ความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยองค์กรโรคภูมิแพ้โลก หรือ World Allergy Organization (WAO) ประเมินว่า มีประชากรจำนวนไม่ต่ำกว่า 240 ล้านคน จาก 7,500 ล้านคน หรือประมาณ 3.2% เป็นโรคภูมิแพ้
ขณะเดียวกัน “สารก่อภูมิแพ้ในอาหาร” (Food Allergen) เป็นหนึ่งในปัญหาการถูกเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหาร (Food Recall) มากที่สุด โดยสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานสถิติการเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศต่าง ๆ ในปี 2562 พบว่า สาเหตุที่มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหารมากที่สุดคือ อันตรายจากฉลากไม่ถูกต้อง คิดเป็นสัดส่วน 49% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการไม่แสดงสารก่อภูมิแพ้บนฉลาก
สำหรับสินค้าที่พบสารก่อภูมิแพ้ในอาหารมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อาหารพร้อมทาน อาหารแช่แข็ง และกลุ่มนมและผลิตภัณฑ์นม ซึ่งปี 2562 ไทยถูกเรียกคืนสินค้า 6 รายการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การพบสารก่อภูมิแพ้ในผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป โดยผลกระทบทางธุรกิจที่จะเกิดตามมาคือ อาจทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นถูกดำเนินการจากกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศผู้นำเข้า เช่น นำสินค้าออกจากตลาด ตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำลายหรือส่งกลับประเทศต้นทาง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจได้
สินค้าที่พบสารก่อภูมิแพ้ในอาหารมากที่สุด
- อันดับ 1 อาหารพร้อมทาน
- อันดับ 2 อาหารแช่แข็ง
- อันดับ 3 กลุ่มนมและผลิตภัณฑ์นม
รายชื่ออาหารก่อภูมิแพ้ของประเทศต่าง ๆ
ประเทศไทย | สหรัฐอเมริกา | สหภาพยุโรป | ออสเตรเลีย | ญี่ปุ่น |
ธัญพืชที่มีกลูเตน | ธัญพืชที่มีกลูเตน | ธัญพืชที่มีกลูเตน | ธัญพืชที่มีกลูเตน | ธัญพืชที่มีกลูเตน |
นมและผลิตภัณฑ์ | นมและผลิตภัณฑ์ | นมและผลิตภัณฑ์ | นมและผลิตภัณฑ์ | นมและผลิตภัณฑ์ |
กุ้ง กั้ง ปู และผลิตภัณฑ์ | กุ้ง กั้ง ปู และผลิตภัณฑ์ | กุ้ง กั้ง ปู และผลิตภัณฑ์ | กุ้ง กั้ง ปู และผลิตภัณฑ์ | กุ้ง กั้ง ปู และผลิตภัณฑ์ |
ปลาและผลิตภัณฑ์ | ปลาและผลิตภัณฑ์ | ปลาและผลิตภัณฑ์ | ปลาและผลิตภัณฑ์ | ถั่วลิสง |
ถั่วลิสง | ถั่วลิสง | ถั่วลิสง | ถั่วลิสง | ถั่ว Tree nuts |
ถั่วเหลือง | ถั่วเหลือง | ถั่วเหลือง | ถั่วเหลือง | ไข่ |
ถั่ว Tree nuts | ถั่ว Tree nuts | ถั่ว Tree nuts | ถั่ว Tree nuts | โซบะ |
ไข่ | ไข่ | ไข่ | ไข่ | |
สารกลุ่มซัลไฟต์ เท่ากับหรือมากกว่า 10 ppm | สารกลุ่มซัลไฟต์ เท่ากับหรือมากกว่า 10 ppm | สารกลุ่มซัลไฟต์ เท่ากับหรือมากกว่า 10 ppm | สารกลุ่มซัลไฟต์ เท่ากับหรือมากกว่า 10 ppm | |
หอยและผลิตภัณฑ์ | หอยและผลิตภัณฑ์ | |||
ถั่วลูพิน | ถั่วลูพิน | |||
งาและผลิตภัณฑ์ | ||||
มัสตาร์ด | ||||
ขึ้นฉ่ายและพืชตระกูล |
Photo Credit: Edulado Soares/ pexels
CODEX มาตรฐานจัดการสารก่อภูมิแพ้
เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
สำหรับประเทศไทยมีการกำหนดให้ระบุอาหารที่เป็นสารก่อภูมิแพ้บนฉลาก โดยกำหนดให้ระบุบนฉลากสินค้าทั้งกรณีที่มีการใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร และกรณีที่มีการปนเปื้อนระหว่างกระบวนการผลิต ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดอาหารที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ไว้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากอาหารในภาชนะบรรจุ
ด้านรายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากการประชุม CODEX Alimentarius Commission 2020 ครั้งที่ 43 มีประเด็นเกี่ยวกับการยกระดับการจัดการความปลอดภัยด้านอาหารที่ผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตอาหาร ได้แก่ ผู้ผลิตขั้นต้น โรงงานแปรรูป ร้านค้าปลีก และร้านอาหาร โดยเตรียมประกาศมาตรฐานใหม่ เรื่อง “หลักปฏิบัติสำหรับการจัดการสารก่อภูมิแพ้สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร” คาดว่าจะเริ่มประกาศใช้ประมาณปลายปี 2563 หลังจากร่างมาตรฐานใหม่นี้ถูกเสนอให้มีการจัดทำมาตั้งแต่ปี 2560
โดยสารก่อภูมิแพ้ที่ CODEX ระบุไว้มี 8 กลุ่ม ได้แก่ ธัญพืชที่มีกลูเตน นมและผลิตภัณฑ์นม ไข่ เมล็ดถั่ว (Tree Nuts) ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีเปลือกแข็ง (เช่น กุ้ง ปู) รวมถึงสารซัลเฟอร์ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 10 มก./กก.
สำหรับมาตรฐาน CODEX จะแตกต่างจากข้อกำหนดที่เคยมีอยู่ในระบบ GMP/HACCP หรือ Good Manufacturing Practice และ Hazard Analysis and Critical Control Point ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับระดับโลก คือ จากเดิมอันตรายที่กำหนดไว้จะได้แก่ อันตรายทางกายภาพ เคมีและจุลินทรีย์ แต่มาตรฐานใหม่ของ CODEX จะเพิ่มสารก่อภูมิแพ้และกำหนดวิธีการควบคุมสารก่อภูมิแพ้ เช่น การพิจารณาสารก่อภูมิแพ้ในทุกกิจกรรม การกำหนดวิธีการทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องจักร การอบรมพนักงาน ตลอดจนพิจารณากฎหมายของแต่ละประเทศและกลุ่มประชากรที่แพ้สารก่อภูมิแพ้ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การจัดการสารก่อภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นจากการผลิตอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้นและครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิตอาหาร
อย่างไรก็ตาม แม้ CODEX จะไม่ได้เป็นข้อบังคับทางกฎหมาย แต่หากเกิดกรณีพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ มาตรฐาน CODEX ก็จะถูกหยิบยกมาเป็นเกณฑ์ในการระงับข้อพิพาท นั่นหมายความว่า ผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตอาหารจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติให้ได้ตามเกณฑ์
ดังนั้น ผู้ประกอบการส่งออกอาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูปและอาหารพร้อมทาน จึงเป็นกลุ่มที่จะต้องเตรียมรับมือจากประเด็นนี้ เนื่องจากตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น อาจจะมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นต่อการจัดการด้านการปนเปื้อนสารก่อภูมิแพ้
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอาหารส่งออกของไทย อาจไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรฐาน CODEX มากนัก เนื่องจากมีการปฏิบัติตามเกณฑ์ GMP และ HACCP อยู่แล้ว ซึ่งประโยชน์ของมาตรฐานนี้น่าจะตกไปอยู่ที่ผู้บริโภคในแต่ละประเทศ เนื่องจากจะได้รับการดูแลด้านอาหารปลอดภัยมากขึ้น สะท้อนจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารมาจำหน่ายในประเทศ ที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานใหม่ โดยเฉพาะสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ที่จะทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์สากล ทั้ง GMP HACCP รวมถึงมาตรฐาน CODEX ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย