Kind Creatures

ทำไมสมัยยุโรปกลาง มนุษย์และสัตว์ถึงอยู่ใต้ร่มยุติธรรมเดียวกัน?



KiNd Creatures พาคุณผู้อ่านไปดูการตัดสินความผิดของศาลยุโรปในอดีต ที่มีการนำสัตว์หลากหลายชนิดขึ้นศาลไต่สวนความผิดกันอย่างจริงจัง แล้วพวกเขาจะปกป้องตัวเองได้อย่างไร? เรื่องเหล่านี้ระบบตุลาการในอดีตมีคำตอบ ถ้าพร้อมแล้วก็ไปดำดิ่งในโลกแห่งความยุติธรรมกันเลย!

หมู – ฆาตกร
■□

นับตั้งแต่ช่วงต้นปี ค.ศ. 824 จนถึงกลางศตวรรษที่ 18 การขึ้นโรงขึ้นศาลในประวัติศาสตร์ยุโรป ไม่ได้สงวนไว้เฉพาะมนุษย์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นสถานที่ที่สัตว์หลายชนิดถูกเรียกตัวขึ้นมาไต่สวน เพราะถูกมนุษย์ฟ้องร้องอยู่บ่อยครั้ง และอย่างที่ทราบกันดีว่าในยุคกลาง (Medieval) สิ่งที่มีอิทธิพลทางความคิดและความเชื่อของมนุษย์มากที่สุดคือ ศาสนา ดังนั้น ศาสนจักรจึงเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในกระบวนการไต่สวนสัตว์ หรือเรียกกันว่า Animal Trials

การไต่สวนสัตว์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเกิดขึ้นในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1379 ช่วงยุคกลางตอนปลายที่ฝรั่งเศส เมื่อหมูเล้าหนึ่งก่อคดีสะเทือนขวัญ ทำการฆาตกรรมชายนามว่า Perrinot Muet พวกมันถูกตัดสินประหารชีวิตทันที เนื่องจากมีหลักฐานและพยานแวดล้อมชัดเจน

แต่เจ้าของหมูนามว่า Friar Humbert ไม่อาจยอมรับโทษตัดสินประหารหมูในความดูแลของเขาได้ เขาจึงลงมือเขียนจดหมายร้องไปยังท่านดยุกแห่งเบอร์กันดี ขอร้องให้ยกเลิกโทษประหารหมูทั้งเล้า เพราะหากเขาต้องสูญเสียหมูเล้านี้ไป ตัวเขาก็เหมือนคนตายทั้งเป็น และการประหารหมูทั้งเล้าก็ไม่ยุติธรรมเสียเท่าไหร่ เนื่องจากอาจทำให้หมูตัวอื่นที่บังเอิญอยู่ในเหตุการณ์โดนลูกหลงไปด้วยทั้ง ๆ ที่ไม่ได้กระทำผิด


ท่านดยุกจึงสั่งให้เอาผิดหมูเพียง 3 ตัว และปล่อยหมูตัวที่เหลือไปใช้ชีวิตตามอิสระ แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าหมูที่โดนตัดสินโทษประหารชีวิตนั้น พวกเขามีกระบวนการสืบสวนผู้กระทำผิดอย่างไร มีเพียงแต่ร่างอันไหม้เกรียม และหัวที่วางแน่นิ่งอยู่บนลานประหารเท่านั้น

แต่ปัญหาหมูทำร้ายมนุษย์ก็ยังเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ในปี ค.ศ. 1386 ณ เมือง Falaise ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างที่หมูสาวกำลังออกหากินอยู่นอกบ้าน ก็บังเอิญเจอเด็กทารกวัยสามเดือนนามว่า Jonnet le Macon เข้า มันเดินตรงปรี่เข้าไปอย่างไม่ลังเล และจัดการกัดกินใบหน้าของเด็กน้อยด้วยความรวดเร็ว กว่าผู้เป็นพ่อและแม่จะมาถึง เด็กน้อยก็สิ้นใจเสียแล้ว

