Kind People

นำศักดิ์ศรีให้เรา: เมื่อการ Cross-dress ไปร่วมสงครามไม่ได้มีแค่ในจักรวาลเจ้าหญิงดิสนีย์


ผู้ชายเก่งกาจฟาดฟัน หญิงควรมีครรภ์เป็นชาย

เสร็จเมื่อไร อย่าได้กลัว

งามทั่วตัวเป็นดอกบัวชั้นดี

หนุ่มตามจ้องคงไม่ต้องแถมฟรี

นำศักดิ์ศรีให้เรา


เรื่องราวของบุตรสาวตระกูลฮัวที่ไม่อาจตอบโจทย์ค่านิยมสตรีในขณะนั้น นำไปสู่การปลอมตัวเพื่อออกรบแทนบิดา “มู่หลาน” กลายเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์ที่ใครหลายคนชื่นชอบ ทั้งการตัดสินใจเด็ดขาด ความรักที่มีต่อครอบครัว และการต่อสู้เพื่อตัวเอง มู่หลานได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ศักดิ์ศรีที่เธอสามารถนำมาสู่ครอบครัวได้ ไม่ใช่การเป็นหญิงสาวผู้เพียบพร้อม ภรรยาผู้แสนดี หรือแม่ผู้สมบูรณ์แบบ อย่างที่สังคมเชื่อว่าผู้หญิงควรเป็นเช่นนั้นเสมอไป

และในชีวิตจริง ก็มีเหล่าวีรสตรีที่ออกไปสู้รบในสงครามจริง ๆ ไม่ใช้ตัวแสดงแทนอยู่เหมือนกัน!

Women & War
●●●

เมื่อพูดถึงภาพจำของผู้หญิงระหว่างเกิดสงคราม มักเป็นภาพการจากลาระหว่างแม่และลูก หญิงสาวและคนรัก บทบาทในสนามรบนั้นน้อยนิดเพียงหยิบมือ อาจอยู่ในหน่วยพยาบาล คนครัว คนทำความสะอาด หรือในหน่วยรบอย่างสายลับล้วงข้อมูล มากกว่าจะเป็นนายทหารด่านหน้าที่จับดาบถือปืนออกไปต่อสู้อย่างจริงจัง

หรือซ้ำร้ายกว่านั้น อีกหน้าที่ที่ถูกบังคับให้ทำของหญิงสาวเมื่อตกเป็นเชลยศึกคือ “หญิงบำเรอสงคราม (Comfort Women)” โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เด็กสาวชาวเกาหลีและชาวจีนจำนวนมาก ถูกพรากจากอกผู้เป็นพ่อแม่ เพื่อทำหน้าที่ผ่อนคลายให้นายทหารญี่ปุ่นระหว่างการสู้รบ อ๊กซอน ลี อดีตหญิงบำเรอสงครามชาวเกาหลีเล่าให้ฟังว่า ไม่ใช่แค่การข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ ผู้หญิงที่ถูกจับมาเหล่านี้ยังถูกทุบตี ทำร้ายร่างกาย และ 90 % ของหญิงบำเรอสงครามไม่ได้รอดชีวิตมาเช่นเธอ

แม้ว่าโชคชะตาจะไม่เข้าข้าง สังคมชายเป็นใหญ่จะกดทับ แต่นั่นไม่ได้ทำให้ผู้หญิงยอมแพ้ เหล่าเหยื่อบำเรอสงครามยังคงเป็นหญิงแกร่งที่เดินหน้าเคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนความยุติธรรมที่ทุกคนควรได้รับ ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1980 ภายหลังที่ประชาชนชาวเกาหลีใต้ ได้ชัยชนะเหนือระบอบเผด็จการและปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นประชาธิปไตย เหล่าเหยื่อบำเรอสงครามที่เกือบจะถูกลบตัวตนจากหน้าประวัติศาสตร์ ได้เริ่มต้นฟื้นคืนอดีตเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมเป็นเวลาร่วมหลายสิบปี จวบจนถึงปัจจุบัน

และเมื่อย้อนไปไกลกว่านั้นอีกสักหน่อย ในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา (American Civil War) ก็มีเหล่าวีรสตรีที่ลุกขึ้นสู้เพื่อความถูกต้องเช่นเดียวกัน

