Kind Sci

เรือดำน้ำสงครามโลกครั้งที่ 2: หลักฐานทางประวัติศาสตร์และบ้านใหม่ของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล


ยุทธนาวีแห่งมหาสมุทรแอตแลนติก (Battle of the Atlantic) เป็นสงครามทางทะเลที่ยืดเยื้อและซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 และได้รับการถ่ายทอดในเวอร์ชันภาพยนตร์ไปเมื่อ ค.ศ. 2020 นี้เอง โดยได้รับคะแนน IMDb 7/10 คะแนน และ Rotten Tomatoes 79% จุดเริ่มต้นของการต่อสู้ทางน้ำที่ยาวนานคือการเข้าปะทะของฝ่ายอักษะ เพื่อขัดขวางไม่ให้ขบวนเรือพาณิชย์จากฝ่ายสัมพันธมิตรขนส่งสินค้าและเสบียงถึงสหราชอาณาจักร

U-boat หรือคนไทยรู้จักกันดีในนามของ “เรืออู” เรือดำน้ำฝูงหมาป่าแห่งนาซีเยอรมันที่เคยจมเรือพาณิชย์ของฝ่ายพันธมิตรได้มากถึง 34 ลำติดต่อกัน


เรืออูนับเป็นเรือดำน้ำที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในช่วงสงครามยุทธนาวีแห่งมหาสมุทรแอตแลนติก เนื่องจากมีการติดตั้งปืนใหญ่ตอร์ปิโด (Torpedo) และการส่งสัญญาณด้วยรหัสอีนิกม่า (Enigma) ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่สามารถแทรกแซงได้ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1942 เมื่อนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ อลัน ทัวริง (Alan Turing) สามารถเจาะรหัสอีนิกม่าได้สำเร็จ ส่งผลให้กองเรือทรงอานุภาพน่าเกรงขามไม่มีความหมายกับสหราชอาณาจักรอีกต่อไป


ส่วนหนึ่งของสงครามอย่างเรืออู U-576 จากฝ่ายนาซีเยอรมัน และ SS Bluefields เรือพาณิชย์สัญชาตินิการากัว (Nicaraguan Freighter) ที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการส่งสินค้าให้ถึงเกาะบริเตน มรดกจากสงครามจากฝ่ายอักษะและฝ่ายสัมพันธมิตร ถูกพบว่าอับปางแน่นิ่งอยู่ใต้มหาสุมทร บริเวณชายฝั่งนอร์ทแคโรไลนา


จากเศษซากของความขัดแย้งสู่ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์

Photo Credit: undersea/merriam-webster.com


ทีมวิจัยขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) จากโครงการ Ocean Exploration and Research ที่เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 ได้เริ่มวิจัยศึกษาหลักฐานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งสองนี้ ซึ่งนอกจากจะน่าค้นหาในแง่โบราณคดีวิทยาแล้ว ยังน่าศึกษาในด้านนิเวศวิทยาเมื่อมันกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สมบูรณ์แบบสำหรับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล

ปะการังเทียม (Artificial Reefs) หรือแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (Artificial Habitats) เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อดัดแปลงสภาพพื้นทะเล ด้วยการเลียนแบบจากธรรมชาติที่มีแนวโน้มจะดึงดูดสัตว์ทะเลให้เข้ามาอาศัย มุ่งฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ


เช่นเดียวกันกับเรืออับปางเหล่านี้ที่กลายเป็นบ้านใหม่ของเหล่าสัตว์น้ำอย่างไม่ตั้งใจความร่วมมือระหว่างนักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเกิดขึ้นผ่านงานวิจัย “การวิเคราะห์ระบบนิเวศด้วยการสำรวจทางโบราณคดีของเรืออับปางโดยการบันทึกวิดีโอใต้น้ำและการสแกนด้วยเลเซอร์ (Extracting ecological metrics from archeological surveys of shipwrecks using submersible video and laser-line scanning)” ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Ecosphere ของสมาคมนิเวศวิทยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเครื่องมือทางโบราณคดีที่มีส่วนช่วยเหลือการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลเป็นอย่างมาก การสแกนด้วยเลเซอร์ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลได้เห็นอิริยาบถต่าง ๆ ของสังคมสัตว์น้ำ ทั้งการพักผ่อน การว่ายน้ำ การหยุดนิ่ง รวมไปถึงการเคลื่อนไหวตามกล้องบันทึกวิดีโอ

Photo Credit: undersea/merriam-webster.com


นอกจากการยืนยันถึงศักยภาพระหว่างการร่วมมือกันของนักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผลการศึกษายังระบุถึงความหลากหลายในชุมชนสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล เช่น บริเวณเรือดำน้ำ U-576 พบเครือญาติปลาเก๋าอย่าง Snowy Grouper และ Warsaw Grouper ปลา Darwin’s Slimheads  ปลา Anthiinae ในตระกูลปลากะรัง และปลาเล็กที่ไม่สามารถระบุสายพันธุ์ได้อีกจำนวนหนึ่งบริเวณซากเรืออับปาง

สงครามก็ยังเป็นความเจ็บปวดที่มนุษย์โลกต้องเรียนรู้และจดจำ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะฉุดรั้งมนุษย์ไม่ให้ก้าวต่อไปข้างหน้า


เช่นเดียวกับ U-576 และ SS Bluefields ซากเรืออับปางที่แน่นิ่งอยู่ใต้มหาสมุทรร่วม 80 ปี ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของโศกนาฏกรรมที่มีการสูญเสียมากกว่า 75 ล้านชีวิต เป็นบ้านของสัตว์ใต้ทะเล และเป็นความหวังให้ผู้เชี่ยวชาญจากโบราณคดีวิทยาและนิเวศวิทยาจะพัฒนาและทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต


ที่มา


เรื่องโดย