Kind Planet

รู้มั้ยว่า “Social Distancing” ไม่ได้มีแต่เฉพาะในคน สัตว์เองก็เว้นระยะเพื่อห่างไกลโรคเหมือนกัน


บนแนวปะการังน้ำตื้นใน Florida Keys* กุ้งก้ามกรามแคริบเบียนตัวน้อยกลับมาจากค่ำคืนแห่งการหาหอยอร่อย ๆ และเข้าไปในโพรง แคบ ๆ ของมัน โดยปกติแล้วกุ้งก้ามกรามจะแบ่งปันรอยแยกหินเหล่านี้ให้กุ้งตัวอื่น ๆ และคืนนี้มีตัวใหม่หลงเข้ามา พร้อมกับความผิดปกติบางอย่างเพราะสารเคมีในปัสสาวะมีกลิ่นต่างออกไป

สารเคมีที่ผิดปกติไปจากเดิมนี้เกิดขึ้นเมื่อกุ้งก้ามกรามติดเชื้อไวรัสที่เรียกว่า Panulirus argus virus 1 และกุ้งก้ามกรามตัวที่แข็งแรงจะสัมผัสถึงอันตรายนี้ได้ในทันที สำหรับกุ้งก้ามกรามมันเป็นเรื่องยากที่จะหารังเช่นนี้ที่สามารถพวกมันจากนักล่า แต่เมื่อมีอันตรายจากไวรัสมาถึงตัว มันก็จำเป็นต้องออกจากรังไปสู่แหล่งน้ำเปิด เพื่อหนีให้พ้นจากความตาย 


การตอบสนองของกุ้งก้ามกรามต่อไวรัส ซึ่งพบเห็นได้ทั้งในภาคสนามและการทดลองในห้องทดลอง มีลักษณะตามธรรมชาติเชิงพฤติกรรมที่มนุษย์เราเป็นอยู่ในขณะนี้เช่นกัน กล่าวคือ เราเว้นระยะห่างทางสังคมจากครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องยากลำบากและแสนจะไม่คุ้นเคยสำหรับสัตว์สังคมเช่นเรา 

และหลายคนได้ตั้งคำถามถึงความจำเป็นของการเว้นระยะทางสังคมว่าจำเป็นจริง ๆ หรือเพราะมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคมย่อมมองเรื่องนี้เป็นเรื่องผิดปกติ แต่ในธรรมชาติอันลี้ลับ การเว้นระยะทางสังคมกลับกลายเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อสัตว์ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต ตัวอย่างเช่น กุ้งก้ามกราม และสัตว์อีกหลายชนิด อาทิ ลิง ปลา แมลง และนก จะกันตัวเองออกจากสมาชิกในฝูงที่ป่วยอย่างอัตโนมัติ

พฤติกรรมแบบนี้พบได้บ่อย เพราะช่วยให้สัตว์สังคมอยู่รอดปลอดภัย ถึงแม้ว่าการอยู่เป็นกลุ่มจะทำให้จับเหยื่อได้ง่ายขึ้น รู้สึกอบอุ่นและสามารถหลีกเลี่ยงผู้ล่าได้ แต่ก็นำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคติดต่อได้ง่ายเช่นกัน ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ได้มีส่วนในการส่งเสริมให้เกิดวิวัฒนาการทางพฤติกรรมที่ผลักดันให้สัตว์หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ โดยสัตว์ที่อยู่ห่างไกลจากสังคมระหว่างการระบาดเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มที่จะมีชีวิตรอดมากที่สุด และในทางกลับกัน สัตว์ที่เว้นระยะทางสังคมจะเพิ่มโอกาสในการผลิตลูกหลานที่สามารถเรียนรู้และฝึกการเว้นระยะทางสังคมเมื่อต้องเผชิญกับโรค พฤติกรรมเหล่านี้นักนิเวศวิทยาการเกิดโรคเรียกว่า “ภูมิคุ้มกันเชิงพฤติกรรม”

แม้ว่าการสร้างภูมิคุ้มกันเชิงพฤติกรรมนี้ จะเป็นประโยชน์ในเชิงการมีชีวิตรอด แต่การเว้นระยะห่างทางสังคมจากสมาชิกอื่น ๆ ในสายพันธุ์ของตัวเองแม้เพียงชั่วคราว ก็อาจหมายถึงการพลาดประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมายที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตภายในกลุ่มเช่นกัน ด้วยเหตุนี้นักวิจัยจึงได้เรียนรู้ว่า จริง ๆ แล้วการเว้นระยะทางสังคมเป็นเพียงหนึ่งในแนวทางที่สัตว์บางชนิดใช้เท่านั้น เพราะยังมีสิ่งมีชีวิตทางสังคมอีกหลายชนิดที่ตัดสินใจอยู่ร่วมกันเมื่อสมาชิกตัวอื่นติดเชื้อ แต่จะใช้การลดหรือเปลี่ยนรูปแบบการปฏิสัมพันธ์แทน เช่น มดจะจำกัดการเผชิญหน้าระหว่างกันในอาณานิคมเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ 