หมูสาวถูกจับไปคุมขังในเรือนจำนอร์มังดีด้วยข้อหากินใบหน้าของเด็กวัยสามเดือนจนเสียชีวิต แต่มันก็มีสิทธิปกป้องตัวเองเช่นกัน ทนายความของหมูสาวปรากฏตัวขึ้นในชั้นศาล เขาพยายามช่วยลูกความอย่างสุดชีวิต แต่ก็ต้องยอมจำนนด้วยหลักฐาน หมูสาวไม่สามารถแก้ต่างให้ตัวเองได้อีกต่อไป โทษประหารคือสิ่งเดียวที่มันได้รับ

ผู้คนนับร้อยกำลังรวมตัวกันอยู่บริเวณลานประหารชีวิต เพื่อเป็นสักขีพยานในการประหารชีวิตหมูฆาตกร บนแท่นประหารมีร่างของหมูเพศเมียนอนแน่นิ่งไม่ขัดขืน ปล่อยให้มนุษย์จัดองค์ทรงเครื่องนำเสื้อผ้าอาภรณ์ชุดใหม่มาใส่ให้มันอย่างเร่งรีบ ผู้คนกำลังโกรธเกรี้ยว เสียงตะโกนด่าทอดังกระหึ่มไปทั่วบริเวณ และแล้วช่วงเวลาสุดท้ายของหมูสาวก็ถึงคราวต้องจบลง เพชรฆาตคว้าเชือกมาคล้องรอบคอของมันอย่างชำนาญ สิ้นเสียงตัดสินโทษประหาร เชือกถูกดึงขึ้นสุดแรง ร่างของผู้กระทำผิดดิ้นทุรนทุรายและแน่นิ่งลงในที่สุด

เสียงตะโกนด่าทอหยุดลง ผู้คนแยกย้ายกลับไปทำหน้าที่ของตน ทิ้งไว้เพียงร่างไร้วิญญาณของหมูเคราะห์ร้าย ซึ่งตามกฎหมายแล้วหมูที่มีความผิดจะถูกปล่อยให้เน่าตาย เนื้อของมันจะไม่ถูกนำมาแจกจ่าย เพราะนี่คือฆาตกร พวกเขาไม่กินเนื้อของฆาตกร…

อีกหนึ่งคดีที่สร้างความเจ็บช้ำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่เกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1494 หมูตัวหนึ่งถูกจับในข้อหา “รัดคอเด็กทารกขณะนอนหลับในเปล” ทารกผู้เคราะห์ร้ายเป็นลูกชายของคนเลี้ยงวัวนามว่า Jehan Lenfant และผู้เป็นแม่นามว่า Gillon

ในระหว่างการพิจารณาคดี พยานหลายคนอ้างว่า “ในเช้าวันอีสเตอร์ พวกเราเห็นพ่อของเด็กออกไปต้อนวัวที่ฟาร์ม ส่วน Gillon เธอมีธุระที่เมือง Dizy เลยไม่ได้เอาลูกไปด้วย แล้วเราก็เห็นหมูตัวหนึ่งเดินเข้าไปในบ้านของพวกเขา เราก็ไม่รู้ว่ามันเข้าไปทำอะไร ที่สำคัญคือ ไม่รู้ว่ามีเด็กทารกนอนอยู่คนเดียวในบ้านด้วย กว่าจะรู้ก็ตอนที่เด็กน้อยถูกหมูกินไปเสียแล้ว…” พยานกล่าว


หลังจากพิจารณาพยานหลักฐานทั้งหมด ผู้พิพากษาจึงเริ่มอ่านคำตัดสิน “เรากำลังอยู่ในยุคแห่งความเกลียดชังและความหวาดกลัว เราไม่อาจเพิกเฉยต่อการก่ออาชญากรรมดังกล่าวได้อีกต่อไป หมูตัวนี้จะต้องถูกประหารชีวิต และระหว่างรอวันประหาร มันจะถูกนำไปคุมขังที่สำนักสงฆ์ เมื่อวันประหารมาถึง เราจะให้เพชรฆาตมือดีที่สุดทำหน้าที่แขวนคอฆาตกรตัวนี้”

