Kind Sustain

จะเป็นอย่างไร หากเมืองที่เราอาศัยอยู่เต็มไปด้วย “นักปั่น” ?


เมืองที่คู่ควรกับจักรยาน
 ⊙—⊙

ภาพการสัญจรกันอย่างขวักไขว่ด้วยจักรยานบนท้องถนนในโคเปนเฮเกน เป็นที่คุ้นตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่มีโอกาสไปเยือนเมืองหลวงของเดนมาร์ก เมืองที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นมิตรกับจักรยานมากที่สุดในโลก

เด็ก ๆ ในโคเปนเฮเกนจะได้รับการสอนให้ปั่นจักรยานก่อนที่พวกเขาจะเข้าโรงเรียนด้วยซ้ำ ด้วยมาตรการที่เป็นมิตรกับจักรยานของเมืองนี้ ทำให้ชาวโคเปนเฮเกนเกือบครึ่งเดินทางไปทำงานด้วยจักรยาน นักปั่นสามารถใช้เส้นทางจักรยานที่กำหนดไว้ 390 กิโลเมตร (ประมาณ 242 ไมล์) และตอนนี้โคเปนเฮเกนมี Cycle Super Highway ซึ่งเชื่อมต่อกับเมืองอัลเบิร์ตสลุนด์ (Albertslund) พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายระหว่างทาง เช่น สัญญาณไฟจราจรกำหนดเวลาให้ใช้ความเร็วในการปั่นจักรยานโดยเฉลี่ยเพื่อลดการหยุดให้น้อยที่สุด และสถานีปั๊มลมยาง เป็นต้น


ขณะที่ อัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์กลายเป็นเมืองที่แน่นขนัดไปด้วยจักรยาน มีจักรยานมากกว่า 800,000 คัน นั่นหมายความว่ามีจักรยานมากกว่าคนที่อาศัยอยู่ในเมือง ถนนที่ค่อนข้างราบเรียบมักเต็มไปด้วยจักรยาน ผู้คนสัญจรโดยใช้จักรยานเป็นพาหนะหลัก ว่ากันว่าหากใครไปเยือนอัมสเตอร์ดัมแล้วไม่ได้ลองปั่นจักรยานถือว่ามาไม่ถึง!

แม้แต่พอร์ตแลนด์ แห่งรัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา ยังขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีระบบเช่าจักรยานสาธารณะที่ถือว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากมีนโยบายการจัดการเพื่ออำนวยความสะดวกในการเช่าจักรยาน ทั้งตู้เก็บของจักรยาน ชั้นเรียนปั่นจักรยาน และคู่มือมารยาทในการใช้ถนน ซึ่งแม้จำนวนการใช้จักรยานของชาวพอร์ตแลนด์ยังเทียบไม่ได้กับฝั่งยุโรป แต่พอร์ตแลนด์ก็พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยให้ประชาชนเดินทางไปมาได้อย่างปลอดภัยด้วยการเดินทางสองล้อหรืออย่างโตเกียว เมืองหลวงแห่งญี่ปุ่น

แม้จะมีผู้ใช้จักรยานเป็นพาหนะหลักในการเดินทางเพียง 14 เปอร์เซ็นต์ของผู้เดินทางทั้งหมดในโตเกียว ซึ่งดูจะเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับ 50 เปอร์เซ็นต์ของโคเปนเฮเกน แต่ก็น่าประทับใจเมื่อพิจารณาว่าเมืองโตเกียวมีขนาดใหญ่และจำนวนคนหนาแน่นเพียงใด


ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่เลือกปั่นจักรยานสามารถเพลิดเพลินกับที่จอดรถกว้างขวาง และเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัย นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังขึ้นชื่อเรื่องการผลิตจักรยานสุดล้ำเหนือกาลเวลาอีกด้วย

จักรยาน ยานพาหนะทางเลือกของคนเมือง
⊙—⊙

กลับมาที่บ้านเรา หลายครั้งหลายหนที่ “จักรยาน” ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในวิธี “แก้ไข” ปัญหาสังคมเมือง อันเต็มไปด้วยความวุ่นวายของสภาพการจราจรติดขัด ฝุ่นพิษ PM 2.5 และสารพัดปัญหาบนท้องถนนขณะที่

ปัจจุบันในเขตกรุงเทพมหานครทั้งชั้นในและชั้นนอก ความเจริญด้านคมนาคมอย่างโครงการรถไฟฟ้าต่าง ๆ เริ่มมีระบบเครือข่ายแทบจะทุกเขตพื้นที่ แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่คือการเดินทางในช่วงต่อแรก (First Mile) และ ต่อสุดท้าย (Last Mile) ที่ขนส่งสาธารณะยังเข้าไม่ถึง เนื่องจากแผนผังกรุงเทพฯ ไม่ได้ออกแบบมาให้เอื้อต่อระบบขนส่งสาธารณะโดยตรง จักรยานจึงเป็นหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจในการเข้ามาปิดช่องโหว่ปัญหาการจราจรในตัวเมือง


ไม่เพียงเท่านั้น แนวโน้มธุรกิจจักรยานในไทยมีทิศทางไปในทางที่ดี รายงานจาก บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออร์กาไนเซอร์ จำกัด หรือ นีโอ ระบุว่า มูลค่าธุรกิจจักรยานของไทยในปี พ.ศ. 2561 อยู่ที่ 7,500 ล้านบาท แบ่งออกเป็นจักรยาน 4,500 ล้านบาท และอุปกรณ์ต่าง ๆ 3,000 ล้านบาท โดยเทรนด์ของจักรยานเสือหมอบและจักรยานไฟฟ้า (E-Bike) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จากบรรดานักปั่นที่ชื่นชอบเทคโนโลยี และนวัตกรรมของจักรยานรุ่นใหม่ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในทศวรรษนี้


