Kind Sustain

“ไทย” ยืนหนึ่ง การพัฒนายั่งยืนอาเซียน รั้งอันดับที่ 41 ของโลก


จากผลรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนประจำปี 2020 (Sustainable Development Report 2020) ของเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) ร่วมกับมูลนิธิแบร์เทลส์มันน์ (Bertelsmann Stiftung) ได้จัดอันดับผลการดำเนินงานเพื่อตอบสนองต่อ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 ข้อ จาก 166 ประเทศทั่วโลกในปี 2020 โดยเราเลือกเปรียบเทียบผลการจัดอันดับเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ดังนี้


จากข้อมูลการจัดอันดับผลคะแนนความก้าวหน้าในกลุ่มสมาชิกอาเซียนตาม SDG Index Scores 2020 พบว่า ไทย มีอันดับสูงสุดคือ อันดับที่ 41 ด้วยคะแนน 74.54 ตามมาด้วย เวียดนาม อันดับที่ 49 คะแนน 73.80 และ มาเลเซีย อันดับที่ 60 คะแนน 71.76 ซึ่งถือว่าระดับการพัฒนาอยู่ในเกณฑ์ดี

ส่วนบรูไน อยู่ในอันดับที่ 88 คะแนน 68.15 สิงคโปร์ อันดับที่ 93 คะแนน 67.00 และ ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 99 คะแนน 65.50 ซึ่งระดับการพัฒนาอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง

ขณะที่ อินโดนีเซีย อยู่ในอันดับที่ 101 คะแนน 65.30 เมียนมา อันดับที่ 104 คะแนน 64.39 กัมพูชา อันดับที่ 106 คะแนน 64.39 และ ลาว อันดับที่ 116 คะแนน 62.06 ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังถูกจับตามองจากทั่วโลก เพราะอยู่ในอันดับที่สูงกว่า 100 ขึ้นไป

สถานะประเทศไทยอยู่ตรงไหนใน SDG Index 2020

สำหรับประเทศไทยถือว่ามีความก้าวหน้าเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับที่ดี เนื่องจากผลดัชนีการจัดอันดับการดำเนินงานของ SDGs นั้น ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และอยู่ที่อันดับที่ 41 ของโลก โดยเป้าหมายทั้ง 17 ข้อนั้น ไทยสามารถบรรลุแล้ว 1 เป้าหมายคือ “เป้าหมายที่ 1 การขจัดความยากจน” โดยตัวชี้วัดคือ เส้นความยากจนสากล และจำนวนประชากรที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ใต้เส้นความยากจนในปี 2030 ซึ่งสองตัวชี้วัดนี้แสดงผลออกมาว่าไทยอยู่ในเกณฑ์ที่บรรลุแล้ว 

จากข้อมูลดัชนีของรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนประจำปี 2020 พบว่า ปัจจุบันเส้นความยากจนสากล อยู่ที่ 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเมื่อคิดเป็นเงินบาทไทยแล้วมีค่าต่ำมาก ประมาณ 59 บาทเท่านั้น (ข้อมูลสกุลเงินจาก Morningstar และข้อมูลคริปโตเคอเรนซี (สกุลเงินดิจิทัล) จาก Coinbase) หากคิดเป็นต่อเดือนจะอยู่ที่เดือนละ 1,770 บาท ทำให้ประเทศไทยไม่มีคนจนตามเกณฑ์ความยากจนขั้นรุนแรง (Extreme Poverty) อยู่เลย จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศไทยจะสามารถผ่านเกณฑ์ในข้อนี้ได้ 

แต่หากคิดตามเส้นความยากจนของประเทศไทยในปี 2018 ซึ่งโดยเฉลี่ยคนไทยที่ยากจนปัจจุบันคือ คนที่มีรายได้น้อยกว่า 2,710 บาทต่อเดือน ประเทศไทยจะมีคนจนอยู่ราวร้อยละ 9.85 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 6.68 ล้านคน (ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจจะต้องเป็นเรื่องที่ต้องมาขบคิดกันด้วยว่า เราจะจัดการอย่างไรเพื่อให้ประเทศไทยสามารถขยัดความยากจนได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ เป้าหมายรองลงมาของการพัฒนาที่ยั่งยืนคือ “เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม” หมายถึง การศึกษาที่ทั่วถึงและมีคุณภาพ เสมอภาคทุกเพศทุกวัย พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีการอบรมสายอาชีพ และที่สำคัญที่สุดคือ เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายทุกคนต้องได้รับการศึกษาฟรีในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 

และเป้าหมายที่ไทยควรให้ความสำคัญลำดับถัดมา คือ “เป้าหมายที่ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ” เพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตในระดับที่สูงขึ้น ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน รวมถึงประเด็นเรื่องการลดสัดส่วนของเยาวชนที่ไม่มีงานทำ และไม่มีทักษะ ยุติแรงงานทาสและแรงงานเด็ก ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกกลุ่ม ส่วนเป้าหมายอื่น ๆ อีก 14 ข้อถือว่าเป็นโจทย์อันท้าทายที่ประเทศไทยยังต้องวางแผนเพื่อพัฒนาไปให้ถึงเป้าหมายด้วยเช่นกัน

จากข้อมูลทั้งหมดข้างต้น แสดงให้เห็นถึงสถานะความก้าวหน้าเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ช่วยประเมินสถานการณ์ภาพรวมของประเทศไทยได้ในระดับหนึ่ง โดยเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลกนี้จะสิ้นสุดลงในปี 2030 ซึ่งเท่ากับว่าขณะนี้มีระยะเวลาอีกประมาณ 10 ปี ที่เราจะช่วยกันผลักดันให้ประเทศไทย และประชาคมโลกก้าวเข้าสู่ความยั่งยืนในทุกมิติอย่างมั่นคง 


อ้างอิง

  • The Sustainable Development Report 2020
  • หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2563
  • Thailand Sustainable Development Report. Dashboards.sdgindex.org
  • ชล บุนนาค. SDG Insights สถานะประเทศไทยจาก SDG Index. www.sdgmove.com
  • ความยากจน: อุปสรรคขัดขวางการพัฒนาที่ยั่งยืน. www.nhrc.or.th