คดีความเกี่ยวกับสัตว์ของฝรั่งเศสที่บันทึกไว้มีมากกว่า 200 คดี และหมูก็เป็นหนึ่งในผู้กระทำผิดอันดับต้น ๆ ในยุคนั้น


นอกจากหมูแล้ว ตามบันทึกในหนังสือ The Criminal Prosecution and Capital Punishment of Animals เขียนโดย E.P. Evans ในปี ค.ศ. 1906 ยังมีม้า วัว ลา ปลาไหล สุนัข แกะ และที่น่าประหลาดใจที่สุดคือ โลมา ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทำไมโลมาถึงถูกตัดสินประหารที่เมือง Marseille ในปี ค.ศ. 1596

นอกจากฝรั่งเศสที่มีการนำสัตว์ขึ้นโรงขึ้นศาลแล้ว ประเทศใกล้เคียงอย่างอิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศอื่น ๆ ในยุโรปก็มีความพยายามที่จะนำตั๊กแตน หนู หนอนผีเสื้อ และหอยทาก แม้กระทั่งมอดก็พลอยโดยหางเลขไปด้วย เนื่องจากพวกมันเป็นตัวก่อความวุ่นวายที่หาตัวจับได้ยาก อีกทั้งยังมีผู้สมรู้ร่วมคิดในการทำลายทรัพย์สินและผลผลิตทางการเกษตรของมนุษย์เป็นจำนวนมากอีกด้วย

จากความวุ่นวายที่มีสัตว์เป็นผู้ก่อ ศาสนจักรเห็นว่าพฤติกรรมของสัตว์ควรอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นเดียวกับมนุษย์ ดังนั้น การตัดสินคดีส่วนใหญ่จึงถูกแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มแรกจะเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมส่งผลร้ายแรงต่อมนุษย์โดยตรง และกลุ่มที่สองคือสัตว์ที่ชอบรวมตัวกันเป็นฝูงสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและผลผลิตทางการเกษตร

โดยเจ้าทุกข์จะร้องต่อศาลว่าพื้นที่ทำการเกษตรของตนกำลังถูกคุกคามจากศัตรูพืช ศาลจะแต่งตั้งทนายเพื่อแก้ต่างให้สัตว์ และยื่นเรื่องเข้าสู่ขั้นตอนศาลเป็นการต่อไป จากนั้นข้าราชการฝ่ายราชสำนักจะส่งหมายเรียกโดยใช้น้ำเสียงที่เคร่งขรึมและพูดเสียงดังฟังชัด ในบริเวณที่ผู้ถูกร้องเรียนอาจแวะเวียนผ่านมา สัตว์จำเลยมีโอกาส 3 ครั้งในการปรากฏตัวต่อหน้าศาลและยื่นอุทธรณ์ หากไม่มาปรากฏตัวตามคำสั่งศาล ศาลจะมีอำนาจเนรเทศโดยทันที


หนู – ผู้บริสุทธิ์ (?)
■□

ในปี ค.ศ. 1522 ทนายความชาวฝรั่งเศสนามว่า Bartholomew Chassenée (เรื่องนี้ถูกนำมาทำภาพยนต์ The Hour of the Pig ในปี ค.ศ. 1993) โดย Chassenée ได้ลุกขึ้นมาแสดงความกล้าหาญ โดยการปกป้องลูกความนั่นคือ หนู เป็นครั้งแรก เขาอ้างว่า “หนูไม่ได้ทำผิดกฎหมาย การจะบอกว่าหนูเป็นผู้สร้างความเสียหายให้แก่พืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวบาร์เลย์ ผมว่านั่นคงเป็นคำกล่าวอ้างที่เกินจริง”

