Kind Planet

เมื่อวัคซีนไม่ได้ผล “หมาป่า” จึงเป็นทางออกในการกำจัดโรคกวางซอมบี้


เมื่อโรคระบาดร้ายแรงกำลังคุกคามสิ่งมีชีวิตในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน (Yellowstone National Park) ประเทศสหรัฐอเมริกา นักวิทยาศาสตร์ และผู้เฝ้าสังเกตการณ์หลายคนจึงได้เกิดคำถามขึ้นมาว่า

“หมาป่าจากอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน สามารถเป็นปราการด่านแรกของการยับยั้งโรคระบาดร้ายแรง ที่กำลังระบาดอยู่ในฝูงสัตว์ป่าได้มั้ยนะ?”

จากคำถามข้างต้น ทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ภายใต้โครงการวิจัย เร่งดำเนินการหาข้อพิสูจน์ เพื่อคลายความสงสัยและกอบกู้ชีวิตของสัตว์ป่าภายในอุทยานแห่งนี้ และผลการศึกษาชี้ให้เห็นแล้วว่า

“หมาป่า” คือทางออกของการยับยั้งโรคระบาดร้ายแรงที่เกิดขึ้นท่ามกลางฝูงสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติได้จริง ๆ”

Photo Credit: australian multicam camouflage uniform/ en.wikipedia.org


ต่อมาทีมนักวิจัยจึงได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมถึง “ผู้พิทักษ์ดุลยภาพของระบบนิเวศ” (The Predator Cleansing Effect) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อนักล่า เริ่มออกหาเหยื่อที่อาจทำลายสมดุลของระบบนิเวศตามธรรมชาติ โดยการเลือกโจมตีสัตว์ที่อ่อนแอที่สุด เพื่อไม่ให้ระบบนิเวศเสียสมดุล จากความเจ็บป่วยที่สัตว์ตัวนั้นส่งผ่านออกมา และอาจคร่าชีวิตเพื่อนร่วมสายพันธุ์ไปโดยไม่ตั้งใจ

จากแนวคิดดังกล่าว อาจหมายความได้ว่า “หมาป่า” คือผู้พิทักษ์ที่มีหน้าที่สำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศตามธรรมชาติ ผ่านการออกล่าสัตว์ที่อ่อนแอ เพื่อกระชับพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคระบาดในสัตว์ป่า เช่น โรคระบาดที่เกิดขึ้นในกวาง และสัตว์ชนิดอื่นที่มีอาการใกล้เคียงกัน จากทั่วทั้งประเทศและทั่วโลก

ด้านผู้เชี่ยวชาญเผยความกังวลออกมาว่า เขากลัวว่าวันหนึ่ง บทบาทของหมาป่าในฐานะ “ผู้พิทักษ์ดุลยภาพของระบบนิเวศ” จะถูกนำมาใช้กับมนุษย์

“ตอนนี้เรายังไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรค” Ellen Brandell นักศึกษาปริญญาเอกด้านนิเวศวิทยาสัตว์ป่า มหาวิทยาลัยเพนน์สเตท (Penn State University) ซึ่งเป็นผู้นำโครงการร่วมกับการสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา และกรมอุทยานแห่งชาติกล่าว “ในเมื่อไม่มีวัคซีนในการรักษา ดูเหมือนว่าการใช้ ‘นักล่า’ ก็ดูเป็นทางออกที่ไม่เลวนัก”

__

ด้านนักชีววิทยาและนักอนุรักษ์กล่าวว่า ยิ่งมีงานวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสำคัญของหมาป่ามากเท่าไร ก็จะยิ่งมีจำนวนหมาป่าตามธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และจากงานวิจัยของเราชี้ให้เห็นแล้วว่า หมาป่าจะช่วยเข้ามายับยั้งการแพร่ระบาดโรคที่เกิดจากสัตว์ป่าในบางพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าความคิดดังกล่าวจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากชาวบ้าน โดยเฉพาะเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ และเหล่านักล่าสัตว์ก็ตาม

