Kindcycle

“ก้อนฟาง” วัสดุเหลือใช้จากการเกษตร สู่การสร้าง “ผนังบ้าน” ที่มีประสิทธิภาพ


แม้ว่า “บ้านฟาง” จะมีภาพจำที่ไม่ค่อยจะดีนักในประสบการณ์ของเด็ก ๆ (จากนิทานเรื่องลูกหมู 3 ตัว) เพราะหากว่าเจ้าหมาป่าตัวใหญ่เกิดมาเคาะประตูเข้า บ้านฟางหลังนี้จะต้องถูกเป่าจนพังทะลายเป็นแน่! แต่ในชีวิตจริง บ้านหรืออาคารที่ทำจากฟางแสดงให้เห็นถึงความยั่งยืน ความสะดวกสบาย เหนือสิ่งอื่นใดคือ ความมั่นคงและทนทาน ซึ่งอาจจะแตกต่างจากในนิทานที่เราเข้าใจ

จากการศึกษาและทดลองหลายครั้งกับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรชนิดนี้ “ฟาง” ถือเป็นวัสดุที่มีศักยภาพในการก่อสร้างผนัง ด้วยคุณสมบัติด้านการจัดการความร้อนที่ดี มีคุณสมบัติในการดูดซับเสียง และมีลักษณะเฉพาะทางโครงสร้าง นอกจากนี้ฟางยังเป็นทรัพยากรหมุนเวียนซึ่งเหลือใช้จากการเกษตรที่นำมาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี และสามารถสร้างได้ง่ายอีกด้วย

ฟางมาจากไหน?  ฟางคือของเหลือจากการผลิตเมล็ดข้าว ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี หรือข้าวบาร์เลย์ หลังจากการเก็บเกี่ยวส่วนที่กินได้ของเมล็ดพืชแล้ว ลำต้นก็จะถูกทิ้งและทำลายด้วยการเผา แต่แทนที่จะปล่อยให้เสียเปล่าไป ลำต้นแห้งหรือฟางนั้นสามารถนำมาบดอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม ซึ่งสามารถวางซ้อนกันและใช้เป็นสารตัวเติมได้ หรือแม้กระทั่งนำมาใช้ทำผนังบ้านได้ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า “เนบราสก้า” (Nebraska) ซึ่งนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงศตวรรษที่ 19 บริเวณที่ราบของประเทศสหรัฐอเมริกา 


“ฟาง” ถูกใช้เป็นวัสดุปิดผนึกและฉนวนกันความร้อนควบคู่ไปพร้อมกับวัสดุโครงสร้างอื่น ๆ อย่างเช่น ไม้ หรือเหล็ก ในกรณีนี้การรวมโครงสร้างที่ไม่ใช้ฟาง ช่วยให้สามารถสร้างหลังคาได้ก่อนที่จะติดตั้งก้อนฟาง ซึ่งสามารถป้องกันผนังไม่ให้เกิดความเสียหายจากน้ำในระหว่างการก่อสร้าง

เนื่องจากฟางเป็นวัสดุที่เกิดจากอากาศเป็นหลัก ฟางจึงเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดีเยี่ยมในการก่อสร้าง คาดว่าบ้านฟางที่สร้างขึ้นอย่างดี จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำความร้อนและความเย็นได้เกือบ 75 เปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากความแตกต่างของสายพันธุ์ข้าวและการบดอัดชิ้นส่วน จึงเป็นเรื่องยากที่จะหาปริมาณข้อมูลนี้ให้แน่ชัด หากประมาณค่าการนำความร้อนของฟาง คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 0.07/0.09 W/m-°C ซึ่งคล้ายกับพอลิสไตรีน (Polystyrene) ตอนขยายตัว (0.04 W/m-°C) 

สิ่งสำคัญที่ต้องสังเกตคือ เนื่องจากฟางเป็นวัสดุอินทรีย์ พื้นผิวบนผนังฟางจึงต้องประกอบด้วยวัตถุอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ผนังสามารถแลกเปลี่ยนอากาศระหว่างภายในอาคารและภายนอกอาคาร ดังนั้นโดยทั่วไปจะใช้ส่วนผสมของดิน ทราย และฟางผสมเข้าด้วยกัน หรือปูนขาวก็ยังเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่สามารถผสมได้


ปัญหาที่จำกัดสำหรับการใช้วิธีนี้ คือฟางจะต้องไม่สัมผัสกับความชื้นของพื้นดินโดยตรง เพราะจะทำให้ความชื้นขึ้นสู่ผนังได้ เพราะปัญหาสำคัญสองประการที่ส่งผลต่อการสร้างผนังฟาง คือ “ความชื้น และเชื้อรา” หากฟางโดนน้ำจะดูดซับน้ำและขยายตัวขึ้น ซึ่งจะทำให้ผนังเกิดการแตกร้าวได้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ ฐานรากของบ้านจะต้องยกสูงจากพื้นอย่างน้อย 20 ซม. ยิ่งไปกว่านั้น แม้ในสภาพอากาศที่แห้ง ชายคาของอาคารฟางจะต้องมีขนาดค่อนข้างกว้าง เพื่อให้ผนังได้รับการปกป้องจากความชื้นมากที่สุด

อีกปัญหาหนึ่งที่สามารถจำกัดได้ในบางประเทศ คือ การปรับให้เข้ากับมาตรฐานอาคารที่มีอยู่และการได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง เนื่องจากฟางเป็นวัสดุทางเลือกและมีลักษณะไม่เป็นทางการ ในการแก้ไขปัญหานี้ สถาปนิกที่วางแผนจะใช้ฟาง สามารถขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่จัดการกับปัญหาเหล่านี้ในภูมิภาคของตนได้

Photo Credit: www.archdaly.com


เพราะฟางสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เมื่อบ้านฟางล้าสมัยและถึงคราวจำเป็นต้องรื้อถอน ผนังของมันจึงสามารถย่อยสลายลงในดินได้โดยไม่มีปัญหา แต่เช่นเดียวกันกับวัสดุก่อสร้างใด ๆ จะมีความยั่งยืนอย่างแท้จริงได้ก็ต่อเมื่อมีอยู่ในท้องถิ่น ดังนั้นฟางจึงเป็นวัสดุที่เหมาะที่สุดสำหรับพื้นที่ในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่เพาะปลูกธัญพืชที่ก่อให้เกิดขยะเหล่านี้ เพราะหากไม่มีฟางอยู่ใกล้กับบริเวณที่จะสร้างสิ่งปลูกสร้างไม่ว่าบ้าน หรืออาคาร ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นจากการขนส่ง และการใช้วัสดุอื่นอาจจะมีความเหมาะสมกว่า ดังนั้นการรู้ว่ามีวัสดุอะไรบ้างในท้องถิ่นที่สามารถนำมาใช้หมุนเวียนได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมทางเทคนิคเกี่ยวกับบทความนี้ อ่านได้ที่เว็บไซต์ EBNet (Ecological Building Network) และผลงานศึกษาทางวิชาการได้ที่เว็บไซต์ ScienceDirect


ที่มา


เรื่องโดย