เขายังยืนยันหนักแน่นว่า “หากท่านอยากให้การพิจารณาคดีเกิดความเป็นธรรมที่สุด ลูกความของผมควรได้รับโอกาสในการมาแก้ต่างความผิดของพวกเขาด้วยตนเอง แต่มันคงเป็นไปไม่ได้ที่ลูกความของผมจะปรากฏตัวในศาลแห่งนี้ เพราะพวกเขาไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง การจะเดินทางมาคงลำบากไม่น้อย อีกทั้งยังต้องระแวดระวังแมวที่จ้องทำร้ายอยู่ทุกซอกทุกมุมถนน ผมไม่อยากให้ลูกความของผมได้รับบาดเจ็บครับท่าน ศาลที่เคารพ” จากคำกล่าวอ้างของ Chassenée ผู้พิพากษาจึงต้องเลื่อนการพิจารณาคดี เพื่อแสดงถึงความเที่ยงธรรมที่ศาลมีให้ต่อสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์ แต่ท้ายที่สุดแล้วคดีนี้ก็ถูกตีตกไป แน่นอนว่าการตัดสินดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวเมืองไม่น้อย


นอกจากหนูที่ชนะคดีที่มนุษย์ทำการฟ้องร้องแล้ว อีกหนึ่งกรณีเกิดขึ้นกับ “ลา” ในปี ค.ศ. 1722 ชายนามว่า Jacques Ferron กับลาตัวเมีย ถูกฟ้องร้องในข้อหาฆ่าสัตว์ป่า ศาลตัดสินประหารชีวิตทั้งคู่ทันที แต่ประชาชนเมือง Vanvres เชื่อว่าพวกเขาไม่ได้กระทำผิด ชาวเมืองจึงร่วมลงชื่อคัดค้านคำตัดสินของศาล โดยยืนยันว่า พวกเขารู้จักทั้งคู่มา 4 ปีแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้ง Ferron และลาตัวเมียของเขา ประพฤติตัวดีตลอด พวกเขามีคุณธรรม ศีลธรรมก็ล้นหลาม พวกเราขอคัดค้านโทษประหารชีวิต ได้โปรดยกเลิกโทษประหารให้พวกเขาด้วย! เมื่อมีพยานยืนกรานถึงคุณงามความดีของทั้งคู่ ศาลจึงยกเลิกโทษประหารชีวิตและตัดสินให้ทั้งคู่เป็นผู้บริสุทธิ์

ทำไมสัตว์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย?
■□

นักวิชาการในยุคแรกนำแนวคิดปฏิฐานนิยม (Positivism) มาใช้วิเคราะห์ โดยมองว่า การไต่สวนสัตว์ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไร้เหตุผลนั้น เป็นเรื่องปกติที่มักเกิดขึ้นในกลุ่มสังคมที่มีความแตกต่างกันทั้งทางกายภาพและชีวภาพ แต่ในเวลาต่อมาพวกเขาก็ละทิ้งแนวคิดดังกล่าว และมุ่งเน้นไปที่ “ศีลธรรม” หรือ “เจตนา” ที่มีผลต่อสัตว์ และนำบริบททางสังคมวิทยาและประวัติศาสตร์มาร่วมวิเคราะห์ (Phenomenology) เพื่อให้เข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

โดยเริ่มมุ่งเน้นไปที่แนวคิดเรื่อง Great Chain of Being มากขึ้น พวกเขาถือว่าสวรรค์และจักรวาล โลก และสรรพสิ่งทางธรรมชาติ มีความข้องเกี่ยวกัน ทั้งสองส่วนล้วนอยู่ภายใต้ความประสงค์ของพระเจ้า ฉะนั้น

การทำร้ายมนุษย์ถูกมองว่าเป็นการทำลายห่วงโซ่อันยิ่งใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่อาจให้อภัย เพราะโลกในความเป็นจริงกับโลกทางจิตวิญญาณถือเป็นหนึ่งเดียวกัน สัตว์จะต้องได้รับการไต่สวนภายใต้อาณัติของพระเจ้า


