การทำฟาร์มสาหร่ายนอกจากจะได้รับความนิยมเพาะเลี้ยงอย่างแพร่หลายในเอเชียแล้ว ประเทศแถบยุโรปเองก็ได้หันมาเลี้ยงสาหร่ายทะเล โดยเฉพาะสาหร่ายเคลป์ (Kelp) ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน หลายคนอาจจะสงสัยว่าในเมื่อสาหร่ายเคลป์สามารถเติบโตขึ้นได้เอง แล้วทำไมชาวตะวันตกต้องทำฟาร์มเพาะเลี้ยงพืชชนิดนี้ขึ้นมาด้วย อะไรคือความพิเศษของสาหร่ายเคลป์ที่ทำให้พวกเขาถึงลงทุนลงแรงทำฟาร์มสาหร่ายกันแน่?
KiNd จะพาไปไขความสงสัยนี้ให้กระจ่าง ผ่านภูมิปัญญาการดูแลสาหร่ายเคลป์ที่ชนพื้นเมืองไฮล์ตซุก (Heiltsuk – Haíłzaqv) สืบทอดกันมาหลายยุคหลายสมัย แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ยังต้องลงมาศึกษาวิจัยเรื่องนี้ด้วยตัวเอง!
นักฟอกอากาศแห่งท้องทะเล
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาต์แปซิฟิกเผยว่า ในแต่ละปีฟาร์มสาหร่ายทะลทั่วโลกสามารถดักจับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 19 พันล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เกินกว่าครึ่งหนึ่งของก๊าซเรือนกระจกที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ นอกจากนี้สาหร่ายเคลป์ที่เจริญเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ ยังช่วยลดความเป็นกรดของทะเล และช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน และฟอสฟอรัสส่วนเกินในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดภาวะโลกรวนในปัจจุบัน
มุฮัมมัด โอยินโลลา นักชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย กล่าวว่า หากการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลแพร่หลายมากขึ้น ไม่แน่ว่าการกำจัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายพันล้านตันออกจากชั้นบรรยากาศ อาจกลายเป็นเรื่องที่ใช้เวลาน้อยกว่าที่คิด และยิ่งมีผู้เพาะเลี้ยงสาหร่ายมากขึ้นเพียงใด ความหลากหลายทางชีวภาพก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ย้อนไปเมื่อประมาณปี ค.ศ. 2017 ขณะที่ เคลลี บราวน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการทรัพยากรแบบบูรณาการของไฮล์ตซุก (Heiltsuk Integrated Resource Management Department – HIRMD) และเป็นสมาชิกชุมชนชาวไฮล์ตซุก ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งบนชายฝั่งตอนกลางของรัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา กำลังเดินเล่นอยู่ริมชายหาดกับผู้เฒ่าในหมู่บ้าน สายตาของเขาพลันเหลือบไปเห็นเศษอะไรบางอย่างที่มีลักษณะไม่คุ้นตา เมื่อเขาถามผู้เฒ่าคำตอบที่ได้ก็สร้างความแปลกใจให้เขาไม่น้อย เพราะสิ่งที่เขาเจอคือกับดักปลาเฮอร์ริ่งที่เก่าจนขาดหลุดรุ่ย
Photo Credit: Ian McAllister/ Pacific Wild
“คนของเรา (ชาวไฮล์ตซุก) มีไหวพริบในการหาวิธีจับปลาเฮอร์ริ่งอย่างมาก เอาง่าย ๆ พวกเขาฉลาด ในการหาปลา แล้วยังใช้เวลาไม่นานในการทำกับดัก ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นช่างคุ้มค่า” บราวน์ กล่าว
ชาวไฮล์ตซุกอาศัยอยู่ที่บริติชโคลัมเบียมาเป็นเวลากว่า 14,000 ปี แม้จะผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากจากการถูกล่าอาณานิคม และในยุคปัจจุบันก็ต้องเผชิญกับการรุกรานของนักธุรกิจจากในเมืองมาตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาก็ตาม โดยเฉพาะในแง่ของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในปริมาณมากเกินควร จนผลิตกลับมาทดแทนไม่ทัน
