Kind Global

นักวิเคราะห์เผย ความกังวลต่อนโยบาย มุ่งสู่ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ในปี 2050 ของเกาหลีใต้


ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มุน แจ-อิน ประกาศนโยบาย พร้อมนำประเทศมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ตามประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งนโยบายดังกล่าว กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้ว่า “นโยบายยังขาดรายละเอียดที่สำคัญ ๆ ในหลายประเด็น และเป็นเพียงการประกาศนโยบาย เพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศสู่สายตาชาวโลกเท่านั้น” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งการเข้าร่วมตอบโต้วิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศไปพร้อมกับหลายประเทศ นับเป็นก้าวสำคัญในการนำพาโลกเข้าสู่ทิศทางที่ถูกต้อง นักวิเคราะห์กล่าว


พร้อมทั้งกล่าวเสริมว่า หากต้องการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนจริง ๆ รัฐควรมีจุดมุ่งหมายในการออกมาสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าวมากกว่านี้ เช่น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การลดจำนวนเงินลงทุนภายในประเทศ และการจัดหาทุนที่นำมาใช้ในโครงการถ่านหินภายในประเทศ แต่หากการออกมาประกาศนโยบายของประธานาธิบดีมุนไม่มีความชัดเจน จะกลายเป็นเพียงการให้คำมั่นสัญญาเพียงลมปากเท่านั้น

ทั้งนี้ การสนับสนุนงานวิจัย และการพัฒนาในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้นักวิจัยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในต้นทุนที่ถูกกว่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนจำนวนมาก ตลอดจนอุตสาหกรรมหลักภายในประเทศที่หันมาใช้พลังงานทดแทน ส่งผลให้ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนการผลิตไปได้จำนวนมหาศาล

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้เผยราคาค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าในเกาหลีใต้ว่า ต้องใช้เงินถึง 100 วอน (ประมาณ 2.73 บาท) ในการผลิตไฟฟ้าต่อ 1 กิโลวัตต์ แต่หากเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่อยู่ในประเทศจีน ฮังการี และอินเดีย รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน จะมีค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าเพียงแค่ 40 วอน (ประมาณ 1.09 บาท) หรือ 50 วอน (ประมาณ 1.37 บาท) เท่านั้น

สำหรับประเทศที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า สามารถนำมาเปรียบเทียบอัตราค่าใช้จ่าย ในการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศคือ จีนและฮังการี เนื่องจากทั้งสองประเทศตั้งอยู่ในละติจูดที่ไม่ห่างกันมาก จึงสามารถรับพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในการนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในปริมาณใกล้เคียงกัน

พร้อมทั้งกล่าวเสริมว่า เกาหลีใต้จำเป็นต้องศึกษาประเทศเหล่านี้เป็นตัวอย่าง และเรียนรู้ว่า พวกเขาสามารถใช้พลังงานทดแทน ซึ่งเป็นพลังงานที่ยั่งยืนในราคาถูกลงได้อย่างไร

เรามีเทคโนโลยีมากมายอยู่บนโลกใบนี้ อยู่ที่ว่ารัฐบาล และบริษัทเอกชน พร้อมจะนำแนวคิด และเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในประเทศของเราอย่างจริง ๆ จัง ๆ หรือไม่



ซึ่งพวกเขาสามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน นำมาผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงแค่วันละ 3 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งผมมองว่า เกาหลีใต้ก็สามารถทำได้ และผมมองไม่เห็นเหตุผลอะไรเลย ที่จะไม่นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้”

“การผลักดันเรื่องนี้ ควรมาจากรัฐบาลโดยตรง อาจจะเป็นการประกาศนโยบายว่า พลังงานครึ่งหนึ่งที่ผลิตภายในประเทศจะมาจากพลังงานหมุนเวียน และรัฐพร้อมจะทำให้สำเร็จภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งนี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างเท่านั้น” นักวิเคราะห์กล่าว

