Kindvironment

“ปัญหาโลกร้อน” กับหลักการปฏิบัตินิยม

“เพราะการกู้โลกคือการยอมเผชิญหน้าความจริง… ไม่ใช่แค่การลุกขึ้นมาปฏิวัติ” 

Hal Harsey CEO ของ Energy Innovation และนักเขียนร่วมของหนังสือด้านปัญหาโลกร้อน: Designing Climate Solutions: A Policy Guide  for Low-Carbon Energy 

 


บ่อยครั้งที่ปัญหา “โลกร้อน” ถูกจัดเป็นปัญหา “ร้ายแรง” ซึ่งหมายความว่าปัญหานี้ซับซ้อนเกินกว่าจะให้คำจำกัดความ และท้าทายการแก้ปัญหาแบบพื้น ๆ ปัญหาโลกร้อนจึงเป็นประเด็นที่อยู่เหนือเส้นแบ่งทางการเมือง และไม่อาจแก้ไขได้ด้วยประเทศเดียวเพียงลำพัง

อย่างไรก็ตาม การจับมือกันของรัฐบาลทั่วโลกเพื่อแก้ปัญหา ก็อาจกลายเป็นความอ่อนแอไม่ได้เรื่องเข้ามาแทน เพราะที่สุดแล้ว ความร่วมมือระหว่างนานาชาติก็อาจจะกลายเป็นการพยายามหาประเทศใดประเทศหนึ่งมาเป็นแพะรับบาป พร้อมคำถามที่ว่า ใครกันหนอที่เป็นตัวการทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น พายุแรงขึ้น และมีทะเลทรายมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่มนุษยชาติต่างก็ลืมไปว่าตัวเองร่วมกันใช้ชั้นบรรยากาศเป็นสนามถมทิ้งมลภาวะด้วยกันทั้งสิ้น!

“ภาวะโลกร้อน” ที่เกิดในยุคเรามาจากการสั่งสมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรม เริ่มก่อร่างสร้างตัวซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ผิดปกติหลายอย่างบนโลก ทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้นจนไปช่วยเร่งกระบวนการละลายของธารน้ำแข็งอาร์กติก ซึ่งก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมหาศาล จึงทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ไฟป่าออสเตรเลียที่รุนแรงมากนั้น เกิดจากการที่ป่าได้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากเป็นเวลาหลายร้อยปี จึงเป็นตัวช่วยกระพือไฟให้ลุกลามไปในวงกว้าง และเมื่อไฟป่ากินระยะต่อเนื่องยาวนานทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

ภาพอันสิ้นหวังเลือนลาง 

หนังสือ The Uninhabitable Earth/ โลกที่เราอาศัยอยู่ไม่ได้ของ David Wallace-Wells ซึ่งเป็นบรรณาธิการและคอลัมนิสต์อยู่ที่นิตยสาร New York ได้พูดถึงความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติแบบต่อยหนักจัดเต็มไม่อ้อมค้อม และพาดพิงถึงบุคคลที่มีอิทธิพลอย่างไม่เกรงใจ โดยเนื้อหาแต่ละบทมีการเน้นย้ำคำทำนายถึงหายนะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเจาะจง เช่น การตายจากสภาพอากาศที่ร้อนระอุ การเสียชีวิตอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร สภาพอากาศที่ไม่สามารถหายใจเข้าไปได้และโรคระบาด

“หลายคนพูดยังกับว่าไมอามี่กับบังคลาเทศจะเหลือรอดบนแผนที่โลกนั่นแหละ ผมจะบอกอะไรให้นะ แค่ไม่ถึงร้อยปีทั้งสองที่มีสิทธิ์จะหายไปตลอดกาล”


