Kindvironment

คนเลี้ยงสัตว์ในเคนยาผุดไอเดีย เปลี่ยน “ต้นกระบองเพชร” เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ

แสงแดดยามเช้าสาดส่องทั่วที่ราบสูงไลคิเปียอันกว้างใหญ่ของเคนยา ทุ่งหญ้าแห้งแล้งที่ดูจะแล้งเข้าไปอีกเมื่อมีต้นกระบองเพชรพริกลี่แพร์ (Prickly pear) หรืออีกชื่อคือ กระบองเพชรมะเดื่อ (Opuntia ficus-indica) ขึ้นอยู่เต็มที่ราบสูงแห่งนี้

ขณะที่ผมกำลังตื่นตะลึงกับภาพต้นกระบองเพชรที่ขึ้นแน่นขนัดทั่วพื้นที่ราบสูง ก็เห็นคนเลี้ยงสัตว์ท่าทางทะมัดทะแมง สวมเสื้อผ้าหลากสี กำลังไล่ต้อนแกะและแพะของเขาอยู่ไม่ห่างจากผมมากนัก ซึ่งผมมาทราบในภายหลังว่า เขาชื่อ Jackson Mukorino

Mukorino เล่าว่า เขาต้องต้อนสัตว์เลี้ยงของเขาฝ่าต้นกระบองเพชรพริกลี่แพร์ เพื่อไปหาทุ่งหญ้าที่นับวันจะค่อย ๆ ถูกกลืนหายไปท่ามกลางพืชมีหนามพวกนี้ เขาเล่าด้วยน้ำเสียงเรียบเฉย พร้อมกับคว้ามีดมาฟันต้นกระบองเพชรไปด้วย


ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กระบองเพชรพริกลี่แพร์ไม่ใช่พืชท้องถิ่นของเคนยาแต่อย่างใด

ตามบันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่า กระบองเพชรพริกลี่แพร์หรือกระบองเพชรมะเดื่อนี้ ถูกนำเข้ามาในช่วงที่จักรวรรดิอังกฤษมีอิทธิพลเหนือเคนยา ซึ่งในช่วงที่ชาวอังกฤษนำพริกลี่แพร์เข้ามานั้น พวกเขานำมาปลูกในฐานะไม้ประดับ


เนื่องจากพวกมันสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศสุดทรหดเช่นนี้ แต่พวกเขาคงไม่คาดคิดว่าต้นกระบองเพชรที่นำเข้ามานั้น จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ให้ชาวเคนยาในอีกหกสิบปีต่อมา

กระบองเพชรพริกลี่แพร์เริ่มกลายเป็นปัญหาใหญ่ของชาวเคนยาเมื่อประมาณสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุณหภูมิที่พุ่งทะยานสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี ประจวบเหมาะกับพืชกลุ่มนี้ชอบอากาศร้อน ๆ เช่นนี้เสียด้วย ทำให้พวกมันแพร่กระจายไปทั่วพื้นที่ราบสูงอย่างรวดเร็ว นี่จึงกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ให้ชาวเคนยาที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์อีกหลายชีวิต ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Mukorino ชายที่ผมเจอในช่วงเช้า


แม้ว่ากระบองเพชรพริกลี่แพร์จะสามารถนำมารับประทานได้หลายส่วน ทั้งส่วนกิ่งที่ดูเผิน ๆ จะเหมือนกับส่วนใบของพืชทั่วไป และส่วนผลสีม่วง ๆ ก็สามารถนำมาทานได้เช่นกัน แต่สำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์แล้ว หนามของต้นกระบองเพชรเปรียบเสมือนเข็มพิษที่คอยทิ่มแทงพวกมันขณะกำลังมองหาอาหารมาประทังชีวิต ในบางครั้งหนามของมันก็อาจแทงทะลุเข้ามาจนทำให้ตาบอดเลยก็มี และหากเผลอตวัดลิ้นกินต้นกระบองเพชรเข้าไปด้วยเล้วล่ะก็ หนามพิษจะเข้ามาทำลายต่อมรับรส และระบบย่อยอาหารอย่างรวดเร็ว

Mukorino หัวหน้าครอบครัวที่ต้องทำหน้าที่เลี้ยงดูลูก ๆ อีกห้าชีวิต ครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ใน Makurian Group Ranch ที่ดูแลโดยชุมชนผู้สูญเสียฝูงสัตว์กว่า 200 ตัวหลังจากพวกมันเผลอกินต้นกระบองเพชรพริกลี่แพร์เข้าไป

“ผมต้องตรวจดูตาของแกะและแพะของผมอยู่เสมอ เพื่อดึงเอาหนามต้นกระบองเพชรออก ก่อนจะปล่อยพวกมันไปหาอาหารอีกครั้ง” Mukorino กล่าวกับสำนักข่าว Deutsche Welle (DW) และกล่าวเสริมว่า เพื่อนบ้านของเขาที่ทำอาชีพเดียวกัน ต่างก็ย้ายออกไปหมดแล้ว เพราะทนกับต้นกระบองเพชรพวกนี้ไม่ไหว


