Kindvironment

คลื่นความร้อนทางทะเลพัดมา ปลาแซลมอนกำลังจะจากไป


คลื่นความร้อนทางทะเลผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการประมงของฮอกไกโด ส่งผลให้ชาวประมงจับปลาแซลมอน ปลาซัมมะ และปลาหมึก ได้ต่ำเป็นประวัติการณ์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น
ส่งปลาแสงอาทิตย์มาแทนปลาแซลมอน

การทำประมงบริเวณน่านน้ำทะเลอันอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลโอคอตส์ก (Okhotsk) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทางตอนเหนือของเกาะฮอกไกโด คิดเป็น 20% ของผลผลิตทางการประมงทั้งหมดของประเทศญี่ปุ่น แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชาวประมงจับปลาแซลมอน ปลาซัมมะ และปลาหมึก ได้ต่ำเป็นประวัติการณ์


ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2020 เมื่อฤดูการตกปลาแซลมอนเริ่มขึ้นในฮอกไกโด เรือประมงไดนานะ เคียวชินมารุ (Dainana Kyoshinmaru) จับปลาแสงอาทิตย์ (Sunfish) ความยาว 2 เมตร ได้มากขึ้นบริเวณนอกชายฝั่งคุชิโระ ซึ่งโดยปกติปลาแสงอาทิตย์จะชอบน้ำอุ่นในเขตร้อนและเขตอบอุ่น และแทบจะไม่พบในทะเลฮอกไกโดเลย แต่ในปี ค.ศ. 2020 กัปตันของเรือไดนานะ เคียวชินมารุ สามารถจับปลาแสงอาทิตย์ได้จำนวนมาก ขณะเดียวกันปลาแซลมอนซึ่งเป็นวัดุดิบชั้นนำของพื้นที่ได้ลดลงเหลือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ จากที่พวกเขาเคยจับได้มากที่สุด

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ซากุราอิ โยชิโนริ แห่งมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ได้ศึกษาความเคลื่อนไหวของทรัพยากรประมงและระบบนิเวศในฮอกไกโดเป็นเวลา 50 ปี เขากล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้การจับปลาในจังหวัดยังคงย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง คือคลื่นความร้อนทางทะเล (Marine Heatwave) ปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงกว่าปกติเป็นเวลานานเกินกว่า 5 วัน ซึ่งพบเห็นได้บ่อยขึ้นทั่วโลก


ซากุราอิ กล่าวว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ปลาแซลมอนอยู่ห่างออกไป ในขณะเดียวกันได้ดึงดูดปลาแสงอาทิตย์และปลาหางเหลืองเข้ามา

“อุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น 3 ถึง 4 องศาเซลเซียส เทียบเท่ากับอุณหภูมิบรรยากาศที่เพิ่มขึ้น 15 ถึง 20 องศา” เขากล่าว “การเกิดฮอตสปอต (Hotspot) หรือระดับความร้อนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในน้ำทะเล ทำให้ชนิดของปลาในบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก”


จากสถิติของเครื่องติดตามคลื่นความร้อนที่ดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลระหว่างประเทศ ระบุว่า เกิดคลื่นความร้อนเป็นเวลากว่า 20 วันนอกชายฝั่งคุชิโระ ในช่วงเวลาที่เรือประมงไดนานะ เคียวชินมารุ กำลังจับปลาแสงอาทิตย์ที่พวกเขาไม่ต้องการขึ้นมา

ปลาหางเหลือง ม้ามืดแห่งฮอกไกโด

บริษัทคาเนะโยชิ (Kaneyoshi) ผู้ผลิตอาหารทะเลที่ตั้งอยู่ในเมืองเนมูโระของฮอกไกโด และมุ่งเน้นไปที่การผลิตปลาซัมมะเป็นหลัก เมืองนี้เป็นแหล่งจับปลาที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นและนั่นทำให้บริษัทต้องลงทุนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงโรงงานแปรรูปปลาซัมมะแห่งใหม่ แต่ปี ค.ศ. 2020 มีอัตราการผลิตต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ฮามายะ ทาคาโอะ ประธานบริษัทคาเนะโยชิ กล่าวว่า อุตสาหกรรมการแปรรูปให้ความสำคัญกับความสอดคล้องของวัตถุดิบที่ได้มา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว


ทางด้านฮาโกดาเตะ เมืองท่าสำคัญในฮอกไกโด ยังคงมีพยายามในการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่สำหรับปลาหางเหลือง เนื่องจากชาวประมงจับได้เพิ่มขึ้น มากถึงสิบเท่าเมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา แต่อุตสาหกรรมประมงกำลังต่อสู้กับการขาดความตระหนักรู้เรื่องปลาหางเหลืองของผู้บริโภค

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2020 ฮาโกดาเตะจึงจัดแสดงสูตรอาหารปลาหางเหลืองเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ “หลายคนบอกว่าพวกเขาไม่รู้วิธีกินปลาหางเหลือง” โคคุบุน ชินโง ผู้จัดงานกล่าว

การที่ปลาจะดำรงอยู่ในวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงให้ผู้คนเห็นว่าปลานั้นมีคุณภาพและรสชาติดี


ถึงกระนั้นคลื่นความร้อนทางทะเลยังคงปรากฏขึ้นในอุตสาหกรรมประมงภาคเหนือ และผู้คนในอุตสาหกรรมนี้ต่างก็ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว แต่เนื่องจากยังไม่เป็นที่เข้าใจกันอย่างถ่องแท้ จึงไม่มีการรับประกันว่าการจับปลาหางเหลืองและปลาอื่น ๆ ในปัจจุบันจะยังคงเป็นเช่นเดิมหรือไม่ ซึ่งการคาดการณ์คลื่นความร้อนในทะเลเป็นเรื่องยาก ดังนั้นชาวประมงในฮอกไกโดจะต้องวางแผนสำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ และเรียนรู้วิธีรับมือต่อไป


ที่มา


เรื่องโดย