Kind Sustain

เมื่อเมืองใหญ่เตรียมเปลี่ยนถนนพลุกพล่าน สู่ถนนเป็นมิตรต่อนักปั่นและคนเดินเท้า


โบโกตา ต้นแบบเมืองจักรยาน

การมองไปรอบ ๆ โบโกตา เมืองหลวงแห่งโคลอมเบีย อาจเป็นประสบการณ์แบบ สุดขั้วสองแบบในคนเดียว (Jekyll and Hyde) เพราะในแง่หนึ่งเมืองนี้มีภาพลักษณ์การจราจรแย่ที่สุดในโลก แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการปั่นจักรยาน ซึ่งถือเป็นแบบอย่างของเมืองยั่งยืน ตามดัชนีโคเปนเฮเกน (Copenhagenize Index) ที่จัดอันดับเมืองที่เป็นมิตรกับจักรยาน

นอกจากนี้ ในเมืองหลวงของโคลอมเบียยังเกิดการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า ซิโคลเวีย (Ciclovia) หรือการปิดถนนห้ามรถวิ่งทุกวันอาทิตย์ ที่เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1970 มีผู้คน 1.5 ล้านคนสัญจรอย่างปลอดรถยนต์ในระยะทาง 128 กิโลเมตร หรือ 80 ไมล์


ดังนั้น เมื่อการระบาดของโรค COVID-19 เกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 เกลาเดีย โลเปซ นายกเทศมนตรีหญิงแห่งโบโกตา ซึ่งเธอเป็นนักปั่นจักรยานตัวยงด้วย จึงออกโครงการแรกของโลกที่จะส่งเสริมการเดินทางด้วยจักรยาน โดยใช้กรวยจราจรสร้างช่องทางชั่วคราวระยะทาง 76 กม.


“ทุกคนเริ่มใช้จักรยาน และพวกเขาก็รู้ว่าจะเดินทางไปที่ใด เพราะเรามีวัฒนธรรมจักรยานแบบนี้ ต้องขอบคุณกิจกรรมซิโคลเวีย” คาร์ลอส ปาร์โด ผู้สนับสนุนการปั่นจักรยานในพื้นที่และที่ปรึกษาอาวุโสของ New Urban Mobility Alliance กล่าว

ปาร์โด เข้ามามีส่วนร่วมในช่วงแรก ๆ ที่เกิดการแพร่ระบาด โดยร่วมมือกับบริษัทจักรยานในพื้นที่เพื่อจัดหาจักรยานไฟฟ้าฟรี 400 คัน ให้กับเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ และตอนนี้เขาก็กำลังโน้มน้าวใจประชาชนว่า ช่องทางจักรยานใหม่ของรัฐควรกลายเป็นทางจักรยานถาวร

“คนขับรถบางคนบอกว่า ‘คุณเอาเลนของเราไป’ แต่เรากำลังบอกว่า เราใช้เลนรถยนต์ไป 1 เลน และสร้างเลนจักรยานแบบ 2 ทิศทาง 2 เลน” เขาอธิบาย “นี่คือการเพิ่มประสิทธิภาพของพื้นที่ และเคลื่อนย้ายผู้คนต่อชั่วโมงต่อทิศทางเพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ จากการสนับสนุนของปาร์โดและการดำเนินการอย่างรวดเร็วโดยสำนักเลขาธิการการเคลื่อนไหวของโบโกตา ทำให้การขยายช่องทางจักรยานใหม่ตอนนี้อยู่ที่ 84 กม. โดยรัฐบาลกล่าวว่าอย่างน้อย 65 กม. ของเลนใหม่จะกลายเป็นเส้นทางจักรยานถาวร


COVID-19 ส่งผลให้คนหันมาใช้จักรยานมากขึ้น

การปั่นจักรยานได้รับความสนใจอย่างมากในยุคเรเนสซองส์ (Renaissance ค.ศ. 1450 – 1600) เนื่องจากชาวเมืองหลีกเลี่ยงระบบขนส่งสาธารณะแล้วเดินทางด้วยรถจักรยานสองล้อเพื่อความปลอดภัย ขณะนี้ผู้สนับสนุนหลายคนอย่าง ปาร์โด กำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นด้วยความหวังว่าจะทำให้มาตรการรับมือการระบาดของโรคเหล่านี้กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ซึ่งตอนนี้มีความเป็นไปได้มากกว่าที่เคยมีมา หลังจากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้เกิดโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนในการทดลองโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็ว

ผลของการทดลองวางผังเมืองเหล่านี้ไม่เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการเดินทางในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างสิ้นเชิง แต่ยังทำให้พวกเขามีความยืดหยุ่นมากขึ้นต่อเหตุการณ์อันคาดไม่ถึงในอนาคต


