Kind Guide

“กัมปงในดงปรือ” โอบกอดธรรมชาติ เรียนรู้ความเงียบง่าย ตามวิถีท้องถิ่นชาวมุสลิม ย่านทุ่งครุ

“อัตลักษณ์ของชุมชนในแต่ละที่นั้น มีเสน่ห์ที่แตกต่างกันออกไปตามวิถีท้องถิ่น” 


Kind Guide อยากชวนมาสัมผัสเสน่ห์ของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ “กัมปงในดงปรือ” ย่านทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร มาท่องเที่ยวแบบไม่ต้องไปไหนไกล เพราะชุมชนท้องถิ่นไทยมีให้ครบทุกประสบการณ์สุดพิเศษ

หลายคนอาจจะสงสัยในใจ กัมปงในดงปรือ คืออะไร? กัมปง (เป็นภาษามลายู) หมายถึง ชุมชนหรือหมู่บ้าน ส่วนคำว่าดงปรือ คือ กลุ่มพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง (ชื่อทางการคือ ต้นธูปฤาษี) ซึ่งเติบโตขึ้นในพื้นที่บริเวณนี้เป็นจำนวนมาก จึงกลายเป็นที่มาของชื่อกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งนี้นั่นเอง ตามแผนที่ภูมิศาสตร์นั้นจะตั้งอยู่ที่ชุมชนดารุ้ลอิบาดะห์ พุทธบูชา 36 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร 


“กัมปงในดงปรือ” ยินดีต้อนรับ

พนักงานต้อนรับที่เราจะเจอเป็นด่านแรกเมื่อเดินทางมาถึงก็คือ เหล่ากะลามะพร้าวลวดลายหลากสีสันร้อยเรียงอยู่ตลอดริมรั้วที่ขนาบเคียงไปกับคูคลองรางตัน และเมื่อเดินทอดยาวไปเรื่อย ๆ เราก็จะเจอกับจุดเริ่มต้นของหมู่บ้าน ที่เป็นดั่งจุดรวมพลของชาวบ้าน และนักท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวครั้งนี้ เรามีไกด์ท้องถิ่นเป็นผู้พาชม นั่นก็คือ พี่ดะห์กุสุมา ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนดารุ้ลอิบาดะห์ โดยทุกคนที่มาร่วมทริปจะมีโอกาสได้สัมผัสวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งครุ พร้อมได้ทำกิจกรรมที่หลากหลายร่วมกับคนในท้องถิ่น จะมีกิจกรรมอะไรบ้างตามไปดูกัน!

ฝึกปรืองานฝีมือ—จากต้นปรือในชุมชน

เริ่มต้นกันที่กิจกรรมแรกคือ การเวิร์กชอปงานหัตถศิลป์เล็ก ๆ กับคนในชุมชน ครั้งนี้เราได้มาฝึกทำงานฝีมือกับ นิเรียม” (นิภาษาไทยมุสลิมแปลว่าพี่) หนึ่งในคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนดารุ้ลอิบาดะห์ งานสานปลาตะเพียนจากใบปรือสด และงานสานที่รองแก้ว พัด และกระเป๋าจากใบปรือแห้ง มองเผิน ๆ ดูเป็นงานที่ไม่น่ายาก แต่พอลงมือทำเองเท่านั้นแหละ ต้องบอกเลยว่าเป็นงานที่ไม่ถนัดเอาเสียเลย (และสันนิษฐานว่าเด็กรุ่นใหม่ ๆ ต้องไม่เคยทำอย่างแน่นอน) แต่ในที่สุดเราก็ได้ที่รองแก้วปรือสานจากฝีมือตัวเองกลับบ้านมาหนึ่งอันถ้วน

ส่วนเสน่ห์ของกิจกรรมนี้คือ การที่คนต่างถิ่น (อย่างเรา) ได้มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น ได้ลองใช้วัสดุที่มีอยู่ในชุมชนสร้างผลงานศิลปะ พร้อม ๆ กับได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่าง ๆ กับคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ และที่แน่ ๆ ต้องได้ความอดทนกลับไปแน่นอน เพราะกว่าจะทำงานสานเสร็จแต่ละอันต้องใช้เวลาพอตัว และจะต้องไม่ล้มเลิกก่อนกลางคัน


 

กินข้าวยำปักษ์ใต้ก่อนล่องเรือไปทัวร์ฟาร์มแพะ 

ก่อนจะไปทำกิจกรรมกันยาว ๆ ต้องเติมเต็มความหิวกันก่อน เมนูเด็ดที่อยากแนะนำคือ ข้าวยำปักษ์ใต้ ที่เสิร์ฟพร้อมกับคู่หูน้ำบูดูหวาน ๆ ข้าวยำปักษ์ใต้ที่เป็นเอกลักษณ์จะนิยมใส่มะพร้าวคั่ว กุ้งแห้งป่นหรือปลาแห้ง ใบมะกรูดซอย และตะไคร้ ส่วนใครที่ชอบกินเผ็ดก็สามารถเติมพริกสดเข้าไปเพิ่มรสชาติได้ จากนั้นก็คลุกเคล้าให้เข้ากันกับน้ำบูดู พอได้ลิ้มลองแล้ว เราเลยขอให้คำนิยามรสชาติว่า “อร่อย กลมกล่อม และหอมหวาน”

