Kindcycle

MACREBUR เจ้าของนวัตกรรมถนนพลาสติกเส้นแรกของโลก


ตั้งแต่วันแรกที่ “พลาสติก” ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกในปี 1907 พลาสติกกลายเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมมนุษย์ ทั้งต้นทุนที่ต่ำ และความทนทานสูง ทำให้พลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ยืนยันความก้าวหน้าของยุคสมัย ที่ปรากฏแก่สังคมโลกในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา

ถึงจะมีอดีตที่มาอันยิ่งใหญ่ แต่เรื่องที่เราก็รู้กันดีอยู่แก่ใจคือ ในปัจจุบันพลาสติกกลายเป็นปัญหาหลักของสังคม และเป็นศัตรูตัวฉกาจของสิ่งแวดล้อม จากคลื่นขยะพลาสติกที่พัดพาเข้าชายฝั่ง สู่เกาะพลาสติกที่ลอยเคว้งตามมหาสมุทร ปริมาณขยะเหล่านี้มาจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ตัวการที่พรากชีวิตสัตว์ในธรรมชาติ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ และกำลังทำลายโลกใบนี้


นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักเคลื่อนไหว และกลุ่มผู้วางนโยบายของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก พยายามหาทางแก้ไขเพื่อลดหรือแม้กระทั่งกำจัดปริมาณพลาสติกที่จะถูกส่งไปฝังกลบ และหาวิธีให้พลาสติกเหล่านี้นำมาใช้ซ้ำได้ และกลับเข้าสู่ระบบหมุนเวียนของบริษัทอีกครั้ง เช่นบริษัทหนึ่งในสหราชอาณาจักร ที่กำลังพัฒนาหาทางออกสำหรับพลาสติกเหล่านี้ และซ่อมแซมถนนไปด้วยในเวลาเดียวกัน

แรงบันดาลใจจากอินเดีย

MacRebur บริษัทสัญชาติอังกฤษ พบวิธีที่จะใช้ขวดพลาสติกเก่า ถุงพลาสติก รวมถึงพลาสติกใช้แล้วทิ้งแบบอื่น ๆ เพื่อเสริมความแข็งแรง และเพิ่มอายุการใช้งานของถนน

Tony McCartney CEO แห่ง MacRebur ได้แนวคิดทางออกนี้ระหว่างการทำงานที่ทางใต้ของประเทศอินเดีย เขาทำงานร่วมกับมูลนิธิช่วยเหลือผู้คนกลุ่มอาชีพเก็บขยะ คัดแยกขยะ และขายขยะที่สามารถนำกลับไปใช้ซ้ำได้ ที่นี่เขาได้เรียนรู้จาก “นักเก็บขยะ” ว่าขยะพลาสติกสามารถนำไปซ่อมหลุมบนถนนได้ ด้วยวิธีการดังนี้

  • ถมขยะพลาสติกลงในหลุมบนถนน
  • เทดีเซลลงไปบนพลาสติก
  • จุดไฟหลอมพลาสติกให้ละลาย ถมเต็มหลุมบนพื้นถนน


McCartney เชื่อว่าสภาแห่งสหราชอาณาจักรไม่น่าจะเห็นด้วยกับการจุดไฟเผาพลาสติกบนพื้นถนน เขาจึงก่อตั้งบริษัท MacRebur กับเพื่อนอีก 2 คน Nick และ Gordon ผู้บริหารทั้งสามใช้เวลาสองปีถัดมาในการหาวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการหลอมพลาสติกและเพิ่มเข้าไปในการปูถนนยางมะตอย

ปัจจุบัน McRebur มีพลาสติกเหลือทิ้งแปรรูป 3 ชนิดที่สามารถผสมกับยางมะตอยสำหรับปูถนนได้ แล้ววิธีการเปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลายเป็นถนนทำได้อย่างไร?