โรคผอมแห้งเรื้อรัง (Chronic Wasting Disease – CWD) หรือที่นิยมเรียกกันว่า โรคกวางซอมบี้ (Zombie Deer Disease) พบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1981 มักพบการติดต่อในสัตว์ตระกูลกวางเป็นส่วนใหญ่ เช่น กวางล่อ กวางหางขาว กวางเอลก์ กวางมูส และกวางแคริบู สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสของเหลวและเนื้อเยื่อจากศพที่ติดโรค ซึ่งสามารถแพร่ระบาดทางอ้อมเข้าสู่ระบบนิเวศได้อีกด้วย

ปัจจุบันโรคกวางซอมบี้ ยังไม่มีวิธีรักษา ถึงขนาดที่นักวิทยาศาสตร์บางคนขนานนามโรคนี้ว่าเป็น “โรคจากนอกโลก” กันเลยทีเดียว แต่จากผลการศึกษาล่าสุด คาดว่าโรคกวางซอมบี้ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโปรตีน ที่อยู่บนผิวเซลล์ในระบบประสาทส่วนกลาง หรือที่เรียกว่า พรีออน (Prion) โดยโปรตีนชนิดนี้จะทำหน้าที่แตกต่างจากแบคทีเรีย หรือไวรัสทั่วไป เมื่อเข้าสู่ร่างกายของสิ่งมีชีวิตแล้ว พรีออนจะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อสมอง จนทำให้สมองได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งสัตว์ที่ติดเชื้อมักจะมีอาการน้ำลายฟูมปาก เฉื่อยชา น้ำหนักลดลงอย่างรวดร็ว และเสียชีวิตลงในที่สุด

ความร้ายกาจของพรีออนยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะเมื่อสามารถยึดร่างกายของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นได้แล้ว ยังสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันพบการระบาดมากถึง 26 รัฐ และหลายรัฐของแคนาดา รวมถึงเกาหลีใต้ และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย

โรคนี้จัดอยู่ในกลุ่ม Transmissible Encephalopathies Spongiform (TSE) ซึ่งพบในสัตว์หลายชนิด เช่น โรคสเครบี (Scrapie) ในแกะ ส่วนกลุ่มโรคที่พบในมนุษย์คือ โรคคูรู (Kuru) และโรคครอยตส์เฟลดต์-จาค็อบ (Creutzfeldt-Jakob disease – CJD) ในปี ค.ศ. 1990 พบว่า มีผู้ติดเชื้อในสหราชอาณาจักรเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการทานเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อดังกล่าว

การนำเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อมาปรุงอาหารให้สุก ไม่สามารถกำจัดพรีออนได้ โดยผู้เชี่ยวชาญได้เผยความกังวลต่อมาว่า

“โรคกวางซอมบี้ อาจแพร่กระจายสู่มนุษย์ที่ล่าและทานกวาง หรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่ติดเชื้ออยู่ก่อนแล้ว”


ขณะเดียวกัน โรคกวางซอมบี้ทำให้กวางจำนวนมากในรัฐไวโอมิงล้มตายกันเป็นจำนวนมาก และได้แพร่กระจายไปยังมอนแทนาในปี ค.ศ. 2017 ซึ่งทั้งสองรัฐตั้งอยู่ใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญต่างกังวลว่า โรคระบาดร้ายแรง อาจแพร่ระบาดเข้าสู่ฝูงกวางในอุทยานแห่งนี้ในไม่ช้า

แต่ดูเหมือนว่าความหวังในการควบคุมโรคซอมบี้กวาง ในอุทยานแห่งนี้ไม่ได้ริบหรี่เสียทีเดียว เมื่อนักวิทยาศาสตร์เสนอทางออกว่า “ในเมื่อเรามีฝูงหมาป่ามากถึงสิบฝูง รวม ๆ กันแล้วก็มีประมาณร้อยตัวเป็นอย่างต่ำ ทำไมเราไม่ลองนำหมาป่า เข้ามาเป็นกำลังหลักในการจัดการสัตว์ที่ติดเชื้อเหล่านี้ดูล่ะ?” พร้อมทั้งกล่าวเสริมว่า “ไหน ๆ โรคนี้ก็ไม่ติดต่อในฝูงหมาป่าอยู่แล้ว”


