Kindvironment

เมื่อรถยนต์มือสอง (ที่ก่อมลพิษ) ถูกส่งจากประเทศโลกที่ 1 ไปยังประเทศโลกที่ 3

จากรายงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า มีรถยนต์ที่ถูกใช้แล้ว หรือรถยนต์มือสองของประเทศร่ำรวยหลายล้านคันที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง ถูกทิ้งและส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา

ยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ผู้นำส่งออกรถยนต์เก่าคุณภาพต่ำ

ระหว่างปี ค.ศ. 2015-2018 ยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ส่งออกยานยนต์เก่าและคุณภาพต่ำจำนวนกว่า 14 ล้านคัน โดยจำนวน 4 ใน 5 ถูกขายให้กับประเทศที่ยากจนกว่า และมากกว่าครึ่งหนึ่งส่งไปยังทวีปแอฟริกา

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า รถยนต์มือสองจากประเทศผู้ส่งออกเหล่านี้ มีมากถึง 80% ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมขั้นต่ำ และยังเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ทำให้มลพิษทางอากาศแย่ลง และมีส่วนอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังพบว่า มียานพาหนะหลายคันได้รับการดัดแปลงเพื่อนำชิ้นส่วนที่มีค่าออกไป

รายงานจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (Unep) ระบุว่า ทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้า จำเป็นต้องวางกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นเพื่อขัดขวางการส่งออกของรถยนต์เหล่านี้ เนื่องจากจำนวนคนที่จะกลายเป็นเจ้าของรถยนต์กำลังเพิ่มมากขึ้นไปทั่วโลก ปัจจุบันมียานพาหนะประมาณ 1.4 พันล้านคันบนท้องถนน ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนถึง 2 พันล้านคันภายในปี ค.ศ. 2040 และส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา

รถยนต์มือสองที่ถูกส่งออก “อันตรายและสกปรก” ?

จากการวิเคราะห์ของนักวิจัยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า กฎระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้ารถยนต์ใน 146 ประเทศนั้น ส่วนใหญ่ยังมีความ แย่ หรือ แย่มาก ขณะที่การศึกษาครั้งที่ 2 จากผู้ตรวจสอบสภาพแวดล้อมและการขนส่งของเนเธอร์แลนด์ แสดงให้เห็นว่า รถยนต์และรถตู้จำนวนมากที่ส่งจากท่าเรือดัตช์ไปยังแอฟริกานั้นล้าสมัย และมีส่วนทำให้คุณภาพอากาศในทวีปแอฟริกาแย่ลง

“สิ่งที่เราพูดได้ก็คือ รถในจำนวน 14 ล้านคัน หรือมากกว่า 80% ไม่เหมาะกับการใช้งานบนท้องถนน และไม่เป็นไปตามมาตรฐานการปล่อยมลพิษของรถยนต์ที่เรียกว่ายูโร 4” คุณ Rob de Jong จาก Unep หนึ่งในผู้เขียนรายงานกล่าว ซึ่งมาตรฐานรถยนต์ยูโร 4 นั้น มีผลบังคับใช้ในยุโรปตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 2005 “นั่นหมายความว่า ยานพาหนะเหล่านี้ปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้น 90% เนื่องจากไม่เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำดังกล่าว”

พวกเขาเชื่อว่าการนำเข้ารถยนต์เหล่านี้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนในระดับที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ทั้งในแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนกว่า นอกจากนี้รถยนต์ยังก่อให้เกิดฝุ่นละอองและไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งเป็นแหล่งมลพิษทางอากาศในหลายเมือง

คุณ Jane Akumu จาก Unep กล่าวว่า “ในปี ค.ศ. 2017 อายุเฉลี่ยของรถยนต์ดีเซลที่นำเข้ามาในยูกันดา มีอายุมากกว่า 20 ปี เช่นเดียวกับซิมบับเว ซึ่งอันที่จริงกว่า 30 ประเทศในแอฟริกา ไม่มีการจำกัดอายุสำหรับรถยนต์ ดังนั้นรถยนต์ประเภทใด หรืออายุเท่าใด ก็สามารถนำเข้ามาได้”

เช่นเดียวกับความล้มเหลวในการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางถนนและสิ่งแวดล้อม โดยรถยนต์จำนวนมากถูกงัดแงะและถอดอุปกรณ์สำคัญออกมา

คุณ Rob de Jong กล่าวเพิ่มเติมว่า “พวกเขานำเครื่องฟอกไอเสียออก เพราะทองคำขาวซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญมีมูลค่าสูงถึง 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ และพวกเขาก็ใส่ท่อเหล็กชิ้นหนึ่งแล้วเชื่อมมันกลับเข้าไป นอกจากนี้ ยังถอดถุงลมนิรภัยออก เนื่องจากมีราคาสูงในยุโรป และได้ถอดระบบเบรกป้องกันล้อล็อกอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากขายได้ราคาและกำลังถูกขายในตลาดมืดด้วย”

เนเธอร์แลนด์เดินหน้าหาแนวทางแก้ปัญหาระหว่างผู้ส่งออกและผู้นำเข้า

จากรายงานพบว่า รถยนต์มือสองเหล่านี้มากกว่า 54% มาจากยุโรป และจำนวนมากถูกส่งออกผ่านทางเนเธอร์แลนด์ ขณะที่ทางการเนเธอร์แลนด์เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ

คุณ Stientje van Veldhoven รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า “เนเธอร์แลนด์ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้โดยลำพัง ดังนั้นเราจะเรียกร้องให้มีการประสานแนวทางของยุโรปและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลยุโรปและแอฟริกาเพื่อให้แน่ใจว่า สหภาพยุโรปส่งออกเฉพาะยานพาหนะได้มาตรฐานตามที่กำหนดโดยประเทศผู้นำเข้าเท่านั้น”

ทั้งนี้ การตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากรถยนต์เหล่านี้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ประเทศผู้นำเข้าหลายประเทศเข้มงวดกับกฎระเบียบมากขึ้นด้วย โดยโมร็อกโกอนุญาตให้นำเข้ารถยนต์ที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปีเท่านั้น ขณะที่เคนยา จำกัดอายุสำหรับรถยนต์นำเข้าไว้ที่ 8 ปี

ในระดับภูมิภาค ประชาคมเศรษฐกิจของรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) ซึ่งเป็นตัวแทนของ 15 ประเทศ ได้กำหนดมาตรฐานเชื้อเพลิงสะอาดและยานพาหนะที่ได้มาตรฐาน ตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 2021 อย่างไรก็ตามการจัดการกับปัญหาอย่างแท้จริงจะต้องมีการดำเนินการที่ปลายทั้งสองด้านของห่วงโซ่อุปทาน

“ในแง่หนึ่งผมคิดว่ามันผิดจรรยาบรรณที่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่งออกยานยนต์ที่ไม่เหมาะสมต่อท้องถนนของตัวเองไปยังประเทศอื่น ในทางกลับกันเหตุใดประเทศผู้นำเข้ารถยนต์ถึงต้องรอเวลาเพื่อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำบางอย่าง?”

“ดังนั้นผมคิดว่า ความรับผิดชอบไม่ได้อยู่ที่ประเทศผู้ส่งออกเท่านั้น แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพวกเราทุกคน” คุณ Rob de Jong จาก Unep กล่าวทิ้งท้าย


ที่มา

  • Matt McGrath. Climate change: ‘Dangerous and dirty’ used cars sold to Africa. www.bbc.com/

เรื่องโดย