ขั้นตอนแรกคือการช่วยเหลือพลาสติกที่จะถูกนำไปฝังกลบ ขยะพลาสติกเหล่านี้มีโครงสร้างของโพลีเมอร์ที่ต่างกัน เช่น ขวดพลาสติกกับถุงพลาสติก หลังจากนั้นบริษัทจะคัดแยกและแปรรูปขยะพลาสติกเป็นเม็ดพลาสติก 3 ชนิด คือ MR6 MR8 และ MR10 โดยแต่ละประเภทนั้นแบ่งตามความทนทานและการใช้งาน

ตัวอย่างเช่น MR 6 เหมาะสำหรับถนนเส้นที่รถเคลื่อนที่ช้า การจราจรติดขัด เช่นทางแยกหรือวงเวียน เนื่องจากมีความทนทาน สามารถป้องกันไม่ให้ถนนเสียรูปได้ MR8 เหมาะสำหรับทำลานจอดรถ ถนนทั่วไป หรือถนนตามชุมชน และ MR10 เหมาะสำหรับทางด่วนเนื่องจากสามารถป้องกันไม่ให้ถนนแตกหรือร้าวได้ เม็ดพลาสติกเหล่านี้จะถูกหลอมให้ละลายกลายเป็นน้ำมันดิน (สารสีดำมีลักษณะข้น เกิดจากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม มีคุณสมบัติช่วยให้ยางมะตอยเกาะตัวกันได้ดี) McCartney ยืนยันว่า เม็ดพลาสติกเหล่านี้สามารถผสมรวมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานของยางมะตอยได้อย่างสมบูรณ์

แล้วไมโครพลาสติกล่ะ?

ข้อกังขาที่น่าหนักใจเกี่ยวกับถนนจากพลาสติกเหล่านี้คือ ไมโครพลาสติกไปอยู่ที่ไหน จะรั่วไหลกลับมาทำลายสิ่งแวดล้อมเมื่อฝนตกหรือไม่? McCartney ยืนยันหนักแน่นว่าเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะว่าเม็ดพลาสติกนั้นถูกหลอมเป็นน้ำมันดิน และผสมเข้ากับยางมะตอยเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อสร้างสำเร็จเป็นถนนก็ไม่มีพลาสติกจริง ๆ หลงเหลือในเนื้อถนนอีกแล้ว

“ประเด็นสำคัญคือ พลาสติกของเรานั้นละลายรวมเป็นเนื้อเดียวกันกับส่วนผสมทั้งหมด” คำตอบจากคอลัมน์คำถามที่พบบ่อยของบริษัท “ดังนั้นจึงไม่มีไมโครพลาสติกหลงเหลือในเนื้อยางมะตอย มีแค่น้ำมันดินที่ผลิตจากพลาสติกเท่านั้น เท่ากับว่าไม่มีทางที่ไมโครพลาสติกจะรั่วไหลออกมาได้”


แก้สองปัญหาในครั้งเดียว

“เราอยากจะแก้ปัญหาของโลกใบนี้พร้อมกันทั้งสองข้อ ข้อหนึ่งเราเรียกว่าสภาวะการระบาดของขยะพลาสติก ส่วนอีกข้อหนึ่งคือถนนคุณภาพต่ำที่เราต้องใช้อยู่ทุกวัน” McCartney อธิบาย

ทุกหนึ่งตันของยางมะตอยผลิตใหม่จาก McRebur จะประกอบด้วยขวดพลาสติก 20,000 ขวด หรือถุงพลาสติก 70,000 ใบ บริษัทยืนยันว่าถนนของพวกเขาแข็งแรงกว่าถนนเดิม 60% และมีอายุการใช้งานนานกว่าถนนเดิมถึง 3 เท่า อ้างอิงจากสมาคมวิศวกรแห่งสหรัฐอเมริกา มีถนนมากถึง 4 ล้านไมล์ (ประมาณ 6.4 ล้านกิโลเมตร) ที่ต้องซ่อมแซม และถ้าถนนพวกนี้ใช้ยางมะตอยจาก MacRebur จำนวนขยะพลาสติกที่รอดพ้นจากการฝังกลบจะมีปริมาณมหาศาลเลยทีเดียว

แรงสนับสนุนจากนานาชาติ

บริษัททำถนนจากพลาสติก McRebur ไม่ได้ผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับทำถนนให้กับแค่สหราชอาณาจักร แต่รวมถึงแคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในปี ค.ศ. 2018 ถนนจากพลาสติกเส้นแรกในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิอาโก โดยบริษัท McRebur บริจาคเม็ดพลาสติกให้กับโครงการก่อสร้าง หลังจาก Gary Oshima ผู้จัดการของ UC San Diego Construction Commodity ติดต่อเข้ามาเพื่อถามถึงโอกาสที่จะร่วมทำโปรเจ็กต์ด้วยกัน McCartney เล่าว่าบริษัทมีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมงานกับมหาวิทยาลัยที่มีแนวคิดเดียวกัน

“การคิดค้นทางเลือกสำหรับการรีไซเคิลพลาสติกเป็นความท้าทายหลักที่เราต้องทำให้ได้ และการบำรุงรักษาถนนระยะทาง 4 ล้านไมล์ในสหรัฐอเมริกานั้นเป็นปัญหาระยะยาวที่เราจะต้องแก้เช่นกัน” Oshima จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิอาโกกล่าวถึงการใช้พลาสติกเหลือทิ้งที่เคยจะถูกส่งไปฝังกลบ หรือลอยทะเล

“เทคโนโลยีถนนจากพลาสติกนี้ช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิล ลดการปล่อยก๊าซที่เป็นมลพิษระหว่างการผลิต และที่สำคัญคือการปกป้องสิ่งแวดล้อม”

Photo Credit: MACREBUR


บริษัทอื่นก็เริ่มจะเปลี่ยนแปลง

มีบริษัทอื่น ๆ อีกเช่นกันที่เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีแบบเดียวกันนี้ และประสบความสำเร็จกับการสร้างถนนจากพลาสติกเช่นกัน ในประเทศแอฟริกา Shisalanga Construction กลายเป็นบริษัทแรกที่สร้างถนนที่มีส่วนผสมจากพลาสติกได้สำเร็จ บริษัทนี้ได้ปูถนนพลาสติกมากกว่าสี่ร้อยเมตร ซึ่งลดปริมาณขวดนมพลาสติกจากการฝังกลบได้ถึง 40,000 ขวด

TechniSoil Industrial บริษัทจากลอสแองเจลิส ได้พัฒนากระบวนการแบบเดียวกับ McRebur และมีแผนจะปูถนนพลาสติกเส้นแรกในแอลเอ และสิ่งที่ทำให้ TechniSoil แตกต่างคือ เทคโนโลยีใหม่จากบริษัทในลอสแองเจลิสนี้ มีแนวโน้มที่จะทำถนนจากวัตถุดิบรีไซเคิลได้ 100%

“มันคือจอกศักดิ์สิทธิ์ของอุตสาหกรรมการก่อสร้างถนน” Sean Weaver ประธานบริษัท TechniSoil กล่าว “คุณทำได้มั้ยล่ะ? รีไซเคิลพื้นผิวด้านบนของถนนแบบ 100% กะเทาะมันขึ้นมา บดมันอีกครั้ง และปูกลับลงไปบนพื้นถนน และต้องมีคุณภาพความทนทานเทียบเท่าถนนยางมะตอยด้วย”

เมื่อปัญหาคือทางออก

ปัญหาใหญ่ที่สุดของพลาสติกคือระยะเวลาที่ใช้ในการย่อยสลายซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมของโลก เทคโนโลยีที่บริษัทเหล่านี้กำลังใช้ทำให้ปัญหาหนักใจกลับกลายเป็นจุดแข็งที่แข็งแรงที่สุด

“ในท้ายที่สุดแล้ว พลาสติกก็เป็นผลิตภัณฑ์ชั้นเยี่ยม” McCartney กล่าว “มันมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อมันเป็นขยะที่ต้องกำจัด แต่มันไม่ใช่ปัญหาถ้าเราต้องการความทนทานแข็งแรง”

MacRebur Shisalanga และ TechniSoil ล้วนเป็นตัวอย่างของนวัตกรรมที่สามารถสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ตราบใดที่เทคโนโลยีพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ความหวังที่จะเห็นถนนที่มีคุณภาพดีขึ้น และเห็นพลาสติกในคลองน้อยลง ก็ชัดเจนขึ้นเช่นกัน


ที่มา


เรื่องโดย