Kind People

อิสรภาพ ชาติพันธุ์: เส้นทางการเอาตัวรอดภายใต้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และร่มเงาเผด็จการ

“มันเป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องของมนุษย์ที่กระหายอำนาจ และมันมีคนแบบนี้อยู่ทุกที่”


โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในยุโรป การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่คร่าชีวิตกว่า 6 ล้านคน เพียงเพราะชาติกำเนิด “ฮอโลคอสต์ (Holocaust)” เหตุการณ์ล่าสังหารชาวยิวโดยพรรคนาซีเยอรมันภายใต้การนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ระหว่างปี ค.ศ. 1941 – 1945 แม้ว่าฝันร้ายของชาวยิวจะจบลง แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็ยังทิ้งร่องรอยบาดแผลไว้ข้างใน

จอห์น ฮาดู (John Hadu) คือหนึ่งในผู้รอดชีวิตท่ามกลางเพื่อนร่วมชาติพันธุ์กว่า 6 ล้านคนที่จากไป เขาเกิดในปี ค.ศ. 1937 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1939 เพียง 2 ปีเท่านั้น และเพียง 4 ปี ก่อนที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฮอโลคอสต์จะเริ่มต้นขึ้น “ตอนนั้นผม 4 ขวบ ยังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร แต่ผมรู้ว่ามันจะกระทบชีวิตของผมอย่างแน่นอน”

ภารกิจเอาชีวิตรอดจากนาซีเยอรมัน
_

ในปี ค.ศ. 1944 นี้เอง เยอรมันได้เดินทัพมาที่ฮังการี กรุงบูดาเปสต์

“บ้านเราอยู่ชั้นสามในแฟลต ตอนนั้นผู้ชายเชื้อสายยิวถูกจับไปหมดแล้ว พวกนาซีเริ่มเข้ามาจับกุมหญิงชาวยิว พวกเขาเริ่มค้นหาทีละตึก ป้าของผมอยู่ด้วยและเธอเห็นว่าทหารนาซีกำลังมา เธอช่วยแม่ไม่ได้เพราะแม่ของผมโดนลากลงไปก่อนแล้ว” จอห์นเล่าถึงเหตุการณ์ที่พรรคนาซีเยอรมันบุกค้นบ้านพักที่อยู่อาศัยในกรุงบูดาเปสต์ เพื่อจับชาวยุโรปเชื้อสายยิว “มีเพื่อนบ้านคนหนึ่งที่เรารู้จักและสนิทกันดี เขาไม่ใช่ยิว มันเป็นโอกาสของเรา ป้าคว้าผมไว้ และเร่งฝีเท้าไปที่บ้านของเพื่อนเรา”

จอห์นนิยามตัวเองว่า ‘โชคดี’ ในหลาย ๆ ครั้ง และนี่เป็นเพียงครั้งแรก “ป้าของผมขอร้องให้เขาช่วยเรา แน่นอนว่าเขาจะปฏิเสธก็ได้ อาจจะพูดว่า ‘ขอโทษนะ แต่ผมทำอะไรไม่ได้ ผมไม่อยากโดนจับแล้วถูกฆ่าตายหรอกนะ’ ก็ได้ แต่ไม่เลย เขาไม่ทำแบบนั้น เขาเลือกที่จะคว้าโอกาสในการช่วยชีวิตเรา พาพวกเราเข้าบ้าน ซ่อนเราไว้ในตู้” ป้าหลานชาวยิวหลบอยู่ในนั้นอย่างเงียบเชียบ แม้จะเป็นเพียงเด็ก 7 ขวบ แต่จอห์นก็เข้าใจสถานการณ์ตรงหน้าดี ไร้เสียงเพียงตอนนี้ก็ยังดีกว่าไร้ลมหายใจ 

ระยะเวลาเพียงชั่วโมงเศษนั้นยาวนานเหมือนทั้งชีวิต สุดท้ายแล้วทหารนาซีไม่ได้บุกค้นตึกของเพื่อนบ้านเพราะเขาไม่ใช่ชาวยิว “พวกเขารู้ รู้ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับผู้คนละแวกนี้ว่าใครเป็นใคร พวกนาซีรู้จักทุกคน เป็นการสืบค้นที่ยอดเยี่ยมเลยทีเดียว”

แม้จะรอดจากการบุกค้นบ้านในครั้งนั้น แต่สุดท้ายแล้ว จอห์นและป้าของเขาก็ถูกทหารนาซีพบตัวเข้าจนได้ และต้องย้ายไปอยู่ในสลัมที่รัฐจัดไว้ให้