จากนั้นเราจะล่องเรือไปตามลำคลองเพื่อไปยังฟาร์มแพะ นุชมี ซึ่งเป็นฟาร์มแพะขนาดกลาง ที่มีทั้งแพะเนื้อ และแพะนม โดยจะเลี้ยงแพะไว้ในโรงเรือน และในทุ่งโล่ง ๆ กิจกรรมเพิ่มเติมของที่นี่คือ การรีดนมแพะสด ๆ จากเต้า และการป้อนนมให้ลูกแพะในโรงเรือน นอกจากนี้ทางฟาร์มยังมีน้ำนมแพะให้ดื่มฟรีสำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย


 


สำหรับสองกิจกรรมนี้ทำให้เราเรียนรู้วิถีชีวิตของมุสลิม ทั้งในแง่วัฒนธรรมเรื่องอาหาร และการทำฟาร์มปศุสัตว์ ที่ดำรงอยู่ภายใต้ความเชื่อและหลักศาสนา สะท้อนการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาระหว่างคนและสัตว์ 

แวะสวนมะพร้าวน้ำหอมชมวิถีชีวิตริมคลองสองฟากฝั่ง

ล่องเรือมาสักพักเราก็ขึ้นฝั่งมาปักหลักกันที่ สวนมะพร้าวน้ำหอมของลุงสมนึก ระหว่างทางเดินเราจะเห็นร่องสวนมะพร้าว และคูน้ำที่ชักชวนให้เข้าไปเดินเล่นตลอดเส้นทาง พอมาถึงจุดรวมพลเราจะพบกับลุงสมนึก ผู้เป็นเจ้าของสวน และทีมงานรอต้อนรับพร้อมกับกองมะพร้าวน้ำหอมขนาดย่อม ทว่าลุงสมนึกก็ไม่ได้มามือเปล่าเพราะในมือถือมีดพร้า ที่พร้อมเฉาะมะพร้าวเพื่อบริการให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลองน้ำมะพร้าวนั่นเอง
 

ก่อนเดินทางกลับไปยังจุดเริ่มต้น กิจกรรมปิดท้ายคือการนั่งเรือเครื่องตามเส้นคุ้งน้ำกันแบบยาว ๆ ชมวิถีชีวิตคนริมฝั่งคลอง ไม่ว่าจะเป็นสภาพบ้านเรือน กิจกรรมต่าง ๆ ของผู้คนริมสายน้ำ อาทิ การยกยอ การตกปลา การขายส้มตำทางเรือ หรือการปั่นจักรยานเลียบคลอง ที่เราสัมผัสได้ถึงความเนิบช้า ความเรียบง่าย และความผูกพันที่ลึกซึ้งของคนกับธรรมชาติ


กัมปงในดงปรือ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรน้องใหม่ ณ วิสาหกิจชุมชนดารุ้ลอิบาดะห์ พุทธบูชา 36 การท่องเที่ยวในครั้งนี้ มีค่าบริการคนละ 250 บาท (ราคาในแต่ละรอบอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระยะทางไปสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร และจำนวนคนที่มา) ที่นี่จะให้บริการท่องเที่ยวเดือนละ 2 วัน คือเสาร์และอาทิตย์ และต้องจองคิวก่อนล่วงหน้าด้วย โดยสามารถจองได้ที่เฟซบุ๊ก “กัมปงในดงปรือ” (แต่เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้รอบการจัดกิจกรรมมีการปรับเปลี่ยนได้ จึงต้องคอยติดตามว่าจะจัดขึ้นในวันเวลาใด)

KiNd ชวนมาท่องเที่ยวแบบเรียล ๆ เรียนรู้วิถีชีวิตชาวมุสลิมแบบใกล้ชิด แถมไม่ต้องไปไหนไกลเพราะอยู่ในกรุงเทพมหานครนี่เอง แม้ว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวนี้จะยังมีมาไม่นานนัก และยังมีบางส่วนที่ยังต้องได้รับการจัดการ และพัฒนา แต่ก็ถือเป็นหมุดหมายที่ดีที่สามารถเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอื่น ๆ ได้ริเริ่มความคิดที่จะพัฒนาท้องถิ่น พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน


When local is calling ก็อย่ามัวรอช้าชวนกันมาท่องเที่ยวสไตล์ท้องถิ่นเรียนรู้วิถีชุมชนใส่ใจธรรมชาติใกล้ตัวพร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนเมื่อสถานการณ์โควิด-19 กำลังจะผ่านไปกิจกรรมเที่ยวด้วยกันทั่วไทยต้องกลับมา

ถึงเวลาออกเดินทางให้ใจได้ผ่อนคลาย… ไปออกเดินทางกัน


ที่มา


เรื่องและภาพโดย