แม้อัตราการใช้จักรยานของชาวกรุงจะมีเพียง 0.25 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 14,000 คน จาก 5.6 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมือง (จากผลสำรวจดัชนีเมืองจักรยาน ค.ศ. 2019 จัดทำโดย Coya) แต่ความหวังที่จะเห็นกรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองจักรยานคงไม่ไกลเกินไปนัก

ในวันที่ 22 กันยายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันปลอดรถโลก หรือ World Car Free Day กรุงเทพฯ ได้จัดกิจกรรม Bangkok Car Free Day เพื่อเชิญชวนคนใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรือรถจักรยานแทนรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดีในทุก ๆ ปี ขณะเดียวกันก็ได้รับข้อเรียกร้องจากประชาชนให้ปรับปรุงเส้นทางจักรยานให้ดีขึ้น เนื่องจากบางจุดยังไม่เอื้อต่อการใช้จักรยาน มีรถยนต์จอดกีดขวางเส้นทาง และถนนขรุขระ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยกรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนพัฒนา กทม. ระยะ 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2575 มุ่งแก้ไขปัญหาด้านการจราจร เพื่อให้ประชาชนเดินทางด้วยความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย โดยเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมทั้งรณรงค์ให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น

พัฒนาเมืองให้ยั่งยืนด้วยนักปั่นสองล้อ
⊙—⊙

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต่างผลักดันให้เกิดการใช้จักรยานมากขึ้นในเขตเมือง ทั้งสำรวจเส้นทางจักรยานเพื่อจัดทำเส้นทางปั่นจักรยานทั่วไทย หรือนโยบายส่งเสริมใช้รถจักรยาน

ด้านสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. มีแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้จักรยานในเมือง เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยมีแผนการดำเนินการ ประกอบด้วย การจัดทำเส้นทางจักรยานให้มีความสะดวก ปลอดภัย และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การจัดจุดจอดจักรยานให้เพียงพอและมีความปลอดภัย ด้วยการปรับจุดจอดจักรยานให้อยู่ในมุมมองของกล้องวงจรปิด (CCTV) ของกรุงเทพมหานคร การขยายพื้นที่ให้บริการจักรยานสาธารณะ เน้นการเชื่อมต่อการเดินทางล้อ ราง เรือ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้จักรยานร่วมกับภาคีเครือข่ายและชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ

ขณะเดียวกันได้ศึกษา สำรวจ และออกแบบเส้นทางจักรยานเดิม เพื่อปรับปรุงเส้นทางจักรยานให้สามารถใช้งานได้สะดวกและปลอดภัย โดยจัดทำเส้นสัญลักษณ์ ติดตั้งป้ายเตือน และป้ายแนะนำเพิ่มเติม ซึ่งในเส้นทางจักรยานใหม่ได้ร่วมหารือแนวทางกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนในการเสนอแนวคิดการพัฒนาเส้นทางจักรยาน เพื่อจัดทำแผนเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางจักรยานให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักปั่นชาวไทยส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกลุ่มของคนรักสุขภาพ ยังไม่ขยายสู่กลุ่มคนทั่วไป เนื่องด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทั้งถนนที่ไม่เอื้อต่อการปั่นจักรยานและการบังคับใช้กฎจราจรอย่างเข้มงวด ยังคงเป็นอุปสรรคหลัก ๆ ที่ทำให้หลายคนมองผ่านการใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทาง

การที่คนจะเปลี่ยนมาใช้จักรยานได้นั้นต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย เมื่อเทียบกับต่างประเทศ อย่างฝั่งยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษ ต่างพยายามเปลี่ยนถนนในเขตเมืองให้สะดวกต่อการเดินทางด้วยเท้าและจักรยาน เพื่อสนับสนุนให้คนลดการใช้รถยนต์และใช้วิธีการเดินทางที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ดังนั้น หากกรุงเทพฯ ต้องการเปลี่ยนเป็นเมืองยั่งยืน การออกแบบและพัฒนาถนนหนทางในเขตเมืองเพื่อเอื้ออำนวยต่อการเดินทางด้วยเท้าและจักรยานจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด


ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่มุ่งเน้นความสำคัญและกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) หนึ่งในนั้นคือ การออกแบบเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งการจัดผังเมืองที่เอื้ออำนวยจะมีส่วนส่งเสริมให้คนหันมาใช้จักรยานแทนรถยนต์มากขึ้น และเป็นการส่งเสริมการออกกำลังกายด้วย ขณะเดียวกันการออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อการใช้จักรยานก็เป็นการส่งเสริมให้คนหันมาใช้จักรยานด้วยเช่นกัน

การพัฒนาเมืองให้ยั่งยืน คือการสร้างเมืองน่าอยู่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งการแก้ไขปัญหาความยากจน แก้ปัญหาที่อยู่อาศัย รวมถึงการแก้ปัญหาการจราจรโดยนำจักรยาน พาหนะทางเลือกมาใช้ในเมือง ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเมืองสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง


ที่มา

  • Global Bicycle Cities Index 2019. www.coya.com/bike
  • 15 of the World’s Most Bike-Friendly Cities. www.mentalfloss.com
  • ‘นีโอ’ ชี้ เทรนด์ปั้นเพื่อสุขภาพยังแรง เสือหมอบ-อีไบค์มาแรง ดันตลาดจักรยานปีนี้ฟื้นแน่ คาดโตขึ้น 5 %. www.siamturakij.com

เรื่องโดย