Kind Health

ทำงานหลายอย่างพร้อมกันกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้!


แม้การทำงานหลายอย่างพร้อมกัน หรือการใช้สกิล Multitasking มักถูกมองว่าเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง แต่ช่วงเวลาวุ่นวายเหล่านี้จะสามารถกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเราได้เช่นกัน

KiNd Health ขอเอาใจช่วยคนที่กำลังเผชิญหน้ากับการทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน ซึ่งอาจจะหมดกำลังใจหรือเสียพลังงานอย่างมาก แต่รู้หรือไม่ว่า หากบริหารจัดการดี ๆ การทำงานแบบ Multitasking สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการคิดงานอย่างสร้างสรรค์ได้


เมื่อความคิดสร้างสรรค์มาพร้อมกับความวุ่นวาย!
✦✦✦

หลายปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยจาก Art Markman นักจิตวิทยาและผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Smart Thinking” ว่า โดยธรรมชาติสมองของเราจะทำงานแบบ Time-sharing คือโฟกัสทีละเรื่อง เมื่อเรื่องหนึ่งจบก็ค่อยไปโฟกัสอีกเรื่องหนึ่ง แต่การทำงานแบบ Multitasking คือการสั่งให้สมองเปลี่ยนการโฟกัสอย่างรวดเร็ว ไป ๆ มา ๆ ซึ่งทำให้สมองทำงานมากขึ้น เสียพลังงานยิ่งขึ้น และสุดท้ายงานอาจไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากสมองจะเริ่มเหนื่อยล้าเกินไป

นอกจากนี้ ยังมีนักจิตวิทยาอีกหลายคนให้ความเห็นว่า “คุณจะกลายเป็นคนหูหนวกไม่มากก็น้อย เมื่อต้องเปลี่ยนโฟกัสบ่อย ๆ” หรือหากใครที่กำลังเขียนงานอยู่ก็จะทำให้งานเขียนของคุณล่องลอยไปชั่วขณะ ส่งผลให้เกิดการพิมพ์ผิดหรือไม่ต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อประสิทธิภาพของงาน คุณควรทุ่มเทความสนใจอย่างเต็มที่ให้กับแต่ละงาน เมื่อเสร็จสิ้นแล้วค่อยเริ่มงานชิ้นใหม่



อย่างไรก็ตาม การศึกษาเหล่านี้มุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ของการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ขณะที่ Shimul Melwani ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมแห่ง Kenan-Flagler Business School มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา และ Chaitali Kapadia นักศึกษาปริญญาเอกของเธอ สนใจในสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นมากกว่า นั่นก็คือ “ความคิดสร้างสรรค์” ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการผูกความคิดที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน โดยจะได้รับประโยชน์จากความคิดที่กระจัดกระจายมากกว่าการโฟกัสไปที่เรื่องเดียว 

“เมื่อผู้คนถือข้อมูลสองชิ้นแยกกันอยู่ในหัว พวกเขาสามารถทำและมีส่วนร่วมในรูปแบบที่สร้างสรรค์มากขึ้นได้” Melwani อธิบาย และให้ความเห็นว่า วิธีนี้จะคล้ายคลึงกับการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เพราะสามารถทำให้เรารู้สึกตื่นตัวตลอด สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นในสรีรวิทยาของมนุษย์ว่า ยิ่งเราพยายามทำงานมากเท่าไหร่ อัตราการเต้นของหัวใจก็จะสูงขึ้น ซึ่งนักวิจัยคาดว่า สิ่งเหล่านี้จะสามารถกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้

ทำงานหลายอย่างพร้อมกันก็ไม่ได้แย่เสมอไป
✦✦✦

Melwani และ Kapadia ได้ทำการทดลอง โดยการทดลองแรกให้นักเรียนเข้าร่วมการประชุมทางโทรศัพท์และตอบอีเมล เพื่อวัดผลของการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน นักเรียนบางคนถูกขอให้ตอบอีเมลขณะเข้าร่วมการประชุมทางโทรศัพท์ ในขณะที่คนอื่น ๆ ได้รับอนุญาตให้ทำงานทั้งสองอย่างตามลำดับ หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมทุกคนได้ทำแบบทดสอบการใช้ทางเลือก (Alternative Uses Test: AUT) ซึ่งเป็นการวัดความคิดสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาวิธีใหม่ ๆ ในการใช้สิ่งของในบ้านที่คุ้นเคย เช่น อิฐ พวกเขาอาจแนะนำว่าสามารถใช้เป็นที่ทับกระดาษ อาวุธ หรือ อุปกรณ์ถ่วงน้ำ ซึ่งคำตอบที่ได้สอดคล้องกับทฤษฎีของ Melwani และ Kapadia โดยพบว่า นักเรียนที่ทำงานหลายอย่างพร้อมกันจะได้แนวคิดใหม่ ๆ มากกว่านักเรียนที่ได้รับอนุญาตให้โฟกัสไปที่งานเดียว


เพื่อทดสอบสมมติฐานให้ชัดเจนขึ้น นักวิจัยได้คัดเลือกเชฟมืออาชีพมาแข่งขันทำอาหาร ซึ่งผลลัพธ์ก็ตรงตามที่คาดการณ์ไว้อีกครั้งคือ เชฟที่ทำงานหลายอย่างพร้อมกันสามารถคิดเมนูได้อย่างหลากหลายและสร้างสรรค์ขนมได้มากขึ้น 

งานวิจัยของ Melwani และ Kapadia สอดคล้องกับการศึกษาที่น่าสนใจของ Stephen Wee Hun Lim จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ที่พบว่า พฤติกรรมการใช้สื่อหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน หรือ Media Multitasking เช่น การส่ง WhatsApp หรือใช้งาน TikTok ขณะดูทีวีมีความสัมพันธ์กับระดับความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอาจทำให้สมองมีความยืดหยุ่นในการคิดมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยไม่แนะนำให้ทำงานหลายอย่างพร้อมกันหากไม่จำเป็น เพราะอาจเพิ่มระดับความเครียดของเราได้ แต่ได้แนะนำว่า เราสามารถ “ฉวยโอกาส” ด้วยการบริหารจัดการงานแบบ Multitasking อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ การตระหนักถึงประโยชน์ของการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน อาจช่วยให้เรากำหนดช่วงเวลาที่ยุ่งเหยิงในเชิงบวกได้มากขึ้น และทำให้เกิดมุมมองใหม่ว่า “การทำงานหลายอย่างพร้อมกันไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่เสมอไป”  


ที่มา


เรื่องโดย