“หมาป่าได้รับการขนานนามว่า เป็นสัตว์ที่ดีที่สุดในการกำจัดกวางที่ติดเชื้อ เพราะพวกมันมีความคล่องแคล่วว่องไง และด้วยสายตาที่เฉียบแหลม ทำให้พวกมันสามารถมองหาเหยื่อที่อ่อนแอ และเข้าจู่โจมได้อย่างรวดเร็ว” Brandell กล่าว ด้วยเหตุนี้เองทำให้กวาง และสัตว์ชนิดอื่นที่อ่อนแอ มักถูกหมาป่ากำจัดอยู่เสมอ

จากผลการทดลองเบื้องต้นในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน ชี้ให้เห็นว่า หมาป่าสามารถชะลอการแพร่ระบาดของโรคกวางซอมบี้ และสามารถควบคุมพื้นที่การระบาดของโรคให้อยู่ในวงแคบลงได้ และความสำคัญของหมาป่าก็เริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เมื่องานวิจัยเกี่ยวกับ “ผู้พิทักษ์ดุลยภาพของระบบนิเวศ” ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้กล่าวสนับสนุนการนำ สัตว์นักล่า เข้ามาควบคุมการแพร่ระบาดของโรคร้ายแรงตามธรรมชาติ

อีกหนึ่งความกังวล เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคผอมแห้งเรื้อรังในภูมิภาคเยลโลว์สโตน คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐไวโอมิงมี 22 รัฐ ที่ให้การสนับสนุนในการจัดหาแหล่งอาหารแก่สัตว์ป่า โดยเฉพาะฝูงกวางป่าที่แต่ละรัฐให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ซึ่งสิ่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อฝูงกวางเอลก์ ในภูมิภาคเยลโลว์สโตน และทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติแกรนด์เทตัน (Grand Teton National Park) รวมถึงเขตอนุรักษ์พันธุ์กวางเอลก์แห่งชาติ (the National Elk Refuge)

เนื่องจากว่า พวกเขามักนำสัตว์ป่าเหล่านี้มาเลี้ยงดูแทนที่จะปล่อยให้พวกเขาออกหาอาหารเอง ซึ่งดูเหมือนว่าเขตอนุรักษ์แต่ละแห่ง ได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ไปเสียแล้ว


เมื่อฤดูหนาวมาเยือนฟาร์มแห่งนี้ก็พร้อมเปิดประตูต้อนรับแขกผู้มาเยือนทั้งนักล่ากวาง และนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ

ขณะเดียวกันนักชีววิทยาด้านสัตว์ป่าหลายคน ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การพุ่งความสนใจไปที่พื้นที่เล็ก ๆ ดังกล่าว จะยิ่งกระตุ้นการแพร่กระจายโรคผอมแห้งเรื้อรังให้เกิดเร็วขึ้น เช่น ในกรณีของโรคที่ติดต่อกันในกวาง จะมีความเสี่ยงอยู่ระหว่าง 5-50 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในรัฐวิสคอนซิน และโคโลราโด ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง แต่ถ้าโรคแพร่ระบาดเข้าสู่รัฐไวโอมิง “อัตราความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 90 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะ 100 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว” Mark Zabel ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพริออน แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโดสเตทกล่าว

