Kind Planet

แม้จะละเลยเสียงประชาชน แต่รัฐบาล (เคนยา) ก็ยังฟังเสียงต้นไม้


“รัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน!” คำที่เรามักได้ยินเสมอเมื่อประชาชนไม่พึงพอใจการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะหากเป็นเช่นนั้นถนนในเมืองกัมปาลา (Kampala) เมืองหลวงของยูกันดา จะไม่เต็มไปด้วยความรุนแรงจากเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และฝูงชนที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ท้าชิงประธานาธิบดีเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 40 คน บาดเจ็บอีกร่วม 500 ราย


ผู้นำเคนยาต่อลมหายใจ “ต้นมะเดื่อยักษ์” อายุร่วมร้อยปี
♧♧

เช่นเดียวกับที่เคนยา ผู้คนต่างวิงวอนขอให้รัฐบาลและนักการเมืองหาวิธีหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยขอให้ยุติการชุมนุมทางการเมืองที่มุ่งชักชวนให้ประชาชนลงนามรับรองการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ หากการลงประชามติดำเนินต่อไปและได้รับความเห็นชอบจากประชาชน ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะปรับโครงสร้างอำนาจและสร้างสำนักงานทางการเมืองเพิ่มขึ้น รวมถึงจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้มาจากเงินภาษีประชาชน

ที่ผ่านมานักการเมืองในพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านซึ่งสนับสนุนการลงประชามติ ปฏิเสธที่จะรับฟังการชุมนุมครั้งใหญ่ของชาวเคนยาที่มีผู้มาชุมนุมเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีคนจำนวนมากที่ละเลยจะสวมหน้ากากอนามัยด้วย

เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ในเคนยาเพิ่มขึ้น ซึ่งการติดเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้ทำให้มีผู้คนเสียชีวิตมากกว่าเดือนก่อน ดังนั้น จึงสร้างความประหลาดใจอย่างมากให้กับชาวเคนยา

เมื่อ
“ต้นไม้ต้นหนึ่งพูด”
และ
“รัฐบาลยอมรับฟัง!”


ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ สัญญาณแห่งมรดกทางวัฒนธรรม
♧♧

แต่ต้นไม้ที่รัฐบาลยอมฟังนี้ไม่ใช่ต้นไม้ธรรมดา มันคือต้นมะเดื่อสูงใหญ่ ซึ่งมีอายุ 100 ปี และตั้งตระหง่านอยู่ทางเหนือของถนนไวยากิ (Waiyaki Way) ฝั่งตะวันตกของไนโรบี เมืองหลวงของเคนยา ซึ่งต้นมะเดื่อต้นนี้ถูกสั่งให้โค่นทิ้งเพื่อหลีกทางให้กับการสร้างทางด่วนที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน

โครงการถนน 27 กิโลเมตร (16 ไมล์) จะเชื่อมสนามบินนานาชาติโจโม เกนยัตตา (Jomo Kenyatta) ไปยังพื้นที่เวสต์แลนด์ (Westlands) ของไนโรบี โดยเชื่อมต่อกับเส้นไวยากิ ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่นำไปสู่เคนยาตะวันตกและยูกันดา

ทั้งนี้ ไม่มีใครรู้สาเหตุแน่ชัดว่า ทำไมประธานาธิบดีอูฮูรู เกนยัตตา (Uhuru Kenyatta) ถึงเปลี่ยนใจและออกคำสั่งให้รักษาต้นมะเดื่อไว้ เขาอธิบายอย่างง่าย ๆ ว่า “มันเป็นสัญญาณบ่งบอกมรดกทางวัฒนธรรมและระบบนิเวศของเคนยา”


อันที่จริงต้นไม้มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและศาสนาอย่างมากสำหรับชนเผ่าที่พูดภาษาแบนตู (Bantu) โดยเฉพาะเผาย่อยของเผ่าลูหยา (Luhya) ที่อยู่ทางตะวันตกของเคนยา อย่างชนเผ่ามาราโกลี (Maragoli) ก็จะนับถือ “Mukumu (มูกูมู)” หรือ ต้นมะเดื่อ ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับตัดสินพิจารณาคดีต่าง ๆ ตามจารีตประเพณีของชนเผ่า อีกทั้งต้นมะเดื่อยังเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเมืองมาราโกลี (Maragoliland) ด้วย


ตัดต้นมะเดื่อยักษ์ = ลบหลู่ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์
♧♧

สำหรับชาวชนเผ่าคิคูยู (Kikuyu) ที่อยู่ทางตอนกลางของเคนยา ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศ พวกเขาเรียกต้นมะเดื่อว่า “Mugumo (มูกูโม)” และยกให้เป็นดั่งศาลเจ้าแห่งหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพื่อให้คนในพื้นที่มาสักการะบูชา ซึ่งแน่นอนว่า ชาวคิคูยูไม่อนุญาตให้ใครมาโค่นต้นมะเดื่อยักษ์ พวกเขาเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการลบหลู่ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และหายนะจะตามมา

เมื่อต้นมะเดื่อเหี่ยวเฉาหรือตกลงสู่พื้นตามธรรมชาติ ชาวคิคูยูมองว่าสิ่งนี้เป็นลางร้ายหรือเป็นสัญญาณในการถ่ายทอดพลังจากช่วงอายุหนึ่งสู่รุ่นต่อไป ซึ่งช่วงเวลาแต่ละรุ่นจะใช้เวลาประมาณ 30 ปี


ประธานาธิบดีอูฮูรู เกนยัตตา ซึ่งเป็นหนึ่งในชนเผ่าคิคูยู อาจเป็นผู้แบกรับข่าวร้ายบางอย่างสำหรับชาวเคนยาในชีวิตทางการเมืองของเขา แต่ก็ไม่อาจแน่ใจว่าเขาคิดอย่างไรกับเรื่องจิตวิญญาณของ “มูกูโม” ที่ตายแล้ว

ในขณะที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรณรงค์ให้หยุดการทำลายต้นไม้ นักอนุรักษ์นิยมที่เป็นชาวคิคูยูเฝ้าดูแลและอยู่กับต้นไม้ทุกลมหายใจ พวกเขาต่อต้านการทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขา


อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลต้องยุติโครงการต่าง ๆ ที่คุกคามธรรมชาติ เพราะสุดท้ายธรรมชาติก็จะเป็นผู้คัดสรรการกระทำดังกล่าว ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ฝ่ายปกครองในขณะนั้นคือพรรค Kenya African National Union (KANU) วางแผนที่จะสร้างตึกระฟ้าขนาดใหญ่เพื่อเป็นสำนักงานใหญ่กลางสวนสาธารณะอูฮูรูที่มีชื่อเสียงของไนโรบี

Times Media Complex จำนวน 60 ชั้น ประกอบด้วย สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า และที่จอดรถหลายร้อยคัน จะเป็นอาคารที่สูงที่สุดในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก โดยในเวลานั้น ศาสตราจารย์วันการิ มาไท (Wangari Maathai) นักสิ่งแวดล้อมเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพผู้ล่วงลับ ได้เปิดตัวแคมเปญต่อต้านอาคารสูงและปกป้องสวนสาธารณะไว้ ซึ่งแดเนียล อาหรับ โมอี (Daniel arap Moi) ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีขณะนั้นก็รับฟังอย่างไม่พอใจนัก แต่ท้ายที่สุดแล้วตึกระฟ้านั้นก็ถูกพักโครงการ และทุกวันนี้ชาวไนโรบีจำนวนมากยังคงมีพื้นที่สีเขียวอันเงียบสงบสำหรับการออกไปพักผ่อนและปิกนิกกับครอบครัว

ฝ่ายต้นไม้ชนะฝ่ายถนน
♧♧

สำหรับต้นมะเดื่อบนถนนไวยากิที่เคยมีคำสั่งจากรัฐบาลให้โค่นทิ้งเพื่อสร้างทางรถผ่านนั้น ยังคงมีลมหายใจจนถึงทุกวันนี้

คนขับแท็กซี่ที่ผ่านไปยังย่านนั้นเล่าว่า “หลังจากมีคำสั่งของประธานาธิบดีให้ไว้ชีวิตต้นมะเดื่อ ผู้รับเหมาของจีนก็มาจ้องที่ต้นไม้สลับกับอุโมงค์ที่ตอนแรกจะต้องตัดต้นไม้เพื่อเป็นทางผ่านของรถ แล้วสุดท้ายเขาก็เดินออกไปพร้อมกับส่ายหัว”เหตุการณ์นี้อาจทำให้ชาวจีนสงสัยว่า

ภาษาที่มีพลังชนิดใดที่ต้นไม้ “มูกูโม” พูดออกมา แล้วโน้มน้าวใจให้วิศวกรหยุดฟังและหาหนทางอื่นโดยไม่ต้องตัดต้นไม้ เพราะสุดท้ายต้นมะเดื่อได้รับการโหวตให้มีชีวิตอยู่ ส่วนโครงการสร้างถนนที่ได้รับทุนสนับสนุนจากจีนนั้นก็ต้องหาเส้นทางอื่น ๆ ในการดำเนินโครงการต่อไป


ชาวคิคูยูเรียกต้นไม้ว่า “Muti (มูติ)” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเดียวกันกับบัตรลงคะแนนเสียง ต้นมะเดื่อยักษ์ได้ชัยชนะจากการโหวต จนได้ต่อลมหายใจให้ยังมีชีวิตอยู่ และเขี่ยนักลงทุนจีนจนพ้นทางไป

ชาวเคนยาต่างปรารถนาให้ต้นไม้พันธุ์อื่น ๆ ได้ยืนหยัดและส่งเสียงโหวตปฏิเสธต่อนักการเมืองที่เห็นแก่ตัวที่พร้อมจะเคลื่อนไหวผ่านร่างประชามติที่อาจทำให้สถานการณ์โคโรนาไวรัสแย่ลงไปกว่าเดิม

ทว่ารัฐบาลจะ “ฟัง” หรือไม่?
เราคงต้องรอให้ต้นไม้ “พูด” ให้ถึงหูนักการเมืองเอง


ที่มา


เรื่องโดย