Kind Health

Before I Forget: “อัลไซเมอร์” โรคแห่งความบอบช้ำที่อยากจะจำแต่ทำได้แค่ลืม



ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” แบบก้าวกระโดด โดยมีประชากรเข้าสู่วัยสูงอายุกว่าปีละล้านคน​ จากข้อมูลของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ (พ.ศ. 2563) พบว่าในปี พ.ศ. 2558 มีผู้ป่วย “โรคอัลไซเมอร์” ​ประมาณกว่า 600,000 คน​ โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 100,000 รายต่อปี​ และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2573 จะมีผู้สูงอายุป่วยเป็นอัลไซเมอร์เพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,177,000 คน​ โดยผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนในการเป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 5-8 และเมื่อมีอายุ 80 ปีสัดส่วนของการเป็นโรคอัลไซเมอร์สูงถึงร้อยละ 50

ว่าแต่… อัลไซเมอร์ (Alzheimer) คือ?
●●●

ชวนมาทำความเข้าใจเพิ่มเติมกันอีกสักหน่อยเกี่ยวกับโรค “อัลไซเมอร์” หนึ่งในโรคที่หลายคนมักพูดติดปากเวลาเกิดอาการขี้หลงขี้ลืมบ่อย ๆ อัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงาน หรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อสมอง ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ โดยไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติ แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “เบต้า-อะไมลอยด์” (beta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหาย


ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำโดยเฉพาะความจำระยะสั้น จากนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแพร่กระจายไปสู่สมองส่วนอื่น ๆ และส่งผลต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ภาษา และพฤติกรรม ในขณะที่สมองส่วนที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวยังใช้การได้ดี โดยมีข้อสันนิษฐานว่าทุกคนเกิดมาพร้อมกับโอกาสที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ราว 10-15% และจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นพร้อมกับวัยที่มากขึ้นโดยเฉพาะเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป

อาการทั่วไปของโรคอัลไซเมอร์
●●●

จากข้อมูลของโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ (พ.ศ. 2561) แบ่งอาการของโรคอัลไซเมอร์เป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีความจำถดถอยจนตัวเองรู้สึกได้ ชอบถามซ้ำ พูดซ้ำ ๆ เรื่องเดิม สับสนทิศทาง เริ่มเครียด อารมณ์เสียง่ายและซึมเศร้า แต่ยังสื่อสารและทำกิจวัตรประจำวันได้ ระยะนี้เป็นระยะที่คนรอบข้างยังสามารถดูแลได้

  2. ระยะกลาง ผู้ป่วยมีอาการชัดเจนขึ้น ความจำแย่ลงอีก เดินออกจากบ้านไปโดยไม่มีจุดหมาย พฤติกรรมเปลี่ยนไปมาก เช่น จากที่เป็นคนใจเย็นก็กลายเป็นหงุดหงิดฉุนเฉียว ก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย หรือจากที่เป็นคนอารมณ์ร้อนก็กลับกลายเป็นเงียบขรึม และเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ชงกาแฟไม่ได้ ใช้รีโมททีวีหรือโทรศัพท์มือถือไม่ได้ คิดอะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่อยู่ในโลกของความจริง เช่น คิดว่าจะมีคนมาฆ่า มาขโมยของ คิดว่าคู่สมรสนอกใจ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอาการที่ยากต่อการดูแลและเข้าสังคม

  3. ระยะท้าย ผู้ป่วยอาการแย่ลง ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง สุขภาพทรุดโทรมลงคล้ายผู้ป่วยติดเตียง รับประทานได้น้อยลง การเคลื่อนไหวน้อยลงหรือไม่เคลื่อนไหวเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สมองเสื่อมเป็นวงกว้าง ไม่พูดจา ภูมิคุ้มกันอ่อนแอซึ่งมักนำไปสู่การติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด โดยระยะเวลาทั้งหมดตั้งแต่แรกวินิจฉัยจนเสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ 8-10 ปี


มองโรคอัลไซเมอร์ผ่านภาพยนตร์นานาชาติ
●●●

สำหรับแวดวงภาพยนตร์ก็ได้พยายามสะท้อนภาพของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เพื่อให้คนทั่วไปมีความเข้าใจต่อโรคนี้มากขึ้น เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Still Alice (2014) เป็นเรื่องราวของ “อลิซ” ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ผู้มีทั้งหน้าที่การงานที่ดี และครอบครัวที่อบอุ่น ขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย แต่แล้วเธอก็พบกับความผิดปกติที่เข้ามาสู่ชีวิตวัย 50 ปีของเธอ

