ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ มลพิษ ยาฆ่าแมลง และการถูกรุกรานที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างถิ่น ปัจจัยข้างต้นทำให้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาประชากรผึ้งลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ “รังผึ้งล่มสลาย” (Colony Collapse Disorder) ซึ่งซิมบับเวเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน จึงได้ตั้งศูนย์อนุรักษ์ผึ้งขึ้นมา เพื่อเป็นหนทางในการช่วยกอบกู้สายพันธุ์ผึ้งให้อยู่คู่มนุษย์ไปอีกนานแสนนา
ความสำคัญของผึ้งนอกจากจะช่วยผสมเกสรให้พืชพันธุ์ในธรรมชาติแล้ว ยังช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศและความอยู่รอดของมนุษย์ก็ขึ้นอยู่กับแมลงนักผสมเกสรตามธรรมชาติตัวจิ๋วนี้เช่นกัน ข้อมูลข้างต้นไม่ได้กล่าวเกินจริงแต่อย่างใด เพราะหากไม่มีผึ้งคอยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการดูแลความสมดุลของระบบนิเวศแล้ว เหล่าพืชพันธุ์ตามธรรมชาติก็ย่อมลดจำนวนลงหรือร้ายแรงที่สุดคือการถูกทำให้สูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ แม้ว่าจะมีสัตว์สายพันธุ์อื่นคอยทำหน้าที่ทดแทนส่วนตรงนี้อยู่บ้างก็ตาม เช่น ค้างคาว ผีเสื้อ แมลงวัน แมลงหวี่ นก เต่าทองและมด แต่ผึ้งก็เป็นผู้ทำหน้าที่นักผสมเกสรอันดับหนึ่งอยู่ดี
จากข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) ระบุว่า
กว่าร้อยละ 75 ของพืชพรรณดอกไม้ ต้นไม้ และพืชอาหาร จำเป็นต้องอาศัยผึ้งและแมลงผสมเกสรเพื่อขยายพันธุ์ ซึ่งในปี ค.ศ. 2019 อธิบดีของ FAO นาย José Graziano da Silva กล่าวว่า ผึ้งกำลังตกอยู่ภายใต้การคุกคามครั้งใหญ่ จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมีในพื้นที่เกษตร
ล่าสุด คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้เสนอแผนระงับการใช้สารกำจัดศัตรูพืชสามชนิดที่เป็นอันตรายต่อผึ้ง และตอนนี้รัฐบาลยุโรปกำลังลงคะแนนเสียงในการระงับการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายต่อผึ้งอย่างถาวร
ขณะที่ซิมบับเวได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนเกษตรกรทั้งรายใหญ่และรายย่อยที่หันมาทำฟาร์มผึ้งกันมากถึง 50,000 ราย แม้ว่าซิมบับเวจะเป็นประเทศที่พึ่งพาผลผลิตทางการเกษตร เช่น มันฝรั่ง ข้าวโพด และยาสูบ เป็นรายได้หลักก็ตาม แต่เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน เกษตรกรรายย่อยจึงหันมาให้ความสนใจในการทำฟาร์มผึ้งมากขึ้น
Ishmael Sithole และ Willet Mutisi เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งมืออาชีพ จึงต้องลุกขึ้นมาปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผึ้งในประเทศไม่ให้สูญพันธุ์
แปรเปลี่ยนเป็นที่พึ่งพิง
เมื่อไม่นานมานี้ Ishmael Sithole และ Willet Mutisi ได้ทำการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ผึ้งบริเวณเชิงเขาในเขตชานเมือง Dangamvura ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกและมีขนาดใหญ่อันดับสี่ของประเทศ พวกเขาเริ่มปฏิบัติการภารกิจช่วยเหลือผึ้งอย่างเร่งด่วน โดยขั้นแรกจะวางบ้านรังผึ้งใต้ต้นอาเคเชียในทำเลที่เงียบสงบทางตอนใต้ของเชิงเขา ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผึ้งทำการผสมเกสรพืชพันธุ์บริเวณนั้นได้ โดยปราศจากสิ่งรบกวนจากภายนอก
