- จากข้อมูลการนำเข้าขยะพลาสติกในกลุ่มประเทศอาเซียนปี 2018 ของกรีนพีซ พบว่า “มาเลเซีย” เป็นประเทศที่นำเข้าขยะพลาสติกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 จำนวนถึง 872,798 ตัน อันดับที่ 2 คือ “เวียดนาม” จำนวน 492,839 ตัน และอันดับที่ 3 คือ “ไทย” จำนวน 481,381 ตัน
- ประเทศที่ส่งออกขยะพลาสติกมาสู่ประเทศในกลุ่มอาเซียนมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ “สหรัฐอเมริกา” จำนวน 439,129 ตัน “ญี่ปุ่น” จำนวน 430,064 ตัน และ “ฮ่องกง” จำนวน 149,516 ตัน ตามลำดับ
ทำไมขยะทั่วโลก ถึงมารวมตัวกันที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้?
ในทุก ๆ ปีจะมีการผลิตพลาสติกราว 400 ล้านตันทั่วโลก เพราะเรามักใช้พลาสติกกับทุกอย่าง ตั้งแต่ขวดน้ำ บรรจุภัณฑ์ของอาหาร ไปจนถึงถุงใส่ของจากห้างสรรพสินค้า พลาสติกจึงกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันไปโดยปริยาย แต่จะเกิดอะไรขึ้นกับ “ขยะพลาสติก” หลังจากที่เราทิ้งไป สิ่งที่หลาย ๆ คน อาจจะยังไม่เคยรู้ก็คือ ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก ส่วนใหญ่จะถูกส่งมายังประเทศแถบ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
จากข้อมูลเชิงสถิติของกรีนพีซ (Greenpeace) ให้ข้อมูลไว้ว่า ในระหว่างปี 2016 – 2018 พบว่า การนำเข้าขยะพลาสติกในอาเซียนเติบโตถึงร้อยละ 171 จาก 836,529 ตัน เป็น 2,231,127 ตัน โดยอันดับ 1 ที่มีการนำเข้าขยะพลาสติกมากที่สุดในช่วง 2016 – 2018 คือ “มาเลเซีย” ซึ่งมีปริมาณมากกว่า 870,000 ตัน โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในเวลาเพียง 2 ปี
“ปีนัง” เป็นเมืองท่าหลักทางตอนเหนือของมาเลเซีย ตู้สินค้าหลายร้อยตู้ที่อัดแน่นด้วยขยะพลาสติกมีจุดหมายปลายทางคือท่าเรือแห่งนี้ เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะตรวจสอบอย่างเข้มงวดก่อนที่จะนำเข้าประเทศ ตัวอย่างขยะที่ส่งมาจากประเทศญี่ปุ่น เป็นพลาสติกที่ใช้งานแล้ว พร้อมทำความสะอาดและจัดการมาอย่างเหมาะสม ถือเป็นการนำเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย สามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ แต่หลายครั้งพลาสติกนำเข้ามาในรูปแบบของขยะสกปรก และปะปนกับขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ การนำเข้ามาแบบนี้ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งกำลังพบเป็นจำนวนมากในมาเลเซีย
ลักษณะข้างต้นถือว่าเป็นเพียงปัญหาส่วนแรก หากยิ่งมองลึกลงไปจะเห็นได้ชัดว่า สิ่งเหล่านั้นคือ ขยะชุมชนจำนวนมากซึ่งถูกส่งมายังบริษัทท้องถิ่น โดยขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ก็จะถูกนำไปรีไซเคิลตามขั้นตอน ส่วนขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ก็จะถูกทิ้งเปล่าไว้ในมาเลเซียและปีนัง เป็นกองขยะพลาสติกขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
“การส่งออกขยะของคุณไปยังประเทศอื่นไม่ใช่เรื่องดี ขยะพลาสติกผิดกฎหมายจำนวนมากหลุดรอดไปจากด่านตรวจและถูกส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของประเทศ ปัญหาที่ตามมาคือ ปัญหาน้ำสกปรกที่เกิดจากการล้างขยะพลาสติก การทำลายขยะพลาสติกโดยการเผาทิ้ง ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศทำให้ผู้คนจำนวนมากที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง เสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจอย่างรุนแรง เพราะบริษัทกำจัดขยะไม่ได้กังวลถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่กลับมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือ การทำเงิน” – บทสัมภาษณ์ของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในมาเลเชีย
– สำนักข่าว NHK World –
นอกจากนี้ จีนซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของโลกในการนำเข้าขยะพลาสติก แต่ในช่วงต้นปี 2018 จีนออกระเบียบใหม่ โดยสั่งห้ามไม่ให้นำเข้าขยะพลาสติก เพื่อลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม บรรดาบริษัทรีไซเคิลที่ได้รับผลกระทบจนไม่อาจทำธุรกิจในบ้านเกิดได้ จึงย้ายมาสร้างโรงงานที่มาเลเซีย ซึ่งมีคนพูดภาษาจีนอยู่จำนวนมาก แม้ว่าทางรัฐบาลมาเลเซียจะดำเนินการปราบปรามโรงขยะผิดกฎหมายไปบ้างแล้วกว่า 200 แห่ง และสั่งให้ปิดตัวลง แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ยังเข้ามา จนหน่วยงานรัฐบาลไม่สามารถรับมือได้อย่างครอบคลุม ล่าสุดในช่วงเดือนมกราคม ปี 2020 ทางมาเลเซียได้ประกาศส่งคืนตู้สินค้ากว่า 150 ตู้ ที่บรรจุขยะผิดกฎหมายส่งกลับคืนไปยัง 13 ประเทศ และมีการวางแผนตรวจสอบการนำเข้าให้รัดกุมยิ่งขึ้น
ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ขับเคลื่อนโดยเศรษฐกิจ เนื่องจากต้นทุนการผลิตพลาสติกในขั้นตอนแรกนั้นราคาค่อนข้างสูง พร้อมกันนั้นการรีไซเคิลต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก และค่าแรงงานก็สูงมากเช่นกันในประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ แทนที่แต่ละประเทศจะรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศตัวเอง ประเทศเหล่านี้จึงเลือกที่จะขนส่งขยะพลาสติกไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา นั่นก็คือประเทศในแถบอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม หรือไทย เป็นต้น เนื่องจากมีต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่านั่นเอง
Photo Credit: Lucien wanda/ Pexels
ผลกระทบที่ได้รับ กับการจัดการวิกฤตขยะล้นอาเซียน
ปัญหาใหญ่อีกหนึ่งข้อของการมีขยะพลาสติกจำนวนมากคือ ขยะพลาสติกไหลลงไปสู่มหาสมุทร ส่งผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล ทำให้สิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเลถูกทำลาย หนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักที่สุดคือ “อินโดนีเซีย” แต่ถึงอย่างนั้นอินโดนีเซียกลับมีปริมาณการนำเข้าขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมของขยะทุกรูปแบบ ทว่ากลับไม่มีการคัดแยกขยะ อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานในการกำจัดขยะยังเข้าขั้นวิกฤต เพราะในประเทศไม่มีเตาเผาขยะแม้แต่เตาเดียว พนักงานคัดแยกขยะต้องคัดแยกด้วยมือท่ามกลางกลิ่นคละคลุ้ง
แม้ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเล แต่หากมองให้ลึกถึงปลายทาง “มนุษย์” ถือว่าได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพราะสุดท้ายแล้วขยะพลาสติกจะกลายเป็นไมโครพลาสติกในมหาสมุทร ซึ่งสามารถเข้าไปอยู่ในปลา รวมถึงสัตว์ทะเลอื่น ๆ ที่พวกเราบริโภค สิ่งที่น่าสะพรึงคือ พวกเราไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วสิ่งนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อสุขภาพมนุษย์ และเมื่อถึงจุดหนึ่งในอนาคต เราจะมองย้อนกลับมาและพูดว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้นคือ ต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับนุษย์ทั้งหมด” ปัญหานี้จึงเป็นประเด็นที่ประชาคมอาเซียนควรให้ความสำคัญ พร้อม ๆ กับร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้สร้างกฎหมายข้อบังคับของตนเองขึ้น เพื่อการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพพอที่จะรับมือกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น โดยไทยประกาศเจตนารมณ์ว่าจะห้ามนำเข้าขยะพลาสติกภายในปี 2021 ด้านมาเลเซียยุติการให้ใบอนุญาตใหม่สำหรับการนำเข้าขยะพลาสติก และจัดการกับการนำเข้าที่ผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับเวียดนาม พร้อมกันนั้นยังมีการพิจารณาเรื่องการลงสัตยาบันอนุสัญญาบาเซล (Basel Convention) ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศซึ่งมุ่งหมายจะลดการเคลื่อนย้ายของเสียอันตราย (Hazardous Waste) จากรัฐหนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง โดยเป็นอนุสัญญาฉบับแก้ไขที่เข้มงวดมากขึ้น
“เราต้องการให้ประเทศอุตสาหกรรมได้รู้ว่า ประเทศที่ยากจนกว่ากำลังเผชิญกับปัญหา เพราะขยะพลาสติกของพวกคุณ”
– นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในมาเลเซีย –
ที่มา
- Plastic Wasteland in Southeast Asia. www3.nhk.or.jp
- Greenpeace. Southeast Asia’s Struggle Against the Plastic Waste Trade. https://storage.googleapis.com
- ASEAN Waste Crisis: เจ้าหญิงแห่งกองขยะอินโดนีเซีย. https://news.thaipbs.or.th/
- ไทยนำเข้าขยะพลาสติก 481,381 ตัน/ปี สูงสุดเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน. www.bltbangkok.com