ภาพท้องฟ้าสวย ๆ ที่เราคิดอาจจะแปรเปลี่ยนไป
จุดระยิบระยับที่ห่อหุ้มโลกไว้ อาจไม่ใช่แค่ดวงดาว
แต่กลายเป็น… ขยะอวกาศ!
“ขยะอวกาศ” (Space Junk, Space debris) ตามคำนิยามขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือนาซา (National Aeronautics and Space Administration: NASA) ให้ความหมายไว้ว่า เศษชิ้นส่วนวัตถุที่เกิดตามธรรมชาติ เช่น สะเก็ดดาว และเทหวัตถุต่าง ๆ รวมถึงเศษชิ้นส่วนที่มนุษย์สร้างขึ้นซึ่งใช้การไม่ได้แล้ว แต่ยังอยู่ในวงโคจร เช่น ซากจรวด ดาวเทียม และชิ้นส่วนที่เกิดขึ้นหลังจากการชนกันหรือถูกทำลาย
หากมองภาพถ่ายโลกของเราจากอวกาศทุกวันนี้ เราจะมองเห็นจุดแสงสว่างเล็ก ๆ ล้อมรอบอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งนอกเหนือไปจากดาวเทียมกว่า 7,000 ดวง ที่ยังใช้งานได้จริงเพียง 1,500 ดวงแล้ว จุดสว่างน้อยใหญ่เหล่านี้ก็คือ ขยะอวกาศนับล้านชิ้นที่ล่องลอยห่อหุ้มโลกของเราอยู่ และนับวันก็ยิ่งแน่นหนามากขึ้น ทั้งยังอันตรายต่อดาวเทียมและยานอวกาศอีกด้วย
ขยะอวกาศฝีมือมนุษย์เกิดขึ้นครั้งแรกจากการส่งยานสปุตนิก 1 (ดาวเทียมดวงแรกของโลก) ขึ้นไปอวกาศเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 1957 นับจากวันนั้นเป็นต้นมาก็มีวัตถุขึ้นสู่อวกาศมากกว่า 28,000 ชิ้น โดยเป็นดาวเทียมที่ยังใช้งานได้อยู่เพียงร้อยละ 6 และส่วนที่เหลือนั้นกลายเป็น ขยะอวกาศ
ตัวอย่างของขยะอวกาศ เช่น กลุ่มแรกคือ เศษชิ้นส่วนที่แตกหักออกมาจากยาน (เชื้อเพลิงที่ไม่ใช้แล้ว และแบตเตอรี่ที่หมดอายุ เป็นต้น) หรือวัสดุที่เสื่อมอายุ (สีที่ทาตัวยาน และชิ้นส่วนกันความร้อน เป็นต้น) โดยกลุ่มนี้มีอยู่ร้อยละ 42 กลุ่มที่สองคือ ชิ้นส่วนของจรวดนำส่ง มีอยู่ร้อยละ 17 กลุ่มที่สามคือ ชิ้นส่วนที่เกิดจากภารกิจ เช่น ของเสียจากมนุษย์ และชิ้นส่วนที่ยานอวกาศปล่อยออกมา โดยกลุ่มนี้มีอยู่ร้อยละ 19 และกลุ่มสุดท้ายคือ ยานอวกาศที่ชำรุดหรือไม่ใช้งานแล้ว ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 22
ในบรรดาขยะอวกาศเหล่านี้จะมีขนาดแตกต่างกัน ชิ้นที่มีขนาดใหญ่พอมองเห็นจะถูกติดตามด้วยกล้องโทรทรรศน์โดยมีแค่เพียง 23,000 ชิ้นเท่านั้น ส่วนชิ้นที่มีขนาดเล็กกว่า 10 เซนติเมตรจะไม่สามารถติดตามได้เลย ซึ่งถือว่าน่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะขยะอวกาศที่มีขนาดเล็ก (เปรียบเทียบขนาดเท่าคลิปหนีบกระดาษ) หากชนกันกับดาวเทียมและยานอวกาศก็สามารถสร้างความเสียหายได้อย่างมาก
โดยขยะอวกาศกว่าครึ่งของทุกวันนี้คือ ชิ้นส่วนที่เกิดจากเหตุการณ์ใหญ่สองครั้ง คือ จีนยิงขีปนาวุธทำลายดาวเทียมของตัวเองดวงหนึ่งเมื่อปี 2007 และเหตุการณ์ที่ดาวเทียมสื่อสารซึ่งใช้งานด้านพาณิชย์ของสหรัฐฯ ชนเข้ากับดาวเทียมตรวจสภาพอากาศของรัสเซียที่ไม่ใช้งานแล้วเมื่อปี 2009 เศษขยะอวกาศจากเหตุการณ์หลังนี้ยังไปชนเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อปี 2015 อีกด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวเรียกว่าเป็นผลกระทบของขยะอวกาศที่สร้างความเสียหายให้กับดาวเทียมอย่างมากเช่นกัน
อายุของขยะอวกาศในวงโคจรก่อนจะตกกลับสู่โลก
