Kind National

ใกล้ความจริงขึ้นอีกขั้นเมื่อ “ภาษี e-Service” ผ่านการพิจารณาในวาระแรกแล้ว

  • ส.ส. เห็นชอบผ่านวาระแรก พ.ร.บ. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการให้บริการทางออนไลน์ในต่างประเทศ เช่น Netflix, Spotify, โฆษณา Facebook, Google ไปจนถึงการซื้อแอปฯ จาก Play Store, App Store
  • การจัดเก็บภาษี e-Service จะทำให้ผู้ให้บริการทั้งภายในและนอกประเทศอยู่ภายใต้ตัวบทกฎหมายเดียวกัน ขณะเดียวกันก็อาจทำให้ต้นทุนธุรกิจต่างชาติสูงขึ้น 
  • ประเทศในอาเซียนเริ่มหันมาจัดเก็บภาษี e-Service เพิ่มมากขึ้น จากการเติบโตของอุตสาหกรรมออนไลน์ ขณะที่ไทยกำลังผลักดันร่างภาษี
    e-Service อย่างเต็มที่

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. เพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือ อี-เซอร์วิส (e-Service) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ร่างภาษีฉบับนี้ก็ยิ่งขยับเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น เมื่อในวันที่ 29 กรกฎาคม ภาษี e-Service ได้ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรวาระแรกเป็นที่เรียบร้อย จากจำนวนผู้ลงมติ 358 เสียง เห็นด้วย 354 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง หลังจากผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ขั้นตอนต่อไป จะเป็นการนำเสนอเข้าที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งจะประกอบด้วยการให้พิจารณา 3 วาระ คือ 

วาระที่ 1 ขั้นตอนรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ

วาระที่ 2 ขั้นตอนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการ

วาระที่ 3 ขั้นลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ ตามด้วยการเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ภาษี e-Service คืออะไร ? 

“ภาษี e-Service” คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการในรูปแบบออนไลน์ที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน เช่น Netflix, Spotify, โฆษณา Facebook, Google รวมถึงการซื้อแอปพลิเคชันจาก Play Store และ App Store  ซึ่งกำลังมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของคนทั่วไปเพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยปกติการซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ภายในประเทศ เราต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อยู่แล้ว เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ซึ่งภาษีที่เราเสียไปก็จะถูกส่งต่อไปยังรัฐโดยผู้ขายทำหน้าที่ในการส่งมอบภาษีส่วนนี้ 

ประเทศไทยไม่ได้มีรูปแบบการจัดเก็บภาษีจากบริการบนอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการในต่างประเทศแต่อย่างใด กรมสรรพากรจึงได้พยายามผลักดันร่างภาษี e-Service ฉบับนี้ เพื่อให้ผู้ให้บริการในรูปแบบออนไลน์ทั้งในและนอกประเทศอยู่ภายใต้ตัวบทกฎหมายเดียวกัน ซึ่งเป็นคำถามที่ตามต่อมาว่าเมื่อภาษี e-Service ผ่านการอนุมัติ อัตราค่าบริการจะมีทิศทางเป็นอย่างไร ส่วนนี้มีความเป็นไปได้ 2 กรณี คือ ค่าบริการเท่าเดิม โดยผู้ให้บริการจะหัก VAT 7% ส่งเข้ารัฐ หรือกรณีที่ 2 คือ ผู้ให้บริการทำการเก็บค่าบริการจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อธุรกิจ ซึ่งกรมสรรพากรยืนยันภาษี e-Service นี้ไม่ได้เพิ่มภาระภาษีให้แก่ผู้ใช้ แต่เป็นการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับแนวทางสากล

แก้ไขร่างภาษี e-Service เพื่อให้ครอบคลุมบริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ให้บริการต่างชาติ 

ช่วงปี พ.ศ. 2561 ร่างภาษี e-Service ได้ใช้ชื่อว่า e-Business คณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้มีข้อเสนอในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมาย โดยมองว่าควรเปลี่ยนชื่อเป็น e-Service เพื่อให้ชัดเจนและครอบคลุมธุรกิจวงกว้างขึ้น จนในที่สุดกรมสรรพากรสามารถเสนอร่างกฎหมายที่ใช้ชื่อว่า e-Service ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563 โดยร่างภาษีฉบับแก้ไขจะทำการปรับปรุงรายละเอียดของเนื้อหาให้มีความครอบคลุมและทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยมีเนื้อหาที่ปรับแก้ ดังนี้

  • แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “สินค้า” หมายถึง ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ และให้หมายรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด 
  • เพิ่มบทนิยามคำว่า “บริการอิเล็กทรอนิกส์” หมายถึง บริการที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด เช่น Netflix, Spotify, Facebook, Google, Apple และ “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” หมายถึง ตลาด ช่องทาง หรือกระบวนการอื่นใดที่ผู้ให้บริการหลายรายใช้ในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ หมายถึงบริการจำพวก Cloud Computing อย่าง AWS, Microsoft Azure, Google Cloud Platform
  • กำหนดให้ผู้ให้บริการในกลุ่มข้างต้น และมีรายรับในประเทศไทยเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรและส่งภาษีแทนเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน 


กลุ่มธุรกิจที่เข้าข่ายธุรกิจออนไลน์

  • กลุ่ม E-Commerce เช่น eBay, Alibaba และ Amazon 
  • กลุ่มมีเดียและการโฆษณา เช่น Google, Facebook, YouTube และ Line
  • กลุ่มเกมเช่น Stream, Uplay, Origin
  • กลุ่มการท่องเที่ยว เช่น Booking และ Airbnb
  • กลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น Netflix, Iflix, Joox และ Spotify
  • กลุ่ม E-Publishing เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ eBook และหนังสือการ์ตูนออนไลน์
  • กลุ่มซอฟต์แวร์เช่น Apple
  • กลุ่มบริการการเงินเช่น Paypal 
  • กลุ่ม Forex Investment
  • กลุ่มการพนันออนไลน์

การเก็บภาษี e-Service ในต่างประเทศ

จุดประสงค์สำคัญของร่างภาษี e-Service คือ การเพิ่มความเป็นธรรมทางด้านภาษี VAT ระหว่างผู้ให้บริการในและนอกประเทศ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ภาษีนิติบุคคล แต่ก็สามารถทำการจัดเก็บภาษีจากกลุ่มธุรกิจที่เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาผู้ให้บริการต่างชาติไม่ต้องจ่ายภาษี VAT ทำให้เงินไหลเวียนออกนอกประเทศหลายพันล้านบาท หลายประเทศจึงเริ่มหันมาให้ความสนใจในการจัดเก็บภาษี e-Service เพิ่มมากขึ้น 

โดยตอนนี้ประเทศที่มีกฎหมายเก็บภาษี VAT กับผู้ให้บริการในรูปแบบออนไลน์จากต่างชาติ ได้แก่ นอร์เวย์ที่เริ่มในปี 2554 ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เริ่มในปี 2558 นิวซีแลนด์ เริ่มในปี 2559 ไต้หวันและออสเตรเลีย เริ่มในปี 2560 ส่วนเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียก็เพิ่งเริ่มเก็บเมื่อต้นปี 2563 ขณะที่อินโดนีเซียก็ได้ประกาศใช้กฎหมายภาษี e-Service ไปหมาด ๆ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนฟิลิปปินส์ก็กำลังเสนอร่างภาษี e-Service เช่นกัน 


อ้างอิง

  • กรมสรรพากร. สรรพากรดันกฎหมายเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ. www.rd.go.th
  • ผ่านร่างกม. ภาษี e-service รีดภาษีออนไลน์. www.thebangkokinsight.com
  • ทำความรู้จัก พ.ร.บ. e-service. https://techsauce.co