The Story of a Cross-dressing Hero
●●●

สงครามกลางเมืองอเมริกา เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1861 – ค.ศ. 1865 ระหว่างสหรัฐที่สนับสนุนการเลิกทาสและสมาพันธรัฐที่ต้องการให้ระบบทาสคงอยู่ต่อไป ช่วงเวลาที่แผ่นดินร้อนระอุนี้เอง หญิงสาวหลายคนได้เข้าร่วมสงครามครั้งนี้ พวกเธอปกปิดตัวตนที่แท้จริงของตนเองและปลอมตัวเป็นผู้ชาย ยอมแบกรับความเสี่ยงมากมายเอาไว้บนบ่าเพราะอิสรภาพของผู้คนนั้นสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด พวกเธออาจถูกลงโทษเมื่อความจริงเปิดเผย ได้รับบาดเจ็บจากสนามรบ หรือมากกว่านั้นคือความตาย แต่การต่อสู้ครั้งนี้ก็ยังคุ้มค่า

ในสงครามครั้งนี้ นักวิชาการคาดว่าอาจมีจำนวนผู้หญิง โดยเฉพาะหญิงเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน ที่เข้าร่วมสงครามมากกว่าที่รายงานในปัจจุบัน เนื่องจากการปกปิดตัวตนของพวกเธอ ทำให้ตัวเลขนั้นน้อยกว่าความเป็นจริง

มาเรีย ลูอิส (Maria Lewis) คือหญิงสาวชาวแอฟริกัน-อเมริกันวัย 17 ปี ที่เส้นทางระหว่างสงครามกลางเมืองอเมริกาของเธอคือการถูกจับไปเป็นทาส แม้จะมีเชื้อสายแอฟริกัน แต่สีผิวของมาเรียขาวมากพอที่จะซ่อนตัวตนในกลุ่มคนขาว เธอตัดสินใจหนีทาส แปลงโฉมเป็นชายอเมริกันผิวขาว และเข้าร่วมกับกรมทหารราบอาสาสมัครที่ 8 แห่งนิวยอร์ก หน่วยทหารอเมริกันผิวขาวที่ต่อสู้ในสงครามเวย์เนสโบโรที่เวอร์จิเนีย (Battle of Waynesboro, Virginia) จอร์จ แฮร์ริส (George Harris) คือชื่อที่มาเรียใช้ระหว่างรบ และนายทหารอเมริกันผิวขาวนามนี้ ได้เป็นส่วนหนึ่งที่พากรมทหารราบอาสาสมัครที่ 8 แห่งนิวยอร์ก คว้าชัยชนะเหนือสมาพันธรัฐ ณ เทือกเขาเชนันโดอาห์ที่เวอร์จิเนีย (Shenandoah Valley, Virginia)


จอร์จ แฮร์ริส ได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน 17 ตัวแทนเชิญธงแห่งชัยชนะต่อเอ็ดวิน สแตนตัน (Edwin Stanton) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาขณะนั้น และไม่มีใครในที่นั้นรู้เลยว่า จอร์จ แฮร์ริส ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง หากเป็นเพียงนามแฝงของ มาเรีย ลูอิส ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตัวละครใน Uncle Tom’s Cabin ชายเชื้อสายแอฟริกันที่ปลอมตัวเป็นชาวสเปนเพื่อหลบหนีจากการค้าทาสเท่านั้น

เรื่องราวของมาเรียได้รับการบันทึกไว้ในไดอารีของ จูเลีย วิลเบอร์ (Julia Wilbur) หนึ่งในนักเคลื่อนไหวต่อต้านการค้าทาสที่ได้พบกับเธอภายหลังสงครามสิ้นสุดลง โดยนักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่า ลูอิส วี กริฟฟิน (Lewis V. Griffin) พี่ชายของจูเลียที่ดำรงตำแหน่งร้อยตรีในกรมทหารราบอาสาสมัครที่ 8 แห่งนิวยอร์ก ณ ขณะนั้น และเป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้านการค้าทาส ได้ช่วยเก็บความลับของมาเรียไว้ด้วยเช่นกัน

ในยุคสมัยหนึ่งที่ศักดิ์ศรีของผู้หญิงยึดโยงไว้กับครัวเรือน คุณค่าผูกติดกับความสวยงาม และชีวิตที่มีกรอบจำกัดมากมายภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ ก็ยังมีผู้หญิงที่ยืนหยัดต่อต้านอคติ เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของทุกคน อย่างมาเรีย ลูอิส อ๊กซอน ลี และเหล่าผู้คนที่เคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมที่ได้รับและไม่ได้รับการขนานนามอีกมากมาย

และเมื่อกาลเวลาหมุนผ่าน สังคมเปิดกว้าง ผู้คนมองกันเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม เมื่อนั้นศักดิ์ศรีของเราทุกคนก็จะไม่ถูกยึดโยงกับสิ่งใดอีกต่อไป นอกเสียจากการที่เราได้เป็นตัวเองอย่างที่ใจต้องการ


อ้างอิง


เรื่องโดย