ทาบิธา คอมบ์ส อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ณ เมืองชาเพลฮิลล์ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติในท้องถิ่นที่ส่งผลต่อการเดินและการปั่นจักรยานในช่วงที่มีการระบาด โดยระบุว่า มีเมืองทั่วโลกอย่างน้อย 365 เมือง จัดสรรพื้นที่ถนนใหม่สำหรับกิจกรรมเหล่านี้

บางเมืองสร้างช่องทางจักรยานแบบป๊อปอัพ (Pop-up) ขณะที่เมืองอื่น ๆ ทำให้การสัญจรบนถนนช้าลง โดยการสร้างสิ่งกีดขวางชั่วคราวและลดการจำกัดความเร็ว เพื่อให้คนเดินถนนและนักปั่นสามารถใช้ถนนร่วมกับยานพาหนะอื่น ๆ ได้ อย่างที่เมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ และแคลิฟอร์เนียแห่งสหรัฐอเมริกา ได้รับเครดิตจากการเริ่มต้นการเคลื่อนไหวแบบช้า ๆ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2020 ซึ่งได้แพร่หลายไปทั่วสหรัฐฯ หลังจากกำหนดไว้ที่ 74 ไมล์ หรือ 119 กม. ส่วนในยุโรป ปารีสติดตามแผนการสร้างทางจักรยานแบบชั่วคราวและถาวรระยะทาง 650 กม. ในขณะที่โรมเปิดตัวทางจักรยาน 150 กม.

อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ยังคงมีผู้ไม่เห็นด้วย อย่างเบอร์ลินเมืองหลวงของเยอรมนี ถูกบังคับให้ยกเลิกเส้นทางจักรยานที่ใช้งานอย่างเร่งรีบ 8 เส้นทางในเดือนกันยายน ค.ศ. 2020 หลังจากศาลตัดสินว่าเมืองนี้ล้มเหลวจากหลักฐานว่า ถนนที่สร้างขึ้นนั้นเป็นอันตรายต่อนักปั่นจักรยาน ขณะที่นิวยอร์กซิตี้ยังต่อสู้กับการบังคับใช้ ซึ่งต้องอาศัยคนในชุมชนและหน่วยงานในการบังคับใช้กฎหมาย “หากคุณต้องพึ่งพาการตรวจตรา แผนของคุณอาจจะไม่ได้ผล และแม้จะได้ผลก็จะไม่เท่าเทียมกัน” คอมบ์ส กล่าว

สร้าง “ถนนช้าลง” กระตุ้นให้คนใช้จักรยาน

ซานดรา คาบาลเลโร ผู้เชี่ยวชาญโครงการด้านการเคลื่อนที่ในเมืองจาก World Economic Forum กล่าวว่า “อีกปัญหาหนึ่งที่มีมานานคือ

โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางจักรยานมักเกิดขึ้นเฉพาะในเมืองที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจเฟื่องฟู นั่นหมายความว่าย่านและชุมชนที่ยังไม่เจริญนั้นจะไม่ได้รับประโยชน์ ดังนั้นคุณจึงเห็นความไม่เท่าเทียมกันและนั่นคือปัญหาสำคัญ


คาบาลเลโร ทำงานกับสำนักงานนายกเทศมนตรีในโอ๊คแลนด์ เพื่อดำเนินการตามโครงการ “ถนนช้าลง” ติดป้ายรวบรวมข้อมูลแจ้งให้เพื่อนบ้านทราบเกี่ยวกับกระบวนการและส่งเสริมการตอบรับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเธอเชื่อว่าสิ่งนี้จะเห็นผล เพราะถูกสร้างขึ้นอย่างยุติธรรม

โครงสร้างพื้นฐานใหม่สำหรับการปั่นจักรยานมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการเดินทางแบบกลางแจ้งที่ห่างไกลจากสังคม ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด COVID-19 ยอดค้าปลีกจักรยานเพิ่มขึ้น 75% ในสหรัฐฯ และ 63% ในสหราชอาณาจักร กระนั้นได้มีการสนับสนุนให้คนหันมาปั่นจักรยานเป็นเวลานานแล้ว เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนและลดปริมาณการใช้รถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 54% ของการเดินทางในสหรัฐฯ และ 68% ของการเดินทางในอังกฤษ มีระยะทางน้อยกว่า 5 ไมล์

แน่นอนว่าการใช้จักรยานเป็นเรื่องเข้าถึงง่ายในสภาพอากาศปัจจุบัน คำถามต่อมาคือ เมืองต่าง ๆ จะให้ประชากรของพวกเขาอยู่บนอานจักรยานได้นานแค่ไหนเมื่อวิกฤตไวรัสโคโรนาผ่านไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความกระตือรือร้นของหลายเมืองลดลงไปบ้างแล้ว ซึ่งรายงานใหม่จาก RAC บริษัทพัฒนาบริการยานยนต์แห่งสหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นว่า การเข้าถึงรถยนต์ยังคงมีความสำคัญ


