🦠🦠
สำรวจความเปลี่ยนแปลงของทั่วโลก
หลังเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งมุมมองที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงมาตรการล็อกดาวน์
และอีกมุมที่เป็นผลดีต่อธรรมชาติ ทั้งหมดนี้คือ
ตัวอย่างเพียงบางส่วนที่ KiNd รวบรวมและนำเสนอ
เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
อันนำไปสู่การคิดต่อยอดว่า จะทำให้การเปลี่ยนแปลง
ในส่วนที่ดีขึ้นนี้ยั่งยืนต่อไปอย่างไร
🦠🦠
ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป
ชีวิตที่ต้องใส่หน้ากากทุกครั้งเวลาออกนอกบ้าน ล้างมือบ่อยขึ้น ฉีดพ่นสิ่งของด้วยแอลกอฮอล์ รักษาความสะอาด และค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการรับมือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดโรค สถานที่ต่าง ๆ มีการตรวจวัดอุณหภูมิและคอยทำความสะอาดฆ่าเชื้อตลอดเวลา
การทำงานระบบออนไลน์
หลายบริษัทเล็งเห็นว่าการที่พนักงานส่วนหนึ่งทำงานที่บ้านและการประชุมผ่านระบบออนไลน์สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการลดต้นทุนบริษัทด้วย โดยผลวิจัยจาก Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก ระบุว่า 74% ของบริษัทต่าง ๆ วางแผนให้พนักงานทำงานที่บ้านแบบถาวร
เร่งเข้าสู่สังคมไร้เงินสด
ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อของหรือการทำธุรกิจทุกอย่างผ่าน Application บนมือถือ ลดการทำธุรกรรมทางธนาคาร หรือตามร้านค้าและห้างสรรพสินค้าโดยตรง
ภาคธุรกิจนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น
การใช้หุ่นยนต์ในการผลิต การจัดเก็บและบริหารข้อมูลบน Cloud การใช้ AI ออกแบบและบริหารระบบ Supply Chain ของบริษัท มีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีสามารถลดหรือบริหารความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด เช่น การใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์อาจจะประหยัดต้นทุนได้ เนื่องจากราคาปัจจุบันก็ถูกลงมากและไม่จำเป็นต้องปิดโรงงานหากคนงานสักคนติดโรคระบาดขึ้นมา
ระบบการแพทย์ออนไลน์
ผู้คนในสหรัฐฯ เริ่มนิยมการพบหมอออนไลน์มากขึ้น ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาล ทั้งแพทย์และผู้ป่วยสามารถสนทนาและสื่อสารกันผ่าน Online Application ยกตัวอย่างรายได้ของบริษัท Teladoc Health Inc ที่เติบโตขึ้นในวิกฤตโควิด จากรายได้ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
คนทานเนื้อสัตว์น้อยลงบริโภคโปรตีนจากพืชมากขึ้น
การลงทุนกลุ่มอาหารโปรตีนจากพืชเพิ่มขึ้น โดยบริษัท NRF ผู้นำธุรกิจด้านอาหารยั่งยืนคาดว่า ยอดขายปี 2563 จะเติบโตขึ้น 15-20% ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชเพิ่มมากขึ้น
ขยะเพิ่มขึ้นในภาวะวิกฤต
ผลพวงจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณขยะในประเทศไทย โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งประเภทพลาสติก มีปริมาณเพิ่มขึ้น 15% เพิ่มขึ้นเป็น 6,300 ตันต่อวัน จากเดิม 5,500 ตันต่อวัน
ธุรกิจปิดตัว
ธุรกิจโรงแรมหดตัว หลายประเทศออกมาตรการปิดเมืองจนทำให้เกิดการหยุดชะงักของเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน รายได้ และการดำเนินชีวิต ผู้ประกอบการที่ทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวจำเป็นต้องยุติการดำเนินธุรกิจและประกาศขายกิจการ
เศรษฐกิจตกต่ำ
หลายประเทศสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากจะต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการป้องกันและรักษาเชื้อไวรัสโควิด-19 จนขาดแคลนทรัพยากรในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
จุดจบของพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล
การโดยสารด้วยเครื่องบินซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลปริมาณมากลดลง และวิกฤตนี้ทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เร่งให้เทรนด์ของพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นที่นิยมมากขึ้น
ฝุ่นพิษลดลง
มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้สภาพอากาศในอินเดียดีขึ้นมาก จากที่เป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ในช่วงโควิดประชาชนสามารถเห็นเทือกเขาหิมาลัยเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ซึ่งมองเห็นได้จากเมืองปัญจาบ ที่ห่างจากเทือกเขาหิมาลัยถึง 200 กม. หลังจากที่ผ่านมาเทือกเขาจะถูกฝุ่นควันบดบังไว้
แหล่งท่องเที่ยวได้พักฟื้น
การสัญจรที่ลดลงระหว่างมาตรการล็อกดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้น้ำในคลองเวนิสของอิตาลีใสสะอาดจนเห็นภาพสะท้อนของอาคารด้านบนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ธรรมชาติฟื้นตัว
ในประเทศไทย เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ตามแนวชายฝั่งอันดามัน จังหวัดภูเก็ตและพังงารวมทั้งสิ้น 11 รัง (ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึง เดือนมีนาคม 2563) มีลูกเต่ามะเฟืองเกิดใหม่ในฤดูนี้มากกว่าฤดูอื่น ๆ ในรอบ 20 ปี
กระแสเที่ยวในประเทศมาแรง
หลายประเทศมีมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศเป็นตัวเลือกแรกในช่วงที่กำลังพัฒนาวัคซีน จากผลสำรวจของ McKinsey ต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนในเดือนพฤษภาคม 2020 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 55% คิดว่าจะเที่ยวในประเทศก่อน เป็นผลมาจากความกังวลเรื่องเชื้อโควิด-19 จากการไปเที่ยวต่างประเทศ
รัฐบาลจีนออกมาตรการเชิงรุก
จีนสร้างโรงพยาบาลฉุกเฉินขึ้นมาภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ ระดมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากทั่วประเทศไปยังศูนย์กลางการแพร่ระบาด เพื่อคอยติดตามเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อไวรัสเฉพาะในเมืองอู่ฮั่นเพียงเมืองเดียว มีทีมงานมากกว่า 1,800 ทีม
WHO ยกย่องอาสาสมัครไทย
รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อลดลง ส่วนหนึ่งมาจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านของไทยจำนวน 1,040,000 คนที่ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านให้ความรู้เรื่องสาธารณสุขการใช้ยาและการเฝ้าระวังการระบาดโควิด-19 รวมถึงทำรายงานถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อสม. คือด่านหน้าหน้าในการรับมือวิกฤต
อ้างอิง
- “New normal” ในโลกหลัง COVID-19 ที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิม. www.tmbameastspring.com
- โควิด-19 : เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่มากสุดในรอบ 20 ปี ที่ภูเก็ตและพังงา ข่าวดีท่ามกลางข่าวร้ายในไทย. www.bbc.com
- NRF คาดยอดขายปีนี้โต 15-20% โควิดหนุนดีมานด์ มั่นใจแตะ 3 พันลบ.ในปี 67. www.infoquest.co.th
- โควิด-19 สำรอกขยะทะเลพุ่ง 15% แพนิกอาหารทะเลปนเปื้อน. mgronline.com
- ส่องวิธีรับมือโควิด-19 หลังจีนไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม. www.bangkokbiznews.com