พรีออน เป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่ และอันตรายอย่างมาก ต่างจากแบคทีเรีย หรือไวรัส เพราะพรีออนสามารถมีชีวิตรอดอยู่ในดินได้นานถึง 10 ปีหรือมากกว่านั้น อีกทั้งยังสามารถอาศัยอยู่ตามพืชพันธุ์ธรรมชาติได้อีกด้วย ฉะนั้นไม่ว่าฝูงสัตว์ป่าจะตายไปแล้ว หรือย้ายสัตว์ตัวใหม่เข้ามาแทนที่ ก็ไม่อาจรอดพ้นพรีออน โปรตีนขนาดเล็กที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ไม่ว่าจะร้อนหรือหนาว หรืออากาศจะสุดทรหดเพียงใด พรีออนก็สามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้


“จนถึงตอนนี้ เราก็ยังไม่ทราบที่มาของโรค” Andrew P. Dobson ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาและระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ผู้ที่กำลังศึกษาเรื่อง ผู้พิทักษ์ดุลยภาพของระบบนิเวศกล่าว

โดยเขาเชื่อว่าการเจ็บป่วยส่วนใหญ่ เป็นผลมาจากระบบนิเวศที่มีผู้ล่า และสัตว์กินซากพืชซากสัตว์น้อยเกินไป และได้คาดการณ์ที่มาของโรคว่า อาจมาจากกวางที่อาศัยอยู่ใกล้กับแกะในโคโลราโด หรือไวโอมิง ที่ซึ่งมีการตรวจพบการระบาดเป็นครั้งแรก

“เราทราบมาว่า แกะป่วยเป็นโรคสเครบี หรือโรควัวบ้าที่เกิดขึ้นในแกะมานานหลายศตวรรษแล้ว” ดร. Dobson กล่าวถึงทฤษฎีที่เขาตั้งขึ้น พร้อมทั้งระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่า “บางที หลังจากพวกมันตาย มันอาจจะนอนแน่นิ่งอยู่ตรงนั้นเป็นวัน ๆ โดยไม่มีสัตว์ที่ทำหน้าที่กินซากสัตว์เข้ามาช่วยกำจัดร่างของพวกมัน สัตว์กลุ่มต่อไปที่เข้ามาแทนที่ก็จะได้รับเชื้อที่ถูกทิ้งไว้เข้าสู่ร่างกาย และตายลงไปตามกลุ่มก่อนหน้า หมุนวนเป็นวัฏจักรอย่างนี้โดยไม่มีที่สิ้นสุด”

“หากว่ากันตามปกติแล้ว กวางเอลก์ และกวางอีกหลายชนิด พวกมันจำเป็นต้องได้รับแคลเซียมเป็นสารอาหารหลักของร่างกาย” เขากล่าว ซึ่งทำให้เขาได้เพิ่มสมมติฐานขึ้นมาอีกข้อว่า บางที พวกมันอาจกินกระดูกของสัตว์ที่ติดเชื้อ ทำให้พวกมันตกเป็นกลุ่มที่แพร่เชื้อออกเป็นวงกว้าง หรือถ้าให้เทียบกับเชื้อไวรัสโควิด-19 คงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Super Spreader เป็นแน่

หมาป่า จึงกลายมาเป็นหนึ่งในทางออกของการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ แต่ทว่าทั่วทั้งตะวันตกกลับพบฝูงหมาป่าน้อยลงทุกขณะ ทำให้วิกฤตครั้งนี้ดูน่าเป็นห่วงยิ่งกว่าเดิม


“การแยกสัตว์ที่ป่วย และอ่อนแอออกจากกลุ่มสัตว์ที่สุขภาพแข็งแรง จะช่วยลดอัตราการติดโรคผอมแห้งเรื้อรังลงไปได้ เพราะสัตว์ตัวใดก็ตามที่แสดงอาการติดเชื้อ หมาป่าผู้พิทักษ์ก็จะเข้ามาจัดการสัตว์ตัวที่ติดเชื้อนี้โดยทันที” ดร. Dobson กล่าว “หลังจากหมาป่าเข้ามาจัดการสัตว์เหล่านี้แล้ว ซากของสัตว์ที่ผ่านการกัดกินโดยหมาป่า จะถูกกำจัดอีกครั้งโดยหมาป่าไคโยตี นกอินทรีหัวล้าน นกอีกาเรเวน และหมี”