ขณะที่นักสังคมวิทยา Piers Beirne กล่าวว่า การไต่สวนสัตว์มีลักษณะที่แตกต่างกันในแต่ละกรณี ทั่วโลกกำลังใช้วิธีการดังกล่าวมากดทับสัตว์ โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงที่สัตว์เป็นผู้ถูกกระทำ หากข้อเท็จจริงปรากฏขึ้น พวกเขาก็จะหยิบยกค่านิยมของแต่ละพื้นที่ขึ้นมา ซึ่งการนำข้อเท็จจริงมาร่วมพิจารณาย่อมมีความแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางโลก ศาสนา ชาติพันธุ์ ชนชั้น เพศสภาพ และปัจจัยอื่น ๆ เป็นต้น

ส่วนนักวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ Peter T. Leeson ได้เผยทฤษฎีที่มีความเชื่อมโยงระหว่างคริสตจักรและค่าธรรมเนียมในการไต่สวนสัตว์ในยุคกลางว่า หากเกิดการไต่สวนสัตว์ย่อมเป็นแหล่งรายได้ชั้นดีให้คริสตจักร เนื่องจากคดีเหล่านี้มีกระบวนการไต่สวนที่ง่ายและรวดเร็ว


ซึ่งค่าธรรมเนียมศาลจะตกเป็นของคริสตจักร และชาวยุโรปในอดีตก็มีความศรัทธาในพระเจ้าสูง การที่คริสตจักรเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาคดี ย่อมทำให้พวกเขารู้สึกผิดบาปน้อยลง เพราะพวกเขาไม่ต้องลงมือสังหารสัตว์เหล่านี้ด้วยตนเอง ความยุติธรรมในศาลถือว่าเป็นความประสงค์ของพระเจ้า คำตัดสินของศาลจึงถือว่ามีความชอบธรรมและไม่อาจปฏิเสธได้

แม้การกระทำของชาวยุโรปในอดีต จะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกไปเสียหน่อย แต่นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการคำนึงถึง  “สิทธิ” และ “สวัสดิภาพ” ของสัตว์ในปัจจุบันก็เป็นได้


เมื่อสัตว์มีพื้นที่ในระบบยุติธรรม สังคมก็จะมองถึงความเท่าเทียมระหว่างคนและสัตว์มากขึ้น เช่น รณรงค์ต่อต้านแบรนด์ต่าง ๆ ที่มีการนำผลิตภัณฑ์ไปทดลองทางวิทยาศาสตร์ในสัตว์ ไม่สนับสนุนยาหรือเครื่องสำอางที่ทดลองในสัตว์ รวมถึงรณรงค์ไม่ให้มีการทารุณกรรมสัตว์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

สำหรับประเทศไทยเอง ก็มีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ฉบับแรกเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เช่นกัน คือ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ นี่อาจเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ ๆ ที่มนุษย์เรามีต่อชีวิตสัตว์ แต่ท้ายที่สุดแล้ว การนำกรอบความยุติธรรมในสังคมมนุษย์มาครอบสัตว์ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่เราไม่รู้เลยว่า เขาเข้าใจมนุษย์ได้ลึกซึ้งแค่ไหน และการนำสัตว์ไปขึ้นศาล เพื่อแสดงความยุติธรรมในโลกมนุษย์ จะเป็นการละเมิดสิทธิสัตว์หรือไม่? พวกเขายินยอมที่จะเข้าร่วมพิจารณาคดีจริงหรือ? หรือมนุษย์ทำไปเพื่อ “สร้าง” ความยุติธรรมขึ้นมา เพื่อไม่ให้รู้สึกผิดบาป หรือทำไปเพราะเป็นกระบวนการที่มนุษย์ทำเป็นเรื่องปกติ สัตว์ก็ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของมนุษย์ด้วยเช่นกัน? เราคงไม่อาจรู้ได้แน่ชัดว่า อะไรคือสิ่งที่สัตว์ต้องการจริง ๆ …


ที่มา


เรื่องโดย