เหตุการณ์สังหารหมู่ผู้ชุมนุมกลางกรุงบูดาเปสต์
_

สลัมที่จอห์นพักอาศัยนั้นอยู่ใกล้กับโบสถ์ยิวในกรุงบูดาเปสต์ พรรคนาซีเยอรมันให้ตัวเลือกกับชาวยิวแค่ 3 ทางเท่านั้น คือการอาศัยที่สลัมแห่งนี้ ไปที่แคมป์ หรือกินลูกปืน ทหารนาซีรวบรวมชาวยิวทั้งหมดมาไว้ที่นี่ ไม่สนว่าจะแออัดหรือไม่ ใช้ชีวิตอยู่ได้หรือเปล่า 

พื้นที่สลัมตรงนั้นเป็นเหมือง และพรรคนาซีเยอรมันมีแผนจะระเบิดสลัมแห่งนี้ทิ้ง ซึ่งหมายความว่า ชาวยิวที่อาศัยรวมกันอย่างแออัดทั้งหมดจะต้องตาย

โชคดีของชาวยิวที่เป็นโชคร้ายของพรรคนาซีเยอรมันคือ ทหารโซเวียตได้เข้าโจมตี ขับไล่ทหารเยอรมัน และยึดกรุงบูดาเปสต์ได้สำเร็จ

“เราคิดว่าอย่างน้อยก็ได้เป็นอิสระ แต่มันก็ไม่ใช่เสียทีเดียว” 

ฮังการีเคยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีหลายพรรคการเมืองมาก่อน จนกระทั่งการเข้ามาของโซเวียตและการจัดตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนฮังการีที่ดำเนินงานตามนโยบาลของโซเวียต นำไปสู่การปฏิวัติฮังการีในปี ค.ศ. 1956 เริ่มจากการประท้วงของกลุ่มนักศึกษา ก่อให้เกิดปราบปรามจลาจลโดยทหารโซเวียต คร่าชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์กว่า 3,000 คน 

“เราตระหนักขึ้นมาได้ว่า นี่ไม่ใช่ชีวิตที่เด็ก ๆ นักเรียนนักศึกษาปัญญาชน หรือผู้ใหญ่เองก็ด้วย จะอยู่ได้เลย สายลับซ่อนตัวทุกหัวระแหง เพื่อนบ้านคอยแต่สอดส่องเพื่อนบ้านด้วยกันเอง ไร้ซึ่งเสรีภาพสื่อหรือเสรีภาพใด ๆ ในการแสดงออก หนังสือพิมพ์และวิทยุถูกจำกัด ประเทศนี้ถูกยึดอำนาจไว้หมดแล้ว”

ขบวนผู้ประท้วงเดินทางจากใจกลางกรุงบูดาเปสต์ไปยังหน้าอาคารรัฐสภา บ้านของจอห์นและเพื่อนอยู่ห่างจากอาคารรัฐสภาไม่มาก ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาทีในการเดินเท้า พวกเขาจึงเข้าร่วมฟังการปราศรัยของเหล่านักศึกษาผู้เรียกร้องเสรีภาพให้ประเทศฮังการีด้วยเช่นกัน “พวกเราคุยกันและตกลงว่าจะไป ‘ไปดูกันเถอะว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร บางทีมันอาจจะเป็นหนทางที่จะเริ่มชีวิตใหม่ของเราก็ได้’ แล้วเราก็ไปที่อาคารรัฐสภา”

ความหวังที่จะสร้างวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าของชาวฮังกาเรียนนั้นริบหรี่กว่าที่คิด ไม่มีใครตระหนักว่าภายใต้การควบคุมของโซเวียต เรื่องเหล่านี้ไม่อาจสำเร็จได้โดยง่าย จตุรัสผู้ชุมนุมรายล้อมไปด้วยรถถัง บนยอดตึกมีทหารรอสัญญาณเริ่มใช้ความรุนแรง “ผมไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม แต่ผมบอกกับเพื่อนว่า ‘เรามาแล้ว เห็นแล้ว และผมรู้สึกไม่สบายใจเท่าไหร่ กลับกันเถอะ’ พวกเราทั้งหมดจึงกลับบ้านกัน”

ทันทีที่พวกเขากลับถึงบ้าน เสียงปืนก็ดังขึ้น และนั่นเป็นโชคดีอีกครั้งของจอห์น

“ผมออกจากบ้านมา เห็นเลือด เห็นเสื้อผ้าของผู้คนเกลื่อนจตุรัส”

ชีวิตที่ไร้เสรีภาพไม่อาจนับเป็นชีวิตได้
_

“นี่ใช่ชีวิตที่เราต้องการจริง ๆ หรือเปล่า?”