ขณะเดียวกันผึ้งก็ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ต้นอาเคเชียและต้นไม้บริเวณรอบ ๆ ที่หลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ต้นจากการถูกมนุษย์บุกรุกป่าเข้าไปล่าสัตว์ และอีกหนึ่งความน่าอัศจรรย์ของผึ้งคือการที่พวกมันพร้อมโจมตีผู้บุกรุกทุกเมื่อ หากพบว่าต้นไม้หรือหญ้าถูกตัดห่างจากรังของพวกมันในรัศมีเพียงแค่ 10 เมตร ผึ้งผู้พิทักษ์ก็พร้อมจู่โจมทันที
“เราให้ที่พึ่งพิงและจัดหารังผึ้งตามมาตรฐานเพื่อให้พวกมันรู้สึกสบายใจไม่ต่างจากรังตามธรรมชาติของมัน และได้จัดวางรังไว้ใกล้ ๆ กันเพื่อให้ง่ายต่อการดูแล” Sithole ผู้ก่อตั้งและเจ้าของบรรษัทธุรกิจเอกชน MacJohnson Apiaries กล่าว
“เราเลือกทำเลที่พบการปนเปื้อนของสารเคมีจากการทำเกษตรกรรมน้อยที่สุด โดยเฉพาะสารเคมีจากยาฆ่าแมลงและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อให้ได้น้ำผึ้งที่มีคุณภาพมากที่สุด”
__
แม้จะมีการเลี้ยงผึ้งในเขต Chimanimani และ Chipinge ของซิมบับเวเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่เมือง มูตาเร (Mutare) ผู้เลี้ยงผึ้งมืออาชีพไม่ได้มองว่าผึ้งคือแหล่งรายได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น พวกเขาจึงได้เนรมิตรพื้นที่บริเวณโดยรอบให้เป็นเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างเต็มรูปแบบ
“ก่อนที่มูตาเรจะกลายมาเป็นเมืองใหญ่ ครั้งหนึ่งมันก็เคยเป็นป่าและมีสัตว์ป่าสารพัดชนิดอาศัยอยู่ ซึ่งผึ้งก็เป็นหนึ่งในนั้น พวกมันมีอิสระที่จะไต่ตอมหรือบินไปไหนต่อไหนได้ตามอำเภอใจ แต่เมื่อมนุษย์ย่างกรายเข้ามา ผืนป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็ถูกถางจนโล่งเตียน เปลี่ยนโพรงไม้ จอมปลวก รังนก ให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ผู้เข้ามารุกราน” Sithole กล่าว
เมื่อมีการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment: EIA) ทำให้พบความจริงว่า พวกมันไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในรายงานฉบับนี้ด้วยซ้ำ และเป็นเรื่องน่าเศร้า เมื่อมองถึงประโยชน์ของผึ้งที่มีต่อระบบนิเวศ
“การถูกรุกรานพื้นที่ป่าทำให้ผึ้งต้องออกไปเสาะแสวงหาที่อยู่อาศัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นตามปล่องไฟ เพดานบ้าน หรือสถานที่อื่น ๆ ที่เหมาะแก่การทำรัง แต่บ่อยครั้งพวกมันก็ไม่ได้รับการต้อนรับที่ดี บ้านที่พวกมันสร้างขึ้นมาจึงต้องถูกทำลายลง” Sithole กล่าว
Sithole อธิบายต่อว่า การเข้ามารุกล้ำอาณาจักรผึ้งของมนุษย์ส่งผลให้จำนวนประชากรผึ้งลดลงอย่างรวดเร็ว สาเหตุจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
“เราไม่อาจทนยืนมองธรรมชาติที่นับวันมีแต่จะถูกทำลายลงเรื่อย ๆ เราเลยตัดสินใจสร้างแหล่งพักพิงใหม่ให้ผึ้งได้อยู่อาศัย อย่างน้อยก็อาจช่วยบรรเทาความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับพวกมันได้บ้างก็ยังดี”
แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ศูนย์อนุรักษ์ผึ้งนอกจากจะเป็นสถานที่ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับการเลี้ยงดูผึ้งแล้ว ศูนย์อนุรักษ์แห่งนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญเช่นกัน แม้ว่าจะเพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน และยังขาดแคลนทรัพยากรในการจัดการดูแลศูนย์อนุรักษ์แห่งนี้ แต่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งจุดหมายที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
“นอกจากจะมีน้ำผึ้งท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์จากผึ้งอีกหลายชนิดแล้ว เรายังมีบริการกำจัดรังผึ้งสำหรับผู้อาศัยอยู่ใน Mutare โดยเราจะทำการย้ายรังผึ้งพวกนั้นมาไว้ที่ศูนย์อนุรักษ์ในการต่อไป”
การตั้งศูนย์อนุรักษ์ผึ้งนอกจากจะส่งผลดีต่อผึ้งแล้ว ชาวมูตาเรที่อาศัยอยู่หลังภูเขาแห่งนี้ก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน หลังจากที่พวกเขาต้องทนเฝ้าดูคนเข้ามาลักลอบตัดต้นไม้จนภูเขาโล่งเตียนมาเป็นเวลานาน “ผึ้งพวกนี้จะทำหน้าที่ขัดขวางไม่ให้คนเข้ามาตัดต้นไม้จากภูเขา ซึ่งมันส่งผลดีต่อคนในพื้นที่มาก ๆ และยังดีต่อต้นไม้อีกด้วย” Stephen Samanga อธิบาย
Joe Nyandoro หนึ่งในผู้อยู่อาศัยบริเวณศูนย์อนุรักษ์กล่าวว่า แม้ว่าโครงการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จะยังใหม่อยู่ก็ตาม แต่เขามองว่าศูนย์แห่งนี้จะทำให้เด็ก ๆ โดยเฉพาะจากโรงเรียนใกล้เคียงสามารถเข้ามาเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของผึ้งมากขึ้น
“ผมหวังว่าโครงการที่พิเศษอย่างนี้จะประสบความสำเร็จ และถูกนำไปเป็นต้นแบบของโครงการอื่น ๆ ในประเทศ” Nyandoro กล่าวเสริม
ผึ้งมีความสำคัญต่อเกษตรกรในประเทศเป็นอย่างมาก เพราะผึ้งจะเป็นตัวกลางในการผสมเกสรดอกไม้ในพืช Sithole อธิบายเพิ่มเติมว่า การผสมเกสรตามธรรมชาติ มีอยู่สองกรณีด้วยกัน คือ การอาศัยลม และแมลง ซึ่งแมลงโดยเฉพาะผึ้ง จะเป็นตัวช่วยในการผสมเกสรที่ดีกว่าลม แม้ว่าข้าวโพดซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของซิมบับเวจะอาศัยการผสมเกสรจากลมเป็นหลัก
แต่ Sithole มองว่าการอาศัยลมอาจทำให้เกิดการสูญเปล่าของละอองเกสร ขณะที่ผึ้งเมื่อออกหาเกสรหรือน้ำหวานจากพืชแล้ว เกสรเหล่านี้จะติดตามตัวของพวกมันไปด้วยทุกที่ ทำให้เกิดการผสมเกสรที่ได้ประสิทธิภาพมากกว่า
“ทั้ง ๆ ที่ผึ้งมีบทบาทที่สำคัญต่อระบบนิเวศมากขนาดนี้ แต่พวกมันกลับไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควร ซึ่งการลดลงของประชากรผึ้งย่อมส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเกษตรกร” Sithole กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา
- หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ. ปลูกดอกไม้ให้ผึ้ง ก่อนที่มนุษย์จะไร้ที่พึ่ง. ฉบับวันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2563
- ชีวิตสังคมผึ้งบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของป่า. www.hrdi.or.th/Articles
- ZIMBABWE’S BEES ARE BEING SAVED FROM EXTINCTION BY AN INNOVATIVE NEW PROJECT. www.euronews.com/living