หลีกให้ไกลไว้ก่อนเพื่อปลอดเชื้อ 
● ● ●

ความสามารถของ “กุ้งก้ามกราม” ในการตรวจจับและหลีกเลี่ยงเพื่อนร่วมกลุ่มที่ติดเชื้อ เป็นกุญแจสำคัญในการคงอยู่ของพวกมัน ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับไวรัส Panulirus argus 1 ซึ่งคร่าชีวิตประชากรกุ้งก้ามกรามอายุน้อยไปกว่าครึ่ง เพราะกุ้งก้ามกรามอายุน้อยมักเข้าสังคม โดยบางครั้งมักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มถึง 20 ตัว

อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 2000 Don Behringer นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟลอริดาและเพื่อนร่วมงานของเขาสังเกตว่า กุ้งก้ามกรามตัวเล็กบางตัวอาศัยอยู่ตามลำพัง ถึงแม้ว่าพฤติกรรมเช่นนี้จะทำให้พวกมันอ่อนแอก็ตาม โดยกุ้งก้ามกรามที่โดดเดี่ยวเหล่านี้ส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัส และไม่ได้เลือกที่ทำ Social Distancing แต่ความจริงคือพวกมันถูก “รังเกียจ” และถูกกันออกจากกลุ่มต่างหาก

และเพื่อยืนยันว่าสมมติฐานของทีมนักวิจัยถูกต้อง พวกเขาได้วางกุ้งก้ามกรามสุขภาพดีหลายตัวรวมกันไว้ในตู้ปลา เพื่อให้พวกมันเลือกเข้าไปอยู่ในรังเทียมที่ว่างเปล่า หรือรังที่ครอบครองโดยเพื่อนร่วมสายพันธุ์ทั้งที่มีสุขภาพดีหรือที่ติดเชื้ออยู่แล้ว ผลปรากฏว่าเมื่อไวรัสหายไปกุ้งก้ามกรามที่มีสุขภาพดีจะเลือกเข้าสังคมและเลือกรังอยู่ร่วมกับกุ้งมังกรที่มีสุขภาพดี มากกว่าจะเลือกรังที่ว่างเปล่า และมักจะหลีกเลี่ยงไม่ไปอยู่ในรังที่มีกุ้งก้ามกรามติดเชื้อไวรัสอาศัยอยู่อย่างเห็นได้ชัด

จากการศึกษาเชิงติดตามผลซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2013 ในวารสาร Marine Ecology Progress Series รายงานว่า กุ้งก้ามกรามที่มีสุขภาพดี สามารถตรวจจับกุ้งตัวอื่นที่ป่วยได้โดยใช้การทดสอบการดมกลิ่น โดยกุ้งก้ามกรามที่ติดเชื้อจะมีสารเคมีในปัสสาวะซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายต่อเพื่อนร่วมกลุ่มที่มีสุขภาพดี เมื่อนักวิทยาศาสตร์ใช้ Krazy Glue (กาวร้อนแบบกาวตราช้าง) ปิดกั้นอวัยวะที่ปล่อยปัสสาวะของกุ้งก้ามกรามที่ติดเชื้อ กุ้งที่มีสุขภาพดีก็จะไม่สามารถตรวจจับความผิดปกติได้ และจะไม่หลีกเลี่ยงกุ้งตัวอื่นที่ป่วยอีกต่อไป


ปกป้องคุณค่าและความเปราะบาง 
● ● ●

กุ้งก้ามกรามไม่ได้เป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวที่ทราบถึงประโยชน์ของการเว้นระยะทางทางสังคม ในความเป็นจริงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกหลายชนิดที่ได้พัฒนากระบวนการเว้นระยะทางสังคมอย่างมีกลยุทธ์ เพื่อปกป้องสมาชิกที่มีค่าหรือเปราะบางที่สุดในกลุ่มของพวกมันเอาไว้ ตัวอย่างที่น่าประทับใจที่สุดเกิดขึ้นในหมู่แมลง ซึ่งสมาชิกแต่ละรู้บทบาทที่ว่าต้องทำอย่างไรอาณานิคมของพวกมันถึงจะอยู่รอดต่อไป