นี่คือตัวอย่างลีลาการส่งสารของผู้เขียน ซึ่งพยายามบอกให้ทุกคนรับรู้ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา รวมถึงที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้นี้ และมันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากแค่ไหน ความเสียหายเกิดขึ้นจริงตั้งแต่วันที่ทุกคนเริ่มรู้จักว่าภาวะโลกร้อนคืออะไร แต่ทุกคนก็ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง และปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือผู้คนรวมถึงรัฐบาลในหลายประเทศรับทราบดีถึงปัญหาเหล่านี้ แต่ยังคงทำราวกับว่าเรื่องนี้ไม่มีอยู่จริง

พึ่งพาอำนาจ 

ทุก ๆ ปีโลกเราจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 50,000 ล้านตันสู่ชั้นบรรยากาศ รวมทั้งก๊าซอื่น เช่น มีเทน (Methane) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น โดยอัตราส่วน 70-80% ของตัวเลขข้างต้นเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงในประเทศจำนวนเพียง 20 ประเทศทั่วโลกเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้า ยวดยานพาหนะ อาคาร โรงงานต่าง ๆ ภาคส่วนเหล่านี้ประกอบด้วยบุคลากรจำนวนมากมายที่มีอำนาจตัดสินใจหรือกำหนดทิศทางการทำธุรกิจอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่โชคไม่ดีที่นักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมมักมองข้ามกลุ่มคนเหล่านี้ การแก้ปัญหาโลกร้อนผ่านการใช้อำนาจของผู้คนเหล่านี้ จึงเป็นทางออกที่ทรงพลัง

โดยเริ่มต้นจากการคัดเลือกผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในแต่ละส่วน เพื่อกำหนดแนวคิดและวิธีให้ชัดเจนว่าจะเดินหน้ากดดันอย่างไร ต่อมาก็พิจารณาว่าคน ๆ นั้นมีขอบเขตอำนาจในมือแค่ไหน ได้ตำแหน่งในปัจจุบันมาอย่างไร แล้วมีใครบ้างที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจเหนือกว่าคน ๆ นั้น คำถามพื้นฐานเหล่านี้มีความสำคัญในการปะติดปะต่อแผน สำหรับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และต้องไม่ลืมว่ากลยุทธ์ที่ดีในการรับมือกับภาวะโลกร้อนนั้น ต้องประกอบด้วยความเข้าใจในรายละเอียดของวิธีการและผลลัพธ์ปลายทางอย่างแท้จริง


ใช้กลยุทธ์ที่ทำได้จริง 

ในโลกของเรามีธุรกิจ 4 ภาคส่วนที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วนจริงจัง คือ ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจโรงงาน ด้วยวัตถุประสงค์หลัก คือ “เพื่อเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงานจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นพลังงานสะอาด” ซึ่งสามารถผลักดันให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้ เช่น ผู้ดำเนินนโยบายสามารถเรียกร้องให้บริษัทผลิตพลังงานเพิ่มสัดส่วนการลงทุนผลิตพลังงานสะอาดมากขึ้นในแต่ละปี ซึ่งหากว่าตามข้อเท็จจริงแล้วธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเป็นภาคส่วนที่เราสามารถร่วมแก้ไขได้ง่ายสุด เพราะปัจจุบันนี้ค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์รวมทั้งค่าซ่อมบำรุงต่ำกว่าการสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์เสียอีก

ส่วนในภาคธุรกิจการขนส่ง ควรติดตั้งเครื่องรักษาระดับแรงดันไฟฟ้าให้รถยนต์ส่วนบุคคล รถบรรทุกขนาดเล็ก และรถอเนกประสงค์เพื่อให้ยานพาหนะนั้น ๆ ประหยัดน้ำมันสูงสุด สำหรับธุรกิจการก่อสร้าง เมื่อเทียบกับธุรกิจพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจการขนส่ง นับว่าเป็นภาคส่วนธุรกิจที่สามารถบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้ไม่ยาก และมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยควรมีการอัพเดตมาตรการเกี่ยวกับอาคารสถานที่ใหม่ทั้งหมด เพราะไหน ๆ ก็มีมาตรการด้านความปลอดภัยตั้งมากมายอยู่แล้ว ทั้งความปลอดภัยของโครงสร้างตึก การป้องกันแผ่นดินไหว หรืออัคคีภัย แล้วทำไมเราถึงจะออกมาตรการรักษ์โลกผ่านสิ่งปลูกสร้างบ้างไม่ได้ ทำไมถึงจะใช้ฉนวนไฟฟ้าดี ๆ อุปกรณ์ดี ๆ หรือหน้าต่างดี ๆ บ้างไม่ได้ ในเมื่ออะไรดี ๆ พวกนี้มีส่วนช่วยประหยัดพลังงานได้มาก

