Kindcycle

UPCYCLING ยกระดับขยะผ่านการดีไซน์

เชื่อว่าคนไทยคุ้นเคยกับ 3R อย่าง Reduce, Reuse และ Recycle เป็นอย่างดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะ Recycle แต่ในช่วง 10 ปีมานี้ยังมีอีกคำคือ “Upcycling” ที่ได้เข้ามาวนเวียนในชีวิตประจำวันของเราพอสมควร แต่หากเราถามตัวเองอย่างตรงไปตรงมา บางทีเราเองอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวาทกรรมทั้ง Recycle และ Upcycling หมายความว่าอย่างไรหรือต่างกันอย่างไรแน่ 

KiNd จะพาคุณไปทำความรู้จักกับ Recycle และ Upcycling ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายมาหลายปีในแวดวงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้คุณเข้าใจแนวคิดและอาจได้ไอเดียอะไรดี ๆ ไปจัดการกับขยะของคุณ

Recycle (รีไซเคิล) คือ การนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับเข้าสู่วงจรการใช้อีกครั้ง โดยการนำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น การหลอม เพื่อให้กลายเป็นวัตถุดิบใหม่สำหรับผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน ที่สามารถนำกลับมาใช้ตามวัตถุประสงค์เดิม โดยคุณภาพของวัตถุดิบที่ผ่านการรีไซเคิลแล้วอาจลดต่ำลงไปบ้าง แต่ปัจจุบันนี้พบว่ากระบวนการแปรรูปตามหลักการรีไซเคิล ไม่ได้ตอบโจทย์การรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะต้องใช้พลังงานสูงในกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ อาจมีการปล่อยมลพิษจากสารเคมี และต้องใช้ต้นทุนค่อนข้างมากในการจัดการสิ่งแวดล้อม

กระดาษที่ใช้แล้วสามารถรีไซเคิลกลับมาเป็นกระดาษใหม่เพื่อใช้ในงานพิมพ์ หรือเปลี่ยนไปเป็นกระดาษแข็งสำหรับใช้เพื่องานบรรจุภัณฑ์ โดยการรีไซเคิลกระดาษเริ่มต้นด้วยกระบวนการใช้น้ำและสารเคมีในการดึงหมึกออกไป ทำให้กระดาษเหล่านั้นกลายเป็นเนื้อเยื่ออีกครั้ง จากนั้นจึงทำความสะอาดเนื้อเยื่อ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตเส้นใยที่สามารถนำไปผลิตเป็นกระดาษต่อไป เส้นใยกระดาษส่วนใหญ่สามารถนำกลับมารีไซเคิลเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อีกประมาณ 8 ครั้ง แต่หลังจากนั้นคุณภาพของเส้นใยจะต่ำลงเรื่อย ๆ ทำให้ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลเป็นกระดาษสำหรับงานพิมพ์ได้อีก

Upcycle ประกอบด้วยคำว่า Up + Cycling / Cycle ซึ่งก็คือการนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่วงจรการใช้อีกครั้งเช่นกัน แต่เป็นการนำของที่กำลังจะถูกทิ้งเป็นขยะมาดีไซน์ให้เป็นของใช้ชิ้นใหม่ที่ไม่เหมือนของเดิมและนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง โดยไม่ทำให้คุณภาพและส่วนประกอบของวัสดุนั้นลดลง

อีกทั้งยังเพิ่มมูลค่าให้วัสดุนั้นผ่านกระบวนการออกแบบและผลิต ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยการ upcycling จะไม่ผ่านกระบวนการทางเคมีที่มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมหรือใช้เคมีน้อยที่สุด ไม่รบกวนทรัพยากรอื่น ๆ ท้ายที่สุดจะได้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นการช่วยลดอัตราการเติบโตของปริมาณขยะบนโลกอีกทางหนึ่ง

