Kindcycle

เมื่อแฟชั่นไม่ได้เป็นแค่วิถีการแต่งกาย แต่หมายถึงอีกขั้นของความห่วงใยโลก

รายงานจากเว็บไซต์ www.fashionrevolution.org ระบุว่าจำนวนการผลิตเสื้อผ้าสิ่งทอได้เพิ่มปริมาณขึ้นถึง 2 เท่าจากปกตินับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 และทะลุ 1 พันล้านชิ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2014 โดยมีขยะจากอุตสาหกรรมสิ่งทอจำนวนเฉลี่ยมากถึง 92 ล้านตันต่อปี และที่น่าตกใจไปกว่านั้นก็คือสถิติการเผาและทิ้งขยะจากอุตสาหกรรมสิ่งทอเกิดขึ้นทุก ๆ วินาทีบนโลกของเราเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าขยะสิ่งทอจะเพิ่มปริมาณขึ้นอีก 60% จากปี ค.ศ. 2015 – 2030 หรือประมาณ 148 ล้านตัน

เมื่อนึกถึงสภาพของโลกในตอนนี้ หลายคนอาจรู้สึกเป็นห่วงและกำลังพยายามหาวิธีช่วยโลก เช่น การซื้อเสื้อผ้าให้น้อยลงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะการซื้อใหม่หมายถึงการการสร้างกระบวนการผลิตเชิงเคมีใหม่ทั้งหมดให้เกิดขึ้น แต่ตรงส่วนนี้ก็ยังมีปัญหาที่แก้ไม่ตก กล่าวคือ ถ้าเราซื้อเสื้อผ้าน้อยลง ก็ดีกับโลกแต่ก็ส่งผลทางลบกับเศรษฐกิจโดยรวม คนที่ทำงานด้านการผลิตสิ่งทอเสื้อผ้าก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วเราจะทำอย่างไรกันดีกับสภาวะการณ์นี้ มีหนทางที่จะสร้างสมดุลระหว่าง 2 สิ่งนี้หรือไม่

“…บางทีกระบวนการ upcycling fashion อาจเป็นคำตอบที่เป็นไปได้สำหรับปัญหานี้”

แนวคิดการ upcycling fashion นี้ คือ การแปลงโฉมเสื้อผ้า/ สิ่งทอที่ไม่ใช้แล้วหรือไม่สามารถใช้ได้แล้วให้กลายเป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่ ตัวอย่างเช่น ให้เราลองนึกถึงเสื้อกันหนาวไหมพรมเก่า ๆ สักตัวที่ไม่สามารถนำมาใส่ได้อีก แล้วเราก็ดึงเส้นไหมพรมจากเสื้อตัวนั้นมาทำเป็นเสื้อตัวใหม่ หรือการที่เรานำเศษของวัสดุในรถยนต์มาตัดเย็บเป็นกระเป๋าก็จัดเป็นการ upcycling ผ่านการออกแบบ 

การ upcycling มีประโยชน์ทั้งในเชิงการผลักดันความสร้างสรรค์และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด ซึ่งพอจะจำแนกได้คร่าว ๆ ดังนี้

  1. ความยั่งยืน – แนวคิด upcycling ช่วยลดขยะที่เกิดจากการผลิตเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม โดยการใช้ผ้าที่ค้างคงคลัง (deadstock) หรือผ้าที่ผ่านการใช้งานมาไม่หนักจนเกินไปมาตัดเย็บเป็นชุดใหม่หรือส่วนหนึ่งของชุด โดยปกติการผลิตเสื้อผ้าฝ้าย 1 ตัวจะใช้น้ำประมาณ 700 แกลลอน ในขณะที่การใช้แนวคิด upcycling มาทำเสื้อผ้าใหม่ แทบไม่ต้องใช้น้ำเลย นอกจากนี้กระบวนการ upcycling ยังช่วยลดจำนวนขยะที่เกิดจากเสื้อผ้า/ สิ่งทอได้ถึง 85% 
  2. เสื้อผ้าราคาสบายกระเป๋า – การ upcycling ช่วยให้เราประหยัดเงินซื้อเสื้อผ้าใหม่ เพราะเราสามารถใช้วัสดุเก่ามาสร้างสรรค์เสื้อผ้าชิ้นใหม่ได้
  3. ดีไซน์ไม่เหมือนใคร – เราสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์เฉพาะตัวในการออกแบบวัสดุเก่าให้กลายเป็นงานชิ้นใหม่ที่สวยงามมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเพื่อสวมใส่