แต่ก็อย่างว่า บางทีปัญหาอาจมาจากการที่คนออกแบบตึกไม่ได้จ่ายค่าไฟเอง ก็เลยไม่ได้คิดจะสร้างตึกประหยัดพลังงานก็เป็นได้ และปัญหาอีกอย่างอาจเป็นเพราะมาตรการเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารในปัจจุบันนั้นคร่ำครึ จนอัพเดตตัวเองไม่ทันเทคโนโลยีล่าสุดที่เรามีไปนับ 10 ปีก็น่าจะใช่ ซึ่งแนวคิดทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามา เอาเข้าจริง ๆ นักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ หรือเกือบจะทั้งหมดมักมองข้ามหรือไม่ได้ให้ความสนใจเลย

และสุดท้ายก็มาถึงภาคส่วนที่ยากที่สุดในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมจาก 4 ธุรกิจ นั่นก็คือ ธุรกิจโรงงานสายการผลิตต่าง ๆ โดยเฉพาะสายการผลิตเชิงอุตสาหกรรมซึ่งมีจำนวนมากและซับซ้อน จนไม่สามารถหากลยุทธ์มาจัดการสิ่งแวดล้อมได้อย่างครอบคลุมเบ็ดเสร็จได้ในคราเดียว ดังนั้นวิธีที่น่าจะดีที่สุดอาจก็คงเป็นการรวมเอา 3 องค์ประกอบเข้าด้วยกันเพื่อแก้ปัญหา กล่าวคือ

1. สำหรับภาคธุรกิจที่มีความซับซ้อนและมีความหลากหลายอย่างการผลิตเชิงอุตสาหกรรม การจัดเก็บภาษีก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์จัดว่าเป็นทางออกที่ใช่  

2. ในการรับมือกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โลกของเราจำเป็นต้องอัดฉีดงบประมาณสำหรับวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก มาก ดูอย่างในอเมริกา งบประมาณที่รัฐบาลอเมริกันใช้สำหรับประเด็นเรื่องพลังงานสะอาดนั้นน้อยกว่าเงินทั้งหมดที่คน อเมริกันซื้อมันฝรั่งทอดกินซะอีก 

3. รัฐบาลทั่วโลกควรตอบรับนโยบาย “ซื้อพลังงานสะอาด” ด้วยการสนับสนุนปูนซีเมนต์ เหล็กกล้า กระจก และวัสดุอื่น ๆ จาก ผู้ผลิตที่มีผลงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมดีเด่นในระดับท็อป 4 ของบริษัททั้งหลายในอุตสาหกรรมเดียวกัน 

จะเห็นว่ากลยุทธ์แบบยิงพุ่งเป้าตรงไปที่คนมีอำนาจตัดสินใจ และมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อปัญหา เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ส่งผล ตามมานั้น อาจฟังดูไม่น่าตื่นเต้นหวือหวาเท่ากับการประกาศป่าวร้องให้คนลุกขึ้นมาปฏิวัติก็จริง แต่ก็น่าจะเป็นวิธีที่เข้าท่าและได้ผล ที่สุดอย่างที่มันควรจะเป็นในสถานการณ์น่าหวั่นใจเช่นนี้…


ที่มา

  • Foreign Affairs. Vol 99, No. 4

เรื่องโดย