Upcycling ในอุตสาหกรรมแฟชั่น

การผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมแฟชั่นสิ่งทอมีความซับซ้อนและต้องใช้พลังงาน น้ำ และสารเคมีจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นกระบวนการ upcycling จึงเป็นหนึ่งในทางออกที่เปิดโอกาสให้บุคลากรในวงการแฟชั่นอย่างศิลปิน ดีไซเนอร์ ได้ปรับตัวเองเข้าสู่แนวคิดนี้ด้วยการนำวัตถุดิบที่ไม่สามารถใช้ได้แล้วมาออกแบบให้เป็นผลิตภัณฑ์อีกชิ้นหนึ่งที่สามารถสร้างมูลค่าได้ เช่น เสื้อผ้าที่ขาดไม่สามารถสวมใส่ต่อ ได้ถูกนำมาทำเป็นกระเป๋า ที่คั่นหนังสือ หรืออะไรก็ตามที่ศิลปินจะสามารถใส่ไอเดียสร้างสรรค์ได้

Upcycling เฟอร์นิเจอร์

การสร้างงานเฟอร์นิเจอร์แบบ upcycling คือการนำเฟอร์นิเจอร์ที่เก่าหรือพังแล้วมาใช้ในวัตถุประสงค์ใหม่ เช่น บานของตู้ซึ่งไม่ใช้แล้ว ก็ถอดนำมาทำเป็นที่แขวนตะกร้าใส่จดหมายที่สามารถประดับผนังเป็นของตกแต่งได้อีกด้วยหรือแม้แต่การใช้ถังน้ำมันมาทำเป็นเก้าอี้-โซฟา (ตามรูป)

ชุดโต๊ะ-เก้าอี้ จากถังน้ำมันด้านบน หากมองกันผิวเผินแล้ว อาจคิดว่าเป็นกระบวนการ Recycle แต่จริง ๆ แล้วคือการ Upcycle เพราะเมื่อมองเข้าไปลึก ๆ ในการทำชิ้นงาน จะพบว่ามีการใช้การออกแบบผลิตภัณฑ์เข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่า เพื่อยืดอายุวัสดุให้เป็นขยะช้าลง

บานของตู้ซึ่งไม่ใช้แล้ว สามารถถอดนำมาดีไซน์เป็นที่แขวนตะกร้าใส่จดหมายที่สามารถประดับผนังเป็น decoration ได้อีกด้วย เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการ upcycle 

การ Upcycling เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่

หากมองกระบวนการ upcycling จากภาพรวม เราสามารถกล่าวได้ว่าในทางทฤษฎีแนวคิดนี้ได้ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เนื่องจาก upcycling เข้าไปช่วยยืดอายุการใช้งานของวัตถุนั้น ทำให้เกิดกระบวนการผลิตวัตถุชิ้นใหม่น้อยลงการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศก็น้อยลงตามไปด้วย

เมื่อมองโดยภาพรวม กระบวนการ Upcycling มีคล้ายคลึงกับ Recycle มาก แต่เมื่อเจาะลึกไปในรายละเอียดจะพบว่าทั้งสองกระบวนการมีวิธีการแตกต่างกันอย่างชัดเจน

Recycle คือ การนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับเข้าสู่วงจรการใช้อีกครั้ง โดยการนำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น การหลอมเพื่อให้กลายเป็นวัตถุดิบใหม่สำหรับผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน ซึ่งวัตถุดิบใหม่อาจมีคุณภาพด้อยกว่าเดิม และในกระบวนการแปรรูปต้องใช้พลังงานสูง มีการปล่อยมลพิษจากสารเคมี และต้องใช้ต้นทุนค่อนข้างมากในการจัดการสิ่งแวดล้อม

Upcycle เป็นการนำของที่จะกลายเป็นขยะ มาเพิ่มมูลค่าด้วยการดีไซน์ออกมาเป็นของใช้ใหม่ โดยการแปรรูปตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ทั้งนี้กระบวนการ upcycling จะไม่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีซึ่งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ใช้ให้น้อยที่สุด และผลลัพธ์ปลายทางที่ได้ คือ สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

It’s a KIND KIND WORLD.