“ความงดงามตามธรรมชาติของผืนแผ่นดินที่ชาวไฮล์ตซุกอาศัยอยู่ ถูกพัฒนาควบคู่ไปกับการดูแลธรรมชาติอย่างใส่ใจ ซึ่งบรรพบุรุษรุ่นก่อน ๆ ของพวกเขา ล้วนมีอิทธิพลและหล่อหลอมความรุ่งโรจน์อันวิจิตรงดงามของธรรมชาติ ส่งต่อมาถึงชาวไฮล์ตซุกด้วยใจบริสุทธิ์ เช่นเดียวกับอารยธรรมอันรุ่งโรจน์ที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก ซึ่งถูกนำมาถักทอ หล่อหลอม ส่งต่อมายังรุ่นสู่รุ่น นี่คือวัฏจักรชีวิตที่ไม่มีวันสิ้นสุด และผมมีชีวิตอยู่เพื่อปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์มากจนเกินงาม และจะยังคงยืนหยัดต่อสู้เพื่อธรรมชาติอันงดงาม ตราบเท่าที่ลมหายใจสุดท้ายจะหมดลง” อิงมาร์ ลี นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ได้สืบเชื้อสายจากชาวไฮล์ตซุก กล่าว
ความพยายามของลี สอดคล้องกับกฎประจำเผ่าของชาวไฮล์ตซุกคือ “Gví’ilás” กฎหมายว่าด้วยระเบียบวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ที่ชาวไฮล์ตซุกนำมาใช้เพื่อยังชีพ อีกทั้งยังหมายรวมถึงประเพณี วัฒนธรรม การพาณิชย์ ความสนุกสนานและความบันเทิง ที่จะช่วยให้จิตวิญญาณของชาวไฮล์ตซุกสงบสุข แม้จะต้องเผชิญหน้ากับการล่าอาณานิคมจากประเทศเจ้าอาณานิคมในอดีตก็ตาม
จากกฎระเบียบดังกล่าวทำให้ชาวไฮล์ตซุกลุกชึ้นมาต่อสู้กับประเทศเจ้าอาณานิคม และนักธุรกิจที่หวังกอบโกยผลประโยชน์จากผืนแผ่นดินเกิดของพวกเขา เพื่อปกป้องสิทธิชนพื้นเมืองไม่ให้ถูกทำลาย ควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติตลอดริมชายฝั่งทะเลมาจนกระทั่งปัจจุบัน
Photo Credit: Megan Humchitt/ Raventrust
ภูมิปัญญาของชนพื้นเมือง
วิทยาศาสตร์สมัยใหม่
ศาสตร์ความรู้ที่บรรพบุรุษส่งต่อมานับหมื่นปี ทำให้ชาวไฮล์ตซุกยังคงรักษาสมดุลทางทะเลไว้ได้ บราวน์จึงไม่รอช้าที่จะติดต่อไปหา แอนน์ ซาโลมอน นักนิเวศวิทยาทางทะเลและศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยไซมอนเฟรเซอร์ ในบริติชโคลัมเบีย เพื่อให้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้ามาไขความลับวิธีการอนุรักษ์สาหร่ายเคลป์ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ซาโลมอนจะทำการศึกษาความสามารถในการกลับคืนสู่สภาพเดิมด้านระบบนิเวศ (Ecological Resilience) ของ y̓ák̓a หรือสาหร่ายทะเลชนิดยืนต้น พบมากในบริเวณโขดหินที่มีน้ำขึ้นน้ำลงและบริเวณน้ำตื้น เป้าหมายของการวิจัยคือเพื่อศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความยั่งยืนในการเก็บเกี่ยวพืชชนิดนี้โดยใช้วิธีการแบบดั้งเดิม และสำรวจศักยภาพในการเปิดน่านน้ำเพื่อทำการประมงเชิงพาณิชย์ขนาดเล็ก
Photo Credit:Ian McAllister/ Pacific Wild
อย่างที่ทราบกันดีว่าสาหร่ายทะเลเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ มีคาร์บอนฟุตพริ้นต์ต่ำ และเป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี อีกทั้งยังเป็นซูเปอร์ฟู้ด (Super Food) อัดแน่นไปด้วยสารพัดประโยชน์ ยังสามารถนำมาสร้างสรรค์ดัดแปลงให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากมาย นำมาทดแทนเกลือ แป้ง ไข่ หรือถั่วเหลืองก็ยังได้
ซึ่งบราวน์เองก็ทราบถึงคุณประโยชน์เหล่านี้ของสาหร่ายทะเลเป็นอย่างดี เขาต้องการให้ชาวไฮล์ตซุก มีทรัพยากรทางทะเลที่อุมดสมบูรณ์มากที่สุด จึงได้ให้ความร่วมมือกับซาโลมอน โดยเปิดทางให้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้ามาช่วยดูแลความยั่งยืนของทรัพยากรอีกทางหนึ่ง เพื่อให้ทะเลแห่งนี้จะยังคงอยู่เคียงข้างชาวไฮล์ตซุก และสัตว์น้ำอีกหลากหลายชนิดที่ต้องพึ่งพาความหลากหลายทางชีวภาพไปอีกนานแสนนาน
Photo Credit: Markus Thompson/ Hakaimagazine
ซาโลมอนได้มอบหมายให้ ฮันนาห์ โคบลัค นักศึกษาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยไซมอนเฟรเซอร์ ในการเข้ามาดูแลชุมชนแห่งนี้ให้เกิดความยั่งยืนทางท้องทะเล และรักษาผลประโยชน์ของชุมชนควบคู่กัน “เริ่มแรกฉันต้องเดินทางเข้าไปแนะนำตัว และทำความรู้จักชาวไฮล์ตซุกให้ได้มากที่สุด ผ่านการจัดงานประชุมเล็ก ๆ เพื่อค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่คนในชุมชนให้ความสนใจ” โคบลัค กล่าว