ผ้าเก่า =  ผ้าใหม่

ตัวอย่างแบรนด์ผ้ายีนส์จาก  Rio de Janeiro ที่ชื่อว่า Think Blue ของ Mirella Rodrigues ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิด upcycling โดยย้อนกลับไปในสมัยที่ Mirella Rodrigues กำลังเรียนในมหาวิทยาลัยและได้มีโอกาสติดต่อกับโรงงานผลิตยีนส์โดยตรง จากจุดนี้ทำให้เธอตั้งข้อสังเกตว่าในโรงงานมีเศษผ้ายีนส์มากมายที่ไม่ได้ใช้งานและรอวันถูกทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ จึงเกิดไอเดียนำเศษยีนส์เหล่านั้นมา upcycling เสื้อผ้าใหม่ด้วยดีไซน์หลากหลาย เศษยีนส์แต่ละชิ้นถูก Mirella นำมาใช้สอยอย่างคุ้มค่าผ่านการดีไซน์อย่างไม่มีข้อจำกัด นอกจากนี้ Mirella ยังแสดงความโปร่งใสแก่ลูกค้าด้วยการเปิดเผยข้อมูลว่าเธอใช้น้ำไปปริมาณเท่าไหร่ต่อการทำเสื้อผ้า 1 ชิ้นของแบรนด์ ใช้เศษผ้าไปกี่ชิ้น และใช้เวลาในการตัดเย็บกี่ชั่วโมง เพื่อให้ลูกค้าของเธอตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการ upcycling
 

Upcycling สร้างความตื่นตัวในอุตสาหกรรมสิ่งทอหรือไม่

แนวคิด upcycling ได้สร้างความตื่นตัวภายในอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอในวงกว้าง เพราะอย่างที่รู้กันว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยปกติแล้วกระบวนการผลิตเสื้อผ้าจะเป็นเส้นตรง เริ่มจากการผลิตเส้นใย สร้างสรรค์ชิ้นงาน และทิ้งส่วนที่เหลือ ซึ่งเป็นมาอย่างนี้ตลอด และก่อนที่สินค้าจะวางจำหน่ายในร้าน คาดกันว่าขยะแฟชั่นได้ก่อตัวขึ้นแล้วตั้งแต่การตัดเย็บประมาณ 20-30% หลายแบรนด์สินค้าจึงเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งมโหฬารที่จะดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลโลก มีแบรนด์ที่นำกระบวนการ upcycling ไปใช้จริงและประสบความสำเร็จ คือ แบรนด์สัญชาติฮ่องกงอย่าง The R Collective ซึ่งเป็นผู้บุกเบิก upcycled fashion ที่ต้องการพิสูจน์ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นสามารถเป็นไปได้มากกว่าเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่ม ด้วยการเชื้อเชิญดีไซเนอร์รุ่นเยาว์มาร่วมออกแบบเสื้อผ้าจากเสื้อผ้า/ สิ่งทอ /เส้นใยที่กำลังจะถูกทิ้งเป็นขยะ ให้กลายเป็นงานสร้างสรรค์ที่สวยงามในราคาที่จับต้องได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม แม้ความพยายามนี้ของ The R CoLLECTIVE จะสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนในระดับมหภาคที่จะสั่นสะเทือนทั้งวงการ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงจำเป็นต้องกระตุ้นผู้คนให้เห็นความสำคัญของการ upcycling เช่น สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วไปรักเสื้อผ้าของตัวเองมากขึ้นทั้งการสวมใส่ การสร้างสไตล์ใหม่ให้เสื้อผ้า และการซ่อมแซมเสื้อผ้าที่มีอยู่ รวมถึงการแลกเปลี่ยนหรือการขายต่อเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว และการสนับสนุนแบรนด์ที่ทำ upcycled fashion เพื่อให้เกิดการจ้างงานในห่วงโซ่อุปทาน

ถอดบทเรียนความยั่งยืนจาก OPEN FASHION STUDIO

OPEN FASHION STUDIO คือ ดิจิทัลเวิร์กชอปและแพลตฟอร์มออนไลน์แบบ interactived ก่อตั้งโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีชื่อว่า Fashion Revolution ซึ่งถือกำเนิดในประเทศอังกฤษ โดยมีเครือข่ายนักรณรงค์ที่มีอยู่ทั่วโลก และมีศูนย์อยู่ในประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนประเด็นความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ผ่านแฮชแท็ก #WhoMadeMyClothes กับการชวนตั้งคำถาม เพื่อหาคำตอบว่าใครคือผู้ผลิตและอยู่เบื้องหลังเสื้อผ้าหนึ่งตัว

ในเดือนเมษายน ปี 2020 นี้ fashion revolution ได้เชิญดีไซเนอร์มากกว่า 40 คนเข้าร่วมดิจิทัลเวิร์กชอปและแพลตฟอร์มออนไลน์ของ OPEN FASHION STUDIO เพื่อเปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์ที่สร้างงานออกแบบโดยยึดหลักแฟชั่นยั่งยืน ได้เปิดเผยกระบวนการทำงานสำหรับเสื้อผ้าแต่ละคอลเลกชันและแลกเปลี่ยนความคิดกันและกัน เพราะ Fashion Revolution ต้องการจุดประกายเพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมแฟชั่น ทั้งในแง่ความยั่งยืนในการผลิตและบริโภค

บทเรียนที่ 1 Upcycled fashion คืออนาคต การบริโภคอย่างสร้างสรรค์ (creative consumption) คือการตระหนักว่าเสื้อผ้าว่าไม่ใช่ของที่ควรทิ้งง่า ๆ แต่ควรใช้งานให้เกิน 5 ปีขึ้นไป เราสามารถหาวิธีการอื่นในการสนุกกับแฟชั่นมากขึ้น ด้วยการ mix & match เสื้อผ้าเก่าของเรา แลกเปลี่ยนเสื้อผ้ากันและกันเพื่อจะซื้อให้น้อยลง 