“การประกาศนโยบายออกไปสู่สาธารณะจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเมื่อนโยบายดังกล่าว ถูกประกาศออกมาโดยประธานาธิบดี ซึ่งสิ่งที่ควรตามมาหลังจากนั้นคือ วิธีกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากธุรกิจที่สร้างผลกำไร และผลประโยชน์ของธุรกิจควรสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล”

จากรายงานของสถาบันนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของเกาหลี (KIEP) เผยว่า รัฐบาลควรผลักดันมาตรการที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยนโยบายของรัฐควรพร้อมรับมือกับภาวะโลกร้อนในทุกเมื่อ

“รัฐบาลควรออกข้อกำหนดที่ชัดเจน และการนำนโยบายไปปฏิบัตินั้น ต้องสามารถสร้างความตระหนักให้แก่ชาวเกาหลีใต้ได้อย่างแท้จริง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเมินเฉยต่อปัญหาภาวะโลกร้อน ดังนั้นโครงร่างนโยบายระยะยาว จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำมาปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ”


คำแนะนำดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีมุนประกาศนโยบายในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 2020 ว่า เกาหลีใต้มีความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งนับเป็นคำมั่นสัญญาที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ

“เรา (เกาหลีใต้) กับประชาคมระหว่างประเทศ พร้อมจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแข็งขัน และมุ่งมั่นที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050” ประธานาธิบดีมุนกล่าว

รัฐบาลเกาหลีใต้พร้อมทุ่มเงินลงทุนแปดล้านล้านวอน (ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท) สำหรับการแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ หรือ The Green New Deal ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย New Deal ของเกาหลีในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

__

ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2020 ประธานาธิบดีมุนประกาศว่า รัฐบาลมีแผนระยะเวลา 6 ปี เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และสร้างงานให้ผู้ที่กำลังมองหางานทำท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งต้องลดการพึ่งพาพลังงานจากถ่านหิน

ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมทุ่มงบประมาณ 1.3 ล้านล้านวอน (ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท) ภายในปี ค.ศ. 2022 เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคาร การกักความร้อนในบ้านเช่าข้าราชการ และอาคารสาธารณะ รวมถึงศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลของรัฐ และสถานรับเลี้ยงเด็ก โดยรัฐบาลกล่าวว่า การทุ่มเงินงบประมาณดังกล่าว จะช่วยสร้างงานจำนวน 35,000 ตำแหน่ง และยังสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 280,000 ตัน

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ประธานาธิบดีมุนกล่าวในที่ประชุมว่า รัฐบาลจะลงทุน 20 ล้านวอน (ประมาณ 5.4 แสนล้านบาท) และตั้งเป้าหมายว่าภายในปี ค.ศ. 2025 จะมีผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า 1.13 ล้านคัน และรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจน 200,000 คัน

ทางกรุงโซลเองก็ได้ออกมาประกาศว่า จะดำเนินตามนโยบาย The Green New Deal เช่นกัน และตั้งเป้าว่า ภายในปี ค.ศ. 2035 จะยกเลิกการออกใบอนุญาตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เผาไหม้ภายใน โดยจะเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะจำนวน 4,000 คัน จาก 7,396 คัน เป็นรถเมล์ไฟฟ้าหรือพลังงานไฮโดรเจน และจัดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 500,000 จุด ใกล้กับบริเวณที่อยู่อาศัยของประชาชนทั่วประเทศ และ 15,000 จุด ในสถานที่สำคัญภายในปี ค.ศ. 2025

พร้อมทั้ง จัดตั้งสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ในอีกหลายร้อยแห่ง สำหรับรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน (Fuel Cell Electric Vehicle – FCEV) ในกรุงโซล อินชอน และคยองกี ภายในช่วงต้นปี ค.ศ. 2021 และจะเพิ่มเป็น 450 แห่งภายในปี ค.ศ. 2025


ที่มา


เรื่องโดย