โคบลัคยังได้เน้นย้ำว่า งานวิจัยของเธอจะต้องไม่เป็นการทำซ้ำกับงานวิจัยชิ้นอื่น แต่ต้องเป็นมรดกทางวิทยาศาสตร์ที่ปรับให้ตรงกับความต้องการของคนในชุมชน
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2017 โคบลัคและผู้ช่วยวิจัยอีก 2-3 คนได้เดินทางไปยังสถานที่ที่มีสาหร่ายขึ้นอย่างชุกชุม บริเวณชายฝั่งบริติชโคลัมเบียทั้ง 5 แห่ง และได้ทำการติดแท็กที่สาหร่ายแต่ละใบ เพื่อทำการวัดผลและตัดเก็บชิ้นส่วนของใบบางส่วน (ประมาณ 25%) นำกลับไปศึกษาเพิ่มเติม
Photo Credit:Ian McAllister/ Pacific Wild
ห้าเดือนต่อมาโคบลัคและทีมกลับมาวัดการเจริญเติบโตของสาหร่ายทะเล แล้วพบว่าสาหร่ายทั้งหมดล้วนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โคบลัคไม่รอช้า เธอและทีมงานได้กลับไปแจ้งผลการทดลองให้แก่คนในชุมชนทราบ และสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาหร่ายเพิ่มเติม เพื่อให้งานวิจัยออกมาสมบูรณ์มากที่สุด
โคบลัคค้นพบว่า วิธีที่ชนพื้นเมืองไฮล์ตซุกใช้เก็บเกี่ยวสาหร่ายเคลป์มาตลอดระยะเวลาหลายหมื่นปีนั้น มีส่วนช่วยให้สาหร่ายเจริญเติบโตได้อย่างแข็งแรงและมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย “วิธีปฏิบัติแบบดั้งเดิมของชาวไฮล์ตซุกในการเก็บเกี่ยวสาหร่ายเคลป์ เช่น การเก็บสาหร่ายเพียงบางส่วน การเลือกเก็บเฉพาะสาหร่ายที่โตเต็มที่เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าวิธีการดังกล่าวช่วยกู้คืนมวลชีวภาพได้มากขึ้น และหากเก็บเกี่ยวเพียงบางส่วน พืชชนิดนั้นก็จะทนต่อการเก็บเกี่ยวครั้งต่อไปได้ดียิ่งขึ้น”
Photo Credit: Megan Humchitt/ Raventrust
ในขณะที่ทั่วทั้งโลกกำลังมุ่งความสนใจไปที่การทำฟาร์มสาหร่ายทะเลและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่สภาพอากาศแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการนำศาสตร์ความรู้ท้องถิ่นและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้ามาผนวกรวมกัน และวิธีการทำประมงสาหร่ายทะเลขนาดเล็กที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนต่อทั้งชีวิตชาวไฮล์ตซุกและธรรมชาติริมชายฝั่งบริติชโคลัมเบีย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลแคนาดายังคงหารือถึงแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดและงานวิจัยเพิ่มเติม ก่อนที่จะตัดสินใจประกาศให้สามารถทำฟาร์มสาหร่ายเคลป์ขนาดเล็กได้อย่างเป็นทางการ ด้าน บราวน์ ได้ออกมากล่าวถึงวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองว่า พวกเขายังคงเตรียมพร้อมที่จะปรับตัว เพื่อเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ “ถ้าปลาเฮอร์ริ่ง แซลมอน และสาหร่ายเคลป์หายไป นั่นหมายถึงทั้งชีวิตของเรา ซึ่งเราทุกคนกำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อที่จะรักษามันไว้ เราทุกคนล้วนมีหน้าที่ที่จะทำงานของตัวเองให้ออกมาดีที่สุด และผมมั่นใจว่าชนพื้นเมืองสามารถเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน”
ที่มา
- Farming Kelp the Heiltsuk Way. www.hakaimagazine.com/news/farming-kelp-the-heiltsuk-way/
- Heiltsuk. www.firstnations.de/fisheries/heiltsuk
- Kelp Farming Is Maine’s New Cash Crop. www.youtube.com/watch?v=gs5c6aJyU78
- Why seaweed might be the next key asset in the fight against climate change. www.cbc.ca/radio/whatonearth/why-seaweed-might-be-the-next-key-asset-in-the-fight-against-climate-change
- สาหร่ายคือผักเคลของปีนี้! เมื่อวัตถุดิบมาแรงถูกแปลงเป็นเกลือ ซอส เส้น ไปจนถึงมายองเนส. www.greenery.org/articles/trend-kelp-is-the-new-kale/
- สำรวจโลก : สาหร่ายทะเลกำลังมาแรง. https://ngthai.com/environment/5223/kelp-alga/