลูกผักปลอดสารพิษ แถมยังเป็นผักยอดฮิตที่คนเมืองนิยมบริโภคกันอีกต่างหาก เนื่องจากปัจจุบันความนิยมบริโภคสลัดผักเพิ่มขึ้นอย่างมาก สาวกคนรักสุขภาพ และคนรักการรับประทานผักเป็นชีวิตจิตใจคงจะไม่พลาด แล้วยิ่งมีฟาร์มที่ปลูกผักสด ๆ ปลอดสารพิษมาตั้งอยู่ใจกลางเมืองยิ่งต้องห้ามพลาดคูณสอง

โดยผักที่ทางฟาร์มปลูกส่วนใหญ่จะเป็นผักสลัด ได้แก่ เคล (Kale) ราชินีแห่งผัก โมโรเฮยะ (Moroheiya) ราชาแห่งผัก เรดบัตเตอร์เวียร์ (Red Batavia Cherokee) เรดคอส (Red Cos) กรีนโอ๊ค (Green Oak) เรดโอ๊ค (Red Oak) และบัตเตอร์เฮด (Butterhead Lettuce) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพืชสมุนไพรต่าง ๆ เช่น โรสแมรี่ (Rosemary) ลาเวนเดอร์ (Lavandula) และเสจ (Sage) อีกด้วย ราคาของผักแต่ละชนิดจะแตกต่างกันออกไป แต่ตามมาตรฐานทั่วไปราคาผักสลัดน้ำหนัก 2 ขีด ราคาจะอยู่ที่ 30 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้



“Wastegetable” ฟาร์มดาดฟ้าของบางกอก รูฟท็อป ฟาร์มมิ่ง ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการต้นแบบที่สามารถต่อยอดไปยังอาคารอื่น ๆ ได้อีก ไม่ใช่เพียงแค่ห้างสรรพสินค้า แม้กระทั่งโรงแรม โรงพยาบาล หรือโรงอาหารใหญ่ ๆ ที่มีพื้นที่บนดาดฟ้าก็สามารถทำได้เช่นกัน ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้สังคมเมืองก็จะยิ่งมีขยะเพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน คุณภาพชีวิตของคนเมืองก็อาจจะมีแนวโน้มที่ต่ำลง 

“ขยะอาหาร” “ฟาร์มผักดาดฟ้า” และ “แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” อาจจะกลายเป็นอีกประเด็นที่เราควรหันกลับมามองอย่างจริงจัง นอกจากจะช่วยลดปัญหาปลายทางของขยะที่สร้างมลภาวะแล้ว การปลูกผักกินเองก็ยังเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว เปลี่ยนที่ดินว่างเปล่าให้มีประโยชน์ ทั้งยังเป็นหลักประกันว่าเราจะมีอาหารกิน เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตที่คาดการณ์ไม่ได้อีกด้วย

__

*Wastegetable ของบางกอก รูฟท็อป ฟาร์มมิ่ง (Bangkok Rooftop Farming) เป็นโครงการที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ในประเภททุนเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรม และสมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ The NETWORK


ที่มา

  • 4 วิธีจัดการกับเศษอาหาร (Food Waste) อย่างมีประสิทธิภาพ. https://bangkokrooftopfarming.com
  • นักวิจัยร่วมผลักดันนโยบายลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งและขยะอาหารในไทย. www.thai-german-cooperation.info
  • Circular Economy คืออะไร เกี่ยวอะไรกับฟาร์มบนดาดฟ้า. https://bangkokrooftopfarming.com

เรื่องโดย

ภาพโดย