รู้หรือไม่? ประเทศไทยมีศูนย์กำจัดขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศกว่า 7,777 แห่ง แต่มีเพียง 328 แห่ง หรือไม่ถึง 5% เท่านั้น ที่สามารถกำจัดขยะได้อย่างถูกต้องและนำขยะไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งปริมาณขยะที่กำจัดอย่างถูกต้องจากสถานที่เหล่านี้คิดเป็นเพียง 26.34% ของขยะทั้งหมด เท่ากับว่าขยะที่เหลือกว่า 73.26% นั้นถูกกำจัดด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง เกิดสภาพเทกอง เผากลางแจ้งหรือเผาในเตาที่ไม่มีระบบกำจัดที่ดี เกิดเป็นมลพิษทางอากาศ
Waste to Energy เปลี่ยนขยะมูลฝอย 300 ตัน เป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF
ผลสำรวจในปี พ.ศ. 2557 พบว่า ประเทศไทยมีโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะ 12 แห่ง โดยกระทรวงพลังงานกำหนดเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2564 จะมีโรงงานผลิตไฟฟ้าจากการแปรรูปขยะ จำนวน 53 แห่ง เพื่อส่งเสริมพลังงานขยะ ตามนโยบายการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) และการกำหนดการจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติ
จากมาตรการส่งเสริมต่าง ๆ ทำให้ภาคเอกชนมีความสนใจในการลงทุนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการขยะ ตั้งแต่การคัดแยกขยะด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ การใช้เทคโนโลยีการลดความชื้นในขยะที่มีความชื้นสูงและให้ความร้อนน้อย และเทคโนโลยีการแปลงขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมที่ไม่อันตรายเป็นเชื้อเพลิงคุณภาพดี (Refuse Derived Fuel: RDF) ในการนำไปผลิตไฟฟ้า
องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงร่วมมือกับเอกชนจัดทำโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย โดยบริษัท เอ็นคอม เวสท์ ทู เอเนอร์จี้ (พระนครศรีอยุธยา) จำกัด (ECW) เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร และสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 6.5 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง โดยใช้ขยะมูลฝอยประมาณวันละ 300 ตัน มาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF
Photo credit: ฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะมูลฝอยขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การร่วมทุนดังกล่าว บริษัท ECW จะเป็นผู้ลงทุนในกระบวนการจัดการเชื้อเพลิงขยะที่รับจาก อบจ.พระนครศรีอยุธยา แล้วนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยโดยใช้เทคโนโลยีผลิตเชื้อเพลิงขยะแบบเชิงกลและชีวภาพ (Mechanical Biological Treatment: MBT) ร่วมกับเทคโนโลยีเตาเผาขยะชุมชนและผลิตพลังงานไฟฟ้า (Stoker-Type Incinerator) บนที่ดินราชพัสดุ พื้นที่ 73 ไร่ 2 งาน ณ ตำบลมหาพราหมณ์ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย ณ ศูนย์จัดการขยะต้นแบบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตำบลมหาพราหมณ์ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เงินลงทุนในโครงการประมาณ 990 ล้านบาท ประกอบด้วย งานก่อสร้างอาคารระบบผลิตเชื้อเพลิงขยะแบบ MBT และเครื่องจักรกลหลัก เป็นเงิน 20 ล้านบาท การปรับพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เป็นเงิน 50 ล้านบาท งานก่อสร้างอาคารและระบบเตาเผาขยะและผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็นเงิน 800 ล้านบาท งานระบบสนับสนุนและอุปกรณ์เครื่องจักรหนัก เป็นเงิน 35 ล้านบาท ค่าเช่าที่ดิน 14.66 ล้านบาท และงานสนับสนุนอื่น ๆ เป็นเงิน 70.34 ล้านบาท
Photo credit: ฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะมูลฝอยขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยการดำเนินโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนหลายด้าน เช่น ส่งเสริมให้การจัดการขยะชุมชนเป็นไปอย่างเหมาะสมโดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยลดปัญหาขยะล้นเมือง ส่งเสริมให้มีการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงรูปแบบทางเลือก
นอกจากนี้ ศูนย์จัดการขยะต้นแบบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตำบลมหาพราหมณ์ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังจะเป็นตัวอย่างของรูปแบบทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสมให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศด้วย โดยได้รับส่วนแบ่งจากผลตอบแทนรายได้จากการขายไฟฟ้าเข้าระบบการไฟฟ้า และเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมด้านสุขอนามัยของประชาชน
สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าดังกล่าว มีระยะเวลาดำเนินกิจการตามสัญญานาน 24 ปี เมื่อสิ้นสุดสัญญา ECW จะส่งมอบกรรมสิทธิ์ในระบบ สิ่งก่อสร้าง อาคาร เครื่องจักร วัสดุ ครุภัณฑ์และอุปกรณ์อื่น ๆ ของระบบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลังต่อไป
ที่มา
- รายงานการพัฒนาพลังงานทดแทนจากขยะกับความมั่นคงแห่งชาติด้านพลังงาน ฉบับที่ 4 / เมษายน 2562. www.thaindc.org/images/pulldown