ในเขตไลคิเปียมีพื้นที่ 9,500 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันกระบองเพชรพริกลี่แพร์กินพื้นที่ไปมากถึง 500 ตารางกิโลเมตรเข้าไปแล้ว ตามรายงานของศูนย์เกษตรและชีววิทยาศาสตร์นานาชาติ (CABI) ในสหราชอาณาจักร และในขณะนี้พวกเขากำลังเข้าร่วมต่อสู้กับชาวบ้าน เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเหล่าต้นกระบองเพชรด้วยเช่นกัน

การต่อสู้กับอันตรายที่เต็มไปด้วย (ขวาก) หนาม

กว่าชาวเคนยาจะรู้ตัวว่าถูกพืชต่างถิ่นคุกคาม ที่ราบสูงไลคิเปียก็ถูกปกคลุมไปด้วยกระบองเพชรพริกลี่แพร์เสียแล้ว

“สาเหตุที่กระบองเพชรพริกลี่แพร์สามารถแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเกิดจากสิ่งมีชีวิต เช่น นก ช้าง และลิงบาบูน ที่เข้ามากินผลของมันและเมื่อพวกมันถ่ายออกมา เมล็ดที่ติดมูลสัตว์ออกมาด้วยก็จะเติบโตขึ้นในพื้นที่ใหม่ นอกจากนี้เพียงแค่กระบองเพชรสลัดกิ่งทิ้ง พริกลี่แพร์นิวเจนก็พร้อมเติบโตขึ้นตามรอยพ่อพพันธุ์ แม่พันธุ์ของพวกมันแล้ว” Luke Lukaria นักวิทยาศาสตร์จาก Kenya Wildlife Service (KWS) กล่าว


ในพื้นที่ฟาร์มปศุสัตว์ของกลุ่ม Makurian Group Ranch พวกเขาพยายามอย่างมากที่จะกำจัดพืชมีหนามพวกนี้ทิ้งให้สิ้นซาก อย่างการถอนรากมันออกมาและนำมาฝังกลบ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคนในชุมชน ส่วนผู้หญิงก็ได้กลายมาเป็นกำลังสำคัญของงานที่เข้ามาถอนและฝังพืชต่างถิ่นนี้อย่างขยันขันแข็ง

แม้ว่าผู้หญิงในชุมชนจะเต็มใจเข้ามาทำงานนี้ เพื่อปกป้องอาชีพปศุสัตว์ของสามี และคนในครอบครัว แต่เจ้าของฟาร์มก็ไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำจนไม่ให้เงินค่าตอบแทน ในการอาสาเข้ามาทำงานนี้ของพวกเธอแต่อย่างใด เจ้าของฟาร์มบอกกับผมว่า เขาจะให้เงินจำนวน 50 เซนต์ (16 บาท) ต่อชั่วโมง แต่ Celine Kisio หนึ่งในกลุ่มอาสาก็บอกกับผมอีกว่า ที่พวกเธอมาทำงานนี้ มันไม่เกี่ยวกับจำนวนเงินเลย พวกเธอแค่อยากทำเท่านั้นเอง

“เงินจำนวนเล็กน้อยที่เราได้รับจากการทำงานด้วยความ ‘สมัครใจ’ นี้ ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญในการเข้ามาทำงานของเราเลย เราแค่อยากกำจัดพืชพวกนี้ทิ้งก็เท่านั้น” Kisio กล่าวกับ DW


Photo Credit: biographic.com


ส่วน Francis Merenyi ผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นมองว่า การเข้ามาทำงานกำจัดพืชพวกนี้ ดูเหมือนจะเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดี สำหรับผู้หญิงในชุมชนอยู่ไม่น้อย

จากศัตรูพืชสู่เชื้อเพลิง

Merenyi กำลังทดสอบระบบการผลิตก๊าซชีวภาพอยู่ในฟาร์มปศุสัตว์ของชุมชน โดยเขาได้นำต้นกระบองเพชรกว่า 40 กิโลกรัม มาสกัดเป็นก๊าซเพื่อชุมชน หากนับตั้งแต่วันแรกที่เขานำกระบองเพชรมาทำเป็นพลังงานธรรมชาติจนถึงวันนี้ ก็เป็นเวลาสองสัปดาห์แล้วที่เขามุ่งมั่นแก้ไขปัญหาศัตรูพืช ที่เข้ามารุกรานถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน โดยก๊าซชีวภาพที่เขาหมักไว้จะถูกเก็บไว้ใช้สำหรับปรุงอาหาร ส่วนกากใยที่ตกตะกอนจะถูกนำมาใช้เป็นปุ๋ยในไร่ผักสวนครัวของคนในชุมชนต่อไป

Merenyi หวังว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องให้ครัวเรือน และโรงเรียนในพื้นที่ได้นำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งตอนนี้เขากำลังจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้แก่สตรี โดยได้รับการสนับสนุนจาก World Vision

“สมมติว่ามีคนหนึ่งพันคน นำโครงการที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมาใช้ในฟาร์มของพวกเขาเอง นั่นหมายความว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราน่าจะสามารถถอนรากถอนโคนศัตรูพืชเหล่านี้ ออกไปจากในพื้นที่ของเราได้” Merenyi กล่าว