เปลี่ยนพฤติกรรมคนขับรถยนต์ให้กลายเป็นนักปั่น

ด้าน แฮร์รี่ ปราปาเวสซิซ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการออกกำลังกายและจิตวิทยาสุขภาพที่ Western University ของแคนาดา ระบุว่า มีปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ประสิทธิภาพความปลอดภัย และค่าใช้จ่าย เมืองต่าง ๆ จำเป็นต้องเติมเต็มช่องว่างในเครือข่ายจักรยาน และดูแลโครงสร้างพื้นฐานให้ดีแม้ในสภาพอากาศเลวร้าย นอกจากนี้ ยังต้องแสดงให้เห็นถึงความคุ้มทุนของการเดินทางด้วยสองล้อ ซึ่งอาจถูกกว่าการขับรถยนต์ถึง 6 เท่า นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า มีนโยบายง่าย ๆ ที่สามารถกระตุ้นการปั่นจักรยาน รวมถึงการลดหย่อนภาษี การลดเบี้ยประกันสุขภาพ หรือแพ็คเกจค่าตอบแทนคนงาน ซึ่งรวมถึงสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ปั่นจักรยานด้วย

เขากล่าวเสริมว่า “นี่คือกลยุทธ์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างแท้จริง เพราะมีข้อเตือนใจว่า เมื่อคุณปั่นเป็นประจำ สังคมก็จะแสดงให้คุณเห็นว่า สิ่งนี้สร้างคุณค่าและให้รางวัลต่อการตัดสินใจของคุณ”


ในฐานะนักพฤติกรรมศาสตร์ เขาหวังว่าปี ค.ศ. 2020 จะไม่ถูกจดจำว่าเป็นช่วงเวลาที่การเดินทางด้วยจักรยานพุ่งสูงขึ้นเพราะความกลัวเรื่องระบบขนส่งสาธารณะ “คงเป็นเรื่องน่าเศร้าจริง ๆ เพราะนั่นหมายความว่า เราไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำได้เพื่อกระตุ้นและชักชวนให้คนเหล่านั้นทำตาม”

มีสัญญาณว่าขณะนี้รัฐบาลทั่วโลกกำลังทุ่มทุนอย่างเต็มที่ บางที่กำลังเปิดตัวโครงการนำร่อง ซึ่งในเวลาปกติอาจใช้เวลานานนับ 10 ปีในการวางแผน “ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด เมืองต่าง ๆ พยายามลดขั้นตอนดังกล่าวลงเหลือ 2 – 3 เดือน หรือ 2 – 3 สัปดาห์ในบางแห่ง” คอมบ์ส กล่าว

ความกลัวที่จะทำอะไรบางอย่างโดยที่ไม่มีแบบอย่างหรือมาตรฐานเป็นอุปสรรคใหญ่ในการตระหนักถึงเลนจักรยาน ตอนนี้เมืองต่าง ๆ สามารถเรียนรู้และวัดผลกระทบของโครงการนำร่องจากมาตรการป้องกันการระบาดของโรค COVID-19 และหาแนวทางใหม่สำหรับการวางแผนการคมนาคมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

“สิ่งที่เราจะทำคือสร้างความรู้และความเข้าใจ และสร้างทางเดินเท้าและจักรยานในเมืองของเรา สิ่งที่เห็นขณะนี้คือ มีการเอื้อประโยชน์ให้รถยนต์ จากนั้นถึงจะจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทางเท้าและจักรยาน ซึ่งฉันคิดว่านี่อาจไม่ถูกต้องนัก และคิดว่าบางทีรถยนต์อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นลำดับต้น ๆ อีกต่อไป” คอมบ์ส กล่าวทิ้งท้าย


เกร็ดความรู้

  • เจคิล แอนด์ ไฮด์ (Jekyll and Hyde) เป็นสำนวน หมายถึง คนที่บางครั้งดีบางครั้งร้าย มีความแตกต่างทางศีลธรรมคนละข้างราวกับเป็นคนละคน มีที่มาจากวรรณกรรมของ Robert Louis Stevenson เรื่อง The Strange Case of Dr. Jekyll and Mr. Hyde (ค.ศ. 1886)
  • ซิโคลเวีย (Ciclovia) คือ การปิดถนนเส้นหลักทุกวันอาทิตย์ของโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย ตั้งแต่ 7.00 – 14.00 น. เป็นระยะทางติดต่อกันกว่า 120 กิโลเมตร เพื่อให้ทุกคนในเมืองได้ออกมาปั่นจักรยาน ออกกำลัง พักผ่อนร่วมกัน


ที่มา


เรื่องโดย