ผลการวิจัยซึ่งนำโดย Nathalie Stroeymeyt จาก University of Bristol ในอังกฤษ ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2018 ในวารสาร Science ระบุว่า นักวิจัยได้ใช้แท็กดิจิทัลขนาดเล็กในการติดตามการเคลื่อนไหวของอาณานิคม “มด” ในสวนทั่วไป ในระหว่างการระบาดของเชื้อราชนิดร้ายแรง ชื่อว่า Metarhizium brunneum สปอร์ของเชื้อรานี้ถูกส่งผ่านจากมดไปยังมดด้วยกัน โดยการสัมผัสทางกายภาพ โดยต้องใช้เวลาหนึ่งถึงสองวันในการที่สปอร์จะเข้าไปในร่างกายของมด และทำให้เกิดความเจ็บป่วยซึ่งมักเป็นอันตรายถึงชีวิต เพื่อวัดว่ามดตอบสนองอย่างไร เมื่อเชื้อโรคเข้ามารุกรานอาณานิคมของพวกมัน นักวิจัยได้พ่นสปอร์ของเชื้อราไว้ทั่วบริเวณที่มดสเบียงออกจากอาณานิคมเป็นประจำ โดยมดสเบียงจะสัมผัสกับสปอร์ของเชื้อราโดยไม่ได้ตั้งใจขณะออกหาอาหาร วิธีนี้จึงเป็นการเลียนแบบวิธีการรุกรานตามธรรมชาติของเชื้อรา

จากนั้นลักษณะการตอบสนองเชิงพฤติกรรมของมดในอาณานิคม ที่ได้รับเชื้อราจำนวน 11 อาณานิคม จะถูกนำมาเปรียบเทียบมดในอาณานิคมควบคุมจำนวน 11 อาณานิคมเท่ากัน โดยสามารถสังเกตได้ว่า มดในอาณานิคมที่สัมผัสเชื้อราเริ่มจะเริ่มห่างเหินทางสังคมอย่างรวดเร็ว ภายใน 24 ชั่วโมง มดสเบียงเหล่านี้จะแยกตัวเองได้โดยใช้เวลาอยู่ห่างจากอาณานิคมมากขึ้นเมื่อเทียบกับมดสเบียงกลุ่มที่ได้รับการควบคุม

มดที่มีสุขภาพดีในอาณานิคมที่ได้รับเชื้อรา ยังคงลดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมลงอย่างมาก ซึ่งพฤติกรรมที่พวกมันทำนั้นเป็นไปตามบทบาทของตัวเอง โดยมดผู้หาอาหารที่ไม่ติดเชื้อ ซึ่งมักมีปฏิสัมพันธ์กับผู้หาอาหารอื่น ๆ ที่อาจเป็นพาหะของโรคจะรักษาระยะห่างจากอาณานิคม เมื่อมีโรคปรากฏขึ้น วิธีนี้จะป้องกันไม่ให้พวกมันนำสมาชิกอาณานิคมที่มีคุณค่าในการสืบพันธุ์ (มดราชินีและมดพยาบาล ที่ดูแลตัวอ่อนไปเสี่ยงโดยไม่จำเป็น)

นอกจากนี้ มดพยาบาลยังดำเนินการโดยโยกย้ายตัวอ่อนออกไปไกล ๆ ภายในรัง และให้ห่างจากมดผู้หาอาหารเมื่อตรวจพบเชื้อราในอาณานิคม สัญญาณที่มดใช้ในการตรวจจับ และตอบสนองต่อการสัมผัสเชื้อราอย่างรวดเร็วยังไม่ทราบแน่ชัดว่าทำงานอย่างไร แต่การเว้นระยะทางสังคมอย่างมีกลยุทธ์เช่นนี้ มีประสิทธิภาพมากจนทำให้มดราชินีและมดพยาบาลส่วนใหญที่ทำการศึกษา ยังคงมีชีวิตรอดเมื่อสิ้นสุดการการทดลอง


มดสวนปกป้องสมาชิกที่มีค่าที่สุดในอาณานิคมของพวกมัน แต่สำหรับ “นก” บางชนิดกลับใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกัน โดยอาจเป็นผลจากความแข็งแกร่งของภูมิคุ้มกันและความต้านทานต่อการติดเชื้อ โดย Maxine Zylberberg และเพื่อนร่วมงานของเธอได้รายงานในวารสาร Biololgy Letters ในปี 2013 ว่า ทีมวิจัยได้จัดให้นกฟินช์บ้าน (House Finch) จำนวนหนึ่งอยู่ในสามกรงติดกัน นกตัวกลางแต่ละตัวขนาบข้างด้วยนกฟินช์ที่แข็งแรงและนกฟินช์ที่ป่วย (นกฟินช์ที่ป่วยจริง ๆ แล้วได้รับการฉีดยาที่ทำให้มันเซื่องซึมขนดูเหมือนป่วย)

จากการสังเกต นักวิจัยพบว่าโดยทั่วไปนกฟินช์จะหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้นกที่ป่วยหรือดูเหมือนป่วย แต่ระดับการหลีกเลี่ยงจะแตกต่างกันไปตามระดับภูมิคุ้มกันของตัวเอง นกที่มีระดับแอนติบอดีในกระแสเลือดสูงกว่า และมีโปรตีนอีกชนิดหนึ่งที่อาจส่งสัญญาณการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในวงกว้างแสดงให้เห็นถึงการรังเกียจน้อยลง แต่นกที่มีระดับภูมิคุ้มกันอ่อนแอกว่าจะหลีกเลี่ยงนกที่ป่วยอย่างเห็นได้ชัด


สายสัมพันธ์ที่พันผูก 
● ● ●

บางครั้งการห่างเหินทางสังคมเชิงกลยุทธ์ หมายถึง การรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมบางอย่าง แม้ว่าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคก็ตาม สัตว์อย่าง “ลิงแมนดริล” (Mandrill) เป็นเลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งเป็นญาติใกล้ ๆ กับลิงบาบูน สามารถพบได้เป็นกลุ่มหลายสิบถึงหลายร้อยตัวในป่าฝนเขตร้อนของแอฟริกาแถบเส้นศูนย์สูตร โดยทั่วไปแมนดริลจะมีสมาชิกในครอบครัวขยายจำนวนมากซึ่งมักจะดูแลกันเอง การหาเห็บ ทำความสะอาดและแต่งขน (Grooming) ช่วยเพิ่มสุขอนามัยและประสานความแนบชิดทางสังคม แต่แมนดริลสามารถปรับพฤติกรรมการดูแลตัวเอง โดยเฉพาะเพื่อหลีกเลี่ยงเพื่อนร่วมกลุ่มที่เป็นโรคติดต่อ

รายงานของ Clémence Poirotte และเพื่อนร่วมงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ฉบับปี ค.ศ. 2017 ระบุว่า แมนดริลสามารถตรวจจับสถานะการติดเชื้อโดยอาศัยการดมกลิ่นเพียงอย่างเดียว และจะหลีกเลี่ยงการกรูมมิ่งตัวอื่นที่มีปรสิตในลำไส้ แต่ทั้งนี้การศึกษาวิจัยได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า แมนดริลจะยังคงกรูมมิ่งญาติใกล้ชิดที่มีปริสิตในลำไส้จำนวนมากต่อไป นักวิจัยกล่าวว่า พฤติกรรมเช่นนี้เป็นการรักษาความเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งและไม่มีเงื่อนไขกับหมู่ญาติ

Kathleen A. Alexander แห่ง Virginia Tech เป็นอีกหนึ่งในผู้เขียนบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ฉบับปี ค.ศ. 2017 ตั้งข้อสังเกตว่า “พังพอน” จำนวนมากในพื้นที่ศึกษาของเธอในบอตสวานา ป่วยด้วยวัณโรครูปแบบใหม่ที่กินเวลาหลายเดือนกว่า ซึ่งจะทำให้พังพอนเหล่านั้นตาย จากนั้นเธอใช้เวลาอีกหลายเดือน ในการติดตามพังพอนอีก 6 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโรคนี้อย่างใกล้ชิด เธอสังเกตปฏิสัมพันธ์ทางสังคมทั้งหมดระหว่างสมาชิกพังพอน น่าแปลกใจที่พังพอนที่มีสุขภาพแข็งแรงยังคงมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสมาชิกกลุ่มที่ป่วยอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้นในความเป็นจริง พังพอนจะดูแลพังพอนที่ป่วยในระดับเดียวกับที่ดูแลเพื่อนร่วมฝูงที่มีสุขภาพดี แม้ว่าพังพอนที่ป่วยจะมีโอกาสน้อยกว่าที่จะปฏิสัมพันธ์ต่อกลุ่มที่ไม่ป่วยก็ตาม จึงพอสรุปได้ว่า การเว้นระยะจากสมาชิกในกลุ่มที่ป่วยไม่ใช่แนวทางที่ปฏิบัติในสัตว์สายพันธุ์ที่ต้องการการรวมกลุ่มกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเอื้อประโยชน์ในการล่าเหยื่อหรือการป้องกันฝูงจากศัตรู


