Kind Journey

เรื่องยุ่ง ๆ ของยุงเกาหลีในศตวรรษที่ 19


ฤดูฝนในเกาหลีกับบรรยากาศหม่นหมองคงเป็นเรื่องยากที่จะแยกออกจากกัน และสิ่งมีชีวิตที่มักก่อตัวเยอะขึ้นเป็นพิเศษในฤดูนี้คงหนีไม่พ้น “ยุง” ที่เข้ามาก่อกวน “ดินแดนแห่งความสงบยามเช้า” แห่งนี้ตลอดทั้งคืน ซึ่งหากได้อ่านจดหมายและบันทึกการเดินทางของชาวต่างชาติที่เข้ามาเยือนเกาหลีใต้ในช่วงฤดูร้อนของปลายศตวรรษที่ 19 ก็จะพบกับเรื่อง ยุง ๆ ที่ชาวต่างชาติถึงกับต้องยกธงขาวยอมแพ้ในความกระหายเลือดของยุงเกาหลีกันเป็นแถว ๆ

เมืองปูซาน, เกาหลีใต้ ฤดูร้อนปี 1883 – ในตอนกลางวันผมมักจะเห็นภาพชาวเกาหลีนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ตามข้างทางอยู่บ่อย ๆ เพราะในตอนกลางคืน พวกเขาไม่สามารถข่มตานอนลงได้ สาเหตุส่วนใหญ่ก็มาจาก ยุง แมลงตัวเล็ก ๆ ที่ขยับปีกบินไปมาคอยทำลายความสงบยามค่ำคืนของพวกเขาไปจนหมด

-Robert Neff ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เกาหลี


จนกระทั่ง “มุ้งกันยุง เริ่มเข้ามามีบทบาทในเกาหลี และกลายมาเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่ขาดไม่ได้ของชาวเกาหลีในช่วงเวลานั้นเลยก็ว่าได้ แต่ด้วยราคาที่แพง ทำให้มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถหาซื้อมุ้งกันยุงเหล่านี้มาไว้ในครอบครอง แต่หากบ้านหลังไหนไม่มีมุ้งกันยุง ก็จะใช้วิธีจุดกองไฟบนพื้นที่เล็ก ๆ ในบ้านเพื่อไล่ยุง ส่วนในฤดูหนาวกองไฟที่จุดก็จะทำหน้าที่ให้ความอบอุ่นควบคู่กับการไล่ยุงไปด้วย

กรุงโซล, เกาหลีใต้ กรกฎาคม 1884 – ผมสังเกตเห็นว่าบ้านแทบทุกหลังจะต้องเว้นพื้นที่ก่อกองไฟเล็ก ๆ เอาไว้ ผมคิดว่ากองไฟเหล่านี้จะทำหน้าที่ไล่ยุงในตอนกลางคืน และควันจากกองไฟจะช่วยไล่ยุงตอนที่พวกเขากำลังนอนหลับ ส่วนในฤดูหนาวพวกเขาก็จะก่อกองไฟเล็ก ๆ แบบเดียวกัน แต่จะทำหน้าที่ให้ความอบอุ่นแก่พวกเขาในยามค่ำคืนแทน 

George Clayton Foulk ทหารเรือสหรัฐฯ

กรกฎาคม 1887 – หากเดินทางมาเกาหลีคุณจะพบกับหมวกรูปร่างแปลกตา ลักษณะเป็นทรงกรวยขนาดใหญ่ และเพียงแค่คุณมีหมวกใบนี้ใบเดียว ชีวิตของคุณก็จะง่ายขึ้นไปอีกเยอะ นอกจากจะช่วยกันแดดกันฝนแล้ว หากคุณรู้สึกเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน และอยากจะหาที่นั่งเหมาะ ๆ ในการพักผ่อน แค่เอาหมวกใบนี้มารองนั่งบนพื้นก็ได้เป็นที่นั่งสุดเรียบง่ายมาให้เราแล้ว แต่ประโยชน์ของมันยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะมันสามารถนำมาพัดไล่ยุงในบ้านได้อีกด้วย ซึ่งหมวกสารพัดประโยชน์ใบนี้กลับมีราคาที่ถูกแสนถูกเพียง 160 วอน หรือประมาณ 10 เซนต์เท่านั้นเอง

