Kind Planet

เจ้าเหมียวยอดนักล่าในออสเตรเลีย กับการฆ่าสัตว์ป่าพื้นเมืองกว่า 2,000 ล้านตัวต่อปี


งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในหนังสือ Cats in Australia: Companion and Killer เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจว่า 

“ในเวลาเพียงหนึ่งวัน แมวหลายล้านตัวในออสเตรเลียจะฆ่านกประมาณ 1.3 ล้านตัว สัตว์เลื้อยคลาน 1.8 ล้านตัวและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 3.1 ล้าน”


“แมว” เริ่มเข้ามาเป็นที่รู้จักในประเทศออสเตรเลียช่วงศตวรรษที่ 18 โดยนักล่าอาณานิคมชาวยุโรป และรายงานในปี ค.ศ. 2017 พบว่า แมวดุร้ายสามารถพบได้ใน 99.8% ของทวีป ซึ่งปัจจุบันจำนวนแมวดุร้ายในออสเตรเลียมีประมาณ 2-6 ล้านตัว 

หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ ศาสตราจารย์ Sarah Legge นักวิจัยหลักของ School of Earth and Environmental Sciences ที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย กล่าวว่า “แมวเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าอย่างยิ่ง พวกมันเป็นนักล่าที่มีความสามารถหลากหลายอย่างไม่น่าเชื่อ พวกมันจะล่าเหยื่อทุกอย่างที่อยู่ในช่วงขนาดที่เหมาะสมที่พวกมันจะเข้าถึงได้” 


“พวกมันปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ได้ดีมาก สามารถอาศัยอยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยได้หลากหลายมากกว่าสัตว์ดุร้ายอื่น ๆ ในออสเตรเลีย” ศาสตราจารย์ Sarah Legge กล่าว 

แมวเหล่านี้เติบโตท่ามกลางป่าเขา พวกมันจึงพัฒนาตัวเองให้มีสัญชาตญาณการเป็นนักล่าอย่างเต็มตัวเพื่อเอาตัวรอดในธรรมชาติ ถึงแม้ว่าหากไปดูที่สายพันธุ์แล้วก็แทบจะมีลักษณะเหมือนแมวบ้านธรรมดา ศาสตราจารย์ Legge กล่าวว่า “แมวยังเป็นสัตว์ที่แพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และในบางกรณีอาจมีจำนวนมากกว่าเหยื่อของพวกมัน”

“แมวเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมของเราสูญพันธุ์อย่างน้อย 20 สายพันธุ์ ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าอัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมของออสเตรเลียสูงที่สุดในโลก” เธอกล่าว


การต่อสู้เพื่อปกป้องสัตว์ป่าพื้นเมือง

Arid Recovery ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้เมืองร็อกซ์ บีดาวน์ (Roxby Downs) ในเขตชนบทห่างไกลของออสเตรเลียใต้ เป็นที่ตั้งของสัตว์ที่ถูกคุกคามหลายชนิด ภายในกรงสัตว์ขนาด 123 ตารางกิโลเมตร ทำให้สัตว์เหล่านี้มีโอกาสเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมโดยไม่ต้องเสี่ยงกับสัตว์นักล่า ดร. Katherine Tuft ผู้จัดการทั่วไปของ Arid Recovery กล่าวว่า การนำสัตว์ที่ถูกคุกคามมาดูแลไว้ในกรงสามารถช่วยปกป้องสัตว์เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“พวกมันหลายตัวสูญพันธุ์ไปบนแผ่นดินใหญ่ เมื่อแมวและสุนัขจิ้งจอกบุกเข้ามาในประเทศ” เธอกล่าว

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียกำลังสำรวจกลยุทธ์หลายประการ เพื่อควบคุมประชากรของแมวดุร้าย รวมถึงการยิง การวางกับดักสัตว์ และการดำเนินการโดยใช้วิธีวางยาเบื่อในไส้กรอกที่ใช้สารพิษจากธรรมชาติ ซึ่งจะไม่ส่งผลต่อสัตว์ท้องถิ่นอื่น ๆ โดยคาดการณ์ว่าวิธีการดังกล่าว จะสามารถกำจัดแมวออกไปได้ประมาณ 2 ล้านตัวภายในปี ค.ศ. 2020 จากจำนวนแมวจรจัดทั้งหมดซึ่งคาดว่ามีมากถึง 6 ล้านตัว 


Christopher Dickman ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาบนบก ร่วมกับ School of Life and Environmental Sciences ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า “แมวได้รับการยอมรับว่าเป็นภัยคุกคามต่อนก 35 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 36 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 7 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 3 ชนิด จากข้อมูลของกรมความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม น้ำ ประชากร และชุมชนของออสเตรเลีย (Department of Sustainability, Environment, Water, Population and Communities: SEWPAC)”

“สัตว์สายพันธุ์พื้นเมืองของออสเตรเลียหลายชนิดไม่สามารถต้านทานการล่าในระดับสูงเหล่านี้ได้ และจะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากขึ้นเรื่อย ๆ เว้นแต่ว่าปัญหาของแมวในออสเตรเลียจะได้รับการแก้ไข” Dickman กล่าว


Gregory Andrews กรรมาธิการด้านการอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ กล่าวว่า แมวจรจัดถือเป็นภัยคุกคามที่อันตรายที่สุดต่อพันธุ์สัตว์พื้นเมืองของออสเตรเลีย ซึ่งพวกมันได้ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูญพันธุ์ไปแล้วประมาณ 20 สายพันธุ์

“เราไม่ได้กำจัดแมวเพราะเราเกลียดแมว แต่เราต้องตัดสินใจเลือกช่วยสัตว์ที่บ่งบอกถึงความเป็นประเทศของเรา” Gregory Andrews กล่าว


ขณะที่บางรัฐของออสเตรเลียได้ออกมาตรการแจกเงินรางวัลให้แก่ประชาชนที่สามารถล่าแมวจรจัดได้ และแน่นอนว่าทางฝั่งของกลุ่มคนรักสัตว์อย่างองค์กรพิทักษ์สัตว์ People for the Ethical Treatment of Animals (PETA) ได้ออกมาวิพากษ์นโยบายนี้อย่างรุนแรงว่าเป็นการกระทำที่โหดร้ายเกินไป

ส่วนด้าน Tim Doherty นักนิเวศวิทยา จาก Deakin University ในประเทศออสเตรเลีย ก็มีมุมมองที่แตกต่างออกไป โดยอธิบายว่า “แผนการกำจัดแมวซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 2015 นั้น เดิมทีเราไม่รู้ว่ามีแมวจรจัดอยู่มากเท่าไหร่กันแน่ และตัวเลขที่นำมาประเมินในตอนนั้นคือ 18 ล้านตัว ซึ่งเป็นยอดที่อยู่สูงกว่าการประมาณการ”

นอกจากนี้ Tim Doherty ยังกล่าวอีกว่า “การรักษานกหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่จำเป็นต้องจะต้องฆ่าแมว แมวเองก็ต้องการมีชีวิตอยู่เช่นกัน รัฐบาลออสเตรเลียอาจมองว่าแมวเป็นปัญหาใหญ่ แต่เขามองว่าเรื่องนี้ยังมีความสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อนกับเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น สัตว์อาจสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยจากการขยายตัวของเมือง”


ที่มา


เรื่องโดย