Kindcycle

เส้นทางใหม่ของการรีไซเคิล : เปลี่ยน “ขยะพลาสติก” เป็น “ถนน”


“ขยะล้นโลก” หนึ่งปัญหาใหญ่ของมนุษย์ที่กำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ขยะพลาสติก” ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้ จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ รายงานว่า หลายประเทศทั่วโลกมีการออกกฎห้ามใช้หรือเก็บภาษีพลาสติก เพื่อยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

สำหรับประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานข้อมูลในปี พ.ศ.2560 พบว่า มีปริมาณขยะถึง 27 ล้านตัน และเป็นขยะพลาสติกถึง 2 ล้านตัน โดยมีการใช้ถุงพลาสติกประมาณ 4.5 หมื่นล้านใบต่อปี และเมื่อเทียบกับข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ พบว่า ในแต่ละปี ทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 5 แสนล้านใบ โดยเฉพาะครึ่งหนึ่งเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ตอนนี้หลายประเทศเริ่มหาทางออกโดยการนำขยะเหล่านี้กลับไปรีไซเคิลจากแนวคิดการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านนวัตกรรมแบบใหม่คือ การแปลงขยะพลาสติกให้กลายเป็น “ถนน”



ถนนจากพลาสติก… ประเทศไหนทำแล้วบ้าง?!

ออสเตรเลีย: ถนนสายแรกในแทสมาเนีย สร้างจากขยะถุงพลาสติกและขวดแก้ว 

สภาเทศบาลนคร Kingborough ร่วมกับบริษัท Downer ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและสร้างสรรค์สาธารณูปโภค และบริษัทที่มีความชำนาญด้านการจัดการทรัพยากรและการรีไซเคิล อย่าง Close the Loop และ RED Group พร้อมใจร่วมมือกันสร้างสรรค์เกณฑ์มาตรฐานใหม่ของความยั่งยืน

โดยการสร้างถนนสายแรกที่มีส่วนประกอบของเศษขยะ อย่างถุงและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนจำนวน 173,600 ชิ้น และแก้วจำนวน 82,500 ชิ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการนำตลับหมึกใช้แล้วจำนวน 5,900 ชิ้น และยางมะตอยที่รีไซเคิลแล้วกว่า 33 ตัน ขยะทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อผลิตยางมะตอย 33 ตัน สำหรับตัดถนน Carlton Street ในเมือง Snug ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมทางวิศวกรรมโยธาในยุคปัจจุบันที่มีการนำสิ่งของเหลือใช้และเศษขยะมาผสมเข้ากัน เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมให้มากที่สุด

Photo Credit: www.bargkokbiznews.com


Richard Atkinson สมาชิกสภาซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโซลูชันด้านการรีไซเคิลและรียูส กล่าวว่า “เป็นเรื่องยินดีที่ได้เห็นหน่วยงานเทศบาลพัฒนาความร่วมมือกับองค์กรที่มีความก้าวหน้า สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเทศบาลนคร Kingborough ในการลดปริมาณขยะและพยายามหาวิธีแก้ปัญหาขยะอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม”

สกอตแลนด์: นำ “ขยะพลาสติก” มาทำถนน แถมทนทานกว่าเดิม 60 เปอร์เซ็นต์

ตามปกติส่วนผสมของการทำถนนลาดยางจะประกอบไปด้วย หินและทรายประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ รวมกับน้ำมันดิบอีก 10 เปอร์เซนต์ จึงเกิดเป็นยางมะตอยที่ใช้ลาดถนนทั่วไป แต่วิธีการของ MacRebur คือการนำเศษขยะพลาสติกมาหลอมรวมเป็นเม็ดเล็ก ๆ เพื่อให้เป็นวัตถุดิบหนึ่งในการผลิตยางมะตอย ก่อนจะนำไปอัดเข้ากับหินและทราย ทำให้ยางมะตอยสูตรนี้ สามารถลดปริมาณการใช้น้ำมันดิบลงได้เป็นอย่างมาก


MacRebur ยืนยันว่า ยางมะตอยจากเม็ดพลาสติกนี้ ทำให้ถนนทนทานต่อแรงกระเเทกมากกว่าเดิมถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และสามารถใช้งานได้ยาวนานกว่าเดิมถึง 10 เท่า ที่สำคัญยังช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดหลุมบ่อได้เป็นอย่างดี ปัจจุบัน MacRebur ที่ตั้งอยู่ในเมืองล็อกเกอร์บี ประเทศสกอตแลนด์ กำลังคิดโปรเจกต์ใหญ่ ในการปูถนนพลาสติกทั่วโลก ตั้งแต่ทางหลวงในอังกฤษไปจนถึงถนนในซานดิเอโก โดยโทบี้ แม็คคาร์ทนีย์ ผู้ก่อตั้งบริษัท กล่าวว่า

“ผมเชื่อเช่นนั้น มันไม่ใช่สิ่งที่ใครจะมากำหนดว่ามันมีไว้เพื่อฝังกลบหรือเพื่อเผา เพราะเราสามารถนำพลาสติกทั้งหมดนั้นมาใช้ได้และเราจะรีไซเคิลมันในถนนของเรา”