บทเรียนที่ 2 กระบวนการผลิตแบบธรรมชาติคือทางเลือก การส่งเสริมแบรนด์เสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติและใช้สีธรรมชาติในการย้อมให้มีชีวิตรอดในวงจรธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ

บทเรียนที่ 3 นับจากนี้ไปแบรนด์แฟชั่นต้องเป็นสร้างกระบอกเสียงของตัวเอง แบรนด์ดังสายขบถอย่าง VIVIENNE WESTWOOD ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ FASHION OPEN STUDIO โดยทางดีไซเนอร์ได้ใช้ร้าน World’s End ของตัวเองที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 เป็นพื้นที่สำหรับบอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์กับจุดยืนในการนำขยะสิ่งทอและสต๊อกผ้าเก่ามาตัดเย็บ VIVIENNE WESTWOOD ไม่เคยลดราคาสินค้า เพราะเชื่อว่า เป็นความรับผิดชอบของผู้บริโภคเองที่จะซื้อให้น้อยลง เลือกให้ดีที่สุด และใช้งานเสื้อผ้าให้ได้นานที่สุด

กระแส upcycling จะจุดติดมั้ย การพยายามเปลี่ยนแปลงแนวคิดและมุมมองของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ดำเนินมาแบบเดิม ๆ ในระบบทุนนิยมตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ประเด็น climate change ได้เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นถูกตั้งคำถามอย่างหนักในทุกด้าน ซึ่งจุดนี้จะเป็นแรงผลักดันที่ทรงพลังที่จะสร้างความตื่นตัวต่อแบรนด์แฟชั่นต่าง ๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

แบรนด์แฟชั่นที่เริ่มทำ UPCYCLING

Elvis & Kresse  
เป็นแบรนด์ที่ upcycling ได้น่าตื่นตาตื่นใจ ด้วยการนำวัสดุไม่ใช้แล้วหลากลายอย่างมาทำกระเป๋า เข็มขัด และเครื่องประดับ เช่น สายส่งน้ำดับเพลิง ใบเรือ กระดาษสำหรับจดบันทึกข้อมูลการบิน กระสอบใส่กาแฟ ร่มชูชีพ กระดาษลูกฟูก

Reformation
แบรนด์อเมริกันที่ถือกำเนิดในลอสแอนเจลิส กับการนำเสื้อผ้าเก่าคงคลังมาจากห้องเสื้อต่าง ๆ มาทำใหม่ ด้วยการใส่ความเซ็กซี่ลงไปในงานออกแบบ รวมทั้งการสร้าง app เพื่อบอกผู้บริโภคว่าสินค้าแต่ละชิ้นที่ลูกค้าซื้อนั้นประหยัดน้ำไปเท่าไหร่

TRMTAB

TRMTAB เป็นแบรนด์เครื่องหนังที่นำเศษหนังจากโรงงานทั่วโลกมาทำเป็นกระเป๋าสานและซองใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

The R Collective

แบรนด์สัญชาติฮ่องกง The R Collective ใช้วัสดุที่กำลังจะกลายเป็นขยะในการสร้างสรรค์คอลเลกชันเสื้อผ้า และมอบรายได้ส่วนหนึ่งให้องค์กรการกุศลอย่าง REDRESS ซึ่งดำเนินงานด้านการลดขยะในอุตสาหกรรมแฟชั่น

Peony
แบรนด์ชุดว่ายน้ำสัญชาติออสเตรเลียที่มาพร้อมแนวคิดยั่งยืน ด้วยการนำวัสดุใช้งานไม่ได้แล้วจากแห-อวนมาทำชุดว่ายน้ำ แล้วเพิ่มลวดลายเรโทรเข้าไปอย่างดึงดูดใจ นอกจากนี้แบรนด์ยังได้ผ่านการรับรองจาก OEKO-TEX® STANDARD 100 ซึ่งเป็นการทดสอบสิ่งที่เป็นอันตรายและสารตกค้างในผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ตามมาตรฐานของสินค้าระดับสากลจากสถาบันทดสอบสิ่งทอ (The International Association for Research and Testing in the Field of Textile Ecology) (OEKO) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่นานาชาติเชื่อมั่น และไว้วางใจ 


ไม่มีคำตอบที่สามารถฟันธงได้ว่าการ UPCYCLING จะพาเรารอดพ้นวิกฤตขยะและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แต่ก้าวเล็ก ๆ นี้ก็ได้แสดงถึงความรู้สึกสำนึกรับผิดชอบต่อโลก และในเมื่อเราเป็นมุษย์ที่ยังต้องสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์เพื่อปกปิดร้อนหนาว บางทีเราอาจจำเป็นต้องรักเสื้อผ้าของเราให้มากกว่าเดิม ใช้มันให้คุ้มกว่าเดิมและยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้โลกของเราต้องแบกรับภาระที่ก่อโดยพวกเรามากเกินไป

Give it a try!!


ที่มา


เรื่องโดย