นักข่าวนิรนาม ชาวสหรัฐฯ 


พฤษภาคม 1940 – ในวันเพ็ญเดือนห้าของทุกปีเกาหลีจะจัดเทศกาล Dano วันแห่งการเฉลิมฉลองและพักผ่อนหลังจากเสร็จสิ้นการหว่านเมล็ดพันธุ์พืช ในวันนี้ก็จะมีการละเล่นสำคัญ คือ การโล้ชิงช้า ตัวชิงช้ามักจะผูกเชือกไว้กับกิ่งของต้นไม้ใหญ่หรือหากไม่มีกิ่งไม้ใหญ่ก็จะนำไปผูกไว้กับซุง และห้อยแพรพรรณหรือระฆังไว้ข้างหน้า นอกจากจะเป็นการละเล่นที่สร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้ร่วมเทศกาลแล้ว ชาวเกาหลีเชื่อว่า การโล้ชิงช้าสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคที่มากับยุงได้

Horace Newton Allen แพทย์และมิชชันนารีโปรเตสแตนต์ชาวอเมริกัน

ขณะเดียวกัน ชาวต่างชาติก็จะมีวิธีการรับมือกับยุงที่แตกต่างออกไป เช่น การออกไปซื้อมุ้งลวดมาติดที่หน้าต่าง และการกางมุ้งก่อนนอน แต่ปัญหายุง ๆ ก็ยังไม่หายไปไหน และยังคงได้รับเสียงโอดครวญอยู่เสมอ

เกาหลีใต้ 1893 – คุณไม่รู้หรอกว่ายุงที่เกาหลีมันร้ายกาจแค่ไหน ทั้ง ๆ ที่เราก็ติดมุ้งลวดกันยุงไว้ที่หน้าต่างแล้ว แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ช่วยเสียเท่าไหร่ จนเราต้องหาซื้อมุ้งกันยุงจากจีน พอตกกลางคืนเราก็พยายามกางมุ้งแล้วเอาส่วนที่เหลือมาซุกไว้ใต้ฟูก ตอนแรกก็ดูดีอยู่หรอก จนเราเจอปัญหาว่าถ้าไม่ระวังตอนจะมุดเข้าไปนอน มุ้งที่เรากางไว้อย่างดีมันก็จะหลุดออกมา แต่ท้ายที่สุดเราก็พบวิธีการกางมุ้งที่ถูกต้อง ทำให้สองคืนที่ผ่านมาเรานอนหลับสนิท ไม่ต้องตื่นตอนกลางดึกอีกแล้ว

-Sallie Swallen มิชชันนารีชาวอเมริกัน


กรุงโซล, เกาหลีใต้ 1895 – เราใช้เวลาทั้งวันในการนำมุ้งลวดมาติดตรงหน้าต่าง บานประตู และระเบียง เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงเข้าที่พัก ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรเลยทีเดียวกว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้น แต่พอทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง เราก็พบกับความสงบอีกครั้ง ไม่มียุง ไม่มีแมลงมากวนเวลาเรานอนอีกต่อไป แต่ไม่ใช่ทุกคนจะชอบที่เราติดมุ้งลวดกันยุงนะ อย่างคุณ Elizabeth Greathouse ลูกชายของเธอทำงานเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลโชซอนทำให้เรารู้จักมักคุ้นกัน เธอบอกกับเราว่า เธอไม่ชอบกางมุ้งเอาเสียเลย เพราะรู้สึกหายใจไม่สะดวกเท่าไหร่ แต่ท้ายที่สุดเธอก็เปลี่ยนใจ หลังจากที่นอนไม่หลับมาหลายคืน

-Sallie Sill ภรรยาของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ



ที่มา


เรื่องโดย