Merenyi บอกทาง DW เพิ่มเติมว่า จุดประสงค์ของการจัดตั้งโครงการคือ เป็นการช่วยให้กลุ่มสตรีสามารถสร้างรายได้พิเศษเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นมา ผ่านการขายก๊าซชีวภาพส่วนเกินจากที่พวกเขาผลิตได้ หรือการขายต้นกระบองเพชรที่ถูกกำจัดทิ้งให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่ใช้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงหลัก

Elizabeth Nkasiogi หนึ่งในกลุ่มสตรีที่ได้รับการฝึกอบรมกล่าวว่า โดยปกติแล้ว เวลาว่างของเธอมักจะหมดไปกับการหาฟืนในป่าเสียส่วนใหญ่ แต่หลังจากที่เธอเข้าร่วมโครงการ การผลิตก๊าซชีวภาพจากต้นกระบองเพชรที่ถูกกำจัดทิ้งก็ช่วยให้ผืนป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง นอกจากนี้เธอยังมีเวลาเหลือเฟือในการปรุงอาหาร หรือร้อยลูกปัดไปขายในตลาดเปิดท้ายอีกด้วย

“การผลิตก๊าซชีวภาพสามารถทำได้ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับการที่ฉันต้องเดินบุกป่าฝ่าดงเข้าไปหาฟืนมาใช้ในบ้านด้วยตัวเอง ซึ่งตอนนี้ฉันก็มีเวลาเหลือเฟือในการหางานเสริมนอกเหนือจากการเก็บฟืน” Nkasiogi กล่าว

Photo Credit: R. Kibet/ DW


ในการจัดหาเงินทุนเพื่อขยายโครงการให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างดูเหมือนจะเจอปัญหาเล็กน้อย เพราะด้วยราคาสำหรับการติดตั้งเครื่องผลิตก๊าซชีวภาพจะมีราคาอยู่ที่ 1,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 30,000 บาท) ซึ่งเป็นราคาครึ่งหนึ่งของต้นทุน แต่เมื่อนำมาเทียบกับรายได้ของชาวบ้าน ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ตามทุ่งหญ้า ดูเหมือนว่าเจ้าเครื่องนี้จะเกินกำลังพวกเขาไปหน่อย John Letai รองผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของเขตไลคิเปียกล่าว

อุปสรรคที่ต้องฝ่าฟัน

ในขณะที่หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน กำลังมองหาวิธีที่จะหยุดการแพร่กระจายของต้นกระบองเพชรพริกลี่แพร์ ชาวบ้านบางคนก็ผุดไอเดียขึ้นมาว่า น่าจะลองหาวิธีสร้างรายได้จากศัตรูพืชพวกนี้ดู โดยการนำผลพริกลี่แพร์มาสกัดเป็นน้ำผลไม้หรือแยม และนำไปขายตามท้องตลาด

ขณะที่หน่วยงานจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของเคนยา (NEMA) เมื่อเห็นปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านจากการถูกพืชต่างถิ่นรุกราน จึงได้อนุมัติให้ใช้แมลงคอชินีล (คล้ายเพลี้ยแป้ง) เข้ามาจัดการศัตรูพืช โดยกองทัพแมลงจะทำการเจาะไปที่ใบของกระบองเพชร และดูดของเหลวออกมา ทำให้ลำต้นและใบที่อวบน้ำของมันค่อย ๆ เหี่ยวแห้ง และตายลงไปในที่สุด


ส่วน Jackson Mukorino กล่าวว่า เขาเห็นด้วยกับเพื่อนร่วมอาชีพของเขา เพราะการติดตั้งเครื่องผลิตก๊าซชีวภาพมีราคาสูงเลยทีเดียว และความพยายามในการกำจัดกระบองเพชรพริกลี่แพร์ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่เขากลับมองไกลไปกว่านั้นว่า

การต่อสู้ของพวกเขาเดินทางมาถึงแค่ครึ่งทาง เพราะเมื่อทุ่งกระบองเพชรถูกกำจัดออกไปจนหมด พวกเขาก็ต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ในการเข้ามาดูแลพื้นที่โล่งเตียนตรงนี้อีก


“มันเป็นเรื่องดี ที่สามารถกำจัดกระบองเพชรพวกนี้ออกไปได้ แต่สำหรับผมแล้ว พื้นที่ที่เหมาะสมในการเลี้ยงสัตว์เป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง ซึ่งเมื่อเราทำการถอนรากถอนโคนพวกมันไปจนหมด เราก็ต้องหาวิธีปลูกหญ้าชนิดอื่นขึ้นมาทดแทน และพวกมันต้องสามารถเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งเช่นนี้ด้วย” Mukorino กล่าว “แม้จะดูมีความหวัง แต่เราก็ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรัฐบาลอยู่ดี”


ที่มา

  • Robert Kibet. In Kenya, herders turn an invasive cactus into biofuel. www.dw.com

เรื่องโดย