อินเดีย: สร้างถนนจากขยะพลาสติก 9,700 ตัน ช่วยลดขยะ พร้อมสร้างรายได้ให้ชุมชน

ประเทศอินเดียก็ประสบกับปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองเช่นกัน โดยคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2563 การบริโภคพลาสติกต่อปีของอินเดียอาจจะสูงถึง 20 ล้านตัน ดังนั้นเทศบาลเมือง Panchayat ในรัฐ Kerala ประเทศอินเดีย จึงคิดโครงการนำขยะพลาสติกมาใช้เป็นวัสดุสำหรับสร้างถนน โดยได้แนวคิดมาจากวิทยาลัย Ernakulam ที่ทดลองใช้พอลิเมอร์เหลือทิ้งมาใช้ทำถนนภายในวิทยาลัย 

Renjith Abraham อดีตนายกเทศมนตรีเมืองจึงเข้าไปปรึกษากับกรมโยธาธิการ Public Works Department (PWD) เพื่อขอความรู้ด้านเทคนิค โดยเริ่มจากการนำพลาสติกมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผสมกับยางมะตอย โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดกลุ่ม Kudumbashree ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนในเมือง Kerala โดยสมาชิกในกลุ่มจะเดินไปเคาะประตูบ้านแต่ละหลัง เพื่อขอพลาสติกที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น โฟม ภาชนะใส่อาหาร ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ฝาขวด หรือท่อพีวีซี เป็นต้น

จากการศึกษาพบว่า คุณภาพของถนนที่ทำจากพลาสติกไม่ได้ลดลง ตรงกันข้ามกลับทำให้เนื้อของถนนยึดติดกันดี รวมทั้งช่วยลดความเสียหายของถนนจากการกัดเซาะของน้ำ จึงช่วยยืดอายุการใช้งานของถนนให้ยาวนานขึ้น การใช้พลาสติกเข้ามาร่วมเป็นวัสดุในการทำถนน ช่วยให้ลดการใช้ยางมะตอยไปกว่า 8 เปอร์เซ็นต์ จึงช่วยลดต้นทุนและลดทรัพยากรจากใช้ปิโตรเลียมที่กำลังเป็นวัสดุหายากได้

“หน่วยงานรัฐติดตั้งเครื่องหั่นย่อยพลาสติกหลายแห่งในเมือง โดยสามารถย่อยพลาสติกไปแล้วถึง 9,700 ตัน ใช้ทำถนนได้ 246 กิโลเมตร แต่ปัจจัยที่จะทำให้การทำงานทั้งหมดมีประสิทธิภาพมากที่สุด ก็คือ การคัดแยกขยะที่ต้นทาง” Renjith กล่าว


ประเทศไทย: ทดลองพัฒนาเทคโนโลยี ทำถนนจากพลาสติกรีไซเคิล


กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ร่วมกับเอสซีจี ได้พัฒนาเทคโนโลยีทำถนนจากพลาสติกรีไซเคิล โดยทดลองในพื้นที่เอกชนหลายแห่ง เช่น นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล จ. ระยอง และนิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ จ. ชลบุรี เป็นต้น เพื่อขยายผลไปสู่ถนนภาครัฐผ่าน “โครงการศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหลือใช้ เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตสำหรับงานทาง” ซึ่งร่วมมือกันระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทาวหลวงชนบท กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เอสซีจี และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นการตอบโจทย์การส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี การแก้ปัญหาพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า 

โครงการดังกล่าว ได้มีการศึกษางานวิชาการ รวมถึงผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้เข้ามาร่วมศึกษาและสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานการนำพลาสติกเหลือใช้มาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีต พบว่า การผสมพลาสติกเหลือใช้ 8-10 เปอร์เซ็นต์ สามารถช่วยลดการใช้ยางมะตอย ลดต้นทุน และถนนมีความแข็งแรงทนทานเท่ากับหรือดีกว่าเดิม ซึ่งหากโครงการฯ สำเร็จ จะสามารถขยายผลไปสู่การทำถนนในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยต่อไป และหากเป็นโครงการระยะยาวจะลดต้นทุนไปได้หลายหมื่นล้านบาท

“สิ่งสำคัญคือ ทำให้ประชาชนเห็นว่า หากเราคัดแยกขยะ ขยะเหล่านี้สามารถนำมาทำถนนได้ และไม่ต้องจบที่หลุมฝังกลบ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการคัดแยกขยะ ยิ่งคัดแยกที่ต้นทางได้ยิ่งดี เป้าหมายของกลุ่มบริษัทดาว คือ หยุดขยะพลาสติกไม่ให้หลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม การร่วมมือกับหน่วยงานที่มีแนวคิดแบบเดียวกันจะสามารถเพิ่มผลกระทบเชิงบวกได้” ฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหารกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าว


ที่มา


เรื่องโดย