ปฏิบัติตามการชี้นำของธรรมชาติ 
● ● ●

เช่นเดียวกับสัตว์อื่น ๆ มนุษย์มีประวัติวิวัฒนาการอันยาวนานด้านโรคติดต่อ เราสร้างภูมิคุ้มกันเชิงพฤติกรรมหลายรูปแบบของเราเอง เช่น ความรู้สึกรังเกียจสภาพแวดล้อมที่สกปรก หรือแออัดด้วยฝูงชนก็เป็นรูปแบบหนึ่งของวิวัฒนาการนี้ แต่มนุษย์สมัยใหม่ไม่เหมือนสัตว์อื่น ๆ เรามีความสามารถในการรับมืออย่างดีเมื่อภัยพิบัติมาเคาะประตูบ้าน

ตัวอย่างเช่น ตอนนี้เราสามารถสื่อสารเกี่ยวกับภัยคุกคามของโรคระบาดกับเพื่อนร่วมสายพันธุ์ทั่วโลกได้ทันท่วงที ความสามารถนี้ช่วยให้เราสร้างระยะห่างทางสังคมก่อนที่โรคจะปรากฏในชุมชนและท้องถิ่นของเรา ซึ่งเป็นกลวิธีที่ช่วยชีวิตคนได้มากมาย เรามีแพลตฟอร์มการสื่อสารดิจิทัลขั้นสูงตั้งแต่อีเมลไปจนถึงวิดีโอแชท เป็นกลุ่มที่ช่วยให้เราสามารถรักษาระยะห่างในขณะที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมไว้ได้ ขณะที่สัตว์อื่น ๆ สูญเสียความสัมพันธ์ทางสังคมไปอย่างสิ้นเชิง บางทีข้อได้เปรียบที่ใหญ่ที่สุดของมนุษย์ คือความสามารถในการพัฒนาเครื่องมือหรือวิธีการขั้นสูง เช่น วัคซีนป้องกันโรค ซึ่งเป็นการจัดการโรคระบาดได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตไปอย่างมากมายเหมือนสัตว์อื่น ๆ

อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงการหยุดยั้งโรคใหม่ ๆ เช่น COVID-19 มนุษย์เราก็ตกอยู่ในเรือลำเดียวกันกับสัตว์อื่น ๆ ตามธรรมชาติอยู่ดี ดังนั้นการเว้นระยะทางสังคมจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่เรามีในตอนนี้ จนกว่าเราจะสามารถพัฒนาวัคซีนหรือการรักษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งขึ้นมาได้ เราเองก็เหมือนสัตว์อื่น ๆ ที่จำเป็นต้องรับมือกับโรคภัยอย่างมีกลยุทธ์เช่น ลิงแมนดริลและมด ซึ่งเป็นตัวอย่างสำคัญที่บอกว่าเรายังคงสามารถรักษาปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้ที่เปราะบางที่สุดไว้ได้อย่างดี

ตัวอย่างความสำเร็จของกุ้งก้ามกราม ในการรับมือกับไวรัสที่คร่าชีวิตพวกมันในทะเลแคริบเบียน แสดงให้เห็นว่าการลงทุนสร้างระยะห่างทางสังคมในระยะสั้นนั้น ส่งผลต่อการมีชีวิตรอดในระยะยาวแค่ไหน และแม้ว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมดูจะเป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติสำหรับสัตว์สังคม แต่การปฏิบัติตามการชี้นำของธรรมชาติยังคงเป็นเพียงหนทางเดียวที่เรามีในขณะนี้

__

*Florida Keys คือกลุ่มหมู่เกาะ 4,500 เกาะที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอเมริกา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นของหมู่เกาะอยู่ที่ปลายคาบสมุทร ฟลอริดา รัฐฟลอริดา และถนนสาย Overseas Highway จะตัดผ่านหมู่เกาะเหล่านี้การเดินทางผ่าน Florida Keys จัดว่าเป็นหนึ่งใน เส้นทางสวยที่สุดของสหรัฐอเมริกา


ที่มา

  • บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกโดยใช้ชื่อ “Animals Apart” ใน Scientific American 323, 2, 36-41 (สิงหาคม 2020)

เรื่องโดย

ภาพโดย