ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสวอนซี (University of Swansea) ในแคว้น Wales สหราชอาณาจักร ได้ผ่าซากของมัมมี่สัตว์จากยุคอียิปต์โบราณเพื่อตรวจชันสูตรด้วยวิธีที่ไม่ทำลายสภาพของวัตถุผ่านการสแกนดิจิทัล 3 มิติความละเอียดสูง จากข้อมูลของเว็บไซต์ Gizmodo ระบุว่า มัมมี่สัตว์เหล่านี้มีอายุย้อนกลับไปประมาณ 2,000 ปีก่อน ซึ่งการตรวจสอบซากสัตว์ทำให้นักวิจัยมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าสัตว์เหล่านี้มีชีวิตและตายอย่างไร การศึกษานี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ Scientific Reports
ตัวอย่างที่นักวิจัยได้ศึกษาคือ ซากศพของนก แมว และงู และแม้ว่าการใช้วิธีเอกซ์เรย์เพื่อศึกษาโครงสร้างมัมมี่โบราณได้กลายเป็นแนวทางปฏิบัติที่แพร่หลายในหมู่นักโบราณคดี แต่ทีมนักวิจัยทีมนี้ใช้ การเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ระดับไมโครเมตร (X-ray microcomputed tomography) หรือ CT Scan มาช่วยวิเคราะห์ ข้อดีของเทคโนโลยีนี้คือให้ภาพที่มีความละเอียดสูงอย่างน่าเหลือเชื่อ โดยให้รายละเอียดมากกว่าภาพจาก CT scan ทางการแพทย์ทั่วไปถึง 100 เท่า ไม่เพียงแค่นั้นภาพยังให้มุมมอง 3 มิติของวัตถุอีกด้วย เทคโนโลยีนี้คมชัดมากจนทำให้ทีมสามารถตรวจสอบฟันของสัตว์จากซากได้อีกด้วย
Photo Credit: BBC.com Photo Credit: BBC.com
“การใช้ไมโคร CT ทำให้เราสามารถชันสูตรศพสัตว์เหล่านี้ที่ตายมานานกว่า 2,000 ปีตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณได้อย่างมีประสิทธิภาพ เครื่องมือไฮเทคในปัจจุบันช่วยให้เรามองเห็นอดีตอันไกลโพ้นได้ชัดเจนขึ้น” Richard Johnston ศาสตราจารย์จาก Swansea University ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาวิจัย กล่าว
การสแกนไมโคร CT มัมมี่แมวตัวหนึ่งเผยให้เห็นว่า มันเป็นแมวเลี้ยงในบ้านที่เสียชีวิตเมื่ออายุน้อยกว่า 5 เดือน ซึ่งนักวิจัยสามารถเรียนรู้ได้โดยการ “แล่” กรามของลูกแมวการผ่านวิธีการสแกนเสมือนจริง ซึ่งเป็นข้อมูลที่นักวิจัยก่อนหน้านี้ไม่ได้พบจากการวิเคราะห์ข้อมูล 3 มิติบนหน้าจอ 2 มิติและในการพิมพ์ 3 มิติ โดยคอของลูกแมวนั้นหัก ซึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนที่มันจะตายหรือก่อนที่จะทำมัมมี่ เพื่อให้หัวของมันอยู่ในตำแหน่งตั้งตรงสำหรับทำการดองศพ
Photo Credit:kcchip
สำหรับมัมมี่งู ทีมวิจัยพบว่าเป็นงูเห่าอียิปต์ที่ยังอายุน้อยที่เริ่มเป็นโรคเกาต์ ซึ่งอาจเป็นเพราะภาวะขาดน้ำเมื่อตอนมันยังมีชีวิต ส่วนกระดูกสันหลังของมันที่หักบ่งชี้ว่ามันถูกฆ่าโดยการฟาดลงบนพื้นแข็งซึ่งเป็นเทคนิคที่มักใช้ในการฆ่างู มีเรซินแข็งตัวอยู่ภายในคอ ซึ่งน่าจะมาจากกระบวนการทำมัมมี่ ในขณะเดียวกันนกมัมมี่นั้นก็เป็นนกเหยี่ยวขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “นกเหยี่ยวยูเรเชีย” โดยการที่นักวิจัยสามารถระบุชนิดของมันได้นั้นเป็นเพราะประสิทธิภาพของการสแกน ไมโคร CT ซึ่งทำให้สามารถวัดกระดูกได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้กระดูกสันหลังของนกหักไม่หักเหมือนกระดูกสันหลังของแมวและงู นักวิทยาศาสตร์จึงสรุปว่ามัมมี่ที่นำมาตรวจสอบในการศึกษาครั้งนี้ น่าจะเป็นสัตว์สำหรับบูชายัญมากกว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยง
ในสมัยอียิปต์โบราณคาดว่าสัตว์ประมาณ 70 ล้านตัวถูกทำเป็นมัมมี่ ซึ่งจุดนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจศึกษาการทำมัมมี่ของสัตว์ในฐานะอุตสาหกรรมการผลิตมัมมี่ที่เฟื่องฟูในช่วงเวลานั้น
ทั้งนี้ศาสตราจารย์ Johnston และทีมวิจัยของเขาคาดว่าจะดำเนินการทดลองต่อไปโดยใช้เทคโนโลยี micro CT scan รูปแบบใหม่มาช่วย โดยหวังว่าจะค้นพบข้อมูลที่มีค่าซึ่งอาจถูกมองข้ามไปมากยิ่งขึ้น