โดยทั่วไปแล้ววัตถุที่ลอยอยู่เฉย ๆ ในวงโคจรของอวกาศจะลดความเร็วลงเรื่อย ๆ และลดระดับต่ำลง จนในที่สุดก็ตกกลับสู่โลก ขยะอวกาศก็เช่นกัน ขยะจะตกลงเมื่อใดนั้นจะขึ้นอยู่กับระดับวงโคจร ถ้าระดับวงโคจรอยู่ต่ำกว่า 200 กิโลเมตร ขยะนี้จะตกภายในไม่กี่วัน ถ้าวงโคจรอยู่ในช่วง 200-600 กิโลเมตรจะใช้เวลา 2-3 ปีในการตกลงจากอวกาศ เมื่อความสูงอยู่สูงขึ้นไปที่ 600-800 กิโลเมตร ขยะนี้จะลอยอยู่ได้นานหลายทศวรรษ เมื่อผ่านพ้นความสูงที่ 800 กิโลเมตรขึ้นไป จะโคจรได้หลายศตวรรษก่อนตกลงมา และขยะนี้จะอยู่ชั่วนิรันดร์
หากวงโคจรอยู่สูงเกิน 36,000 กิโลเมตร แต่โดยส่วนใหญ่ขยะอวกาศจะไหม้หมดไปขณะตกผ่านชั้นบรรยากาศโลก แต่ชิ้นที่ใหญ่จริง ๆ ก็อาจตกลงมาสู่พื้นดิน
อาจกล่าวได้ว่า ขยะอวกาศเหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยปี หากไม่มีการเก็บกวาดทำความสะอาดครั้งใหญ่ ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานก็จะยิ่งเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะขยะอวกาศอาจจะกระจายตัวออกเป็นชิ้นส่วนที่เล็กลงเรื่อย ๆ ซึ่งตรวจจับได้ยาก นอกจากนี้โครงการปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรกลับมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเรื่องการชนกันกับขยะอวกาศแบบทวีคูณ
ถึงเวลาหาหนทางเก็บกวาดขยะอวกาศ
มาตรการเท่าที่ทำได้ทุกวันนี้คือการเฝ้าระวังทิศทางการโคจรของขยะอวกาศ ไม่ให้ชนเข้ากับดาวเทียมหรือยานต่าง ๆ โดยบางหน่วยงานของสหรัฐฯ มีการจัดบุคลากรทำหน้าที่ดังกล่าว เช่นที่ศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ดของนาซาในรัฐแมริแลนด์ มี “ตำรวจจราจรอวกาศ” คอยเฝ้าระวังขยะอวกาศ และแจ้งเหตุเมื่อจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายดาวเทียมหลบวัตถุอันตรายที่กำลังพุ่งเข้ามา
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังมีปัญหาเรื่องการเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายในการจัดการกับปัญหาขยะอวกาศเป็นหลักแทบจะเพียงผู้เดียว ทั้งที่เมื่อปี 1959 สหประชาชาติได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการใช้พื้นที่อวกาศอย่างสันติ (COPUOS) โดยมีชาติสมาชิกทั้งหมด 85 ชาติเข้าร่วม ซึ่งรวมถึงจีนและรัสเซียด้วย แต่คาดว่าจะเป็นเรื่องยากในการเจรจาหว่านล้อมให้ชาติอื่น ๆ เข้าร่วมรับภาระในส่วนนี้อย่างจริงจัง
ปัจจุบันนี้ ยังคงมีการทดลองและคิดค้นหาวิธีในการจัดการกับขยะอวกาศกันต่อไป ในขณะที่โครงการสำรวจอวกาศก็ยังดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่อย่างน้อยก็มีการหาวิธีจัดการกับสิ่งที่ตนเองเคยทิ้งไว้เบื้องหลังจนย้อนกลับมาเป็นปัญหาในเวลาต่อมามากขึ้น ต่อจากนี้ก็ต้องคอยดูว่าอนาคตของขยะที่เกิดขึ้นจากการสำรวจอวกาศจะเป็นอย่างไรต่อไป
การลดปัญหาขยะในโลก ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดการของมนุษย์ แต่ปัญหาขยะนอกโลกที่เกิดขึ้นในอวกาศก็เป็นสิ่งที่เราไม่ควรเพิกเฉยด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
- Maya Wei-Haas. Space junk is a huge problem. www.nationalgeographic.com
- Nylon Thailand. Space Debris ขยะอวกาศ. www.nylonthailand.com
- ขยะอวกาศห่อหุ้มโลกนับล้านชิ้น จะจัดการกันอย่างไร ?. www.bbc.com
- ขยะอวกาศ (Space Junk)?. www.rmutphysics.com/
- Mark Garcia. Space Debris and Human Spacecraft. www.nasa.gov