อลิซพบว่าตัวเองเป็นโรคอัลไซเมอร์ เธอหลงลืมคำศัพท์ในระหว่างการสอน เธอหลงทางระหว่างที่วิ่งจ๊อกกิ้งในเส้นทางประจำ ก่อนจะพบว่าเธอป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Familial Alzheimer’s Disease) อลิซ จึงเตรียมตัว เตรียมใจ พยายามหาความรู้เกี่ยวกับอัลไซเมอร์ให้มากที่สุด และพยายามสานสัมพันธ์กับสมาชิกครอบครัวให้มากขึ้น เพราะเธอรู้ว่าในช่วงชีวิตหลังจากนี้เธอจะไม่ใช่อลิซอีกแล้ว เธอจึงพยายามทำทุกอย่างในตอนที่ตัวเธอยังคงเป็นอลิซ

ด้วยทักษะการแสดงที่น่าตื่นตะลึงของจูลีแอน มัวร์ ที่รับบท อลิซ ในเรื่อง ทำให้เราได้เห็นแง่มุมอันน่าสนใจของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นที่ผู้ป่วยเริ่มพูดจาได้น้อยลง ไปจนถึงลักษณะการแสดงสีหน้าท่าทางที่สื่อว่าขาดความเป็นตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่นักวิจัยเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ และคนที่ดูแลผู้ป่วยโรคนี้ยังต้องออกปากชื่นชม

นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ที่สะท้อนเรื่องราวของโรคอัลไซเมอร์ที่ช่วยให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น อาทิ ภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง A Moment to Remember (2004) The Notebook (2004) และภาพยนตร์ไทยเรื่อง ความจำสั้นแต่รักฉันยาว เป็นต้น

ก่อนจะหลงลืม ต้องอย่าละเลย
●●●

การดำเนินชีวิตอย่างรักสุขภาพจะส่งผลดีต่อสมอง อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้ ตัวอย่างแนวทางการปฏิบัติเบื้องต้น เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมอง ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำกิจกรรมการกระตุ้นความคิดอยู่เสมอ ข้อมูลจากโรงพยาบาลสมิติเวชระบุถึงรายงานหนึ่งว่า ผู้ที่มีกรรมพันธุ์โรคอัลไซเมอร์จะมีความเสี่ยงสูง แต่หากดูแลสุขภาพอย่างดี สามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ลงได้ถึง 32% เมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้ชีวิตแบบไม่ใส่ใจสุขภาพ

และการพักอาศัยในบริเวณที่มีมลภาวะสูงจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์สูงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ผู้หญิงสูงวัยที่ใช้สมองอยู่เสมอ มีศักยภาพการทำงาน มีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นเพียง 21% ต่างจากผู้ที่ไม่ค่อยได้บริหารสมอง จะมีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นถึง 113%


แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ มีเพียงการรักษาให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องตระหนักคือการให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจของผู้ป่วยและผู้ดูแล เพราะโรคอัลไซเมอร์ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนทั้งครอบครัว ซึ่งแพทย์จากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์แนะนำแนวทางเบื้องต้น ไว้ดังนี้

  • ผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจและยอมรับอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่เกิดขึ้น
  • ดูแลด้วยความโอบอ้อมอารี ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง อับอาย หรือหงุดหงิด หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการโต้เถียงเพราะไม่มีประโยชน์ แต่ควรพูดคุยในเรื่องที่ทำให้มีความสุข
  • ผู้ดูแลต้องดูแลร่างกายและจิตใจของตนเองด้วย เพราะการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ตลอดเวลาอาจก่อให้เกิดความเครียดหรือปัญหาด้านอารมณ์ได้ ฉะนั้น หากเครียดหรือรู้สึกแย่ควรหยุดพักให้ผู้อื่นมาดูแลแทน เมื่อสภาพร่างกายและจิตใจพร้อมแล้วจึงค่อยกลับมาทำหน้าที่ผู้ดูแลใหม่

ด้วยสภาพการณ์ปัจจุบันอาจจะกล่าวได้ว่าโรคอัลไซเมอร์นั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เราจึงควรใส่ใจและรู้ให้เท่าทัน โดยเฉพาะการเข้าใจโรคและเข้าใจผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนช่วงเวลาของฝันร้ายให้กลายเป็นความทรงจำที่ดีของครอบครัวได้ไม่ยาก


อ้างอิง


เรื่องโดย