“หากไม่มีสัตว์นักล่า และสัตว์ที่คอยทำหน้าที่กำจัดซากพืชซากสัตว์อยู่บนโลก ซากสัตว์พวกนี้ก็จะอยู่ในระบบนิเวศนานขึ้น เมื่อมีสัตว์ป่ารุ่นต่อไปมาอาศัย พวกมันก็จะติดเชื้อต่อ ๆ กัน ในไม่ช้าโรคร้ายแรงตัวนี้ก็จะแพร่กระจายไปในวงกว้าง” Brandell กล่าว

ดร. Dobson กล่าวว่า การฟื้นฟูจำนวนประชากรผู้ล่าในเขตอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ป่าไม้ จะช่วยให้ระบบนิเวศมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น โดยอาจจะยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่า ธรรมชาติ คือ ร่างกายมนุษย์ หากธรรมชาติมีร่างกายแข็งแรง ก็จะทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อโรคร้ายต่าง ๆ ที่จะเข้ามาทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่ถ้าธรรมชาติอ่อนแอก็จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอตามไปด้วย


Ken McDonald หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สัตว์น้ำแห่งรัฐมอนทาน่า และอุทยาน (Chief of the Wildlife Division of Montana’s Fish, Wildlife and Parks) กำลังสงสัยว่า บางทีหมาป่าอาจจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคผอมแห้งเรื้อรังก็เป็นได้

“โดยปกติแล้ว หมาป่าจะเข้ามาช่วยกำจัดสัตว์ที่อ่อนแอหรือป่วย แต่นี่ก็เป็นเวลากว่า 2 ปี แล้วที่สัตว์ในเขตอุทยานของเราไม่ส่งสัญญาณใด ๆ ว่าพวกมันป่วย” เขากล่าว “แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่า พวกมันกำลังกลายเป็นจานเพาะเชื้อขนาดยักษ์ที่เคลื่อนที่ไปมาทั่วเขตอุทยาน โดยไม่แสดงอาการป่วยออกมาให้เราเห็น”

McDonald กล่าวอีกว่า เราต้องทำให้จำนวนประชากรหมาป่ามีจำนวนมากพอ เพื่อให้พวกมันสามารถเข้ามาควบคุมการแพร่ระบาดของโรคกวางซอมบี้ได้อย่างทันท่วงที แต่การนำหมาป่ามาช่วยดูแลผืนป่า ก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับจากชาวบ้านเท่าไรนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ และกลุ่มนักล่าสัตว์

ขณะที่แนวทางการควบคุมโรคของรัฐคือ การนำกวางจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มารวมไว้ในสถานที่ที่พบการระบาดของโรค จากนั้นรัฐจะกำจัดกวางพวกนี้ทิ้ง เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่พื้นที่รอบนอก McDonald อธิบายเพิ่มเติม

Brandell กล่าวว่า หมาป่าอาจตรวจพบโรคนี้ ก่อนที่มนุษย์จะค้นพบเสียอีก อาจจะเป็นการรับรู้ผ่านการดมกลิ่น หรือการเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยของเหยื่อ ซึ่งการสังเกตของพวกมันล้วนเป็นประโยชน์ต่อการล่าทั้งสิ้น

“หมาป่าไม่ได้เป็นเครื่องมือรักษาโรคอเนกประสงค์ในทุกพื้นที่เสมอไป” เธอกล่าว

“หากคุณมีกลุ่มนักล่าผู้เข้มแข็งอยู่ในมืออยู่ก่อนแล้ว พวกมันจะเข้ามาช่วยปกป้องธรรมชาติ โดยการกำจัดสัตว์ที่อ่อนแอไม่ให้พวกมันแพร่กระจายโรคร้ายออกนอกผืนป่า” เธอกล่าวปิดท้าย


ที่มา

  • Using Wolves as First Responders Against a Deadly Brain Disease. www.nytimes.com
  • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. โรควัวบ้า. www.si.mahidol.ac.th

เรื่องโดย