เพื่อนของจอห์นถาม เมื่อชีวิตของพวกเขาในฮังการีนั้นถูกควบคุมโดยโซเวียต และหากชีวิตเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ มันจะคุ้มค่าหรือไม่ หากจะคว้าโอกาสที่จะหนีไปจากที่แห่งนี้?

จอห์นและเพื่อนตัดสินใจหนีออกนอกประเทศ แน่นอนว่าพวกเขาไม่สามารถหิ้วกระเป๋าเดินทางข้ามพรมแดนได้เพราะอาจถูกจับ “สิ่งที่ผมพกติดตัวไปได้มีแค่กระเป๋าที่ใส่อาหาร ตุ๊กตาเท็ดดี้ และล็อกประตูบ้านเหมือนที่เคยทำทุกวัน และลืมให้หมดว่าเคยอยู่ที่นี่ ทิ้งทุกสิ่งไว้เบื้องหลังตรงนี้”

การเดินทางเริ่มต้นตอนเจ็ดโมงเช้าที่สถานีรถไฟ

“ผมกับเพื่อนทำงานให้การรถไฟ พวกเราก็เลยมีตั๋ว” จอห์นเล่าถึงเหตุการณ์ระหว่างการลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรีย “รถไฟหยุดก่อนถึงชายแดนประมาณสิบกิโลเมตร พวกเราลงที่สถานีนั้น และพบว่ามีชาวฮังกาเรียนจำนวนมาก กำลังพยายามหลบหนีเหมือนที่เรากำลังทำ”

เส้นทางข้างหน้าเสี่ยงอันตรายยิ่งกว่าเดิม ทั้งทหารติดอาวุธ รถถังที่ลาดตระเวนรอบ ๆ ไฟจากหอสังเกตการณ์สว่างจ้าที่คอยสอดส่องชาวฮังกาเรียนที่พยายามข้ามชายแดน ชาวฮังกาเรียนผู้โหยหาเสรีภาพ 15 ชีวิต ค้นหาทางรอด พวกเขาหยุดที่ใต้หอสังเกตการณ์ “ที่ตรงนั้นควรจะมีทหารคุมอยู่ แต่วันนั้นมันไม่มี และนั่นเป็นอีกครั้งที่ผมคิดว่าผมโชคดี โชคอยู่ข้างพวกเราทุกคน” 

“ใต้หอสังเกตการณ์คือสะพานข้ามพรมแดนไปยังหมู่บ้านอันดาว (Andau Village) ที่ชาวออสเตรียนกำลังรอต้อนรับเราอยู่” จอห์นเล่าว่าเขารู้สึกโล่งใจมากที่ข้ามพรมแดนได้สำเร็จ

ผู้ลี้ภัยชาวฮังกาเรียนอยู่ภายใต้การดูแลของสภากาชาด พวกเขาได้รับเงินรายวันสำหรับใช้ชีวิต และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระในประเทศออสเตรีย รวมถึงสถานทูตต่าง ๆ ได้เปิดโอกาสรับผู้ลี้ภัยที่ต้องการย้ายถิ่นฐาน ตั้งรกรากใหม่ที่ประเทศใหม่ได้ จอห์นจึงเลือกเดินทางมายังประเทศอังกฤษ

จอห์นประสบความสำเร็จในอาชีพด้านธุรกิจโรงแรมและการจัดเตรียมอาหาร ได้พบกับมัวรีน (Maureen) ภรรยาของเขาในปี ค.ศ. 1972 เป็นคุณพ่อลูกสองและคุณตาของหลาน 3 คน เป็นจุดสิ้นสุดของฝันร้ายตลอดหลายปีในชีวิต

เพราะอะไรผู้คนถึงใช้ความรุนแรงและปล่อยให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น?
_

“มันก็เหมือนกันหมด ถูกไหม? ทั้งนาซี ทั้งจีน หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากมายในทวีปเอเชีย หรือสิ่งที่รัสเซียเคยทำกับบ้านผม ทั้งหมดมันเป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องของมนุษย์ที่กระหายอำนาจ และมันมีคนแบบนี้อยู่ทุกที่ จะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอ เป็นเพียงกงล้อของคำว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ผิดพลาดซ้ำ ๆ และสิ่งเล็ก ๆ ที่เราพอจะทำได้ คือการให้ความรู้ ให้การศึกษา ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ต่อไป และผมหวังว่ามันจะเป็นอีกก้าวหนึ่ง ที่จะนำทางมนุษยชาติให้เดินไปบนเส้นทางที่ถูกต้อง”


อ้างอิง

เรื่องโดย