Kind Health

เมื่อสุขภาพช่องปากอาจนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อม!

  • รายงานการวิจัยล่าสุด พบว่า “โรคปริทันต์อักเสบหรือรำมะนาด” อาจทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม
  • จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างกว่า 4,000 คน พบว่า ผู้ที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบ โดยเฉพาะผู้ที่สูญเสียฟันไปทั้งหมดมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นถึง 50% เมื่อเทียบกับผู้ที่มีสุขภาพฟันแข็งแรง

หลังจากลืมตาตื่นนอนขึ้นมายามเช้า กิจวัตรต่อมาที่หลายคนมักทำคือการเดินฉวยผ้าเช็ดตัวเข้าห้องน้ำด้วยอาการสะลึมสะลือ แต่ก่อนที่คุณจะหยิบแปรงสีฟันขึ้นมาบรรจงทำความสะอาดแบคทีเรียที่อยู่ในช่องปากมาตลอดทั้งคืน KiNd อยากจะขอให้คุณเพิ่มความพิถีพิถันในการแปรงฟันขึ้นมาอีกหน่อย

เพราะจากผลสำรวจที่จัดทำโดย The National Center for Health Statistics (NCHS) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า หากคุณละเลยการดูแลสุขภาพช่องปากอาจนำมาสู่การป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมได้! 

ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่าสุขภาพช่องปากกับความสัมพันธ์ของโรคสมองเสื่อมไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะเมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์มหาวิทยาลัยแบร์เกน ประเทศนอร์เวย์ ได้เผยรายงานการวิจัย ระบุว่า โรคปริทันต์อักเสบหรือรำมะนาดสามารถเชื่อมโยงถึงการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่านี่จะเป็นสาเหตุที่แท้จริง 

ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่ปล่อยให้เราต้องร้อนใจหาคำตอบอีกต่อไป ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 วารสารวิชาการ American Academy of Neurology ได้เผยผลวิจัยที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เข้าร่วมโครงการ โดยทำการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 4,559 คน ซึ่งไม่เคยมีประวัติป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมมาก่อน ผลการวิจัยพบว่าแบคทีเรียในช่องปากอาจจะเป็นตัวแปรหลักในการเกิดโรคสมองเสื่อมจริง ๆ ก็เป็นได้ ซึ่งผลการวิจัยในฉบับนี้ทำให้เราเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นว่า “แบคทีเรีย” คือตัวแปรหลักของโรคนี้ 


ทั้งนี้แบคทีเรียในช่องปากไม่ได้ส่งผลต่อสมองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์กับโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรครูมาตอยด์ โรคไขมันในเลือดสูง และโรคเกาต์ อีกด้วย ซึ่งหากเป็นโรคปริทันต์อักเสบก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 20%

และถ้าฟันฟางของคุณหายไปหมดทั้งปากก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้นถึง 50% เพราะการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือติดเชื้ออื่น ๆ สามารถส่งผลต่อร่างกายในส่วนต่าง ๆ ผ่านการไหลเวียนของกระแสเลือด และยิ่งต้องระวังเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มคนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ เพราะเชื้อแบคทีเรียในช่องปากจะเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงแข็งตัว เลือดไหลเวียนไปที่หัวใจไม่สะดวก หรืออาจทำให้ผนังหลอดเลือดหัวใจอักเสบ จนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย

นอกจากนั้นยังมีผลการวิจัยจากวารสารวิชาการ Alzheimer’s Disease ได้เผยว่า แบคทีเรียจิงจิเพน (gingipain) ที่อาศัยอยู่ในช่องปากสามารถเดินทางไปสู่สมอง ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้จะสร้างโปรตีนเพื่อทำลายเซลล์ประสาทในสมอง และนำไปสู่การสูญเสียความทรงจำบางส่วน ทำให้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์ซึ่งเป็นหนึ่งในภาวะสมองเสื่อมเช่นกัน ซึ่งผู้วิจัยแนะนำว่าควรจะต้องมีการศึกษาที่ยาวนานขึ้น เพื่อให้ทราบความสัมพันธ์ระหว่างโรคเหงือกอักเสบและโรคสมองเสื่อมให้ชัดเจนกว่านี้

แต่ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะวิธีหลีกเลี่ยงโรคต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ “แปรงฟัน” อย่างน้อย 2 นาทีต่อครั้ง และใช้ไหมขัดฟันขจัดเศษอาหารตกค้างภายหลังจากการแปรงฟันเท่านั้นเอง โรคต่าง ๆ  ที่กล่าวมาข้างต้นก็อาจจะชะลอฝีเท้าในการเข้ามายุ่มย่ามให้คุณต้องกังวลใจ

KiNd เชื่อว่าหากคุณเพิ่มความใส่ใจการดูแลสุขภาพช่องปากและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สุขภาพกายดี ๆ คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม…



ที่มา

  • Large study links gum disease with dementia. www.nia.nih.gov
  • Yes, Gum Disease May Increase the Risk of Alzheimer’s — But Don’t Panic. www.healthline.com
  • Gum disease could be linked to higher risk of dementia. www.insider.com
  • โรคเหงือกกับหัวใจ ทำไมเกี่ยวข้องกัน. www.thaipbspodcast.com

เรื่องโดย