Kindnovation

Marjan van Aubel Studio: เมื่อพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป


โซลาร์เซลล์กับการใช้งานในบ้านนั้นเป็นไปได้จริงหรือ?

หากคุณกำลังนึกภาพแผงโซลาร์ขนาดบิ๊กเบิ้มติดตั้งบนหลังคา หรือวางเรียงกันเป็นแผงกินพื้นที่ในสวน KiNd อยากจะขอให้ลบภาพเหล่านี้ไปก่อน เพราะผลงานการออกแบบจาก Marjan van Aubel ดีไซเนอร์ชาวเนเธอร์แลนด์ ผู้คว้ารางวัล WIRED Audi INNOVATION AWARD จะทำให้การใช้โซลาร์เซลล์ในบ้านนั้นง่ายขึ้น ไม่สิ้นเปลืองพื้นที่ แถมยังมาพร้อมสไตล์โมเดิร์น สะดวกต่อการใช้งาน

Current Series

Current Window หน้าต่างกระจกสีที่มีกลิ่นอายคล้ายกับ Stained-Glass Window หน้าต่างกระจกสีภายในโบสถ์หรือมหาวิหารของศาสนาคริสต์ Marjan เก็บจุดประสงค์ของหน้าต่างกระจกสีในโบสถ์ไว้ นั่นคือการติดตั้งในมุมรับแสงได้สะดวก เพื่อให้แสงเดินทางผ่านกระจกตกกระทบกับรูปเคารพ ต่างกันเพียงแค่แสงที่เดินทางผ่าน Current Window ไม่ได้ตกกระทบกับอะไรนอกจากสีสันจากแผ่นกระจก ซึ่งทำงานคล้ายแผงโซลาร์เซลล์เล็ก ๆ คอยกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ โดยผู้ใช้สามารถใช้ช่อง USB บริเวณขอบหน้าต่างเพื่อใช้พลังงานไฟฟ้าจากหน้าต่างนี้ได้

“เหมือนกับหน้าต่างกระจกสีแบบโบราณ ที่เล่าเรื่องราวของพวกเขาผ่านรูปแบบและสีสัน Current Window ก็เล่าเรื่องราวยุคสมัยใหม่ของเราเช่นกัน ไอเดียของเราคือผู้คนจะได้เห็นกับตาตัวเอง ว่าพลังงานที่พวกเขาใช้มาจากไหน และมันทำงานยังไงผ่านหน้าต่างพวกนี้” Aubel กล่าว


Current Table โต๊ะอาหาร (หรือทำงานก็ได้) ที่ใช้วัสดุกระจกแบบเดียวกันกับ Current Window มาพร้อมคุณสมบัติเดียวกันนั่นก็คือ สีสันที่สามารถกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์และเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้งานภายในบ้านผ่านช่อง USB บริเวณขาโต๊ะสำหรับชาร์จโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ได้ตลอดทั้งวันแม้จะหมดเวลาของพระอาทิตย์แล้วก็ตาม

Energy Collection

แก้วและเหยือกน้ำสีสันน่ารักจาก Energy Collection มากับคุณสมบัติดูดซับและกักเก็บพลังงานจากแสงได้ตลอดวัน หลังจากการใช้งาน เพียงนำแก้วหรือเหยือกน้ำกลับไปเก็บที่ฐานบนชั้นวาง พลังงานแสงอาทิตย์ที่สะสมภายในแก้วก็จะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าให้ได้ใช้งาน ทั้งชาร์จอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ หรือเสียบปลั๊กเป็นพลังงานให้โคมไฟก็ยังได้

ความลับที่ซ่อนอยู่ในเครื่องเรือนเหล่านี้ คือเทคโนโลยี “Dye-Sensitized Solar Cell (DSSC)” หรือการใช้สีที่มีคุณสมบัติดูดซับและกักเก็บแสงอาทิตย์ กระบวนการคล้ายกับการทำงานของพืช หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้งานต่อไป “สีต่างกันคุณสมบัติการดูดซับแสงก็ไม่เท่ากัน เราต้องคุยกับโรงงานผลิต Dye-solar cell อยู่ตลอดเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ออกมาสวยงามด้วย แล้วก็ผลิตพลังงานได้เพียงพอต่อการใช้งานด้วย” Aubel อธิบาย

Photo Credit: Thor Schuitemaker-Wichstrøm


แม้ว่าผลิตภัณฑ์จาก Marjan van Aubel Studio จะไม่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ครอบคลุมการใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือนได้ทั้งหลัง เช่น Current Window 1 บาน สามารถดูดซับแสงอาทิตย์และผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากสุด 25 วัตต์ต่อวัน ซึ่งเพียงพอสำหรับการชาร์จอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ หลอดไฟแบบตะเกียบ หรือหลอดไฟนีออนเท่านั้น

แต่สำหรับ Aubel การใช้พลังงานทดแทนเพียงเล็กน้อยนี้เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน นอกเหนือจากการใช้ตามบ้านคือการใช้ตามสถานที่ใหญ่ ๆ เช่น อาคารสำนักงาน โรงเรียน หรือโบสถ์ เพราะการรักษ์โลกไม่ได้เกิดจาก การใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์แบบของใครเพียงคนเดียว แต่เกิดจากการร่วมมือกันคนละเล็กละน้อยจากคนทุกคนต่างหาก


ที่มา


เรื่องโดย